Skip to main content
sharethis

สัปดาห์นี้ พบกับรายงานเรื่องอุตสาหกรรม นสพ.กับหายนะรายได้โฆษณาหลังปฏิวัติดิจิทัล, Digital Citizens Alliance ชี้รายได้ของบรรดาเว็บ "ไพเรต" ทั้งสารบบสูงกว่า 200 ล้าน USD, วิวาทะ Spotify กับอนาคตของรายได้ "ศิลปิน" และ bot or not: เว็บทดสอบความเป็นเครื่องจักรของบทกวี

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก
 

 

เมื่อพูดถึง "ผลร้าย" ของการปฏิวัติดิจิทัล คนมักจะนึกถึงหายนะในอุตสาหกรรมบันทึกเสียงและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เนื่องจากทั้งสองเป็นอุตสาหกรรมที่ออกมาโวยวายที่สุด ซึ่งจริงๆ แล้ว "หายนะ" นี้ก็ดูจะไม่ใช่หายนะสักเท่าไร ถ้าพิจารณาตัวเลขอย่างรอบด้านซึ่งจะทำให้เห็นได้ว่ายอดขายที่ลดลงไปของอุตสาหกรรมบันทึกเสียงได้รับการชดเชยจากการเติบโตของธุรกิจดนตรีดิจิทัล กล่าวคือรายได้จากยอดขาย CD ที่ลดลงของค่ายเพลงในอเมริกามันก็พอๆ กับรายได้อันเกิดจากธุรกิจดนตรีดิจิทัลสารพัดรูปแบบ นอกจากนี้รายได้จากการขายตั๋วภาพยนตร์ในอเมริกาเหนือเองก็ไม่ได้ลดลงเลย แถมเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำในครึ่งหลังทศวรรษที่ 2000 อันเป็นยุคที่ "ไพเรซี่" เรืองอำนาจ

ในกรอบแบบนี้ทั้งสองอุตสาหกรรมนั้นไม่ได้ประสบหายนะที่แท้จริงแม้แต่น้อย และในอีกด้านหนึ่ง หายนะทางธุรกิจอันเนื่องจากการพลิกโฉมตลาดของเทคโนโลยีใหม่ๆ (ซึ่งศัพท์เทคนิคทางการตลาดเรียกว่า Disruption) ที่คนมักจะมองข้ามคือ หายนะของอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์

อุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์น่าจะเป็นอุตสาหกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับลิขสิทธิ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอเมริกาแล้วโดยมีรายได้ที่สูงกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดในปี 2000

นี่เป็นขนาดของรายได้ที่อุตสาหกรรมดนตรีกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกันรวมกันในเวลานั้นยังเทียบไม่ได้ (หรือจะรวมอุตสาหกรรมเกมในช่วงเดียวกันเข้าไปด้วยก็ยังเทียบไม่ได้)

อย่างไรก็ดี การขยายตัวของอินเทอร์เน็ตก็ก่อให้เกิดหายนะขั้นร้ายแรงขึ้น

คนมักจะมองว่าการใช้อินเทอร์เน็ตทำให้คนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาตราบเท่าที่ "เงินโฆษณา" ยังเข้ามาอยู่

สถิติจากกรมสถิติสหรัฐดูจะชี้ว่าดั้งเดิม รายได้ไม่ต่ำกว่า 4 ใน 5 ของหนังสือพิมพ์ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 มาจาก "เงินโฆษณา" ทั้งสิ้น ซึ่งนี่เป็นสัดส่วนสูงกว่าโครงสร้างรายได้ของนิตยสารที่ในช่วงเดียวกันประมาณ 2 ใน 3 ของรายได้มาจาก "เงินโฆษณา"

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่อินเทอร์เน็ตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนอเมริกัน "เงินโฆษณา" ก็ค่อยๆ หายไปจากอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ จนเรียกได้ว่าในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2000-2012 เงินโฆษณา (หลังจากปรับเงินเฟ้อแล้ว) มันได้ลดลงไปเหลือในระดับเดียวกับปี 1950 หรือกล่าวคือเงินโฆษณาที่โตมาต่อเนื่องเป็นเวลา 50 ปีหดหายไปในเวลาเพียง 12 ปี และผลคือในปี 2012 เงินโฆษณาในอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ลดลงไปเหลือเพียง 1 ใน 3 หรือลดจากกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐลงไปเหลือราว 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มูลค่าแบบปรับเงินเฟ้อแล้ว)

แน่นอนว่านี่เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับหนังสือพิมพ์เพราะดังที่บอกไปว่ารายได้ส่วนใหญ่มาจาก "เงินโฆษณา" แทบทั้งสิ้น

แน่นอน อาจมีผู้มองว่าจำนวนเงินที่ลดลงนี้เกิดจากการที่ "เงินโฆษณา" หลั่งไหลไปในโลกออนไลน์กันหมด แล้วหนังสือพิมพ์ก็ไปบุกโลกออนไลน์กันไม่น้อย

รายได้จากทางนั้นทดแทนไม่พอกับรายได้โฆษณาแบบออฟไลน์ที่เสียไปหรือ?

ข้อเท็จจริงคือรายได้จากการขายโฆษณาออนไลน์ของหนังสือพิมพ์นั้นไต่ขึ้นมาจากศูนย์ในปี 2000 มาเป็นเพียง 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นในปี 2012 (รายได้โฆษณาในอเมริกาของ กูเกิล ปี 2012 อยู่ที่ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

จะเห็นได้ว่ารายได้หลักพันล้านของมันไม่อาจทดแทนรายได้ที่ลดลงของ "เงินโฆษณา" ในหนังสือพิมพ์ระดับหลักหมื่นล้านได้เลย

นี่เป็นที่มาของสภาวะของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ปัจจุบันที่ยังถกเถียงกันอยู่ว่าจะ "อยู่รอดต่อไป" ได้ด้วยแนวทางให้อ่านฟรีแล้วขายโฆษณาเอา หรือจะเก็บค่าสมาชิกกับผู้อ่านกันแน่ซึ่งเป็นวิวาทะร้อนแรงในอุตสาหกรรมข่าวและหนังสือพิมพ์ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสังเกตก็คือหนังสือพิมพ์จำนวนไม่น้อยมีการลดจำนวนพนักงานลง ไปจนถึงการทำข่าวในแบบที่น่าจะเรียกว่า "มักง่าย" ขึ้นในมาตรฐานยุคก่อน คือการหาข่าวจากโลกออนไลน์ซึ่งหลายๆ ครั้งก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

ทั้งหมดน่าจะเป็นผลพวงจากการที่ผู้คนโอนย้ายความใส่ใจจากโลกวัตถุไปยังโลกออนไลน์ซึ่งก็ทำให้เงินโฆษณาโบยบินตามไปด้วย และทำให้รายได้ของอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์น้อยลง ส่งผลให้งานข่าวของหนังสือพิมพ์คุณภาพลดลงดังที่กล่าวมานั่นเอง

โลกดิจิทัลใหม่นี้ถึงที่สุด ก็ชวนให้เราถามด้วยซ้ำว่า "เรายังต้องการหนังสือพิมพ์อยู่หรือไม่?" ซึ่งคำถามนี้ก็ไม่ได้ต่างจาก "เรายังควรจะผลิด CD อยู่หรือไม่" ในบางแง่

อย่างไรก็ดี งานข่าวก็ยังดำรงอยู่ และเว็บข่าว "อิสระ" จำนวนมากก็เล่นบทบาทที่น่าสนใจในการนำเสนอข่าวคุณภาพแบบที่หนังสือพิมพ์ดั้งเดิมควรจะละอายด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่เว็บเหล่านี้ก็ไม่ได้มีต้นทุนการดำเนินงานที่มากมายอะไรเลยโดยเฉพาะหากเทียบกับ “สื่อ” ดั้งเดิม

Source:

 

รายงานของ Digital Citizens Alliance ชี้ว่ารายได้ของบรรดาเว็บ "ไพเรต" ทั้งสารบบสูงกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Digital Citizens Alliance เป็นกลุ่มที่ตั้งเพื่อผลักดันความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ต และทางกลุ่มได้สนับสนุนเงินให้มีการวิจัยลักษณะรายได้ของบรรดาเว็บสำเนาเถื่อนทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเว็บทอร์เรนต์ เว็ปฝากไฟล์ หรือกระทั่งเว็บรวมลิงก์ เนื่องจากทางกลุ่มมองว่าเว็บเหล่านี้ทำให้อินเทอร์เน็ตไม่ปลอดภัย

ผลการวิจัยพบว่ารายได้ทั้งสารบบอินเทอร์เน็ตของบรรดาเว็บ "ไพเรต" (ทางรายงานวิจัยให้นิยามว่าหมายถึงเว็บที่โดนส่ง DMCA Takedown หรือการแจ้งเตือนการละเมิดลิขสิทธิ์จากทางเจ้าของลิขสิทธิ์ไปยัง กูเกิล เกิน 25 ครั้งในไตรมาสที่ 3 ของปี 2013) สูงถึง 227 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวกว่า 7,400 ล้านบาท และพอประเมินต้นทุนแล้วพบอีกว่าอัตราผลกำไรของเว็บเหล่านี้อาจสูงถึง 80-94% ซึ่งแน่นอนว่าเป็นอัตราผลตอบแทนที่ไม่น่าจะหาได้ง่ายๆ ในธุรกิจ "ถูกกฎหมาย"

รายได้แทบทั้งหมดของบรรดาเว็บไพเรตเหล่านี้เกิดจากการขายโฆษณาออนไลน์ซึ่งเงินหลายๆ ส่วนก็มาจากบริษัทและองค์กรที่มีชื่อเสียงต่างๆ เช่น โตโยต้า ดูเร็กซ์ แมคโดนัลด์ แอมะซอน ฟอร์ด โมโตโรลา ยูนิเซฟ หรือกระทั่งไมโครซอฟท์ และกูเกิล ซึ่งก็น่าจะอนุมานได้ว่าบริษัทบางบริษัทที่รับเงินมาดูแลโฆษณาออนไลน์ให้บริษัทเหล่านี้ได้ทำการ "ซื้อ Ads" บนเว็บเหล่านี้

แม้ตัวเลขรายได้อาจดูมากมายแต่มันก็ยังเทียบไม่ได้เลยกับรายได้ต่อปีของอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ ที่ "ยอดขาย" ของอุตสาหกรรมดนตรีทั้งที่จับต้องได้และดิจิทัลรวมกันประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 330,000 ล้านบาท ซึ่งยอดรายได้นี้ก็ค่อนข้างจะคงที่มาตั้งแต่ปี 2006 (ซึ่งองค์ประกอบที่จะเห็นได้คือยอดขายงานดนตรีที่จับต้องได้อย่าง CD จะลดลง ส่วนยอดรายได้ธุรกิจดนตรีดิจิทัลจะเติบโตมาทดแทน ทำให้ยอดรายได้ของอุตสาหกรรมโดยรวมไม่ลดลง) และจริงๆ แล้วรายได้จากการขายตั๋วภาพยนตร์ในสหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันก็อยู่ในอัตราเดียวกันเช่นกัน

แล้วถ้าท่าจะประเมินว่าเงินของระบบโฆษณาออนไลน์แค่ในอเมริกามันสูงในหลักหลายหมื่นล้านดอลลาร์แล้ว รายได้ระดับแค่ไม่กี่ร้อยล้านดอลลาร์ของบรรดาเว็บไพเรตทั้งหลายนี่ดูจะเห็นรายได้ที่เล็กน้อยมากจากทั้งระบบ

อย่างไรก็ดี ดังเช่นแนวทางทั่วไปของผู้นิยมลิขสิทธิ์ รายงานฉบับนี้มองว่าแม้ว่าตัวเลขเหล่านี้จะไม่ได้มากอะไร แต่ "ผล" ของการ "ขโมย" เนื้อหามาทำกำไรนั้นก็สร้างความเสียหายต่อบรรดาเจ้าของลิขสิทธิ์มากมายนัก

แน่นอนนี่เป็นประเด็นที่เถียงกันได้ว่าความเสียหายมีมากน้อยเพียงไร อย่างไรก็ดีแนวทางที่ดูจะถูกต้องกว่าหากมองในแง่ของประสิทธิภาพในการเผยแพร่เนื้อหาแล้วก็น่าจะเป็นการเอาเว็บเหล่านี้ "เข้ามาในระบบ" หรือทำให้เว็บเหล่านี้ถูกกฎหมายและแบ่งรายได้จากการขายโฆษณากลับมาให้ "เจ้าของ" เนื้อหาต่างๆ ที่ถูกนำไปใช้ฟรีๆ ทั้งที่ทางเว็บก็ได้ผลกำไรมากมาย (หากเป็นดังที่รายงานกล่าวอ้าง)

เพราะนั่นก็ดูจะเป็นแนวทางที่มีอนาคตกว่าการกีดขวางความสะดวกสบายของผู้บริโภคเนื้อหาพลางด่าว่าการบริโภคแบบไพเรตเป็นการกระทำที่มักง่ายแน่นอน 

ทั้งนี้ อ่านรายงานฉบับนี้ได้ที่ : https://media.gractions.com/314A5A5A9ABBBBC5E3BD824CF47C46EF4B9D3A76/4af7db7f-03e7-49cb-aeb8-ad0671a4e1c7.pdf

Source: http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2014/02/20/pirate227

 

วิวาทะ Spotify กับอนาคตของรายได้ "ศิลปิน"

ในยุคปัจจุบันที่รายได้ของนักดนตรีหดหายจากหลายปัจจัย (ไม่ใช่แค่ "ไพเรซี่" แน่นอน) คำถามที่สำคัญไม่น้อยสำหรับนักดนตรีจำนวนมากก็คือ ใครคือมิตรแท้ทางเศรษฐกิจของนักดนตรี

บรรดาค่ายไม่น้อยถูกนักดนตรีรุ่นใหม่และเก่าเหม็นเบื่อไปเรียบร้อยแล้ว และก็ไม่อยากเซ็น "สัญญา" อันเอาเปรียบที่บางทีดูเหมือนสัญญากู้เงินมาทำอัลบั้มของนักดนตรีมากกว่า (แต่เดิมสัญญาออกอัลบั้มกับค่ายเพลงคือสัญญากู้เงินจริงๆ ค่ายเพลงจะออกเงินทำอัลบั้มให้ ค่าทำมิวสิกวิดีโอให้ ค่าโปรโมทให้ ค่าทัวร์ให้ แต่ทั้งหมดค่ายเพลงจะไปหักเอาจากยอดขายอัลบั้มทั้งสิ้น นี่ทำให้แม้แต่วงดนตรีที่มียอดขายเป็นแสนๆ แผ่นก็อาจไม่ได้เงินจาก "ยอดขาย" ถ้ายอดขายยังไม่ได้ตามเป้าที่ค่ายเพลงจะถอนทุนได้)

นี่คือ "เจ้านายเก่า" ของนักดนตรี

พอมายุคดิจิทัลก็มี "เจ้านายใหม่" ปรากฏตัวมามากมายในอุตสาหกรรมดนตรีดิจิทัลที่เกิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งลักษณะของเจ้านายใหม่นี้เหมือนกันหมดคือจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางสร้างรายได้ผ่านงานดนตรีของนักดนตรีที่ต้องไปหาทุนบันทึกเสียงเอง (ซึ่งเอาจริงๆ ทางเลือกก็หลากหลายมากในยุคของการบันทึกเสียงดิจิทัลนี้ กล่าวคือจะอัดเสียงถูกคุณภาพพอใช้ หรือจะอัดแพงๆ ในห้องบันทึกเสียง "เทพๆ" ก็มีให้เลือกทั้งสิ้น) ซึ่งรายได้รวมๆ ของเจ้านายใหม่นี่ก็จะนำมาแบ่งกลับไปที่นักดนตรี

นี่คือมาตรฐานการประกอบธุรกิจทั่วไปของบรรดา "ตัวกลางถูกกฎหมาย" ทั้งหลายแหล่ที่ให้บริการดนตรีฟรีๆ ออนไลน์ (หรือเก็บค่าสมาชิกร่วมด้วย) กับนักฟังเพลงไม่ว่าจะเป็น Pandora, Deezer, Rhapsody หรือกระทั่ง YouTube

ในบรรดาเว็บเหล่านี้ เว็บที่โดดเด่นมากคือ Spotify อันเป็นเว็บ “สตรีมมิ่ง” ที่ประสบความสำเร็จจากถิ่นกำเนิด Pirate Bay อย่างสวีเดนก่อนจะขยายไปในยุโรปและบุกมาอเมริกา

วิวาทะ Spotify คือการโต้เถียงกันว่า Spotify นั้น "เป็นมิตร" ต่อนักดนตรีหรือ "ขูดรีด" ไม่ได้ต่างจากบรรดาตัวกลางอื่นๆ

อันที่จริง Spotify ก็ไม่ใช่เว็บที่จะมีอัตรา "จ่ายต่อสตรีม" หรือจ่ายเงินให้ "เจ้าของ" งานดนตรีต่อการเปิดเพลง 1 ครั้งบนเว็บมากมายอะไรถ้าเทียบกับเว็บอื่นๆ (ดูรูปประกอบ)

แต่ประเด็นคือ Spotify เป็นเว็บที่มีผู้ใช้บริการมากและมีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ

นักดนตรีมีความเห็นกับ Spotify หลากหลาย บ้างก็มองว่าเอาเปรียบนักดนตรีที่ให้ค่าตอบแทนน้อยนิดแบบที่คนฟังต้องฟังเป็นร้อยกว่าครั้ง นักดนตรีถึงจะได้เงินเท่ากับการขายงานให้โหลดอย่างถูกต้องบน iTune แต่บ้างก็ว่าเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้ที่ช่วยค้ำจุนชีวิตทางอาชีพของนักดนตรีที่ดี และก็เป็น "อนาคต" ด้วยเพราะการขายงานออนไลน์ก็ดูไม่มีอนาคตที่ดีเท่าไร (ซึ่งมีผู้คาดการณ์ไปอีกว่าอนาคตการฟังดนตรีจะแบ่งเป็นสองขั้วใหญ่ที่ด้านหนึ่งเป็นการสตรีมดนตรีฟังออนไลน์ และอีกด้านหนึ่งจะเป็นการฟังแผ่นเสียง ตลาดภาชนะดนตรีแบบกลางๆ อย่าง CD จะหายไป)

แต่ "อนาคต" ที่ว่าก็ดูไม่มีอนาคตเท่าไร เพราะมีงานศึกษาออกมาชี้ว่าบรรดาอุตสาหกรรมสตรีมทั้งหลายจะไม่มีวันได้กำไรไม่ว่าเวลาผ่านไปเท่าไร (ปัจจุบันบรรดาเว็บสตรีมยังขาดทุนอยู่ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของอุตสาหกรรมที่เพิ่งตั้งมาใหม่) และปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บรรดาเว็บเหล่านี้จะไม่ได้กำไรก็คือการที่บรรดาค่ายเพลงทั้งหลายเรียกร้องส่วนแบ่งจากรายได้ของทางเว็บมหาศาลถึงราว 70% ของรายได้บรรดาเว็บสตรีมเหล่านี้

แน่นอนว่าเหล่า "ศิลปิน" ไม่ได้ใส่ใจว่าเว็บอย่าง Spotify จะมีอนาคตหรือไม่ เพราะพวกเขาเองโดยทั่วไปก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรนอกจากรายได้ของตัวเอง และที่พวกเขาเถียงกันเรื่อง Spotify ก็ดูจะวนเวียนอยู่ในเรื่องนี้

การที่ข้อถกเถียงวนเวียนที่ "รายได้" และ "ค่าตอบแทน" นี้ก็ดูจะชี้ว่ายุคของการลงทุนทางดนตรีโดยค่ายเพลงน่าจะหมดลงไปแล้วอย่างช้าๆ เพราะอย่างน้อยๆ "เจ้านายใหม่" ทั้งหมดของนักดนตรีก็ไม่มีใครคิดจะลงทุนในการสร้างดนตรีใหม่ๆ ขึ้นมาอีก กล่าวคือนักดนตรีต้องลงทุนผลิตงานเองแล้วเอางานไปนำเสนอ “เจ้านายใหม่” ทำหน้าที่แค่ขายของให้

นี่ก็กลับมาประเด็นที่นักดนตรีจำนวนมากรับไม่ได้ที่ดนตรีของพวกเขาเป็นเพียง "เนื้อหา" (content) ที่บรรดาเว็บตัวกลางปฏิบัติไม่ต่างจาก “เนื้อหา” อื่นๆ ที่พวกเขามองว่าต่ำต้อยด้อยค่ากว่า โดยเฉพาะพวกเว็บตัวกลางใหญ่ๆ ที่มี “เนื้อหา” หลายแบบ เช่น YouTube ที่คลิปคนเล่นเพลงคลาสสิกอย่างขึงขังก็ถูกนำเสนอในระนาบเดียวกับคนถ่ายคลิปทำอะไรบ้าๆ บอๆ

และสิ่งที่ตลกที่สุดคือยุคที่นักดนตรีไม่พอใจสถานะของตัวเองที่สุดในรอบกว่าครึ่งศตวรรษนี้ก็เป็นยุคที่นักดนตรีเหล่านี้ดูจะมีอำนาจต่อรองน้อยที่สุดเสียด้วย เพราะนักดนตรีที่ฝีไม้ลายมือไม่น้อยกว่ากันก็ต่อคิวพวกนักดนตรีที่พลาดไปสำคัญตัวผิดๆ ให้โอกาสตัวเองหลุดลอยไปในยุคที่โอกาสเป็นสิ่งขาดแคลนหายากนี้

Source:

 

bot or not: เว็บทดสอบความเป็นเครื่องจักรของบทกวี

เทคโนโลยี "ปัญญาประดิษฐ์" (Artificial Intelligence) ทุกวันนี้ดูจะก้าวหน้าไปมากจนสามารถสร้างงานสร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรมที่ก่อนหน้านี้มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่เป็นผู้สร้างได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อเขียนทางวิชาการ เกมคอมพิวเตอร์ หรือกระทั่งบทกวี

botpoet.com เป็นเว็บที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนเข้าไปคาดเดาว่า บทกวีหนึ่งๆ ที่ทางเว็บเอามาให้อ่านนั้น ถูกเขียนขึ้นมาโดยมนุษย์หรือเครื่องจักรที่มีปัญญาประดิษฐ์

โดยหลังจากเดาเสร็จแล้วก็จะรู้ผลทันทีว่าบทกวีนั้นๆ ถูกเขียนโดยมนุษย์หรือเครื่องจักรกันแน่พร้อมตระหนักว่าตัวเองเป็นกี่ % กันแน่ของคนทำบททดสอบที่ตอบถูก/ผิด

และผลของการตอบคำถามเหล่านี้ก็น่าจะนำไปพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้ก้าวหน้าต่อไป

Source: http://www.popsci.com/article/science/time-i-thought-tao-lin-was-robot?dom=PSC&loc=recent&lnk=1&con=the-time-i-thought-tao-lin-was-a-robot-

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net