Skip to main content
sharethis

 

คำแถลงในมหกรรมวันสื่อสันติภาพ (PPP101) 28 กุมภาพันธ์ 2557
โดย
อาบูฮาฟิซ อัลฮากิม

 

ด้วยพระนามของอัลเลาะฮ์  ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงกรุณาปราณีเสมอ

ท่านประธาน

แขกผู้มีเกียรติและท่านผู้ร่วมอภิปราย

ท่านสุภาพบุรุษและท่านสุภาพสตรีครับ

ขอความสันติจงมีแด่ทุกท่าน

เราขอขอบคุณผู้จัดงานในครั้งนี้ที่ให้พื้นที่และโอกาสสำหรับนักต่อสู้ปาตานีในการส่งเสียงสะท้อนความคิดเห็นของพวกเขาในงานมหกรรมวันสื่อสันติภาพในสถานที่อันทรงเกียรตินี้

การพบปะกันในครั้งนี้คงเป็นสิ่งที่ไม่สมบูรณ์เป็นแน่ หากเสียงของนักสู้ปาตานีไม่ได้ถูกรับฟัง เราพยายามฝ่าฝันมาเป็นเวลาหลายปี ด้วยหยาดเหงื่อและเลือดเนื้อเพื่อจะปกป้องศักดิ์ศรีของเชื้อชาติ ศรัทธา และผืนแผ่นดินของประชาชนมลายูปาตานี

เราอยากจะย้ำเตือนทุกท่านในที่นี้ว่าความขัดแย้งปาตานีนั้นหาได้เกิดขึ้นมาเพียง 10 ปี เท่านั้น หากแต่เป็นความขัดแย้งทางการเมือง ประวัติศาสตร์ และสังคม ที่ดำเนินมาตลอดระยะลากว่าสองร้อยปี นั่นหมายความว่าความยากลำบากและความทุกข์ทรมานที่ชาวมลายูปาตานีฝืนทนกล้ำกลืนภายใต้ระบอบอาณานิคมของไทยนั้นยาวนานและเต็มไปด้วยความเจ็บปวดมากกว่าความทุกข์ทรมานของผู้คนชาติพันธุ์อื่นๆ ในปาตานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวไทยพุทธนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา แต่กระนั้น เราก็ต่อสู้กับระบอบอาณานิคมของไทยเท่านั้น ขณะที่ชาวไทยหาได้เป็นศัตรูของเราไม่

เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะย้ำเตือนให้ระลึกด้วยว่าเราเลือกการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ก็เพราะว่าในอดีตรัฐไทยไม่เคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับชะตากรรมของประชาชนเลย บรรดาผู้นำของเราในอดีตซึ่งต่อสู้ผ่านรัฐสภาหรือการเรียกร้องบนหลักการสิทธิมนุษยชนก็มักต้องประสบกับการถูกจับกุมหรือไม่ก็ถูกคุมขัง บางคนยังถูกฆาตกรรมหรือจำต้องหลบหนีลี้ภัยในต่างแดน ที่น่าเศร้าก็คือสถานการณ์เหล่านั้นก็ยังคงดำรงอยู่ในทุกวันนี้

ทุกท่านครับ

การเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพของนักต่อสู้ปาตานีไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ก่อนหน้าจะมีกระบวนการสันติภาพที่กัวลาลัมเปอร์ในปัจจุบันนี้ เราก็เคยเข้าสู่กระบวนการอื่นๆ อย่างไม่เป็นทางการ โดยมีรัฐบาลบางประเทศและกลุ่มองค์กรเอกชนบางกลุ่มทำหน้าที่ประสานงาน ซึ่งพอจะระบุถึงชื่อของกระบวนการเหล่านี้ได้บ้าง เช่น เจนีวา, โบกอร์, ลังกาวี เป็นต้น มันช่วยเตือนความทรงจำได้ว่ากระบวนการใดก็ตามที่ปราศจากการวางแผนและการจัดการที่ดีแล้วก็มักประสบกับความล้มเหลวในท้ายที่สุด กระบวนการสันติภาพที่กัวลาลัมเปอร์จะต้องประสบกับสภาพการณ์เดียวกัน หากปัญหาและความอ่อนด้อยของกระบวนการก่อนหน้านี้ไม่ไดรับการกล่าวถึง

บรรดากระบวนการสันติภาพก่อนหน้านี้ดำเนินการอย่างปิดลับและมีปัญหาเกี่ยวกับความเป็นตัวแทนและการมีอำนาจที่ได้รับมอบหมายชัดเจนหรือชอบธรรมเพียงพอ ทั้งสองฝ่ายต่างเข้าสู่โต๊ะพูดคุยด้วยเป้าหมายที่แตกต่างกัน ในขณะที่จุดประสงค์ของบรรดานักต่อสู้นั้นหมายจะประเมินความจริงใจและความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของรัฐไทย ส่วนฝ่ายไทยก็เข้ามาเพียงเพื่อหาข่าวกรองและแสวงหาหนทางที่จะยุติความรุนแรง ในขณะเดียวกันก็ค้นหาว่าบรรดาตัวแทนของฝ่ายนักต่อสู้นั้นสามารถควบคุมสั่งการเหล่านักรบในพื้นที่ได้มากน้อยเพียงใด ไม่มีการยอมรับสถานะของบรรดานักต่อสู้ ด้วยเหตุนี้พวกเขาก็ยังถูกมองว่าเป็นเพียงผู้ก่อการร้าย

แต่กระบวนการสันติภาพที่กัวลาลัมเปอร์มีข้อแตกต่างกันอยู่บ้าง ถึงแม้ว่าในช่วงเริ่มแรกจะยังมีเรื่องที่ยังต้องถกเถียงกันอยู่ แต่กระบวนการสันติภาพครั้งนี้เริ่มต้นอย่างเปิดเผย ด้วยการประกาศอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีตัวแทนฝ่ายไทยที่เป็นข้าราชการระดับสูง (เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ) และมีทางการมาเลเซียรับบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ส่วนฝ่ายนักต่อสู้ได้รับการยอมรับเป็น “ผู้ที่มีความคิดเห็นและอุดมการณ์ที่แตกต่างจากรัฐ” โดยมีอุสตาซ ฮัสซัน ตอยิบ เป็นตัวแทนจากบีอาร์เอ็น (แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ) นี่ถือเป็นครั้งแรกที่กระบวนการสันติภาพปาตานีได้ดำเนินการอย่างเป็นทางการและได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากประชาคมทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ

ถึงแม้ว่าฝ่ายนักต่อสู้จะต้องถูก “ผูกมัด” ให้อยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทย ตามที่มีการระบุไว้ใน “ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ” ซึ่งลงนามในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ก็ตาม แต่เราก็ได้เข้าร่วมพูดคุยเพื่อค้นหาทางเลือกอื่นที่นอกเหนือไปจากการใช้กำลังอาวุธ เพื่อให้ได้มาทางออกของความขัดแย้งปาตานีที่มีความยุติธรรม ความรอบด้าน และความยั่งยืน พวกเราเชื่อว่าด้วยวิธีการพูดคุยและการเจรจา ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการลดความรุนแรง หรือแม้แต่การยุติการใช้ความรุนแรงทั้งหมด และต่อไปก็จะสามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการกำหนดสถานะของปาตานีในอนาคต  

ถึงแม้ว่าในช่วงแรก ยังมีนักต่อสู้บางคนที่มีความคลางแคลงใจต่อกระบวนการสันติภาพครั้งนี้ เพราะผู้ที่ริเริ่มกระบวนการดังกล่าวคืออดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจต่อชาวปาตานีในโศกนาฏกรรมที่มัสยิดกรือเซะและตากใบ แต่เราก็ตอบรับคำร้องขอนั้น ก็เนื่องจากในศาสนาอิสลามมีคำสอนว่า เราควรตอบรับข้อเสนอเพื่อสันติภาพ แม้ว่าจะมาจากศัตรูของเราเองก็ตาม ดังเช่นระบุไว้ในอายะฮฺที่ 61 ของซูเราะฮฺอัล-อัลฟาลของอัล-กุรอาน ความว่า “และหากพวกเขา (ศัตรู) โอนอ่อนมาเพื่อการประนีประนอมแล้ว เจ้าก็จงโอนอ่อนตามเพื่อการนั้นด้วย และจงมอบหมายแต่อัลเลาะฮ์เถิด แท้จริงนั้นพระองค์คือผู้ทรงได้ยินทรงรอบรู้” ด้วยเหตุนี้ เราจึงเข้าร่วมในกระบวนการสันติภาพ ในขณะที่บางคนยังมีข้อสงสัยและเลือกที่จะเฝ้ามองก่อน

ในการประชุมครั้งแรกๆ ของกระบวนการ (ครั้งแรกในวันที่ 28 มีนาคม 2556 และครั้งที่สองในวันที่ 29 เมษายน 2556) การพูดคุยนั้นยังคงเป็นเรื่องพื้นฐานของการพูดคุยสันติภาพเท่านั้น ยังไม่มีการเจรจา แม้แต่การนำเสนอเงื่อนไขใดๆ ก็ไม่มี ที่จริงแล้ว การพูดคุยในช่วงเริ่มต้นควรมุ่งเน้นไปที่การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยไม่ต้องเปิดเผย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในขั้นตอนแรกของกระบวนการสั้นติภาพคือการนำเสนอรายงานข่าวโดยสื่อ โดยเฉพาะสื่อไทยที่รายงานข่าวซึ่ง “ตีปี๊บ” ให้กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ การคาดเดา คำกล่าวหา และเข้าข้าง คณะพูดคุยฝ่ายไทยก็มักจะให้ความเห็นที่ “ล้นเกิน” ก่อนและหลังการพูดคุยแต่ละครั้ง คำพูดของบรรดาผู้นำจากฝ่ายรัฐไทยก็บ่งบอกถึงการขาดเอกภาพของฝ่ายตน สถานการณ์เช่นนี้ไม่เอื้อต่อความคืบหน้าของกระบวนการสันติภาพและจะเป็นความเสี่ยงต่อกระบวนการดังกล่าว

เนื่องจากไม่มี “แผนที่เดินทาง” (roadmap / pata jalan) ที่ชัดเจนสำหรับกระบวนการสันติภาพครั้งนี้ ฝ่ายนักต่อสู้ได้เริ่มแสดงจุดยืนให้ชัดเจนโดยแถลงการณ์ผ่านยูทูบ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2556 โดยนำเสนอข้อเรียกร้อง 5 ประการเพื่อให้กระบวนการสันติภาพครั้งนี้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้องต่อไป ข้อเรียกร้องดังกล่าวถูกนำเสนออย่างเป็นทางการในการพูดคุยครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2556

ดูเหมือนว่า ฝ่ายรัฐไทยนั้นสนใจเพียงเรื่องการยุติหรือการลดความรุนแรงของฝ่ายนักต่อสู้อย่างเดียว เห็นได้ชัดเจนจากการพูดคุยครั้งที่สามเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 เมื่อฝ่ายรัฐไทยนำเสนอการลดปฏิบัติการทางทหารอย่างจำกัดจากทั้งสองฝ่าย หรืออีกนัยหนึ่งคือการหยุดยิงชั่วคราวตลอดช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งรู้จักกันในนาม “การริเริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฎอน” ฝ่ายนักต่อสู้ก็ตอบสนองข้อเสนอดังกล่าวโดยเพิ่มเติมเงื่อนไขบางอย่างเข้าไป

ทุกท่านครับ

เราทุกคนทราบกันอย่างดีว่า “การริ่เริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฎอน” จบลงอย่างไร เราได้เรียนรู้บทเรียนประการสำคัญที่ว่า การที่จะริเริ่มดำเนินการในเรื่องใดที่มีความสำคัญเช่นนี้ เราจำเป็นต้องวางแผน, อภิปราย, กลั่นกรอง และปรึกษาหารือกันถึงรายละเอียดจนกว่าทุกฝ่ายจะสามารถตกลงกันได้

เราเห็นว่ามีจุดอ่อนสำคัญในการริเริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฎอนดังกล่าว หนึ่งในจุดอ่อนเหล่านั้นคือ การดำเนินการที่เกิดขึ้นก่อนเวลาอันเหมาะสม  ในขณะที่ยังไม่มีมาตรการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน (confidence building measures) การดำเนินการในเรื่องสำคัญที่ปราศจากการวางแผนและอภิปรายร่วมกันเช่นนั้นผิดหลักข้อตกลงการหยุดยิงทั่วไป นอกจากนี้ การริ่เริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฎอนยังเป็นการประกาศโดยฝ่ายเดียว (ฝ่ายผู้อำนวยความสะดวก) เท่านั้น ทั้งๆ ที่ยังไม่มีข้อตกลงกันที่แน่นอนเกี่ยวกับ “กรอบของการริเริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฎอน 2013” ซึ่งเป็นเอกสารจำนวน 7 หน้า ไม่มีการทำข้อตกลงอย่างเป็นทางการและยังไม่มีการลงนามใดๆ ทั้งสิ้น นั่นหมายความว่า แต่ละฝ่ายสามารถฝ่าฝืนเงื่อนไขและกรอบต่างๆ ได้ทุกเมื่อ การริเริ่มนี้ยังไม่มีกรรมการผู้คุมกฎหรือคณะทำงานติดตามผลที่เป็นกลาง (monitoring team) เพื่อตรวจสอบผู้ที่ฝ่าฝืนข้อตกลงซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ และสิ่งที่สำคัญคือ ไม่มีการให้ข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอต่อสาธารณชนเกี่ยวกับเงื่อนไขและกรอบข้อตกลง มาตรการในการปกป้องคุ้มครองประชาชน และการร้องเรียนในกรณีที่มีการละเมิดจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

สิ่งที่น่าเสียใจที่สุดคือ ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนรอมฎอนปีที่แล้ว เหตุวิสามัญฆาตกรรมนักกิจกรรมเคลื่อนไหวและผู้ที่เคยตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคงก็เกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งทำให้กองกำลังติดอาวุธของบีอาร์เอ็นต้องการระงับการมีส่วนร่วมในการพูดคุย ถ้อยแถลงจากสภาชูรอก็ได้การประกาศโดยสมาชิกของกองกำลังติดอาวุธของบีอาร์เอ็นผ่านทางยูทูบในวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ในที่สุด ความล้มเหลวที่ฝ่ายไทยไม่ปฏิบัติตามขอบเขตและเงื่อนไขที่บันทึกไว้ในเอกสารข้างต้นที่ฝ่ายไทยเป็นผู้นำเสนอเองนั้น ทำให้ฝ่ายนักต่อสู้ตัดสินใจระงับการเข้าร่วมในการพูดคุยอย่างเป็นทางการ (อย่างเปิดเผย) จนกว่าฝ่ายไทยยอมรับข้อเสนอเบื้องต้นทั้ง 5 ประการ โดยหลักการและจนกว่ารัฐสภาไทยจะรับรองข้อเรียกร้องดังกล่าวเสียก่อน

เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2556 ฝ่ายไทยได้ขอคำอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 5 ประการ หลังจากนั้น ฝ่ายนักต่อสู้ (บีอาร์เอ็น) ก็ได้ส่งคำอธิบายในเอกสาร 38 หน้าผ่านผู้อำนวยความสะดวก เป็นอีกครั้งหนึ่งที่น่าเสียดายคือ ฝ่ายไทยใช้เวลานานเกินไปกว่าจะให้คำตอบ ทั้งๆ ที่บรรยากาศในภาคใต้ยังไม่มีความแน่นอน และความวุ่นวายทางการเมืองในกรุงเทพฯ ก็เริ่มก่อตัวขึ้น หนังสือตอบรับจากหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทยซึ่งลงวันที่ 25 ตุลาคม 2556 ก็ระบุเพียงว่า “ข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ประการนั้นเป็นสิ่งที่พอยอมรับได้ในการอภิปรายต่อจากนี้”

คำตอบดังกล่าวหาใช่เป็นสิ่งที่ฝ่ายนักต่อสู้คาดหวังไว้ เพราะไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนเป็นการเฉพาะเจาะจงว่าจะยอมรับข้อเรียกร้อง 5 ประการ “โดยหลักการ” เพื่อให้มีการอภิปรายในลำดับต่อไป ซ้ำร้าย ข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้นยังไม่ได้รับการยอมรับเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยองค์กรนิติบัญญัติสูงสุดของประเทศ ซึ่งก็คือรัฐสภาไทยนั่นเอง ถ้าหากว่าข้อเรียกร้อง 5 ประการไม่ได้รับการยอมรับ “โดยหลักการ” เพื่อการพูดคุยในครั้งต่อๆ ไปแล้ว สิ่งที่น่าวิตกกังวลสำหรับพวกเราก็คือข้อเรียกร้องแต่ละข้อนั้นจะถูกปฏิเสธโดยฝ่ายไทยในที่สุด นอกจากนี้ หากข้อเรียกร้องยังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐสภาและเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในอนาคต คงจะเป็นปัญหาสำหรับการดำเนินการการพูดคุยอย่างแน่นอน

ทุกท่านครับ

ทุกวันนี้มีหลายคนพูดกันว่า กระบวนการสันติภาพกัวลาลัมเปอร์ประสบความล้มเหลวแล้ว เพราะมีความขัดแย้งทางการเมืองที่กรุงเทพฯ ซึ่งยังไม่มีจุดจบ และมีการประกาศจากหัวหน้าคณะพูดคุยบีอาร์เอ็น อุสตาซ ฮัสซัน ตอยิบ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2556 ผ่านคลิปยูทูบว่าท่านจะ “ถอนตัว”

เราไม่ควรลืมว่ากระบวนการดังกล่าวนี้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ และจนถึงบัดนี้ ยังไม่มีฝ่ายใดที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะถอนตัวออกจากกระบวนการนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐไทย ฝ่ายนักต่อสู้ (บีอาร์เอ็น) หรือมาเลเซียเองก็ตาม ด้วยเหตุนี้ กระบวนการสันติภาพจึงถือว่า “ยุติลงชั่วคราว” ตามสาเหตุบางอย่างที่ทุกคนทราบกัน แต่จะมีการเริ่มใหม่ในเมื่อทุกฝ่ายสามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคทั้งหมดลงไปได้

ฝ่ายนักต่อสู้ยังคงมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในกระบวนการสันติภาพดังกล่าวผ่านคณะพูดคุยชุดปัจจุบัน ในอนาคต คณะผู้แทนจากฝ่ายนักต่อสู้ค่อยๆ ได้รับการยกระดับด้วยการเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียชาวปาตานีทุกกลุ่ม ซึ่งจะเป็นที่รู้จักในฐานะประชาคมเชื้อชาติมลายูปาตานี

พวกเราหวังว่าจะมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมอย่างตื่นตัวของประชาชนที่มาจากทุกชนชั้น ทุกอาชีพ ทุกภูมิหลัง ทุกเชื้อชาติและทุกศาสนาในปาตานี เพื่อสร้างความเข้าใจว่า สันติภาพเป็นสิ่งที่ดีงามต่อชาวปาตานีทุกคน พวกเราหวังว่ากิจกรรมขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และองค์กรประชาสังคม (CSOs) ทุกกิจกรรมมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ โดยไม่ถูกสกัดกั้นหรือได้รับการขัดขวางจากฝ่ายใด 

พวกเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามหลักการประชาธิปไตย โดยให้โอกาสและพื้นที่แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงความต้องการอันแท้จริงของพวกเขา โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยความรุนแรง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง หรือแม้แต่การพูดถึง “เอกราช” ก็ตาม เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลสำหรับรัฐบาลใดๆ ก็ตาม ที่จะเผชิญหน้ากับประชาชนของตนเองด้วยคำพูดและความคิด มากกว่ากระสุนปืนและระเบิด  ทั้งยังเป็นเรื่องที่ชาญฉลาดกว่าหากเราจะเริ่มพูดคุยเรื่องสันติภาพ ณ วันนี้ ถึงแม้ว่าการพูดคุยนั้นต้องใช้เวลา 10 ถึง 15 ปี ก็เป็นการดีกว่าต่อสู้กันโดยใช้ความรุนแรงไปอีก 20 ถึง 30 ปี ก่อนที่เริ่มพูดคุยสันติภาพ

ณ โอกาสนี้ พวกเราขอเรียกร้องให้เปิดโอกาสสำหรับ “ผู้ที่มีความคิดเห็นและอุดมการณ์ที่แตกต่างไปจากรัฐ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดานักต่อสู้ปาตานีให้ได้รับการต้อนรับอย่างปลอดภัยสำหรับการเดินทางมาปาตานีเพื่อพบปะและพูดคุยกับประชาชนของเราและสาธารณชนชาวไทยโดยทั่วไปด้วย เราหวังว่าสักวันหนึ่งนักต่อสู้ปาตานีจะได้รับเกียรติให้กล่าวถ้อยแถลงต่อประชาชนทั้งประเทศในรัฐสภาไทยว่าที่จริงแล้ว พวกเราแสวงหาความยุติธรรม เสรีภาพ และสันติภาพ 

พวกเราขอจบคำปราศรัยในวันนี้โดยอ้างคำกล่าวของอดีตประธานองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) นายยัสเซอร์ อาราฟัต ณ องค์กรสหประชาชาติในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2517 ว่า:

“ในวันนี้ ผมมาที่นี้ ผมได้นำเอากิ่งไม้มะกอกและปืนของนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพมาด้วย อย่าให้กิ่งไม้มะกอกนั้นหลุดพ้นจากมือของผมไป”

และสุดท้าย ท่านก็ได้กล่าวอีกว่า

“สงครามนั้นปะทุขึ้นที่ปาเลสไตน์ และที่ปาเลสไตน์นี่เองที่สันติภาพจะก่อเกิดขึ้น”

ในทำนองเดียวกัน ณ วันนี้ พวกเราขอจบด้วยถ้อยคำว่า:

"Hari ini kami datang membawa BUNGA RAYA sebagai simbol kedamaian, tanpa membawa senjata . Perang juga telah meletus di Patani , dan di Patani  juga akan lahir kedamaian sesuai dengan gelarannya PATANI DARUSSALAM "

“วันนี้ เรามาพร้อมดอกชะบาซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ โดยไม่พกพาอาวุธใดๆ สงครามได้ปะทุขึ้นที่ปาตานี และที่ปาตานีนี่เองที่สันติภาพจะก่อเกิดขึ้น สมฉายานามปาตานี ดารุสลาม (ปาตานี ดินแดนแห่งสันติภาพ) 

ขอให้สันติสุขจงมีแด่ท่าน
ขอขอบคุณครับ
อาบูฮาฟิซ อัลฮากิม

(จากนอกรั้วปาตานี  - ในฐานะเป็นผู้แทนนักต่อสู้ปาตานีบนโต๊ะพูดคุย)
28 กุมภาพันธ์ 2557

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net