รอบโลกแรงงานกุมภาพันธ์ 2014

 
วินรับจ้างประท้วงเคอร์ฟิวในเวเนซุเอลา
 
1 ก.พ. 2014 - ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างในเวเนซุเอล่า ราว 2 พันคน ได้ไปชุมนุมกันตามถนนสายต่างๆ ในกรุงคารากัส เมื่อวันศุกร์ เพื่อประท้วงข้อเสนอให้บังคับใช้เคอร์ฟิวตอนกลางคืน สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ อันเป็นส่วนหนึ่งของการกวาดล้างอาชญากรรม
 
เหตุผละงานประท้วงทำให้การเดินทางรถใต้ดินลอนดอนปั่นป่วน
 
4 ก.พ. 2014 - การเดินทางในกรุงลอนดอนของอังกฤษอยู่ในสภาพโกลาหลวันนี้ หลังจากที่พนักงานรถไฟใต้ดินผละงานประท้วงเป็นเวลา 48 ชั่วโมง เพราะไม่พอใจที่ทางการสั่งปิดสำนักงานขายตั๋วซึ่งทำให้ต้องเลิกจ้างพนักงานหลายร้อยคน
 
การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับสหภาพสองแห่งจากการประท้วงของพนักงานรถไฟใต้ดินสิ้นสุดลงเมื่อวันจันทร์โดยยังไม่สามารถตกลงกันได้ นับเป็นการผละงานครั้งล่าสุดตั้งแต่ที่นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน จากพรรครัฐบาลผสมสายอนุรักษ์นิยมเข้ารับตำแหน่งและประกาศว่าจะดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ  นายบอร์ริส จอห์นสัน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมประกาศแผนปิดสำนักงานจำหน่ายบัตรโดยสารหลายแห่ง และทำให้ต้องลดพนักงาน 953 ตำแหน่ง พนักงานรถไฟใต้ดินประกาศผละงานประท้วงตั้งแต่คืนวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ทำให้การบริการรถไฟใต้ดินเป็นไปอย่างจำกัด ชาวกรุงลอนดอนต้องหันไปขึ้นรถโดยสาร ขี่จักรยาน และเดินแทน
 
เจ้าของโรงงานเสื้อผ้าบังกลาเทศขู่เล่นงานลูกจ้างที่คิดตั้งสหภาพ
 
6 ก.พ. 2014 - กลุ่มสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานเสื้อผ้าในบังกลาเทศกล่าวข่มขู่ลูกจ้างที่พยายามจัดตั้งสหภาพแรงงาน
 
กลุ่มฮิวแมนไรท์วอช ที่มีสำนักงานในนครนิวยอร์ก แถลงว่า จากการสัมภาษณ์คนงานหลายสิบคน เปิดเผยว่า พวกเขาถูกทุบตี ตกงาน หรือ บังคับให้ลาออกหลังพยายามก่อตั้งสหภาพฯ สภาพการทำงานในโรงงานสิ่งทอบังกลาเทศมักใช้แรงงานหนักและไม่ปลอดภัย มีเหตุร้ายหลายครั้งที่มาจากสภาพการทำงานไม่ดี เช่น เพลิงไหม้ปี 2555 และโรงงานถล่มเมื่อเดือนเมษายน มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,100 คน
 
'โซนี' จะลดพนักงาน 5,000 คน ตามแผนปรับโครงสร้าง
 
6 ก.พ. 2014 - บริษัทโซนี ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของญี่ปุ่นแถลงว่า จะลดจำนวนพนักงานลง 5,000 อัตราจากทั้งหมดทั่วโลก เพื่อประหยัดงบได้ปีละกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (32,000 ล้านบาท) ขณะกำลังปรับโครงสร้างอย่างลำบาก
 
สำหรับการลดอัตราการจ้างงานจะมีในญี่ปุ่นราว 1,500 อัตรา และต่างประเทศ 3,500 อัตราในการปรับโครงสร้างภาคการผลิตอุปกรณ์โทรทัศน์และธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล บริษัทโซนีกำลังเจรจาเพื่อขายธุรกิจด้านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่กำลังมีปัญหา และปรับลดแนวโน้มรายได้ประจำปี ทั้งนี้ บริษัทโซนีผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสื่อบันเทิง ต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างดุเดือดจากค่ายซัมซุงเกาหลีใต้และแอปเปิลของสหรัฐ
 
วอลโว่ปลดพนักงานกว่า 4,400 คน
 
7 ก.พ. 2014 - วอลโว่ กำไรลดลงถึง 37 เปอร์เซ็นต์ กำไรสุทธิทั้งสิ้น 548 ล้านโครน หรือ 84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับที่เคยทำกำไรได้ถึง 869 ล้านโครน ในช่วงไตรมาส 4 ปีก่อนหน้า ซึ่งสาเหตุที่ทำให้กำไรลดลง เนื่องจากวอลโว่เสียค่าใช้จ่ายไปไม่น้อยในการปรับปรุงคุณภาพของรถยนต์บรรทุกรุ่นใหม่
 
นายโอลอฟ เพิร์สสัน ซีอีโอวอลโว่ กล่าวว่า คนงานที่ถูกปลดจำนวน 4,400 คนนี้ ครอบคลุมพนักงานของวอลโว่ทั่วโลกและเกือบทุกแผนกทั้งฝ่ายผลิตรถบรรทุก, ฝ่ายเทคโนโลยี, ฝ่ายขาย, การตลาด, ไอที, ไฟแนนซ์ และแผนกพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยจะทยอยปลดไปเรื่อยๆ และคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้วอลโว่ได้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
 
แรงงานหนุ่มฟิลิปปินส์ผูกคอตายปริศนากลางสนามบินยูเออี จนท.ยังไม่ฟันธงสาเหตุ
 
7 ก.พ. 2014 - เจ้าหน้าที่ของทางการยูเออี พบชายชาวฟิลิปปินส์ไม่เปิดเผยชื่อ ที่คาดว่าจะมีอายุประมาณ 30 ปีรายหนึ่ง แขวนคอเสียชีวิตจากฝ้าเพดานมุมหนึ่งของสนามบินนานาชาติฟูญาอิเราะห์ หนึ่งในสนามบินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่าปีละ 2 ล้านคน
       
ด้านกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ออกมาแถลงยืนยันว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้เป็นชาวฟิลิปปินส์จริง และทางกระทรวงฯ ได้ติดต่อประสานงานกับสถานกงสุลฟิลิปปินส์ในดูไบแล้ว เพื่อดำเนินการตามความเหมาะสม โดยระบุว่ามีผู้พบร่างไร้วิญญาณของเขาตั้งแต่เมื่อวันอาทิตย์ (2 ก.พ.) ที่ผ่านมา แต่ข่าวการเสียชีวิตปริศนาครั้งนี้เพิ่งถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน
       
ขณะที่เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ของยูเออี ก็ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุของการเสียชีวิตของแรงงานหนุ่มชาวฟิลิปปินส์รายนี้ที่ทำงานเป็นพนักงานในฝ่ายจัดเตรียมอาหารของทางสนามบิน แม้หลักฐานและวัตถุพยานแวดล้อมเบื้องต้น ที่พบในที่เกิดเหตุจะบ่งชี้ เขาอาจตัดสินใจ “ผูกคอตาย” ตั้งแต่เมื่อคืนวันเสาร์ (1)
       
จนถึงขณะนี้ สถานกงสุลฟิลิปปินส์ยังไม่สามารถดำเนินการนำศพของแรงงานรายนี้กลับประเทศได้ เนื่องจากต้องรอให้กระบวนการสืบสวนของตำรวจยูเออีเสร็จสิ้นลงเสียก่อน
       
ทั้งนี้ ข้อมูลของกระทรวงแรงงานฟิลิปปินส์ระบุว่า มีแรงงานจากแดนตากาล็อกเกือบ 1 ล้านคน เดินทางไปทำงานในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เวลานี้ โดยส่วนใหญ่เข้าไปทำงานเป็นลูกจ้างระดับล่างในภาคการก่อสร้าง และภาคบริการ
 
เซ่นรายที่ 5 คนงานก่อสร้างสนามบอลโลก
 
8 ก.พ. 2014 - คนงานก่อสร้างสนามฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิล เสียชีวิต ขณะทำงานอยู่ที่ สนามอารีนา เดอ อมาซอเนีย ในเมือง มาเนาส์ จากการเปิดเผยของโฆษกคนงาน เอริก แกมบัว
 
แกมบัว เปิดเผยว่า คนงานชายวัย 55 ปี ชาวโปรตุเกส เสียชีวิตเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังจากประสบอุบัติเหตุขณะกำลังรื้อเครน ซึ่งใช้ในการติดตั้งหลังคาสังเวียนเวิลด์คัพ 2014 โดยมีบาดแผลฉกรรจ์ที่ศีรษะจากการถูกแท่งเหล็กกระแทก ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ที่เกิดเหตุไม่คาดฝันระหว่างการก่อสร้างสนามแห่งนี้
 
ส่งผลให้ตอนนี้ มียอดคนงานที่สังเวยการก่อสร้างสนามฟุตบอลโลก รวมแล้ว 5 ราย หลังจากเคยเกิดเหตุเศร้ามาแล้ว เมื่อมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ในเซาเปาโล เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา จากเครนยักษ์ถล่มลงมายังหลังคาสนาม เอรีนา เดอ เซาเปาโล และอีก 2 ราย ในมาเนาส์ เมื่อเดือนธ.ค. ซึ่งทำให้ตัวแทนสหภาพคนงานก่อสร้างได้เรียกร้องให้มีการประท้วงหยุดงาน ภายหลังการเสียชีวิตของคนงานยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
 
นอกจากนี้ ในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา สนามฟุตบอลในเมือง คูเอบา ก็ยังถูกไฟไหม้ จากเหตุข้อข้องไฟฟ้าลัดวงจร และกลายเป็นประเด็นร้อนที่บราซิล เจ้าภาพ จะต้องเผชิญมากขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังที่พวกเขาประสบปัญหาการก่อสร้างสนามเวิลด์คัพ ที่จะใช้แข่งขันในเดือนมิ.ย.นี้ล่าช้ากว่ากำหนด
 
เจ้าหน้าที่ศูนย์แพทย์อิสราเอลผละงานประท้วงกว่า 6 พันคน
 
11 ก.พ. 2014 - วานนี้ (10 ก.พ.) พนักงานและเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์การแพทย์ "ฮัดอัซซา" ในกรุงเยรูซาเลม ประเทศอิสราเอล จำนวนกว่า 6,000 คน พากันรวมตัวผละงานประท้วง หลังจากรัฐบาลอิสราเอลประกาศลดเงินเดือนเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยลงร้อยละ 50 แต่ยกเว้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายฉุกเฉิน
 
การผละงานประท้วงดังกล่าวส่งผลให้ศูนย์การแพทย์แห่งนี้ต้องปิดทำการลงชั่วคราวเมื่อวานนี้ นอกจากนี้ ผู้ประท้วงบางส่วนยังนำแผ่นป้ายที่เขียนไว้ว่า "ปิดทำการและโปรดติดต่อรัฐบาลเพื่อสอบถามสาเหตุ" ไปติดไว้บริเวณหน้าศูนย์การแพทย์อีกด้วย
 
ศาลกัมพูชาปฏิเสธประกันตัวผู้ชุมนุม 21 คน ท่ามกลางความวิตกของต่างชาติ
 
11 ก.พ. 2014 - นักเคลื่อนไหว และแรงงานชาวกัมพูชา 21 คน ที่ถูกจับกุมตัวระหว่างการปราบปรามการผละงานประท้วงของแรงงานอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ถูกปฏิเสธการประกันตัวในวันนี้ (11) แม้ต่างชาติเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวบรรดาผู้ถูกจับกุมก็ตาม
       
คำตัดสินของศาลสร้างความวิตกกังวลให้แก่บรรดากลุ่มนักเคลื่อนไหวรณรงค์สิทธิมนุษยชน ต่อเหตุการณ์การปราบปรามการชุมนุมประท้วงบนท้องถนนเมื่อไม่นานนี้ที่เป็นความท้าทายต่อการปกครองนานเกือบ 3 ทศวรรษ ของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน พลเรือนอย่างน้อย 4 คน เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงเมื่อเดือน ม.ค. เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดฉากยิงเข้าใส่แรงงานโรงงานสิ่งทอที่ผลิตเสื้อผ้าให้แก่แบรนด์ต่างๆ เช่น Gap H&M และ Nike ที่รวมตัวชุมนุมประท้วงเรียกร้องปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 160 ดอลลาร์ต่อเดือน
       
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวนักเคลื่อนไหว และแรงงาน 23 คน ระหว่างการปราบปรามครั้งนั้น แต่ล่าสุด ผู้ถูกควบคุมตัว 2 คน ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระจากการประกันตัวเมื่อสุดสัปดาห์ ขณะที่ผู้ถูกควบคุมตัวอีก 16 คน เริ่มอดอาหารประท้วงในวันอาทิตย์ (9) ตามการระบุของเจ้าหน้าที่เรือนจำ แม้จะยังไม่มีการระบุวันในการพิจารณาคดีต่อบุคคลเหล่านี้ แต่กลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า หากศาลตัดสินว่าบุคคลเหล่านี้มีความผิด พวกเขาจะต้องถูกจำคุกนาน 5 ปี จากข้อหาต่างๆ รวมทั้งข้อหากระทำความรุนแรงโดยเจตนา
       
ขณะเดียวกัน องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างชาติ 12 แห่ง ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีฮุนเซน เรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุม และสมาพันธ์สหภาพแรงงานระหว่างประเทศได้เริ่มรณรงค์เรียกร้องการปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุม และเรียกร้องให้แรงงานพยายามโน้มน้าวสถานทูตกัมพูชาทั่วโลก การพิจารณาของศาลในวันนี้ (11) ศาลอุทธรณ์กรุงพนมเปญ ได้ปฏิเสธการประกันตัวแรงงาน และนักเคลื่อนไหว 21 คน โดยระบุว่า การปล่อยตัวบุคคลเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย และขัดขวางกระบวนการทางกฎหมาย แต่ทนายฝ่ายจำเลยระบุว่า จะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินต่อศาลสูงต่อไป
       
คำตัดสินของศาลสร้างความไม่พอใจให้แก่บรรดาผู้ชุมนุมราว 200 คน ที่รวมตัวกันอยู่ด้านนอกศาล บางคนร้องไห้ และร้องตะโกนว่าศาลไม่มีความยุติธรรม กลุ่มสิทธิมนุษยชนกัมพูชา ADHOC ประณามคำตัดสินครั้งนี้ และเรียกร้องให้ศาลยกฟ้องข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อผู้ชุมนุมประท้วงทั้ง 23 คน และเรียกร้องให้ทางการนำตัวคนสังหารผู้ชุมนุมมาตัดสินโทษ
       
รัฐบาลกัมพูชา ได้สั่งห้ามผู้สนับสนุนฝ่ายค้านที่กล่าวหาว่าฮุนเซนโกงการเลือกตั้ง จัดการชุมนุมประท้วงในเมืองหลวงอย่างไม่มีกำหนด ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามการชุมนุมประท้วงบนท้องถนนเมื่อไม่นานนี้ ด้วยระเบิดควัน และกระบองไฟฟ้า
 
ธนาคารบาร์เคลยส์ ปลดพนักงาน 12,000 คน
 
12 ก.พ. 2014 - บริษัทมหาชนบาร์คเลย์ ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่สุดอันดับ 2 ของอังกฤษ เตรียมปลดพนักงานอีก 12,000 คนในปีนี้ โดยในจำนวนพนักงานที่ถูกปลดรอบใหม่นี้ ปราฏว่ากว่า 800 คนเป็นนายธนาคารอาวุโส หนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้บาร์คเลย์ต้องปลดพนักงานออกจำนวนมาก เพราะในช่วงไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา กำไรของบาร์คเลย์ลดลงอย่างฮวบฮาบ กล่าวคือ ในช่วงระหว่างตุลาคมถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2556 กำไรก่อนหักภาษีของบาร์คเลย์มีเพียง 191 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 314 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงอย่างน่าใจหายเมื่อเทียบไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 ซึ่งตัวเลขกำไรก่อนหักภาษีมีมากถึง 1.4 พันล้านปอนด์ 
 
และสาเหตุอีกประการที่ทำให้กำไรก่อนหักภาษีของบาร์คเลย์ลดลง เป็นเพราะบริษัทคงจ่ายโบนัสก่อนโตให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งที่รู้อยู่ว่าบริษัทกำไรหด โดยในปีที่ผ่านมา บาร์คเลย์กันเงินไว้ถึง 2,400 ล้านปอนด์ เพื่อจ่ายโบนัสให้กับพนักงาน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าซึ่งกันไว้ทั้งสิ้น 2,170 ล้านปอนด์ สำหรับพนักงาน 12,000 คนที่อยู่ในข่ายถูกปลดในปีนี้ นายแอนโทนี เจนกินส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบาร์คเลย์ กล่าวว่า ประมาณ 7,000 คน เป็นพนักงานในประเทศอังกฤษ
 
สหภาพแรงงานกัมพูชาขู่ประท้วงใหญ่เดือนหน้า หากรัฐไม่เพิ่มค่าแรง-ปล่อยตัวผู้ชุมนุม
 
13 ก.พ. 2014 - สหภาพแรงงานแนวร่วมฝ่ายค้าน 9 กลุ่มของกัมพูชา ประกาศเตือนว่าจะนำการผละงานประท้วงนาน 1 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 12-19 มี.ค. หากศาลไม่ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัว 21 คน และรัฐบาลไม่ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้แก่แรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็น 160 ดอลลาร์
       
ประธานกลุ่มสหภาพเคลื่อนไหวของแรงงาน กล่าวว่า แกนนำสหภาพแรงงานทั้ง 9 กลุ่ม ได้พบหารือกันในวานนี้ (12) และมีมติรับรองกำหนดวันชุมนุมประท้วง ซึ่งสหภาพจะจัดพิมพ์ใบปลิว 100,000 ใบ ประกาศวันผละงานประท้วง และการจัดการชุมนุมตามข้อเรียกร้อง “ข้อตกลงยังรวมถึงการเรียกร้องการปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัว 21 คน การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 160 ดอลลาร์ต่อเดือนให้แก่แรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป และการยุติข้อห้ามการจัดชุมนุมประท้วงของรัฐบาล” หนึ่งในแกนนำสหภาพแรงงาน กล่าวหลังการประชุม
       
เมื่อวันอังคาร (11) ศาลอุทธรณ์ปฏิเสธที่จะให้ประกันตัวผู้ชุมนุม 21 คน ที่ถูกควบคุมตัวหลังเกิดเหตุปะทะรุนแรงระหว่างการชุมนุมประท้วงเรียกร้องปรับเพิ่มค่าแรงของเหล่าคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าเมื่อต้นเดือน ม.ค. ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน และรัฐบาลได้ออกคำสั่งห้ามจัดการชุมนุมนับแต่นั้น โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกัมพูชา กล่าวว่า หากเจ้าหน้าที่อนุญาตจัดการชุมนุม กองกำลังรักษาความปลอดภัยมีหน้าที่ที่ต้องปกป้องผู้เข้าร่วม แต่หากการชุมนุมเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และก่อให้เกิดความรุนแรง หรือความไม่สงบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะดำเนินมาตรการเพื่อรักษาความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยของสังคม
       
การชุมนุมประท้วงหลายครั้งจัดขึ้นโดยการนำของพรรคกู้ชาติกัมพูชา ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านหลักของประเทศ นับตั้งแต่การเลือกตั้งพิพาทในเดือน ก.ค. เมื่อปีก่อน ซึ่งผลการเลือกตั้งระบุว่า พรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ชนะเสียงข้างมากได้ที่นั่งในสภาไป 68 ที่นั่ง ส่วนพรรคกู้ชาติกัมพูชาของนายสม รังสี ได้ 55 ที่นั่ง ฝ่ายค้านปฏิเสธที่จะยอมรับผลการเลือกตั้งดังกล่าว อ้างว่ามีการโกงเลือกตั้งร้ายแรง และได้คว่ำบาตรรัฐสภา และจัดการชุมนุมประท้วงเรียกร้องการลาออกของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน และจัดการเลือกตั้งใหม่
       
สหภาพแรงงานแนวร่วมฝ่ายค้านได้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านด้วยการนำแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปจัดชุมนุมประท้วงเรียกร้องการปรับเพิ่มค่าแรง แม้ว่ารัฐบาลได้ปรับค่าแรงขั้นต่ำให้กับแรงงานจาก 80 ดอลลาร์ เป็น 100 ดอลลาร์ต่อเดือน นับตั้งแต่เดือนนี้ อุตสหากรรมผลิตรองเท้า และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ประกอบด้วยโรงงานมากกว่า 900 แห่ง มีแรงงานราว 600,000 คน นับเป็นภาคส่วนที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศมากที่สุด โดยในปี 2556 ภาคส่วนอุตสาหกรรมนี้ทำรายได้จากต่างประเทศ 5,530 ล้านดอลลาร์
 
แรงงานเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 400 ราย ในการเร่งมือก่อนสร้างสนามกีฬา และสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์
 
16 ก.พ. 2014 - เดอะการ์เดี้ยน สื่อในเมืองผู้ดี รายงานว่า มีแรงงานอย่างน้อย 400 คน ต้องเสียชีวิตจากการสร้างสนามและสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 2022 ของกาตาร์
 
จำนวนดังกล่าว สร้างความตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก เพราะเชื่อว่า การประกาศขององค์กรสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้ เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริง และปัญหาดังกล่าว ได้สร้างความไม่พอใจให้กับ บังกลาเทศ และอินเดีย ซึ่งเป็น 2 ชาติ ที่มีแรงงานเสียชีวิต
 
ทั้งนี้ กาตาร์ ได้กำหนดแนวทางในการทำงานใหม่ให้กับบริษัท และผู้รับเหมาต่างๆ เพื่อปรับปรุงการทำงาน ให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น หลังจากผู้แทนของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เข้าตรวจสอบการดำเนินการก่อสร้างต่างๆ เมื่อปีก่อน
 
คนงานญี่ปุ่นเริ่มเรียกร้องขึ้นค่าจ้าง
 
16 ก.พ. 2014 - สหภาพแรงงานญี่ปุ่นเริ่มเรียกร้องขึ้นค่าจ้างจากบริษัทนายจ้างแล้วระหว่างการเจรจาเรื่องค่าแรงประจำปีที่กำลังดำเนินอยู่ นับเป็นการเผชิญหน้าระหว่างสหภาพแรงงานและนายจ้างที่แทบไม่เกิดขึ้นเท่าใดนักในสังคมญี่ปุ่น
 
สมาชิกสหภาพกำลังใคร่ครวญว่า ควรยึดตามธรรมเนียมปฏิบัติหลายทศวรรษด้วยการนิ่งเงียบต่อไปหรือไม่ ซึ่งทำให้ค่าจ้างขึ้นน้อยนิด ขณะนี้ทุกคนกำลังจับตามองไปที่โตโยต้า ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งทำกำไรมหาศาลในช่วงที่ค่าเงินเยนอ่อนตัวลงอย่างมากว่าจะขึ้นค่าจ้างให้คนงานมากน้อยเท่าใด นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ซึ่งขึ้นบริหารประเทศเมื่อปลายปี 2555 ได้ขอให้เอกชนแบ่งปันกำไรบางส่วนให้ลูกจ้างที่จะต้องรับภาระภาษีขายที่จะปรับเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายนนี้
 
ที่ผ่านมาพนักงานชาวญี่ปุ่นผละงานประท้วงน้อยมาก และมีคนเป็นสมาชิกสหภาพไม่ถึงร้อยละ 18 อย่างไรก็ดี ปีนี้สมาพันธ์สหภาพแรงงานซึ่งมีสมาชิกราว 6 ล้านคนได้เรียกร้องให้มีการขึ้นค่าจ้างอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551-2552 ขณะที่สำนักข่าวเกียวโดสำรวจพบว่า มีบริษัทเพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่คิดจะขึ้นค่าจ้างให้พนักงานในปีนี้
 
โอบามา เรียกร้องสภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
 
16 ก.พ. 2014 - ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ เรียกร้องให้สภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับแรงงานทุกคน
 
โอบามากล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวมา 4 ปีแล้ว แต่ค่าจ้างโดยเฉลี่ยของชาวอเมริกันแทบจะไม่ขยับเขยื้อนเลย การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยทำให้ชาวอเมริกันหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน กระตุ้นการใช้จ่ายผู้บริโภค และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม
 
ก่อนหน้านี้โอบามาได้ลงนามในมาตรการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างที่มีสัญญาจ้างกับรัฐบาลกลางเป็น 10.10 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง จากในปัจจุบันที่ 7.25 ดอลลาร์ แต่การลงนามดังกล่าวไม่ครอบคลุมลูกจ้างในภาคส่วนอื่นๆ
 
โอบามากล่าวว่า "ตอนนี้มีร่างกฏหมายอยู่ในสภาคองเกรส ซึ่งจะปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำของชาวอเมริกันเป็น 10.10 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง"
 
อย่างไรก็ดี ข้อเรียกร้องของโอบามาจะต้องเผชิญกับการกระแสต่อต้านจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งโต้แย้งว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลเสียต่อภาคธุรกิจ ขณะที่สมาชิกพรรคเดโมแครตบางส่วนก็ยังลังเลที่จะให้การสนับสนุนแนวคิดนี้ สำนักข่าวซินหัวรายงาน
 
สิงคโปร์จะคุมเข้มการรับแรงงานต่างชาติค่าจ้างต่ำต่อไป
 
17 ก.พ. 2014 - นายตัน ชวนจิน รักษาการรัฐมนตรีแรงงานของสิงคโปร์เผยว่า ทางการจะเข้มงวดการรับแรงงานต่างชาติค่าจ้างต่ำต่อไป แม้ว่ามีงานหลายตำแหน่งที่ชาวสิงคโปร์ไม่อยากทำก็ตาม นายตัน กล่าวระหว่างพูดคุยกับชุมชนท้องถิ่นแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ว่า งานหลายอย่างต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติเป็นหลักทำให้เกิดความตึงตัวด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทางการจึงต้องควบคุมการรับแรงงานต่างชาติต่อไป ส่วนเรื่องที่ชาวสิงคโปร์ไม่อยากทำงานบางอย่าง เขาคิดว่าหากมีการขึ้นค่าจ้างงานเหล่านั้นก็น่าจะจูงใจให้ชาวสิงคโปร์อยากทำมากขึ้น พร้อมกับยกตัวอย่างภาคการก่อสร้างว่า เป็นภาคที่ประสิทธิภาพในการผลิตขยายตัวช้า เพราะยังคงมีการใช้แรงงานค่าจ้างต่ำจากบังกลาเทศหรือจีน
 
ปัจจุบันสิงคโปร์มีแรงงานต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงานประมาณ 7 ใน 10 คนของแรงงานต่างชาติทั้งหมดกว่า 1 ล้านคน รัฐบาลเริ่มเข้มงวดการรับแรงงานต่างชาติตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปปี 2554 เพราะเป็นประเด็นที่จุดกระแสถกเถียงอย่างหนัก รักษาการรัฐมนตรีแรงงานเผยว่า ทางการตั้งเป้าคงจำนวนแรงงานไม่ให้ขยายตัวเกินร้อยละ 2 ต่อปีในช่วง 10 ปีข้างหน้า แต่สิงคโปร์ยังคงต้องเปิดรับแรงงานต่างชาติอยู่ เพราะหากปิดและเข้มงวดเกินไป บริษัทอาจพากันย้ายไปดำเนินงานที่อื่นแทน
 
แอฟริกาใต้ช่วยคนงานติดใต้เหมืองผิดกฎหมาย
 
17 ก.พ. 2014 - หน่วยกู้ภัยแอฟริกาใต้ เริ่มช่วยคนงานเหมืองที่ติดอยู่ในเหมืองใต้ดินตั้งแต่วันเสาร์ แต่คนงานบางส่วนยังหลบอยู่ไม่ยอมขึ้น เพราะทำเหมืองเถื่อน และกลัวถูกตำรวจจับ โดยทางการแอฟริกาใต้เปิดเผยว่า มีคนงานเหมืองอย่างน้อย 12 คน ได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาอย่างปลอดภัย และหลังจากตรวจร่างกายแล้ว คนเหล่านี้ได้ถูกตำรวจควบคุมตัวไว้ ส่วนคนงานที่เหลือซึ่งไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัดยังหลบอยู่ในเหมืองทองร้าง ในเขตเบโนนี่ ทางตะวันออกของนครโจฮันเนสเบิร์ก และไม่ยอมขึ้นมาเพราะกลัวถูกจับ 
 
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ต้องนำรถและเครื่องมือกู้ภัยเข้ามาค้ำยันพื้นให้มั่นคง ก่อนเริ่มปฏิบัติการช่วยนำคนงานขึ้นมา เชื่อว่าพวกเขาติดอยู่ตั้งแต่เช้าวันเสาร์ จนกระทั่งตำรวจที่เข้าไปลาดตระเวนบริเวณดังกล่าวได้ยินเสียงตะโกนขอความช่วยเหลือ หน่วยกู้ภัยที่ไปถึงที่เกิดเหตุสามารถพูดคุยกับคนงานประมาณ 30 คนที่อยู่ใกล้ปากปล่องเหมืองเก่า หลังเกิดอุบัติเหตุปากปล่องยุบตัวทับปิดทางเข้าออก คนงานเหล่านี้บอกว่ายังมีคนงานอีกประมาณ 200 คนติดอยู่ในปล่องด้านล่าง ขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องส่งน้ำและอาหารไปให้ผ่านทางช่องเล็กๆ
 
การทำเหมืองผิดกฎหมายพบได้บ่อยในแอฟริกาใต้ ผู้ผลิตทองคำและแพลทตินัมรายใหญ่ของโลก โดยคนงานเหมืองเถื่อนมักใช้วิธีการที่เสี่ยงอันตราย และมีความเกี่ยวข้องกับแก๊งอาชญากร บางครั้งก็มีการต่อสู้กัน เพื่อแย่งกันขุดโลหะมีค่า
 
สหพันธ์แรงงานคนทำงานบ้านล่าชื่อยุติความรุนแรงต่อแม่บ้านในฮ่องกง
 
21 ก.พ. 2014 - สหพันธ์แรงงานคนทำงานบ้านนานาชาติ (International Domestic Workers Federation) ได้เปิดการรณรงค์ล่ารายชื่อกดดันให้สำนักงานแรงงานและสวัสดิการสังคมของฮ่องกง มีมาตรการปกป้องสิทธิแรงงานทำงานในบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติให้ดีมากกว่าเดิม 
 
โดยข้อเรียกร้องของสหพันธ์แรงงานคนทำงานบ้านนานาชาติ ก็มีอาทิเช่น ขอให้แรงงานทำงานในบ้านชาวต่างชาติมีสิทธิหางานทำเองได้โดยไม่ต้องผ่านบริษัทนายหน้าด้วย, ให้ตรวจสอบและลงโทษบริษัทนายหน้าค้าแรงงานที่เก็บเงินค่าหัวคิวคนงานต่างชาติมากเกินไป รวมทั้งประเด็นการยึดหนังสือเดินทางไว้ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้แรงงานทำงานในบ้านเหล่านั้นต้องยอมรับในค่าจ้างอันน้อยนิดและยอมรับการละเมิดสิทธิจากนายจ้าง
 
นอกจากนี้ยังให้สำนักงานแรงงานและสวัสดิการสังคมของฮ่องกงตรวจสอบเรื่องการจ่ายเงินค่าตอบแทนแก่คนงานว่าได้ต่ำเกินไปหรือไม่ และการเปลี่ยนนายจ้างของแรงงานทำงานในบ้านนั้นต้องเกิดจากความสมัครใจจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเมื่อบรรยากาศและสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงาน รวมทั้งให้แก้กฎหมายแรงงานที่กำหนดให้แรงงานทำงานในบ้านชาวต่างชาติต้องอยู่บ้านนายจ้างและให้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ในการหานายจ้างใหม่ก่อนที่วีซาจะหมดอายุ 
 
โดยเป้าหมายของการรณรค์ของสหพันธ์แรงงานคนทำงานบ้านนานาชาติครั้งนี้หวังว่าจะได้รายชื่อจากนักท่องอินเตอร์เน็ต 15,000 รายชื่อ เพื่อกดดันรัฐบาลฮ่องกง
 
การรณรงค์ครั้งนี้สืบเนื่องมาจากจากกรณีที่ Erwiana Sulistyaningsih แม่บ้านชาวอินโดนีเซียวัย 23 ปี ถูกนายจ้างชาวฮ่องกงทำร้ายร่างกายอย่างทารุณจนทำให้เธอสูญเสียการมองเห็นและไม่สามารถเดินได้ ซึ่งเป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลกเมื่อต้นปี 2014 ที่ผ่านมา
 
ทั้งนี้เมื่อปลายเดือนมกราคม 2014 ที่ผ่านมากลุ่มแรงงานทำงานในบ้านชาวต่างชาติในฮ่องกง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอินโดนีเซียได้เดินขบวนประท้วงที่สถานกงสุลอินโดนีเซีย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียมีบทลงโทษต่อบริษัทนายหน้า ที่เป็นตัวกลางจ้าง Sulistyaningsih ที่ถูกนายจ้างทำร้ายร่างกาย ซึ่งคดีนี้ได้ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจของกลุ่มแรงงานทำงานในบ้านชาวต่างชาติ และทำให้ตำรวจฮ่องกงเริ่มทำการสอบสวนข้อกล่าวหาทรมานลูกจ้างอย่างจริงจังขึ้น
 
จากนั้นในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย เปิดเผยว่าอินโดนีเซียมีแผนการที่จะยุติการส่งแรงงานทำงานในบ้านไปทำงานต่างประเทศภายในปี 2017 โดยอินโดนีเซียกำลังเจรจากับทางการฮ่องกง ถึงแนวโน้มการส่งแรงงานที่มีทักษะ อาทิ คนงานก่อสร้างไปทำงานในฮ่องกงแทน ซึ่งหากซึ่งหากอินโดนีเซียยุติการส่งแรงงานทำงานในบ้านไปยังฮ่องกงนั้น จะส่งผลให้ฮ่องกงประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานทำงานในบ้านทันที
 
สายการบินแควนตัสมีแผนลดพนักงาน 5,000 คน หลังขาดทุนหนัก
 
27 ก.พ. 2014 - สายการบินแควนตัสของออสเตรเลีย มีแผนลดพนักงาน 5,000 คน หลังขาดทุนอย่างหนักในครึ่งปีที่ผ่านมา
 
การลดจำนวนพนักงาน 5,000 คน เป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดรายจ่าย 2,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 58,000 ล้านบาทในระยะ 3 ปี หลังพบว่าในช่วง 6 เดือนหลังของปีที่แล้ว แควนตัสขาดทุนไปถึง 7,300 ล้านบาท นอกจากนี้ ทางสายการบินยังจะลดจำนวนเครื่องบินลงกว่า 50 ลำอีกด้วย
 
แคนาดาประท้วง หลังไปรษณีย์ “ถังแตก” จนเลิกส่ง จม.ตามบ้าน - จ่อ “เลย์ออฟ” พนง.ครั้งใหญ่
 
28 ก.พ. 2014 - สหภาพแรงงานซึ่งเป็นตัวแทนของเหล่าพนักงานไปรษณีย์ในแคนาดากล่าวว่า บริษัท “คราวน์” ควรให้บริการอย่างหลากหลายเพื่อกระตุ้นรายได้ แทนที่จะลดรูปแบบการให้บริการเช่นนี้ ในเวลาเดียวกัน พวกผู้สูงอายุและชาวแคนาดาที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นคนพิการหรือมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว กล่าวว่าพวกเขาจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ขณะที่ได้รับแรงสนับสนุนจากบรรดาพรรคฝ่ายค้าน “รัฐบาล และไปรษณีย์แคนาดาไร้ความรับผิดชอบที่เลิกบริการส่งไปรษณีย์ตามบ้าน” ส.ส.โฮง ไม จาก “นิวเดโมเครติกปาร์ตี” ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านกล่าว
       
ทั้งนี้ เหตุผลที่ไปรษณีย์แคนาดาประกาศการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็เนื่องจากมีผู้ส่งไปรษณีย์น้อยลง และกำลังประสบปัญหาด้านการเงิน ด้วยเหตุนี้ ชาวแคนาดาจะต้องออกมารับจดหมายที่ตู้จดหมายประจำชุมชนซึ่งจะตั้งไว้ตามย่านต่างๆ ทั่วประเทศในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ในเวลาเดียวกัน ไปรษณีย์แคนาดาได้ประกาศขึ้นราคาค่าส่งจดหมายเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และจะมีการปลดแรงงานครั้งใหญ่
 
ในแต่ละปี ไปรษณีย์แคนาดาส่งจดหมายและพัสดุรวมเกือบ 1 หมื่นล้านชิ้นไปยังบ้านของผู้รับจดหมายกว่า 15.3 ล้านคนทั่วประเทศรายงานประจำปีฉบับสุดท้ายระบุว่า ชาวแคนาดาส่งจดหมายลดลงจากเมื่อปี 2008 ไป 23.6 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากพวกเขาเริ่มหันไปใช้อีเมล และชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น “ทุกคนเห็นด้วยว่ากำลังเกิดปัญหา” ฌอง รอย อาจารย์ประจำวิทยาลัยธุรกิจ เอชอีซี มอนทรีอัล กล่าว
       
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าไปรษณีย์แคนาดาควรรับทำธุรกรรมการเงินและให้บริการด้านอื่นๆ ซึ่งจะช่วยดึงลูกค้าในพื้นที่ชนบท ที่บริการเหล่านี้เข้าไม่ถึงได้มาก อันที่จริงแล้ว ในช่วงทศวรรษ 1990 ไปรษณีย์แคนาดาเคยเปิดบริการอีเมล และรับชำระค่าบริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ทว่าดึงดูดกลุ่มลูกค้าได้ไม่สำเร็จ
       
ยานนิก สกอตต์ โฆษกของสหภาพแคนาดาเพื่อพนักงานไปรษณีย์ชี้ว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้คือ บันไดก้าวแรกไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิของรัฐบาลอนุรักษนิยมแคนาดา โดยหลังจากที่เมื่อปีที่แล้วไปรษณีย์ขาดทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์ บริษัทคราวน์ก็คาดหวังที่จะกลับไปบริหารกิจการเองภายในปี 2019
 
แรงงานหมดสตินับร้อยคนในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า-รองเท้าเขมร
 
28 ก.พ. 2014 - แรงงานอย่างน้อย 104 คน ในโรงงาน 2 แห่งของกัมพูขา เป็นลมหมดสติในเช้าวันพฤหัสบดี (27) หลังสัมผัสกับสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรม ตัวแทนสหภาพแรงงาน และเจ้าหน้าที่โรงงานระบุ โดยแรงงานที่หมดสติทั้งหมดถูกนำส่งโรงพยบาลหลังเกิดเหตุ ส่วนแรงงานที่เหลือในทั้ง 2 โรงงานได้รับอนุญาตให้หยุดงานได้
       
หัวหน้าสหภาพแรงงานที่โรงงานชิมาโนะ ใน จ.กำปงสะปือ กล่าวว่า แรงงานตัดเย็บอย่างน้อย 26 คน เป็นลมหมดสติ เนื่องจากกลิ่นเหม็นของกาวที่ใช้ติดรองเท้า “คนงานหายใจลำบากเพราะกลิ่นเหม็นของกาว และเป็นลมหมดสติ” หัวหน้าสหภาพแรงงาน กล่าว และว่า เจ้าหน้าที่โรงงานได้ส่งแรงงานที่เป็นลมไปรักษาตัวในโรงพยาบาลทันที
       
ส่วนโรงงานคริสตัล มาร์ติน-แคมโบเดีย ลิมิเต็ด ใน จ.กันดาล มีแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป 78 คน เป็นลมหมดสติ เนื่องจากกลิ่นเหม็นของกรดซัลฟิวริกที่ออกมาจากแบตเตอรี่เก่าซึ่งเกิดระเบิดในที่ทำงาน
       
เจ้าหน้าที่โรงงาน กล่าวว่า แรงงานทั้งหมดถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลังเกิดเหตุ และทั้งหมดมีอาการดีขึ้น และกลับบ้านได้แล้ว การเป็นลมหมดสติหมู่มักเกิดขึ้นในโรงงานตัดเย็บของกัมพูชา รายงานของกระทรวงแรงงานระบุว่า ในปี 2556 ที่ผ่านมา มีแรงงานเป็นลมหมดสติ 823 คน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการทำงานหนัก สุขภาพไม่ดี สัมผัสกับสารเคมี
       
อุตสหากรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้าของกัมพูชา ประกอบด้วย โรงงานมากกว่า 900 แห่ง มีการจ้างงานราว 600,000 คน ภาคส่วนนี้เป็นแหล่งสร้างรายได้จากต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยในปีที่ผ่านมา ภาคส่วนนี้สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ 5,530 ล้านดอลลาร์
 
 
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: ครอบครัวข่าว, กรุงเทพธุรกิจ, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวไทย, ประชาไท, กรุงเทพธุรกิจ, ประชาชาติธุรกิจ, เนชั่นทันข่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท