Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ดังที่ทราบกันดีว่า การศึกษาของไทยได้รับการจัดอันดับภายในภูมิภาคในระดับที่เรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤต ในขณะเดียวกันผู้เรียนเอง ไม่ว่าจะเป็น นักเรียนชั้นประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาต่างกระตระหนักว่า สิ่งที่พวกเขาได้รับในห้องเรียนนั้นเต็มไปด้วยภาระที่หนักอึ้ง กลายเป็นว่า แทนที่จุดประสงค์หลักของการได้รับความรู้คือการเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถาม เฉกเช่นนานาอารยประเทศ หากแต่จุดประสงค์ของการศึกษาทุกวันนี้ คำกล่าวที่ว่า “การเรียนเพื่อเรียนรู้” นั้นกลับถูกใช้เป็นเพียงลมปาก ในขณะที่ความเป็นจริง ภาระทางการศึกษาอันหนักอึ้ง กลับกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้ในปัจจุบัน รายวิชาต่าง ๆ ในโรงเรียนทั่วไปมักมุ่งเน้นการศึกษาติวเข้มรายวิชาหลัก และด้วยเหตุนี้เอง นักเรียนมากมายจึงถูกบีบให้ต้องรับเอาค่านิยมชุดดังกล่าวใส่ไว้ในความคิดและความเชื่อ จนต้องกระตุ้นตัวเองให้ต้องเรียนอย่างหนักและติวพิเศษเพิ่มเติมจากติวเตอร์ชื่อดัง[1]

อย่างไรก็ตาม การกล่าวว่า ทุกโรงเรียนมุ่งเน้นเพียงแต่การศึกษาติวเข้มรายวิชาเท่านั้น คงไม่เป็นเช่นนี้ได้อีกต่อไปเมื่อ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ปทุมวัน เริ่มต้นเสนอว่า ทางโรงเรียนจะใช้คุณธรรมจริยธรรมเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบนักเรียนก่อนที่จะสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนด้วยเพื่อส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมอันเป็นคุณสมบัติสำคัญที่เยาวชนพึงมีตามที่ ผอ. และอาจารย์ผู้สอนเชื่อมั่น อันพ้องกับบริบทของสังคมไทยในปัจจุบันที่คำว่า ไร้คุณธรรม คอรัปชั่น ไม่จงรักภักดี ฯลฯ ถูกนำมาขับเน้นและใช้กันอย่างแพร่หลาย

กระบวนการต่าง ๆ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ ก่อนที่จะสมัครเข้าเรียนในโรงเรียน นักเรียนทุกคนจะต้องเข้าอบรมรับชมวีดีทัศน์เรื่องคุณธรรมจริยธรรมความเป็นไทย และทดสอบการปฏิบัติ อันได้แก่ การไหว้ การกราบ การเดินผ่านผู้ใหญ่ การส่งของรับของ เป็นต้น และเมื่อผ่านการสอบเข้าจนได้กลายเป็นนักเรียนของโรงเรียนแล้ว จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมค่ายอบรมคุณธรรมจริยธรรมของทางโรงเรียนด้วย

จากบทสัมภาษณ์ของนางอรพินธ์ คะนึงสุขเกษม ผอ.โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ปทุมวัน ที่กล่าวว่า

“ประเทศไทยวิกฤติเรื่องผู้นำที่มีคุณธรรมจริยธรรมอย่างมาก หากเราเป็นสถานศึกษาไม่ตระหนักและใส่ใจเรื่องเหล่านี้ เด็กจะเติบโตขึ้นเขาจะมองไม่เห็นต้นแบบที่ดีงาม เราจึงต้องหมั่นอบรมและให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง ชีวิตเด็กปัจจุบันผูกติดกับการใช้ชีวิตบนออนไลน์ แชตคุยกับเพื่อน เล่นเฟสบุกส์ ซึ่งเรื่องราวในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมหาแทบไม่ได้ ดังนั้นผู้บริหารโรงเรียน ครูประจำชั้น ผู้ปกครองต้องร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้เด็กๆ”[2]

นำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า ท้ายที่สุดแล้ว การศึกษาของไทยยังคงล้มเหลวไม่เป็นท่าและรักษาระดับในขั้นวิกฤตได้ดีเสมอ

ทั้งนี้ บทสัมภาษณ์ของ ผอ. อรพินธ์ ได้ชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยในปัจจุบันขับเน้นความสำคัญของศีลธรรมจริยธรรมมากเสียจนอาจกล่าวได้ว่าเป็นเครื่องสะท้อนความเป็นชนชั้นกลางไทยในปัจจุบัน อันเป็นลักษณะที่มักยึดถือวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามเทศกาลต่าง ๆ เช่น เคร่งครัดละเว้นการกินเนื้อสัตว์ในเทศกาลกินเจ นุ่งขาวห่มขาวเข้าวัด เป็นต้น และมักเข้าวัดทำบุญเป็นกิจลักษณะ จนทำให้กลุ่มคนในชนชั้นดังกล่าวเคร่งศาสนาในระดับ “คลั่ง” และสถาปนาความเป็น “คนดี” ที่อยู่ในศีลในธรรม ยกตนเหนือคนชั่ว คนโกง คนรากหญ้า (ที่ถูกซื้อได้โดยง่ายด้วยเงินเพียงหยิบมือหรือนโยบายหลอกลวงจากนักการเมือง) แต่ในขณะเดียวกันก็มีลักษณะความลักลั่นบางประการ ซึ่งก็คือ ความพยายามยัดเยียดความชั่วร้ายให้กับเทคโนโลยี โลกออนไลน์ โซเชียลเน็ตเวิร์ค (หมายรวมไปถึงยัดเยียดความชั่วร้ายให้กับความทันสมัย ความเป็นตะวันตก ทุนนิยม โลกาภวัตน์ ชาติมหาอำนาจ ฯลฯ อีกด้วย) อันเป็นผลของการผลิตซ้ำวาทกรรม “เด็กติดเกม” ที่มักปรากฎในข่าวต่าง ๆ และขยายพรมแดนไปสู่การติดโซเชียลเน็ตเวิร์คอื่น ๆ ด้วย และท้ายที่สุด “คนดี” ก็มีหน้าที่รักษาชาติบ้านเมืองจากภยันตรายจากรอบทิศทาง และมีความชอบธรรมในการจัดการปกครองบ้านเมืองด้วยการตัดสินใจของกลุ่มคนดี ที่เชื่อว่าตนมีคุณภาพ อันเนื่องมาจากการดำรงอยู่ในศีลในธรรม   

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่ ผอ.อรพินธ์กล่าว รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ก่อนที่จะสมัครเข้าเรียนในโรงเรียน จนกระทั่งการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายอบรมคุณธรรมจริยธรรมในขณะที่เรียนอยู่ในโรงเรียนนี้ รวมไปถึงสิ่งที่จะติดตัวไปภายหลังสำเร็จการศึกษา จะเห็นได้ว่า ท้ายที่สุดแล้ว กระบวนการทั้งหมดที่ทางโรงเรียนต้องการนำเสนอนี้ แท้ที่จริงแล้ว ก็คือการผลิตซ้ำวาทกรรมสามสถาบันหลัก อันได้แก่  “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ให้ดำรงอยู่ต่อไปในพื้นที่การศึกษาเช่นที่ปรากฏในเนื้อหาโดยทั่วไปนั่นเอง

ความเป็นไทยที่ ผอ. อรพินธ์ กล่าวถึงนั้นเป็นที่น่าสงสัยว่า นอกเหนือจากคำถามที่ว่า ความเป็นไทยคืออะไรแล้วนั้น อีกคำถามที่ท่านและบรรดาอาจารย์ผู้สอนในโรงเรียนควรตอบให้ได้คือ ความเป็นไทยที่ทางโรงเรียนต้องการที่จะนำเสนอและฉวยใช้นั้นมีหน้าตาอย่างไร มีเอกภาพและดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง รวมทั้งปฏิเสธที่จะอิงกับบริบทของช่วงเวลาใช่หรือไม่? อีกทั้งเป็นความจริงสูงสุดเพียงชุดเดียวหรือไม่ กล่าวคือ ไม่อิงกับสายตาหรือมุมมองใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะความเป็นไทยนั้นมีแค่รูปแบบเดียว?[3]

นอกจากนี้ การทดสอบมารยาท ในฐานะที่เป็น ภาคปฏิบัติของสิ่งที่เรียกว่าคุณธรรมความเป็นไทย อาจสะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า ความเป็นไทยที่ทางโรงเรียนต้องการจะสื่อความหมายถึงนั้น อิงอยู่กับการสร้างระเบียบควบคุมเรือนร่างของนักเรียน ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับการฝึกวินัยของทหาร การทดสอบปฏิบัติคุณธรรมความเป็นไทยผ่านการไหว้ การกราบ การเดินผ่านผู้ใหญ่ การส่งของรับของ เป็นต้น โดยมีมาตรวัด “ความถูกต้อง” และ “ความเหมาะสม” ของการใช้เรือนร่างเพื่อแสดงความเป็นไทย ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธความหลากหลายในการใช้เรือนร่างเพื่อแสดงสิ่งที่เรียกว่าคุณธรรมความเป็นไทยในแบบอื่น ๆ โดยกำหนดให้สิ่งที่ถูกปฏิเสธนี้ ให้กลายเป็นอื่น (Other) หรือ “ผิดแผกแหวกขนบ” (Deviance from Norms) และสถาปนาความหมายซ้อนทับความเป็นอื่นนั้นให้กลายเป็นความผิดปกติ (Perverse and Pathological) อันจำต้องได้รับการเยียวยา แก้ไข และรักษา[4]

ฉะนั้น อาจสรุปในเบื้องต้นได้ว่า ความเป็นไทยที่ทางโรงเรียนปรารถนาคือ การสร้างระเบียบควบคุมเรือนร่าง การปฏิเสธความหลากหลายของการแสดงออกถึงความเป็นไทย ปฏิเสธความเป็นไทยชุดอื่น ๆ จากสายตาหรือมุมมองอื่น ๆ และปฏิเสธความคิดสร้างสรรค์ การตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งความเป็นไทยที่ทางโรงเรียนปรารถนา มีลักษณะสำคัญ คือ การสอดแทรกอุดมการณ์ฝ่ายขวาในนามวาทกรรม “คนดี” มาใส่ไว้ในทุกกิจกรรมที่อ้างชื่อคุณธรรมความเป็นไทยเป็นสาระสำคัญ

นอกจากข้อสังเกตเรื่องความเป็นไทยแล้ว ข้อสังเกตเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคุณธรรมกับพระพุทธศาสนาเอง ก็มีความน่าสนใจ เมื่อค่ายคุณธรรมที่ ผอ. อรพินธ์ กล่าวถึงนั้น แม้ว่าจะใช้หลักธรรมพระพุทธศาสนาเท่านั้นโดยปราศจากหลักธรรมคำสอนของต่างศาสนา[5] นอกจากนี้ พระพุทธศาสนาในสังคมไทยเองก็มีสูตรคำสอนอยู่หลากหลายแนวทาง วัตรปฏิบัติหลากหลายสำนัก หรือแม้กระทั่งเป็นพุทธศาสนานิกายอื่น ๆ ดังนั้น จึงอาจเป็นเรื่องยากที่จะกล่าวอ้างว่าคำสอนของพระพุทธองค์มีเพียงความจริงเพียงหนึ่งเดียว เพราะในความเป็นจริงนั้นมีการสังคายนาพระธรรมมามากมายหลายต่อหลายครั้ง ด้วยบริบททางสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ทำให้พระพุทธศาสนาแตกแขนงออกเป็นสูตรคำสอนต่าง ๆ วัตรปฏิบัติของสำนักต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งเป็นพุทธศาสนานิกายอื่นใดมากมาย หากอาจารย์ผู้สอนยังคงยึดติดอยู่กับมายาคติที่ว่าพระพุทธศาสนามีความจริงเพียงหนึ่งเดียว การเข้าค่ายธรรมะเพื่อปฏิบัติธรรมจะไร้ซึ่งความหมายลงทันทีเพราะจะเหลือเพียงเปลือก มิใช่แก่นหรือสารัตถะที่แท้ของการเรียนรู้พระธรรมคำสอน นอกจากนี้ ค่ายธรรมะที่อาจารย์ผู้สอนตั้งใจจะพานักเรียนไปเข้าร่วมนั้นจะสามารถรู้ได้อย่างไรว่าเป็นวัตรปฏิบัติของสำนักใด มีสูตรคำสอนแบบไหน เป็นวัดสายปฏิบัติของพระอาจารย์ท่านใด เป็นต้น

ท้ายที่สุด คำถามสุดคลาสสิค อย่าง “ความดี/คุณธรรมคืออะไร?” หรือ “ความดี/คุณธรรมวัดค่าได้อย่างไร?” คงเป็นคำถามที่ทางโรงเรียนคงหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ยากนัก และในท้ายที่สุด ในขณะที่โรงเรียนกำลังส่งเสริมให้นักเรียนมุ่งเน้นมากกว่าแค่วิชาการ (ที่อาจารย์ผู้สอนกำลังยัดเยียดความรู้ในรายวิชาหลักที่ติวเข้มอย่างหนักเพื่อมหาวิทยาลัย) ด้วยการเพิ่มจุดมุ่งเน้นคุณธรรมจริยธรรมผ่านทดสอบคุณธรรมความเป็นไทย อันมีจุดประสงค์หลักเพื่อยกระดับคุณภาพของนักเรียน ในขณะเดียวกัน ทางโรงเรียนอาจต้องตระหนักด้วยว่า คุณธรรมความเป็นไทยกับการสอบเข้าสาธิตมศว.ปทุมวันอาจเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การศึกษาไทยยังคงไม่พ้นระดับวิกฤตและความล้มเหลวไปได้




[1] ทั้งนี้ คะแนนการสอบของนักเรียนในแต่ละโรงเรียนจะถูกวัดและประเมินจากองค์กรด้านการศึกษาจากส่วนกลาง อันถือได้ว่าเป็นหน้าเป็นตาของโรงเรียน และในขณะเดียวกัน คะแนนรายบุคคลกับผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนก็กลายเป็นทั้งหน้าตาชื่อเสียงของโรงเรียน ครอบครัว และนักเรียนเองด้วย

[2] คมชัดลึก, “'สาธิตมศวปทุมวัน'เข้มใช้คุณธรรมสอบเข้าม.1," คมชัดลึกออนไลน์, 1 มีนาคม 2557, http://www.komchadluek.net/detail/20140301/179987.html#.UxRc4jucuSr (2 มีนาคม 2557).

[3] มิพักต้องถามต่อไปอีกว่า หากยอมรับเบื้องต้นในความเป็นไทยที่ทางโรงเรียนกล่าวถึง คำถามคือ ทางโรงเรียนยอมรับความเป็นไทยสมัยจอมพลป. ที่เป็นชุดอุดมการณ์ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น “คู่ตรงข้าม” ของชาตินิยมแบบเก่าที่อิงอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่? หรือท้ายที่สุด ทางโรงเรียนต้องการนำเสนอความเป็นไทยแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ที่มีความลักลั่นอย่างเห็นได้ชัดเช่นในปัจจุบัน?

[4] ในขณะเดียวกัน ความท้าทายของผู้บริหารโรงเรียนนี้คือ การพยายามเชื่อมโยงตรรกะและหาเหตุผลเพื่อที่จะตอบคำถามที่ว่า การนั่งสมาธิ สวดมนต์ การกราบ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ส่งเสริมความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อย่างไร

[5] ฐานะของศาสนาอื่น ๆ นอกเหนือจากพระพุทธศาสนาในโรงเรียนไทย สะท้อนให้เห็นได้ว่า ศาสนาต่าง ๆ ถูกนับรวมในนามของการยอมรับความหลากหลาย แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นการนับรวมเพื่อให้กลายเป็นส่วนที่ไม่ถูกนับรวมอยู่ดี (Counted as the Miscounted) ดังจะเห็นได้จากการให้ความสำคัญกับการสอนวิชา “พระพุทธศาสนา” อันเป็นสาระหนึ่งที่สำคัญมากในหมวดสาระการเรียนรู้ “สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม” และมีพื้นที่ให้หลักธรรมคำสอนของศาสนาอื่น ๆ เพียงน้อยนิด (มิพักต้องพูดถึงการให้พื้นที่แก่คนที่ไม่นับถือศาสนาด้วย) หรือจากตัวอย่างที่ว่า การเข้าค่ายอบรมคุณธรรมของทางโรงเรียน ท้ายที่สุดอาจเป็นแค่ค่ายธรรมะแบบไทยพุทธเท่านั้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net