Skip to main content
sharethis
บอร์ด สปสช. เผยเป็นปีแรกร่วมประเมินวัดประสิทธิภาพบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หวังกระตุ้นเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและนำไปสู่การพัฒนาระบบเพื่อประโยชน์ประชาชนในฐานะผู้รับบริการ
 
10 มี.ค. 2557 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่อง เป้าหมายและแนวทางดำเนินงานตามชุดตัวชี้วัดผลลัพธ์ด้านสุขภาพ (Health Outcome) ระหว่าง สปสช.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขสำหรับปี 2557
 
นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ในการดำเนินงานของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำเป็นต้องมีตัวชี้วัดเพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งหนึ่งในตัวชี้วัดที่ถูกนำมาใช้ในการประเมินนั้น นอกจากประสิทธิภาพการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว ผลลัพธ์ด้านสุขภาพ เป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่ถูกนำมาพิจารณา และนำมาใช้ในปี 2557 นี้ มีสัดส่วนการประเมินที่ร้อยละ 20 ของการชี้วัดการทำงาน ขณะที่การชี้วัดประสิทธิภาพการบริหารกองทุนซึ่งจัดทำโดยบริษัท ทริสคอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ทำหน้าจัดอันดับและประเมินผลการทำงาน อยู่ที่ร้อยละ 80 ซึ่งการทำตัวชี้วัดผลลัพธ์ด้านสุขภาพนี้ ทาง สปสช. ได้จัดทำร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข มี 23 ตัวชี้วัด และมอบให้ทางคณะอนุกรรมการประเมินผลระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมี นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ เป็นประธานดำเนินการ ในการกำหนดเป้าหมายและวิธีดำเนินงานชี้วัดให้ชัดเจน
 
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตัวชี้วัดการทำงานจากผลลัพธ์ด้านสุขภาพ 23 รายการนั้น เป็นการนำตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดขึ้นมาใช้ในการประเมินผลการทำงาน สปสช. แต่ทั้งนี้บางรายการต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับข้อมูลการบริการประชาชนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งตัวชี้วัด 23 รายการ อาทิ อัตราส่วนมารดาตาย อัตราตายทารกต่อการเกิดมีชีพพันคน อัตราตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ อัตราตายจากโรคหลอดเลือดสมอง อัตราตายผู้ป่วยบาดเจ็บต่อสมอง ร้อยละผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาในเลือดได้ดี ร้อยละผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ควบคุมความดันโลหิตได้ดี จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ลดลง การส่งต่อผู้ป่วยนอกเขตบริการ ร้อยละของเด็กที่มีพัฒนาการสมวัย และการลดต้นทุนของยา เวชภัณฑ์ และเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา เป็นต้น
 
ทั้งนี้ตัวชี้วัดผลลัพธ์ด้านสุขภาพของ สปสช.ที่กำหนดเป้าหมายต่างจากกระทรวงสาธารณสุข อาทิ การลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ เป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 67 ขณะที่ของ สปสช.กำหนดให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ส่วนการให้บริการสุขภาพช่องปาก กระทรวงสาธารณสุขเป็นการกำหนดการเพิ่มการบริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง (ศสม.) อยู่ที่ร้อยละ 45 ขณะที่ของทาง สปสช. เป็นการกำหนดตัวชี้วัดในส่วนของเด็กชั้น ป.1 ที่ได้รับการตรวจสุขภาพช่องปาก ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้การจัดทำตัวชี้วัดการทำงานด้วยผลลัพธ์ด้านสุขภาพสามารถใช้ประเมินได้จริง
 
 “การจัดทำตัวชี้วัดถือว่ามีความสำคัญต่อองค์กรและหน่วยงานอย่างมาก รวมถึง สปสช. เพราะนำไปสู่การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยในการจัดทำตัวชี้วัดของ สปสช.ในปี 2557 นี้ นับเป็นปีแรกที่ได้นำตัวชี้วัดถึงผลลัพธ์ด้านสุขภาพมาร่วมประเมินด้วย ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากจะเป็นการกระตุ้นการทำงานแล้ว ยังทำให้ทราบว่านโยบายต่างๆ ที่ลงสู่การปฏิบัติได้ผลกลับมาอย่างไร ซึ่งจะมีการนำผลที่ได้เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในฐานะผู้รับบริการ” เลขาธิการ สปสช.กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net