องค์กรสิทธิ-ความโปร่งใส จี้รัฐสภาสหรัฐฯ ปรับกลไกสอบบรรษัทละเมิดสิทธิ

ตัวแทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรเพื่อความโปร่งใสร่วมส่งตัวแทนกดดันให้รัฐสภาสหรัฐฯ มีกลไกตรวจสอบบรรษัทข้ามชาติ รวมถึงสิทธิของชาวต่างชาติในการฟ้องร้องภายใต้ศาลสหรัฐฯ หากมีการละเมิดสิทธินอกประเทศโดยบรรษัท

10 มี.ค. 2557 สำนักข่าวไอพีเอสนิวส์รายงานเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและตัวแทนจากองค์กรต่างๆ อย่างองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรสมาคมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคมของบรรษัทนานาชาติ (International Corporate Accountability Roundtable หรือ ICAR) และองค์กรเอิร์ธไรทส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เสนอมาตรการให้กับรัฐสภาสหรัฐฯ ในการกำหนดกลไกเพื่อตรวจสอบการละเมิดสิทธิในต่างประเทศของบรรษัทข้ามชาติ

กวินน์ สกินเนอร์ รองศาตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยวิลลาเม็ทท์กล่าวว่า "กฎหมายนานาชาติเองก็ระบุให้ประเทศใดๆ มีการเยียวยาบุคคลที่ได้รับอันตรายจากพลเมือง" เนื่องจากบรรษัทในสหรัฐฯ ตอนนี้ถูกนับรวมเป็น 'พลเมือง' ของประเทศไปแล้ว โดยสกินเนอร์อ้างจากการตัดสินของศาลสูงเมื่อปี 2553 ที่อนุญาตให้บรรษัท 'บริจาคทางการเมือง' มากเท่าใดก็ได้เนื่องจากมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป

ทางด้านองค์กรเอิร์ธไรทส์ร่วมมือกับกลุ่มผู้เรียกร้องด้านกฎหมายกลุ่มอื่นๆ ในการทำใบบันทึกให้คะแนนนักการเมือง สหรัฐฯ ในเรื่องการตรวจสอบบรรษัท ซึ่งมาร์โก ไซมอนส์ ผู้อำนวยการด้านกฎหมายของเอิร์ธไรทส์กล่าวว่ารัฐสภาสหรัฐฯ ยังทำคะแนนได้ไม่ดีนักในเรื่องนี้ โดยกล่าวว่าคะแนนเฉลี่ยของวุฒิสมาชิกอยู่ที่ร้อยละ 26.6 ส่วนคะแนนเฉลี่ยของสภาผู้แทนราษฎรคือร้อยละ 44.2 โดยมีผู้แทนฯ 12 คนและวุฒิสมาชิก 45 คนได้รับคะแนนเป็นศูนย์

ทางด้านตัวแทนจากแอมเนสตี้ได้เรียกร้องให้มีความโปร่งใสมากขึ้นในกรณีการวิ่งเต้น (lobby) ของบรรษัท ซีมา โจชิ ประธานฝ่ายธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ฯ กล่าวว่าพวกเขากำลังพิจารณาข้อเสนอการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและบรรษัทอย่างชาญฉลาด พวกเขาเข้าใจว่าการวิ่งเต้นของบรรษัทเป็นเรื่องจำเป็น แต่ขณะเดียวกันก็ควรมีความโปร่งใสในกระบวนการมากกว่านี้เพื่อความยุติธรรม

กลุ่มองค์กรต่างๆ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปรัฐบัญญัติการละเมิดสิทธิคนต่างชาติ (Alien Tort Statute หรือ ATS) ซึ่งเป็นกฎหมายที่อนุญาตให้คนต่างชาติฟ้องร้องผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านศาลสหรัฐฯ ได้ เมื่อปีที่แล้วศาลสูงของสหรัฐฯ ได้จำกัดขอบข่ายของรัฐบัญญัติฉบับนี้ในคดีข้อพิพาทระหว่างคิโอเบลกับบรรษัทรอยัลดัชปิโตรเลียม ซึ่งเป็นคดีที่ประชาชนในไนจีเรียเป็นโจทก์ฟ้องบรรษัทดังกล่าวว่าร่วมมือกับรัฐบาลไนจีเรียในการปราบปรามการชุมนุมต่อต้านโครงการน้ำมันในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโอกอนีไนเจอร์

ไซมอนส์กล่าวว่าบรรษัทต่างๆ ทำธุรกิจในสหรัฐฯ ได้อย่างเสรี แล้วก็ยังสามารถละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกโดยไม่ต้องกลัวว่าเหยื่อผู้ถูกละเมิดสิทธิจะสามารถเข้าถึงศาลสหรัฐฯ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมได้ ไซมอนส์กล่าวอีกว่าจุดนี้เองที่ขัดกับเป้าประสงค์ของรัฐบัญญัติการละเมิดสิทธิคนต่างชาติ คือการต้องไม่ปกป้องผู้ที่ละเมิดกฎหมายนานาชาติในสหรัฐฯ

นอกจากนี้ยังมีคดีที่ชาวเมียนมาร์ 4 รายฟ้องร้องบรรษัทยูโนคอลว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายด้านในโครงการก่อสร้างท่อก๊าซโดยร่วมมือกับรัฐบาลเมียนมาร์ ซึ่งเอิร์ธไรทส์เป็นตัวแทนโจทก์ให้กับชาวเมียนมาร์ในศาลรัฐแคลิฟอร์เนีย หลังจากศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ตัดสินให้ฝ่ายบรรษัทไม่มีความผิด

อีกคดีหนึ่งคือคดีข้อพิพาท อัล ชิมารี กับ บรรษัทคาซิ (CACI) ซึ่งได้ตกลงกับบริษัททหารรับจ้างเอกชนในการสืบสวนนักโทษชาวอิรักด้วยวิธีการทรมาน หลังจากที่ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ สั่งยกฟ้องคดีนี้ก็มีโอกาสที่การอุทธรณ์จะถูกสั่งยกฟ้องเช่นกันกับกรณีของคิโอเบล

นอกจากเรื่องการปฏิรูปกฎหมาย ATS แล้วสกินเนอร์ยังได้เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องข้อจำกัดด้านความรับผิดชอบเพื่อให้บรรษัทแม่ของบรรษัทย่อยๆ ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบรรษัทย่อยของตนด้วย

"ทุกวันนี้พวกเราเห็นว่านี่คือวิธีการที่บรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ใช้ในการผลักภาระความเสี่ยงแต่ก็ยังได้กำไรไปทั้งหมด การมีอยู่ของระบบบรรษัทที่ซับซ้อนมีไว้เพื่อให้บรรษัทเหล่านั้นมีความเสี่ยงน้อยที่สุดแต่ก็ได้รับผลประโยชน์" สกินเนอร์กล่าว

แม้จะมีผู้โต้แย้งว่าเหยื่อผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีในประเทศของตนได้ แต่กรณีของคิโอเบลและยูโนคอลก็แสดงให้เห็นว่าหลายประเทศกลายเป็นผู้ก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง และยังมีระบบศาลที่อ่อนแอหรือฉ้อฉล

สกินเนอร์กล่าวว่าระบบศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ค่อนข้างเข้มแข็ง เป็นเหตุผลว่าทำไมควรมีการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับบรรษัทในสหรัฐฯ แทนที่จะเป็นในประเทศกำลังพัฒนา

สกินเนอร์อ้างกรณีที่ชาวเอกวาดอร์ฟ้องร้องบรรษัทเชฟรอนซึ่งเป็นบรรษัทน้ำมันของสหรัฐฯ โดยอ้างว่าบรรษัททำให้พื้นที่ลาโก อากริโอ เกิดมลภาวะ ซึ่งศาลสหรัฐฯ ได้ตัดสินให้เชฟรอนเป็นฝ่ายชนะคดีเนื่องจากเห็นว่าอัยการฝ่ายโจทก์ใช้หลักฐานเท็จ ในแง่นี้สกินเนอร์บอกว่าการดำเนินคดีในประเทศสหรัฐฯ อย่างน้อยก็มีการดำเนินคดีที่ค่อนข้างเป็นธรรมมากกว่าในประเทศที่กำลังพัฒนา

เรียบเรียงจาก

Congress Pressured on Multinational Corporate Accountability, IPS, 08-03-2014
http://www.ipsnews.net/2014/03/congress-pressured-multinational-corporate-accountability/
http://en.wikipedia.org/wiki/Kiobel_v._Royal_Dutch_Petroleum_Co.
http://en.wikipedia.org/wiki/Doe_v._Unocal

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท