‘บุญยืน สุขใหม่’ นักสิทธิแรงงาน คว้ารางวัลสมชาย นีละไพจิตร ปี 57

12 มี.ค. 2557 เนื่องในโอกาส 10 ปีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร กองทุนสมชาย นีละไพจิตร จัดงานมอบรางวัลผู้มีผลงานสิทธิมนุษยชนน่ายกย่องประจำปี 2557 และรางวัลวิทยานิพนธ์ด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น มอบรางวัลโดย ศ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมืองและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำหรับรางวัลประเภทบุคคล/ชุมชน/กลุ่มบุคคล/องค์กร ผู้ได้รับรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ปี 2557 ได้แก่ บุญยืน สุขใหม่ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงาน ซึ่้งเป็นพนักงานเต็มเวลาในอุตสาหกรรมรถยนต์ ใช้นอกเวลางานเคลื่อนไหวและให้คำปรึกษาด้านสิทธิแรงงานแก่เพื่อนผู้ใช้แรงงาน โดยเปิดบ้านของตัวเองเป็นสถานที่ให้คำปรึกษา หลังเลิกงานจนถึงหนึ่งทุ่มของทุวัน

ส่วนผู้ได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนน่ายกย่อง มี 1 คน คือ เยาวลักษณ์ อนุพันธุ์ ทนายความสิทธิมนุษยชนที่ช่วยเหลือคดีสิทธิผู้หญิง คดีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คดีสิทธิชุมชน คดีผู้ลี้ภัย และคดีนักโทษทางการเมือง และอีก 1 องค์กรที่ได้รับรางวัลประเภทนี้ คือ ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา

ส่วนประเภทงานวิจัยทางวิชาการ รางวัลด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่นได้แก่ วิทยานิพนธ์เรื่อง "การสร้างความรู้โดยชุมชนในบริบทการเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่ายหินกรณีศึกษาชุมชนบ้านตะเคียนดำ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช" โดย คุณศิโรนี โต๊ะสัน มหาบัณฑิตสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศิโรนี โต๊ะสัน กล่าวว่า วิทยานิพนธ์เล่มนี้ ใช้เวลาทำสองปี เมื่อทำงานวิจัยเสร็จชาวบ้านสะท้อนออกมาว่าชาวบ้านเองก็เป็นนักวิจัยด้วย เพราะสามารถช่วยกันสร้างความรู้ใหม่ๆ ต่อไปได้ งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้ชาวบ้านรวมทั้งเด็กเห็นว่าพวกเขามีสิทธิที่จะค้นคว้าหาความรู้จากในชุมชนได้ด้วยตัวเอง ขณะนี้นักวิจัยส่วนใหญ่ไม่ทำให้ชุมชนรู้สึกว่าตัวเองมีศักดิ์ศรีและมีความรู้เพียงแต่เอาตัวเองไปหาข้อมูลวิชาการของตัวเองเท่านั้น งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ง่ายเพราะเป็นประเด็นที่ร้อนและขัดแย้ง กว่าชาวบ้านจะเชื่อใจและเข้ามามีส่วนร่วมได้ก็ต้องใช้เวลานาน

บุญยืน สุขใหม่ กล่าวว่า ปัญหาทุนละเมิดสิทธิแรงงานเป็นปัญหามาอย่างยาวนาน ใครจะตั้งสหภาพแรงงานเพื่อเรียกร้องสวัสดิภาพก็จะถูกทำให้ไม่สามารถอยู่ในโรงงานนั้นได้ ปัญหาการจ้างงานแบบเหมาค่าแรงก็มีกฎหมายเขียนมาแก้ปัญหาแต่ไม่ได้รับการปฏิบัติ ถ้าลูกจ้างไปฟ้องนายจ้างก็มีโอกาสถูกเลิกจ้างสูง เมื่อมีการรวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงานออกมาชุมนุมนัดหยุดงานก็มักจะถูกสังคมตีตราว่าสร้างความวุ่นวาย ถ้าชุมนุมหน้าโรงงานก็จะถูกดำเนินคดีอาญาฐานบุกรุก ต้องหาเงินประกันตัว 100,000 บาทซึ่งลำบากมากสำหรับคนงาน ทั้งที่เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย

บุญยืน กล่าวว่า ปัจจุบันคนงานมีความรู้เรื่องกฎหมายแรงงานน้อยมาก กฎหมายที่เกี่ยวข้องที่สำคัญมีถึง 11 ฉบับเป็นเรื่องซับซ้อนมากกว่าคนงานจะเข้าใจสิทธิที่มีและเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้ กระบวนการหรือกลไกของรัฐที่จะช่วยเหลือคนงานก็มีอุปสรรค เจ้าหน้าที่ก็มักด่าคนงานเพราะเห็นว่าไม่มีความรู้ ทนายคิดค่าคำฟ้องเท่ากับเงินเดือนคนงานหนึ่งเดือน และถ้าหากชนะคดีก็จะคิดค่าใช้จ่ายอีก 20 เปอร์เซ็นต์

บุญยืน เล่าถึงการทำงานของตัวเองว่า เราก็เพิ่งเรียนจบนิติศาสตร์ ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความ แต่ก็เอาประสบการณ์ตัวเองบวกกับการศึกษาหาความรู้มาทำคดีให้คนงาน ปีที่แล้วช่วยเหลือคนงานมาประมาณ 400 คดี ทั้งที่ปีหนึ่งมีเพียง 365 วัน บางครั้งรู้สึกว่าทำงานเยอะเหลือเกิน แต่ก็ต้องทำเพราะไม่ค่อยมีใครมาทำงานตรงนี้ ทำงานจนมีปัญหาสุขภาพทำให้บางครั้งเกิดอาการท้อเหมือนกัน นอกจากนี้ที่ผ่านมาเคยถูกลอบทำร้ายหลายครั้งแต่รอดมาได้ แม้พื้นที่ภาคตะวันออกจะมีอิทธิพลอันตรายมาก แต่ก็มองว่ายุคนี้ยังดีกว่ายุค รสช.ที่มีทหารถือปืนล้อมอยู่ตลอดเวลา

บุญยืน เล่าด้วยว่า ช่วงนี้สถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจไม่ดีทำให้ผู้ประกอบการหลายแห่งเริ่มให้หยุดงานชั่วคราวแล้วจ่ายค่าตอบแทนบางส่วน เขาพยายามเปิดหน้าสื่อให้สื่อรายงานข่าวแรงงานบ้างแต่ก็ไม่มีเลย ตอนหลังก็เลยต้องหัดเขียนข่าวเองด้วย

"ทุกคนก็เป็นคนเหมือนกัน ไม่ว่านายจ้าง แรงงานเหมาค่าแรง หรือเจ้าหน้าที่ ควรจะได้รับสิทธิเหมือนๆ กัน" บุญยืนกล่าว

บุญยืน เล่าปัญหาด้วยว่า กฎหมายแรงงานที่ออกมาแต่ละฉบับไม่เป็นประโยชน์กับคนงาน และยังไม่เคยเห็นนายจ้างที่ละเมิดสิทธิแรงงานติดคุกตามที่กฎหมายเขียนไว้ มีแค่เปรียบเทียบปรับแล้วจบไป นายจ้างจึงกล้าละเมิดกฎหมายตลอด หากไม่พอใจอะไรก็เลิกจ้างไว้ก่อนแล้วให้ลูกจ้างแบกภาระไปสู้ต่อที่ศาล

สิทธิพล ชูประจง เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ศูนย์ข้อมูลคนหายฯ เริ่มจากจุดเล็กๆ คือ อีเมล์ฉบับหนึ่งจากคนชนเผ่าซึ่งแจ้งมาว่าลูกของเขาหายไป เจ้าหน้าที่จึงไปค้นคว้าดูกลไกการปฏิบัติงานของภาครัฐในการติดตามหาคนหาย เราพบว่าไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่เลย

สิบกว่าปีที่ทำงานมา พบว่าสาเหตุของคนหายมีสาเหตุหลักหลายสาเหตุ มีกรณีที่ประสงค์จะออกจากบ้านเอง เช่น ทะเลาะกับพ่อแม่ วัยรุ่นติดเพื่อน มีกรณีเด็กถูกลักพาตัวไปขอทาน ซึ่งยังไม่พบกรณีเป็นกลุ่มแก๊งค์มากนัก มีกรณีคนหายเพราะมีอาการทางจิตหรือสมองเสื่อม ปัจจุบันกลไกของภาครัฐไม่ทำงานให้เท่าทันกับสถานการณ์ ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะค้นหาคนหาย เช่น ตำรวจไม่รับแจ้งความถ้าหายไม่ครบ 48 ชั่วโมง ระบบข้อมูลคนหายของภาครัฐกระจัดกระจาย ไม่เชื่อมโยงกัน ทางมูลนิธิกระจกเงาจึงอยากเรียกร้องให้มีศูนย์เป็นหน่วยกลางของรัฐที่จะรวบรวมข้อมูลคนหายจากหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นระบบ

เยาวลักษณ์ อนุพันธุ์ กล่าวว่า จากประสบการณ์เป็นทนายความมา 20 ปี พบว่า ประเด็นสิทธิมนุษยชนจะโยงอยู่กับคนด้อยโอกาส พบว่าปัญหาใหญ่คือเรื่องอคติของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม บางคดีพอรู้ว่าไปขึ้นบัลลังก์ไหนก็รู้ผลเลย เมื่อไปทำคดีเกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัย ก็จะพบปัญหาทัศนคติต้องถูกเจ้าหน้าที่ถามว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า ศาลก็จะอ้างเรื่องนอกสำนวน เช่น ศาลถามว่าผู้ลี้ภัยเผาธงชาติไทยหรือไม่

"กฎหมายบ้านเราไม่มีน้ำใจ กฎหมายบัญญัติออกมาโดยขาดมิติสังคมศาสตร์โดยสิ้นเชิง ตัวผู้พิพากษาหรืออัยการเองก็เหมือนถูกขังอยู่ด้วยตัวบทกฎหมาย" เยาวลักษณ์ กล่าว

เยาวลักษณ์ เล่าต่อว่า คดีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นอคติของเจ้าหน้าที่รัฐเพราะเป็นคดีความมั่นคง เจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน รู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจทำอะไรก็ชอบธรรม คดีมาตรา 112 ก็เป็นปัญหาทัศนคติในกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน ตั้งแต่ทำคดีมา 20 ปี พบว่าคดีมาตรา 112 เป็นอะไรที่น่ากลัวที่สุด ในประเด็นอื่นเรายังสามารถถกเถียงในเรื่องสิทธิได้ แต่คดีมาตรา 112 เรารู้สึกว่าใครก็จะตกเป็นจำเลยได้เสมอ แม้แต่พยานที่มาให้การก็รู้สึกว่าพูดไม่ได้ รู้สึกว่าสำหรับคนไทยแม้แต่จะคิดก็ไม่ได้ คดีล่าสุดศาลไม่ให้คัดถ่ายบันทึกคำเบิกความ บรรยากาศมีความรู้สึกน่าสะพรึงกลัว

เยาวลักษณ์ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้สนุกกับอาชีพทนายความที่ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ต้องอ่านหนังสือค้นคว้าใหม่ๆ อยู่ตลอด จึงยังไม่ได้คิดเรื่องความกลัว เราเชื่อมาตลอดว่าสุจริตใจเป็นเกราะป้องกันตน จึงยังไม่ห่วงว่าใครจะมาฆ่าเรา แม้จะมีการขู่มา แต่ก็เชื่อว่าถ้าคนจะทำจริงก็คงไม่ขู่ ตอนนี้อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐมีความกล้าที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานของกฎหมายอย่างน้อยที่สุดคือให้ประกันตัวในคดีมาตรา112 ที่เป็นแค่เรื่องความคิดเห็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท