ข้อพิจารณาทางกฎหมายระหว่างประเทศกรณีการเนรเทศคุณ สาธิต เซกัล

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

                                                                                                           

เกริ่นนำ

การเนรเทศคนต่างด้าวเป็นเรื่องที่มีเกี่ยวข้องทั้งกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งโดยเฉพาะในปัจจุบันที่การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของคนต่างด้าวในประเทศไทยมีมากขึ้นและง่ายขึ้นเรื่อยๆ หลายคนอาจมองว่าการเนรเทศคนต่างด้าวไม่น่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นอำนาจของรัฐอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องการเนรเทศคนต่างด้าวเป็นเรื่องสำคัญถึงขนาดประเทศ Republic of Guinea ฟ้องประเทศ Democratic Republic of the Congo ต่อศาลโลก เนื่องจากคองโก เนรเทศนาย Ahmadou Sadio Diallo และศาลโลกได้มีคำตัดสินในเรื่องนี้เมื่อประมาณ 2 ปีมานี้เอง[1] เมื่อมีข่าวว่าจะมีการเนรเทศคุณสาธิต เซกัลออกนอกราชอาณาจักรไทยนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะทำความเข้าใจในเรื่องการเนรเทศ

1.ลักษณะทั่วไปของ “การเนรเทศคนต่างด้าว”

แม้กฎหมายระหว่างประเทศจะมิได้กำหนดหลักเกณฑ์รายละเอียดเกี่ยวกับการเนรเทศคนต่างด้าวไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า รัฐมีอำนาจที่จะเนรเทศคนต่างด้าวได้[2] การเนรเทศ หมายความว่า การเคลื่อนย้ายคนต่างด้าวให้ออกจากประเทศ โดยอาศัยมาตรการหรือคำสั่งจากฝ่ายปกครอง[3] ด้วยเหตุผลเพราะว่าการพำนักอาศัยของคนต่างด้าวจะขัดต่อสันติภาพ (หรือความสงบสุข) ความปลอดภัย และสวัสดิการสาธารณะของรัฐ[4] โดยอาศัยกฎหมายเนรเทศ มิใช่กฎหมายคนเข้าเมือง นานาประเทศจะมีกฎหมายสองฉบับนี้เพื่อใช้ควบคุมการเข้าเมืองของคนต่างด้าว การบังคับให้คนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักรได้สิ้นสุดลงเพราะคนต่างด้าวผู้นั้นได้มีพฤติการณ์ที่ขัดต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยของรัฐ[5] แต่การให้คนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักรโดยอาศัยกฎหมายคนเข้าเมืองนั้นเกิดจากกรณีที่คนต่างด้าวผู้นั้นเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายคือเป็นผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองซึ่งทำให้คนต่างด้าวผู้นั้นไม่มีสิทธิอยู่อาศัยในราชอาณาจักรมาตั้งแต่ต้น[6]

2.อำนาจการเนรเทศคนต่างด้าวเป็นอำนาจของรัฐ

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปจากนักกฎหมายระหว่างประเทศและทางปฎิบัติของรัฐว่า อำนาจ (หรือนักกฎหมายหลายคนใช้คำว่า “สิทธิ”ที่ติดตัวมากับรัฐ หรือ inherent right) ในการเนรเทศคนต่างด้าวออกนอกประเทศตนนั้นเป็นของรัฐ[7] กล่าวอีกนัยหนึ่ง การเนรเทศเป็นการแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของรัฐสมัยใหม่[8]  หลักที่ว่า รัฐมีอำนาจเนรเทศคนต่างด้าวได้นั้นมิใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด นักกฎหมายระหว่างประเทศได้เสนอเรื่องการเนรเทศคนต่างด้าวมานานแล้ว นักกฎหมายระหว่างประเทศอย่างท่าน Rolin-Jaquemyns (โรแลงค์ ยัคแมงส์ หรือเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ) ก็เคยเสนอรายงานต่อ สถาบันกฎหมายระหว่างประเทศ (Institute of International Law) ในปี ค.ศ. 1888 ว่า ในมุมมองของกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐบาลของทุกรัฐมีสิทธิที่จะรับหรือไม่รับคนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักร รวมถึงสิทธิที่จะเนรเทศคนต่างด้าวด้วย[9]

อย่างไรก็ตาม การเนรเทศคนต่างด้าวจะกระทำโดยอำเภอใจโดยที่ไม่มี “เหตุ” (Grounds) หรือข้ออ้างสำหรับการเนรเทศไม่ได้ โดยหลักแล้ว การเนรเทศจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายภายในของประเทศนั้นๆหรือไม่และการเนรเทศนั้นสอดคล้องกับพันกรณีระหว่างประเทศหรือไม่ด้วย[10]

มองในแง่มุมของกฎหมายภายใน อำนาจในการเนรเทศคนต่างด้าวถือว่าเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร มิใช่เป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายตุลาการ กล่าวคือ การเนรเทศนั้นจะทำอยู่ในรูปแบบของ “คำสั่งทางปกครอง” ที่ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะที่เป็นฝ่ายปกครอง

3.หลักการห้ามเนรเทศคนชาติ[11]

โดยหลักกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว รัฐจะเนรเทศหรือขับไล่พลเมืองของตนออกจากราชอาณาจักรมิได้[12] ข้อห้ามนี้เป็นสิ่งที่คู่กับหน้าที่ของรัฐที่จะต้องรับคนชาติของตนให้อาศัยอยู่ในดินแดนของตน (The Duty of Admission) กล่าวอีกนัยหนึ่ง นอกจากรัฐจะต้องให้คนชาติอาศัยอยู่ในรัฐแล้ว (เพราะเป็นสิทธิของคนชาติ) รัฐจะขับไล่หรือเนรเทศคนชาติของตนไม่ได้ด้วย นักกฎหมายระหว่างประเทศเรียกหลักนี้ว่า “Non-Expulsion of National” นอกจากนี้แล้วหลัก Non-Expulsion of National ก็ยังสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศด้วย เพราะรัฐหนึ่งรัฐใดมีอำนาจขับไล่คนชาติของตนออกนอกราชอาณาจักรแล้ว ก็จะเป็นการล่วงละเมิดเขตอำนาจรัฐของรัฐอื่น[13] แต่เป็นสิทธิหรืออำนาจของรัฐที่จะเนรเทศคนต่างด้าวได้[14]

สำหรับประเทศไทยนั้น หลัก Non Expulsion of National ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2475 มาตรา 31 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติว่า “การเนรเทศบุคคลผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักรจะกระทำมิได้” และในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็บัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 36 วรรคท้ายเช่นเดียวกัน นอกจากนี้เเล้วมาตรา 9 บัญญัติว่า “เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเกี่ยวกับสัญชาติของผู้ที่จะต้องถูกพิจารณาเนรเทศ ผู้ที่จะต้องถูกพิจารณาเนรเทศนั้นจะต้องเป็นผู้นำพยานหลักฐานพิสูจน์ว่าตนเป็นผู้มีสัญชาติหรือเคยได้สัญชาติไทยโดยการเกิด” จากมาตรา 9 จึงเข้าใจได้ว่า รัฐจะเนรเทศคนชาติหรือพลเมืองไม่ได้ รัฐจะเนรเทศได้ก็เฉพาะคนต่างด้าวเท่านั้น อีกทั้งในพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. 2499 มาตรา 5 ก็ยังบัญญัติอย่างแจ้งชัดว่า “…..ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร…” ไม่มีบทบัญญัติใดที่บัญญัติความในลักษณะนี้ให้ใช้กับพลเมืองด้วย ฉะนั้น รัฐมนตรีจึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้เนรเทศคนชาติหรือพลเมืองไทยออกไปนอกราชอาณาจักร แม้ว่าคนไทยจะกระทำความผิดร้ายแรงอย่างใดก็มิอาจที่จะถูกส่งเนรเทศไปอยู่นอกราชอาณาจักรไทยได้[15]

4.ข้อเท็จจริงหรือข้ออ้างที่ใช้เป็นเหตุเเห่งการเนรเทศ

โดยหลักแล้ว รัฐจะต้องอ้าง “เหตุ” เพื่อการเนรเทศ (grounds for expulsion) คนต่างด้าวเสมอ[16] ส่วนเหตุหรือข้ออ้างตามกฎหมายภายในของรัฐต่างๆนั้นมักจะคล้ายกันในแง่ที่ว่า เหตุที่ใช้ในการเนรเทศคนต่างด้าวมีอาจมีหลายเหตุเช่น การกระทำที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน (public morals) หรือการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย (public order)[17]  หรือความมั่นคงของรัฐ ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวเป็นถ้อยคำที่มีความหมายคลุมเครือ ไม่ชัดเจน[18] เปิดโอกาสให้ฝ่ายปกครองสามารถใช้ดุลพินิจได้ หรือเปิดช่องให้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจก็ได้ รวมทั้งคนต่างด้าวที่มีเป็นโรคติดต่อร้ายแรงหรือมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศก็อยู่ในข่ายที่จะถูกเนรเทศได้เช่นกัน[19]

กฎหมายเฉพาะว่าด้วยการเนรเทศของไทยฉบับแรกคือ กฎหมายเนรเทศ ร.ศ.131 ซึ่งถูกยกเลิกแล้ว กฎหมายเนรเทศของไทยที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันคือพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. 2499 เมื่อพิจารณาจากมาตรา 5 เเห่ง พรบ. การเนรเทศ (ซึ่งใช้คำค่อนข้างคลุมเครือเปิดช่องให้ฝ่ายปกครองได้ใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวาง) มาตรา 5 เเห่งพรบ.การเนรเทศ พ.ศ. 2499 บัญญัติว่า เมื่อปรากฏว่ามีความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร….

ประกอบกับข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยที่5/2501 ว่าด้วยระเบียบการเนรเทศ พ.ศ 2499 เเล้วจะพบว่า อำนาจการเนรเทศของฝ่ายปกครองค่อนข้างกว้างขวาง กล่าวคือ ข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุให้อำนาจเเก่รัฐมนตรีที่จะออกคำสั่งทางปกครองเนรเทศคนต่างด้าวนั้นไม่จำต้องเป็นความผิดอาญาเสมอไป เเม้คนต่างด้าวผู้นั้นจะมิได้กระทำความผิดอาญาอุจฉกรรจ์ เช่น ป่วยเป็นโรคติดต่อ หรือโรคเรื้อรัง คนต่างด้าวผู้นั้นก็อยู่ในข่ายที่ต้องคำสั่งเนรเทศได้เช่นกัน  

กล่าวโดยสรุปแล้ว รัฐมีอำนาจอธิปไตยที่จะเนรเทศคนต่างด้าวได้ ในอดีตประเทศสยามเคยเนรเทศคนต่างด้าวชาวอังกฤษชื่อลิลลี่ โดยมีการประกาศกระแสพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 16 มีนาคม ร.ศ.116 โดยอ้างว่า นายลิลลี่เป็นคนต่างประเทศเป็นผู้แต่งหนังสือพิมพ์ชื่อสยามฟรีเปรส เขียนข้อความหมิ่นประมาทรัฐบาลและประชาชนไทย จึงให้เนรเทศ[20] ในทางปฏิบัติที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเคยมีคำสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักรฐานเป็นบุคคลต่างด้าวอันไม่พึงปรารถนาจนตลอดชีวิต เนื่องจากมีพฤติการณ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน*

ผลในทางกฎหมายของคนต่างด้าวที่ต้องคำสั่งให้เนรเทศมีอยู่สองประการคือ บุคคลผู้นั้นจะต้องออกนอกราชอาณาจักรไทย และบุคคลผู้นั้นจะเข้ามาในประเทศไทยไม่ได้อีก เนื่องจากคนต่างด้าวผู้ใดที่ถูกรัฐบาลไทยเนรเทศแล้วจะกลายเป็นบุคคลต้องห้ามที่จะเข้ามาในประเทศไทยทันที ตามมาตรา 12 (11) แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522

5.กฎหมายระหว่างประเทศกับการเนรเทศคนต่างด้าว

5.1   กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

ข้อบทที่ 13 แห่ง ICCPR บัญญัติว่า “คนต่างด้าวผู้อยู่ในดินแดนของรัฐภาคีแห่งกติกานี้โดยชอบด้วยกฎหมายอาจถูกไล่ออกจากรัฐนั้นได้โดยคาวินิจฉัยอันได้มาตามกฎหมายเท่านั้น และผู้นั้นย่อมได้รับอนุญาตให้ชี้แจงแสดงเหตุผลคัดค้านการขับไล่ออกจากรัฐนั้น และขอให้มีการทบทวนเรื่องของตนโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ หรือบุคคล หรือคณะบุคคล ที่แต่งตั้งขึ้นเฉพาะการนี้โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจโดยได้รับอนุญาตให้มีผู้แทนเพื่อวัตถุประสงค์ข้างต้นได้เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลจาเป็นอย่างอื่นด้านความมั่นคงแห่งชาติ” สาระสำคัญของข้อบทนี้คือ การเนรเทศคนต่างด้าวนั้นสามารถกระทำได้เพราะเป็นอำนาจอธิปไตยของรัฐ อย่างไรก็ตาม การเนรเทศนั้นต้องชอบด้วยกฎหมายภายในทั้งในแง่ของกระบวนการ (procedural) และเนื้อหาสาระของคำสั่งเนรเทศ  (substance)

5.2   งานของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศของ UN

คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission: ILC) ของสหประชาชาติได้ตระหนักความสำคัญของเรื่องการเนรเทศคนต่างด้าวจนได้มีการแต่งตั้งนาย Maurice Kamto ชาวแคเมอรูนทำหน้าที่เป็นผู้รายงานพิเศษ ศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะและทำการยกร่างเป็นตราสารระหว่างประเทศขึ้นมา ซึ่งขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ โดย Maurice Kamto ได้เสนอรายงานหมดทั้งสิ้น 8 ฉบับ

5.3   คำพิพากษาศาลโลกคดีนาย Ahmadou Sadio Diallo

คดีนาย Diallo เป็นคดีแรกที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกมีโอกาสตัดสินคดีเกี่ยวกับการเนรเทศคนต่างด้าว ข้อเท็จจริงย่อมีว่า นาย Ahmadou Sadio Diallo เป็นชาว Guinean ประกอบอาชีพเป็นนักธุรกิจ ได้มาลงหลักปักฐานที่ประเทศ Congo” ระหว่างปี ค.ศ. 1960 ถึง 1971 และย้ายมาอยู่ประเทศ “Zaire” ระหว่างปีคศ 1971 ถึง 1997 ในปี 1974 นาย Diallo ได้ตั้งบริษัท Africom-Zaire วึ่งเป็นบริษัทนำเข้าส่งออก จดทะเบียนตามกฎหมาย Zaire และตั้งอีกบริษัทคือ Africontainers-Zaire โดยสัดส่วนการถือหุ้นคือ 40 per cent by Mr. Zala, a Zairean national; 30 per cent by Ms Dewast, a French national; and 30 per cent by Africom-Zaire ต่อมาภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 60 per cent by Africom-Zaire and 40 per cent by Mr. Diallo จากนั้นบริษัททั้งสองเริ่มมีปัญหาทางการเงินและมีข้อพิพาททางกฎหมายต่างๆมากมาย จนในที่สุด  วันที่ 31 ตุลาคม ปีค.ศ. 1995  นายกรัฐมนตรีของ Zaire ได้ออกคำสั่งเนรเทศนาย Diallo ออกจากประเทศ โดยให้เหตุผลว่า การอยู่ในประเทศของนาย Diallo เป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจและการเงิน นาย Diallo ได้ถูกควบคุมตัวเพื่อเตรียมการเนรเทศกลับไปยังประเทศ Guinea โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งไปยังนาย Diallo ว่า ปฎิเสธที่จะให้นาย Diallo อยู่ประเทศต่อไป refusal of entry (refoulement) เนื่องจากนาย Diallo เป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (illegal residence, séjour irrégulier) อย่างไรก็ดี ประเทศ Guinea อ้างว่าการเนรเทศนาย Diallo ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะว่าเหตุผลที่แท้จริงที่เนรเทศ Diallo คือเพื่อมิให้ Diallo มีโอกาสแก้ไขหนี้สินของบริษัท ประเด็นสำคัญในคดีนี้คือ Guinea กล่าวหารัฐบาลประเทศ Congo (ชื่อใหม่ของประเทศซาอีร์) ว่ากระบวนการเนรเทศนาย Diallo ไม่ชอบด้วยกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ  ( เช่น ข้อบทที่ ของกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือ the International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) กล่าวคือ มีการกักตัวนาย Diallo เป็นเวลานานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด (นาย Diallo ถูกควบคุมตัวนาน 66 วัน) รวมทั้งมีการปฎิบัติต่อนาย Diallo ที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ที่น่าสนใจก็คือ รัฐบาล   Guinea กล่าวหาว่า Congo ละเมิดข้อบทที่ 36 (1) (b) ของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ( the Vienna Convention on Consular Relations 1963) ที่เจ้าหน้าที่รัฐของ Congoไม่ยอมแจ้งไปยังกงสุล Guinea โดยไม่ชักช้าในช่วงเวลาที่มีการควบคุมตัวนาย Diallo อันเป็นการละเมิดสิทธิของนาย Diallo ที่ไม่สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากกงสุลประเทศของตนได้ รัฐบาล Guinea จึงฟ้อง Congo ต่อศาลโลก

ศาลโลกตัดสินว่า กระบวนการเนรเทศนาย Diallo ไม่ชอบด้วยกฎหมายของ Congo เพราะว่า ประการแรก ก่อนออกคำสั่งเนรเทศ มิได้มีการปรึกษาหารือจาก National Immigration Board ก่อนซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายของ  Congo ประการที่สอง คำสั่งเนรเทศมิได้ให้ “เหตุผล” ในการเนรเทศ หรือมิได้อ้าง  “เหตุ” (Grounds) ในการเนรเทศ ศาลโลกเห็นว่า คำสั่งเนรเทศใช้ถ้อยคำกว้างๆว่า การกระทำของนาย Diallo เป็นอันตรายหรือเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยนั้นคลุมเครือเกินไป โดยคำสั่งเนรเทศต้องให้เหตุผลหรือบรรยายว่าการกระทำของนาย Diallo นั้นขัดต่อความสงบเรียบร้อยอย่างไร[21]

นอกจากนี้ศาลโลกยังตัดสินว่า รัฐบาลคองโกละเมิดข้อบทที่ 36 (1) (b) ของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุลด้วย[22] ในที่สุดศาลโลกตัดสินว่า การเนรเทศนาย Diallo โดยรัฐบาลคองโกละเมิดข้อบทที่ 13 ของ ICCPR และละเมิด ข้อบทที่ 36, paragraph 1 (b), ของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการกงสุลด้วย[23]

6. กรณีคุณสาธิต เซกัล: ส่งตัวกลับหรือเนรเทศ

การเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรของคุณสาธิต เซกัลนั้น เป็นการพิจารณาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โดยพรก. ฉุกเฉินบัญญัติให้ใช้กฎหมายคนเข้าเมืองโดยอนุโลม[24] โดยในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองได้พิจารณาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายสาธิต กระทำผิดกฎหมายจริง โดยคณะกรรมการมีมติเห็นควรเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรของนายสาธิต ตามมาตรา 53, 54 ประกอบกับมาตรา 12 (7) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522"[25] ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นการ “ส่งคนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักรไทย” โดยผลของการเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร แต่ไม่ใช่เป็นการเนรเทศคนต่างด้าว (ในความหมายที่แท้จริง) เพราะว่าการเนรเทศนั้นมีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการนี้อยู่แล้วคือพ.ร.บ. การเนรเทศคนต่างด้าว พ.ศ. 2499 โดยเหตุที่จะอ้างเพื่อเนรเทศนั้นเป็นตามมาตรา 5 ที่บัญญัติว่า เมื่อปรากฏว่ามีความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร…..” รัฐมนตรีที่มีอำนาจออกคำสั่งเนรเทศคือรมต. ว่าการกระทรวงมหาดไทย

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเนื้อหาของมาตรา 5 แห่งพรบการเนรเทศ พ.ศ 2499 กับมาตรา 12 (7) แห่งพรบ. คนเข้าเมืองก็จะพบว่ามีเนื้อหาใจความคล้ายคลึงกัน โดยมาตรา 5 ของกฎหมายเนรเทศใช้ถ้อยคำกว้างและคลุมเครือคือ “เพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ในขณะที่ กฎหมายคนเข้าเมืองมาตรา 12 (7) ใช้คำว่า “มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชนหรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ”  

บทส่งท้าย

ไม่ว่าการส่งคุณสาธิต เซกัล ออกนอกราชอาณาจักรไทยจะอาศัยพรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 หรือพรบ. การเนรเทศ พ.ศ. 2499 ก็ตาม เจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะต้องปฎิบัติตามกฎหมายภายในอย่างเคร่งครัดเพื่อมิให้ละเมิดกฎหมายภายในของไทยทั้งสองฉบับที่กล่าวมารวมทั้งอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีด้วยอย่างข้อบทที่ 9[26] และ 13 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและ 36, paragraph 1 (b), แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล โดยดูตัวอย่างในคดีนาย Diallo



[1] Ahmadou Sadio Diallo (Republic of Guinea v. Democratic Republic of the Congo), Merits, Judgment, I.C.J. Reports 2010,

[2] OPPENHEIM’S INTERNATIONAL LAW: Volume 1,supra note 3, at 940-941

[3] Maurice Kamto, Preliminary report on the expulsion of aliens, A/CN4./554, (2005),P. 6

[4] Sinha, Law of Citizenship and Aliens in India , p. 213.

[5] มาตรา 5 เเห่งพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. 2499 บัญญัติว่า เมื่อปรากฏว่ามีความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร….

[6] ในเรื่องความหมายของถ้อยคำนั้น ภาษาอังกฤษได้ใช้ถ้อยคำที่แตกต่างกันโดย ศาสตราจารย์ O' Connell ได้อธิบายว่า คำว่า “deportation” หมายถึง การเคลื่อนย้ายบุคคลให้ออกนอกราชอาณาจักรเนื่องจากว่าคนต่างด้าวผู้นั้นได้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในขณะที่คำว่า “expulsion” หมายถึง การทำให้การเข้าเมืองที่ชอบด้วยกฎหมายและการอยู่อาศัยสิ้นสุดลง โปรดดู O'Connell, International Law, Volume two, (London: Stevens & Sons, 1970), p. 711.

[7] Maurice Kamto, Third report on the expulsion of aliens, A/CN.4/581, 2007,p. 5

[8] Maurice Kamto, First Report, p. 7; M. Ssrensen (ed.), Manual of Public Internafional Law, 1968, p. 482.

[9] Maurice Kamto, Third report on the expulsion of aliens, A/CN.4/581, 2007,p 4

[10] Ibid.,p 10

[11] ดูรายละเอียดใน Maurice Kamto, Third report on the expulsion of aliens, A/CN.4/581, 2007,p. 11

[12] อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศที่กฎหมายอนุญาตให้ฝ่ายบริหารสามารถเนรเทศคนชาติของตนได้ เช่น ประเทศรัสเซีย

[13] Weis, Nationality and Statelessness in International Law, (The Netherlands: Sijthoff & Noordhoff, 1979) ,p. 47.

[14] Borchard, The Diplomatic Protection of Citizens Abroad, (New York : Kraus Repeint Co., 1970) p. 48.

[15] ทวี   ตะเวทีกุล, กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล, น. 153.

[16] Maurice Kamto,p.7

[17] เช่น กฎหมายของประเทศฝรั่งเศส โปรดดู  Maurice Kamto,p. 6

[18] Ibid.

[19] Samuel M. Silvers, “The exclusion and expulsion of homosexual aliens, Columbia Human 8 Rights Law Review, 1983-1984, p. 295 et seq.

[20]  วิเทศจรรยารักษ์, กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล, หน้า. 37.

* โปรดดู คำพิพากษาฎีกาที่  892/2539, 2038/2514.

[21] Ahmadou Sadio Diallo (Republic of Guinea v. Democratic Republic of the Congo), I.C.J Report , 2012, ดูข้อที่ 72

[22] I.C.J. Report, ข้อที่ 97

[23] คดีนี้เกี่ยวข้องหลายประเด็น ผู้เขียนสรุปเฉพาะประเด็นสำคัญๆที่เกี่ยวกับการเนรเทศเท่านั้น หากต้องการทราบรายละเอียดโปรดอ่านคำพิพากษาฉบับเต็มได้

[24] มาตรา 11 (8) ของพรก.ฉุกเฉินบัญญัติว่า  “ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

[25] ดูมาตรา มาตรา 2 (7), 53, 53 แห่งพรบ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

[26] ข้อบทที่ 9 บัญญัติว่า 1. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอาเภอใจมิได้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุและโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย 2. ในขณะจับกุม บุคคลใดที่ถูกจับกุมจะต้องได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุม และจะต้องได้รับแจ้งถึงข้อหาที่ถูกจับกุมโดยพลัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท