Skip to main content
sharethis
"อัยการสูงสุด" เเสดงจุดยืน ไม่ขอเป็นตัวกลางเจรจาหาทางออกประเทศ ชี้เป็นหน่วยบังคับใช้กฎหมาย ไม่สามารถต่อรองกับฝ่ายใดได้ ด้าน "ศาลปกครอง" ระบุเป็นองค์กรตุลาการไม่สามารถแก้ไขหรือชี้นำโดยปราศจากการมีผู้เสนอข้อพิพาทมายังศาลก่อนได้
 
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2557 ที่ผ่านมาไทยรัฐออนไลน์รายงานว่านายวัชรินทร์ ภานุรัตน์ รองโฆษกอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณี 7 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง,ผู้ตรวจการแผ่นดิน,คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ,คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน,องค์กรอัยการ,คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ประชุมปรึกษาหารือ เกี่ยวกับการหาทางออกของประเทศ และหาข้อสรุป ถึงแนวทางการเจรจาเพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง ว่า ในส่วนของสำนักงานอัยการสูงสุดโดยนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด ได้ส่งนายประสิทธิ์ ประทุมรัตน์ อัยการอาวุโส เป็นตัวเเทนของสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อรับฟังหลักการ เเละได้เเถลงในการประชุมถึงจุดยืนของสำนักงานอัยการสูงสุดว่า เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย จึงไม่อาจไปเป็นตัวกลางเจรจากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ 
 
ทั้งนี้ ในกรณีของ กปปส.ซึ่งมีเเกนนำบางคน มีหมายจับของศาลอาญา ซึ่งอัยการไม่สามารถจะต่อรองในเรื่องนี้ได้ เพราะเป็นหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย หรือจะให้อัยการเสนอ หรือไปช่วย กปปส.ขับไล่รัฐบาลก็ไม่เหมาะสม การไปประชุมจึงเป็นเเค่การไปรับฟังหลักการ เเละเเถลงจุดยืนตามที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด
 
ศาลปกครองไม่ร่วมแถลงจุดยืนเสนอโรดแมป หาทางออกประเทศ 17 มี.ค.นี้
 
15 มี.ค. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่าศาลปกครองไม่ร่วมแถลงจุดยืนเสนอโรดแมป หาทางออกประเทศ 17 มี.ค.นี้ เลขาธิการศาลปกครองแจง ศาลปกครองไม่ใช่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่เป็นองค์กรตุลาการ ไม่สามารถแก้ไข หรือชี้นำปัญหาใดๆ โดยปราศจากการมีผู้เสนอข้อพิพาทมายังศาลก่อนได้
 
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ส่งหนังสือชี้แจงสื่อมวลชน กรณีที่ข่าวว่า 7 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจะนัดประชุมและแถลงจุดยืนเสนอโรดแมปทางออกประเทศไทย ในวันจันทร์ที่ 17 มี.ค.นี้ ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดยมีการอ้างถึงประธานศาลปกครองสูงสุด และองค์กรศาลปกครองว่า เป็น 1 ใน 7 องค์กรร่วมหารือด้วย
 
นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ตามที่มีการอ้างถึงศาลปกครองว่าเป็น 1 ใน 7 องค์กรนั้น  ไม่เป็นความจริง เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ศาลปกครองเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แท้จริงแล้วศาลปกครองเป็นองค์กรตุลาการ ทำหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมทางปกครอง โดยพิจารณาและตัดสินคดีปกครอง กรณีที่มีข้อพิพาททางปกครองและมีการยื่นฟ้องคดี เพื่อตรวจสอบการกระทำของฝ่ายปกครองว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และวางบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการที่ดีให้แก่หน่วยงานทางปกครอง  
 
“ดังนั้น ในฐานะองค์กรศาล ศาลไม่อาจเข้าไปแก้ไข หรือร่วมชี้นำปัญหาใดๆ โดยปราศจากการมีผู้เสนอข้อพิพาทมายังศาลก่อนได้ หรือต้องมีการฟ้องคดีก่อน ศาลจึงสามารถเข้าไปดำเนินการพิจารณาตามกรอบอำนาจที่กฎหมายกำหนดได้” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว
 
“สมชัย” เข้าใจอัยการสูงสุดไม่เข้าร่วม 7 องค์กรอิสระหาทางออกประเทศ
 
วันเดียวกันนี้ (15 มี.ค.) สำนักข่าวไทยรายงานว่านายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยืนยันว่า แม้สำนักงานอัยการสูงสุดจะถอนตัวออกจาก 7 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่จะแถลงข่าวแสดงจุดยืนในการเป็นตัวกลางการเจรจา เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองวันที่ 17 มีนาคมนี้ แต่จะมีสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเมืองเข้าร่วมแทน
 
“ผมเข้าใจถึงความจำเป็นของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ไม่สามารถเข้าร่วมได้ เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการเจรจากับคู่ขัดแย้งที่เป็นคดีความกัน อย่างไรก็ตาม กระบวนการจัดทำโรดแม็ปของ 7 องค์กร มีสำนักงานอัยการสูงสุดได้เข้าร่วมตั้งแต่ต้นจนจบ” นายสมชัยกล่าว
 
นายสมชัยกล่าวว่า วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม จะมีการหารือข้อสรุปประเด็นการเจรจาของคู่ขัดแย้ง 4 ประเด็น แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เชื่อว่าหากคู่ขัดแย้งเข้าร่วมกระบวนการครั้งนี้ จะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ และเห็นว่าหากต้องการให้สถานกาณ์การเมืองดีขึ้น ก็ควรเข้าร่วม และตามสื่อต่างๆ ท่าทีของพรรคเพื่อไทย ก็ตอบรับกับกระบวนการนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net