ฉายไฟแดนสนธยา(1) : แนวคิดลงโทษ-แก้ไข และ 'สิทธิมนุษยชน' ในราชทัณฑ์

หมายเหตุ ขอขอบคุณ ธีระพล คุ้มทรัพย์ สำหรับความช่วยเหลือด้านการเก็บรวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงเนื้อหาบางส่วน และขอบคุณ อธิคม มุกดาประกร สำหรับการออกแบบภาพประกอบ

 

“ป้าแดงแกมีบ้านอยู่ใกล้คุก แล้วจะขายบ้าน แต่ขายเท่าไรก็ขายไม่ได้ เพราะคนมันไม่ซื้อ บอกว่าเป็นจัญไร เขาทำมาหากินไม่ดี บอกว่ามันเป็นดินแดนอาถรรพ์ เหมือนกับว่าใครเข้าคุกนี่ซวย คนเราชีวิตหนึ่งซวยที่สุดคือการติดคุก ถ้ามีชีวิตอยู่ไม่ขอติดคุก ฉะนั้นใครอยากอยู่ใกล้ล่ะ แม้กระทั่งเพื่อนพี่จะเดินเข้ามา มันยังไม่ยอมมาเลย บอกไม่เอา กลัว กลัวคุก” 

นั่นคือเรื่องเล่าที่อารีรัตน์ เทียมทอง ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่คนปัจจุบันกล่าวถึงมุมมองของผู้คนในสังคมที่มีต่อคุก 

คุกหรือเรือนจำ มักถูกมองว่าเป็นพื้นที่ซึ่งไม่มีใครอยากเข้าไปเกี่ยวข้อง คลุกคลี หรือเยี่ยมกรายเข้าไปในอาณาบริเวณโดยรอบ เรามักเข้าใจกันว่าคุกเป็นที่ขังอาชญากร คนชั่ว คนเลวที่ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ถ้าคนคุกเหล่านี้จะต้องทนทุกข์ทนยากลำบากเสียบ้าง ก็เป็นเรื่องสาสมกับความผิดแล้ว แม้เรือนจำในปัจจุบันจะไม่ได้ทารุณโหดร้ายเหมือนในสมัยก่อนแล้วก็ตาม แต่ภาพความน่ากลัวและความรุนแรงก็ยังคงฝังตรึงอยู่กับคุกมาจนถึงทุกวันนี้ และถูกมองเป็น “แดนสนธยา” อยู่เรื่อยมา

ข่าวคราวที่มีออกมาจากเรือนจำและปรากฏตามหน้าสื่อต่างๆ มักหนีไม่พ้นเรื่องอื้อฉาว เช่น เจ้าหน้าที่ทุจริต, ปัญหายาเสพติด, อิทธิพลเถื่อน, การข่มเหงรังแกในหมู่นักโทษด้วยกันจนถึงขั้นเอาชีวิต เป็นต้น  ภาพเหล่านี้แทบจะกลายเป็นเรื่อง “ธรรมดา” ที่สาธารณชนเข้าใจว่าคุกต้องเป็นเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม กระแสการพูดถึงประเด็นเรื่องสิทธิผู้ต้องขังก็เริ่มมีมากขึ้นในหมู่นักสิทธิมนุษยชนหรือผู้ทำงานคลุกคลีกับคุก เช่น การกล่าวถึงการเสียชีวิตของผู้ต้องขังในเรือนจำอันเนื่องมาจากการไม่ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม หรือปัญหาการซ้อมทรมานผู้ต้องขัง เป็นต้น กรณีเหล่านี้เริ่มเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางมากขึ้น เพราะโดยหลักกฎหมายอาญาอันเป็นที่ยอมรับในทางสากลนั้น โทษจำคุกเป็นโทษที่มุ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพในส่วนของอิสรภาพเป็นหลัก มิใช่ว่าตกเป็นนักโทษแล้ว รัฐจะละเลยสิทธิพื้นฐานอื่นๆ โดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือจะเลือกปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไรก็ได้

ขณะเดียวกันหากติดตามและให้ความสำคัญกับพลวัตของเรือนจำในประเทศไทย โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรือนจำในช่วงปี 2556 ที่ผ่านมานั้น กรมราชทัณฑ์ได้เริ่มดำเนินการตามนโยบายใหม่ๆ หลายประการ โดยเฉพาะการสร้างเรือนจำใหม่กว่า 42 แห่งทั่วประเทศ เพื่อทดแทนเรือนจำเก่าที่มีสภาพแออัดและอยู่ในเขตพื้นที่ชุมชน และเตรียมเปิดใช้เรือนจำความมั่นคงสูงสุด (super-maximum security prison) ซึ่งมีรูปแบบการควบคุมที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพื่อใช้สำหรับกลุ่มนักโทษคดีร้ายแรง หรือมีความประพฤติรุนแรง โดยนโยบายเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ หากแต่เกิดจากความพยายามแก้ปัญหาระดับโครงสร้างของเรือนจำไทย

รายงานข่าวเชิงสืบสวนชิ้นนี้ จะลองสำรวจพื้นฐานของระบบการจัดการคุกของไทย ปัญหาใหญ่ที่คุกไทยกำลังเผชิญอยู่ ความพยายามของรัฐและกรมราชทัณฑ์ในการแก้ปัญหาดังกล่าว รวมทั้งมุมมองของเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังบางส่วน ผ่านกรณีของเรือนจำในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเพิ่งย้ายเรือนจำออกไปตั้งอยู่นอกเมืองตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555 เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างในการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเรือนจำ ผลกระทบต่อสิทธิของผู้ต้องขัง และปัญหาต่างๆ ที่อาจตามมา รวมถึงวิธีการจัดการแก้ไข ทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาวของผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง โดยในตอนแรกนี้จะเริ่มสำรวจมุมมองในการจัดการคุกของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และระบบเรือนจำไทยโดยสังเขป

 

แก้แค้น-แก้ไข แรงดึงสองด้านในงานราชทัณฑ์

นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการบริหารจัดการเรือนจำในประเทศไทยว่า เกิดความเปลี่ยนแปลงในแนวคิดสำคัญมาเป็นลำดับใน 4 ประการใหญ่ ได้แก่

ประการที่หนึ่ง แนวคิดการปฏิบัติต่อคนที่ทำผิด จากเน้นการลงโทษให้สาสม มาสู่การเน้นเรื่องการแก้ไขอบรมให้ผู้ที่กระทำผิดกลับคืนสู่สังคมได้มากขึ้น

ประการที่สอง เรื่องการปฏิบัติต่อคนที่ทำผิด จากเดิมที่เน้นนำคนมาคุมขังในคุก ไปสู่การเน้นกระบวนการภายนอกคุกมากขึ้น โดยให้เรือนจำเป็นที่สำหรับคุมขังคนที่เป็นอันตรายต่อสังคมจริงๆ ส่วนผู้ที่ทำผิดในคดีเล็กน้อย พลั้งพลาดทำผิด ก็ควรได้รับการปฏิบัติในชุมชน เช่น วิธีการคุมประพฤติ หรือกระบวนการยุติธรรมชุมชน

ประการที่สาม ในเรื่องการควบคุมผู้ต้องขัง ความสำคัญในเรื่องสิทธิมีมากขึ้น การดูแล-คุ้มครองสิทธิของผู้ต้องขังมีมากขึ้น

ประการที่สี่ มีการแยกปฏิบัติต่อคนที่ทำผิดมากขึ้น โดยคนที่เป็น “อันตรายต่อสังคม” จริงๆ จะได้รับการควบคุมที่เข้มงวด ส่วนผู้ต้องขังที่ไม่ได้เป็นอันตรายต่อสังคม จะได้รับการควบคุมที่ผ่อนปรน ลดหลั่นกันไป

กระนั้นก็ตาม แนวคิดเรื่องการลงโทษผู้กระทำผิดหรือ “อาชญากร” ให้สาสมก็ยังคงอยู่ และในทางปฏิบัติก็ยังแตกต่างจากทางแนวคิดด้านสิทธิ นัทธีประเมินว่า ระบบปัจจุบันของเรามีลักษณะออกมาในทางกึ่งกลาง ส่วนหนึ่งอยากจะให้เน้นเรื่องการแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรม ส่วนหนึ่งอยากจะเน้นเรื่องการลงโทษให้หนัก สองแนวคิดนี้สวิงไปมาขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองแต่ละช่วง  งานราชทัณฑ์จึงเป็นงานที่ดำเนินอยู่บนแรงดึงหรือแรงกดระหว่างสองด้าน คือระหว่างกระแสการควบคุมและลงโทษอาชญากรอย่างรุนแรง กับกระแสเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิผู้ต้องขัง   

“เมื่อใดก็ตามที่แรงกดทางด้านสิทธิมนุษยชนมาแรง ก็จะเคลื่อนไปทางนี้  เมื่อใดมีแรงกดทางด้านของการปฏิบัติต่อคนที่ทำผิด มีอาชญากรรมเกิดขึ้นร้ายแรงมากๆ คนก็จะบอกว่า พวกนี้ต้องเอาให้หนัก การปฏิบัติต่อคนที่ทำผิดก็จะเคลื่อนไปทางนี้ ฉะนั้นมันจะอยู่กึ่งกลาง อยู่เป็นเขาควายของแรงกดสองด้านเข้าหากัน  ขึ้นอยู่กับว่าแรงกดทางด้านไหนจะมากกว่ากัน แรงกดด้านไหนมากกว่าก็จะเอียงไปทางด้านนั้น”  นัทธีกล่าว

ภาพแสดงแรงดึงสองด้านที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานราชทัณฑ์

(ภาพโดย อธิคม มุกดาประกร)
คลิ๊กดูภาพขนาดใหญ่

กิตติพัฒน์ เดชะพหุล ผู้อำนวยการสำนักทัณฑปฏิบัติ กรมราชทัณฑ์ เล่าถึงภารกิจของเรือนจำในปัจจุบันว่าประกอบไปด้วยสองเรื่องใหญ่ ได้แก่ การควบคุมผู้ต้องขัง ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาให้จำคุกหรือประหารชีวิต ซึ่งหมายถึงได้ถูกตัดสินแล้วให้แยกออกจากสังคม ซึ่งไม่ได้หมายถึงการควบคุมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจัดหาข้าวปลาอาหารและปัจจัยสี่สำหรับการดำรงชีวิตให้ผู้ต้องขังด้วย ส่วนภารกิจที่สอง คือการแก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัยเพื่อปรับปรุงพฤติกรรมผู้ต้องขัง การแก้ไขพฤตินิสัยกระทำผ่านการฝึกระเบียบ การเรียนหนังสือ และการฝึกวิชาชีพ

พื้นฐานเช่นนี้ทำให้งานเรือนจำ เป็นงานที่ต้องจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในหลายๆ เรื่อง  แต่วิธีคิดในเรื่องสิทธิมนุษยชนก็เริ่มเข้ามีอิทธิพลมากขึ้นต่อการจัดการเรือนจำ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งบัญญัติให้มีองค์กรอิสระในการติดตามตรวจสอบการทำงานด้านสิทธิ โดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธมนุษยชน ผู้ตรวจการแผ่นดิน และการมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ที่ทำให้ระบบราชการต้องเปิดเผยโปร่งใสมากขึ้น

“ทำให้ผู้ต้องขังที่เคยรวมกันอยู่ง่ายๆ เริ่มมีปากมีเสียง เริ่มไม่ยอม เริ่มร้องศาลปกครอง ทำให้งานเรายุ่งยากขึ้น เราต้องเป็นคดีความในศาลปกครอง สมัยก่อนปกครองกันได้ มีพระเดชพระคุณ ดูแลกันไปได้ ทุกวันนี้ไม่ใช่” ผอ.กิตติพัฒน์กล่าว

ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ให้ความเห็นว่า โดยพื้นฐานการพิจารณาสิทธิผู้ต้องขังนั้นควรแยกออกเป็นสองส่วน ได้แก่ ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม และอยู่ระหว่างการดำเนินคดี ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า คนเหล่านี้ต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ มีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน  ส่วนผู้ต้องขังที่ถูกตัดสินเด็ดขาดแล้ว ตนก็เห็นว่าไม่ควรจะต้องนำไปสู่การประหารชีวิต เพราะเขามีสิทธิในการมีชีวิตอยู่ กระบวนการของรัฐเองควรจะทำให้เขาใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมให้ได้มากที่สุด การดูแลผู้ต้องขังต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และยอมรับในความเป็นพลเมือง มากกว่าใช้ระบบอำนาจเข้าไปจัดการ

นอกจากนั้น ระบบที่ถูกนำมาใช้ในการควบคุมพฤติกรรมของผู้ต้องขัง คือวิธีคิดเรื่องการให้รางวัลและการลงโทษ โดยพิรุณ หน่อแก้ว ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่เล่าว่า ผู้ต้องขังที่ประพฤติตนเป็นคนดี ตั้งใจรับการฝึกวิชาชีพ จะได้รับสิทธิประโยชน์โดยการเลื่อนชั้น ซึ่งจะมีผลต่อการลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษ และการพระราชทานอภัยโทษ ทำให้ได้ออกจากคุกเร็วกว่ากำหนดโทษ

ในทางกลับกัน ถ้าผู้ต้องขังไม่อยู่ในระเบียบวินัย เช่น ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ลักลอบเล่นการพนัน ลักลอบมียาเสพติดในครอบครอง ก็จะถูกดำเนินการลงโทษทางวินัย มีตั้งแต่การตัดจดหมาย (ห้ามรับ-ส่งจดหมาย) การงดการเยี่ยม การลดชั้น (ในเรือนจำมีการแบ่งนักโทษตามระดับของความประพฤติ เรียกว่า “ชั้น” ของนักโทษ โดยแบ่งเป็น 6 ชั้น ได้แก่ ชั้นเยี่ยม ชั้นดีมาก ชั้นดี ชั้นกลาง ชั้นเลว ชั้นเลวมาก) การตัดวันลดโทษที่เขาสะสมได้ การขังซอย (ขังเดี่ยว) เป็นต้น ระบบเช่นนี้ถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการกำหนดพฤติกรรมของผู้ต้องขังในเรือนจำ

การลดวันต้องโทษจำคุกนั้นคล้ายโปรโมชั่นที่นักโทษจะสะสมไว้ โดยถ้าเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม เดือนหนึ่งจะได้ลดโทษ 5 วัน ปีหนึ่งก็สามารถสะสมได้ 60 วัน แต่กรณีที่นักโทษทำผิดวินัย ก็จะถูกตัดวันลดโทษที่สะสมไว้ หรือกรณีการลดชั้นของนักโทษ หากมีความผิดเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือหรือยาเสพติด ก็จะถูกลดชั้นเป็นชั้นเลวมากทันทีไม่ว่าจะอยู่ชั้นใดมาก่อนก็ตาม โดยชั้นเลวมากถือได้ว่าเป็น “จัณฑาล” ของผู้ต้องขัง จะไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย และไม่มีสิทธิ์ลดโทษในรูปแบบใดๆ ทำให้นักโทษหวาดเกรงเรื่องการลดชั้น นอกจากนั้นยังมีการขังเดี่ยว ซึ่งกฎหมายกำหนดให้กระทำได้ไม่เกินสามเดือน โดยระบบเหล่านี้มีส่วนกำหนดควบคุมพฤติกรรมของผู้ต้องขังภายในเรือนจำ

 

เรือนจำแบบไทยๆ

ระบบเรือนจำปัจจุบัน สามารถแยกตามอำนาจคุมขังและตามหน้าที่ ออกเป็นเรือนจำกลาง เรือนจำจังหวัด เรือนจำอำเภอ เรือนจำพิเศษ และทัณฑสถาน โดยเรือนจำกลางจะมีอำนาจควบคุมผู้ต้องขังที่มีอัตราโทษสูงกว่าเรือนจำจังหวัดและเรือนจำอำเภอ เช่น เรือนจำกลางเชียงใหม่ สามารถคุมขังนักโทษเด็ดขาดที่มีโทษตั้งแต่ 15 ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตได้ ขณะที่เรือนจำจังหวัดลำปาง มีอำนาจคุมขังผู้ต้องขังที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี ทำให้หากผู้ต้องขังมีโทษเกิน 15 ปี ก็ต้องส่งตัวมายังเรือนจำกลางเชียงใหม่ หรือเรือนจำที่มีอำนาจคุมขังมากกว่า

เรือนจำพิเศษ (Remand Prison) ตามหลักการ คือเรือนจำที่ใช้คุมขังผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี หรือ “ผู้ต้องขังระหว่าง” แต่ในทางปฏิบัติ เรือนจำพิเศษที่แยกเป็นเรือนจำเอกเทศมีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง เช่น เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรือนจำพิเศษพัทยา เรือนจำพิเศษธนบุรี เป็นต้น ในขณะที่เรือนจำส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดจะมีเรือนจำพิเศษอยู่ร่วมกันกับเรือนจำกลางหรือเรือนจำจังหวัด  เช่น เรือนจำกลางเชียงใหม่ จะมีทั้งเรือนจำกลางเชียงใหม่ และเรือนจำพิเศษเชียงใหม่อยู่ด้วยกัน แม้แยกออกเป็นคนละแดน แต่ก็อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน และตัวผู้บัญชาการเรือนจำก็คือคนๆ เดียวกัน กล่าวคือผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่ก็ควบตำแหน่งผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษเชียงใหม่ด้วย

ส่วนทัณฑสถาน คือเรือนจำที่ทำหน้าที่เฉพาะด้าน แยกเป็นทัณฑสถานหญิงใช้คุมขังผู้หญิงโดยเฉพาะ ทัณฑสถานวัยหนุ่ม ใช้คุมขังผู้ต้องขังที่อายุไม่เกิน 25 ปีโดยเฉพาะ และทัณฑสถานบำบัดพิเศษใช้คุมขังผู้ที่ติดยาเสพติดโดยเฉพาะ

นอกจากนั้น เรือนจำยังสามารถแยกตามระดับความมั่นคง ได้แก่ เรือนจำความมั่นคงสูง เรือนจำความมั่นคงปานกลาง และเรือนจำความมั่นคงต่ำ โดยแต่ละเรือนจำก็จะมีความเข้มงวดในระบบการควบคุมลดหลั่นกันลงมาเป็นลำดับ

นัทธี จิตสว่าง เห็นว่า แม้ระบบเรือนจำของไทยและแนวคิดต่างๆ ส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 แต่เรือนจำไทยก็ยังมีความแตกต่างจากตะวันตกอยู่ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพทางกายภาพด้านอาคารสถานที่ ภูมิอากาศในเขตร้อน ทำให้โครงสร้างของตัวเรือนจำมีความแตกต่างออกไป โดยเรือนจำในประเทศไทยเป็นระบบหอนอนรวม ไม่เหมือนกับในตะวันตกที่มักจะเป็นระบบแยกผู้ต้องขังให้อยู่ลำพังเป็นมาตรฐาน และการอยู่สองคนขึ้นไปเป็นข้อยกเว้น แต่กรณีของไทย การอยู่รวมกันกลายเป็นเรื่องทั่วไป และการแยกขังเดี่ยวกลับเป็นเรื่องของการลงโทษหรือข้อยกเว้น

นัทธีกล่าวเปรียบเทียบพื้นฐานในด้านวัฒนธรรมและลักษณะประชากรของผู้ต้องขังว่า เรือนจำตะวันตกทั่วไปนั้น

“..มีวัฒนธรรมของการที่ไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ ขณะที่ทางนี้คล้ายๆ ว่า ยังมีการปกครอง การดูแลกันแบบอะลุ้มอล่วยกัน ซึ่งหมายถึง ไม่ใช้วิธีเผชิญหน้า แต่ใช้การพูดจากันเป็นวิธีในเชิงจิตวิทยาในการควบคุมกันมากกว่า ส่วนต่างประเทศ เขาจะใช้อาคารสถานที่เป็นเครื่องมือในการควบคุมมากกว่า เพราะว่าอาคารสถานที่ของเรามันไม่มั่นคง”

นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์

ด้าน กิตติพัฒน์ เดชะพหุล เห็นว่าเรือนจำอย่างในระบบอังกฤษมักจะเป็นห้องนอนเดี่ยวๆ แต่ของไทยเป็นระบบ “อัด” กันเข้าไปอยู่หลายๆ คน ทั้งนี้อาจเพราะระบบของสังคมไทยที่อยู่รวมกันเป็นหมู่ เขาให้ข้อมูลว่า หากจะสร้างห้องนอนเดี่ยว (เซลล์) หรือแม้แต่ห้องนอนคู่ จำเป็นต้องใช้ต้นทุนมหาศาลในการก่อสร้างเพื่อรองรับประชากรคุกทั้งประเทศเป็นหลักแสน เมื่อคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยแล้ว ย่อมไม่สามารถสร้างคุกด้วยการก่ออิฐบล็อคธรรมดาในแบบที่อยู่อาศัยทั่วๆ ไปได้

กิตติพัฒน์เห็นว่า สังคมไทยยังเป็นสังคมที่ครอบครัวยังไม่ทิ้งกันมากนัก ไม่เหมือนในสังคมตะวันตก อย่างในสหรัฐฯ ที่อัตรากระทำผิดซ้ำสูงมากกว่าร้อยละ 40 โดยผู้ต้องขังจำนวนมากมีชีวิตอยู่ในสภาพการเป็นกลุ่มแก๊งประกอบอาชญากรรม แม้จะพ้นโทษไปแล้วก็ยังคงออกไปปล้น ค้ายาเสพติด หรือร่วมกับแก๊งต่างๆ อยู่ แต่ของไทยยังมีการรับกลับเข้าสู่ครอบครัว มีพ่อแม่พี่น้องอยู่ดูแล โดยอัตราการกระทำผิดซ้ำบ้านเราอยู่ที่ประมาณร้อยละ 14

กระนั้นกิตติพัฒน์ก็ชี้ว่า กฎหมายเกี่ยวกับราชทัณฑ์ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก (พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 แก้ไขครั้งล่าสุด พ.ศ.2523) ผู้คุมยังมีอำนาจตีผู้ต้องขังอยู่จริง โดยอาศัย “ตะบอง” ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายของเจ้าหน้าที่ แต่เป็นเหตุที่เกิดในกรณีที่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น เช่น การก่อจลาจล การรุมทำร้ายกันระหว่างผู้ต้องขัง หรือการยกพวกตีกันระหว่างกลุ่มแก๊ง

ส่วนกรณีหนึ่งที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติของราชทัณฑ์ คือเรื่องการใส่โซ่ตรวนผู้ต้องขัง โดยเฉพาะการให้ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีใส่โซ่ตรวนไปศาล ราวกับเป็นนักโทษที่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่กิตติพัฒน์ชี้แจงว่า ส่วนนี้จริงๆ เป็นความต้องการของศาล เพราะเคยมีกรณีที่ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาขึ้นไปจี้ศาล บุกเข้าไปทำร้ายศาล หรือพยายามหลบหนี เพราะในศาลไม่ให้มีอาวุธ ตำรวจที่คุมผู้ต้องขังขึ้นบัลลังก์พกอาวุธไม่ได้ และผู้พิพากษาก็ไม่มีอาวุธ ผู้ต้องขังก็เดินมาทำร้ายแล้วก็หนีไป ถ้าไม่มีตรวนก็วิ่งตามไม่ทัน โซ่ตรวนจึงเป็นวิธีปฏิบัติภายในกระบวนการของศาล

เขาให้ข้อมูลอีกว่า ภายในเรือนจำนั้น ตามหลักการจะใส่โซ่ตรวนเฉพาะกับผู้ต้องขังที่จะเป็นอันตรายกับผู้อื่น หรือมีแนวโน้มที่จะทำร้ายผู้อื่น กลุ่มผู้ต้องขังคนโรคจิตเภท กลุ่มผู้ต้องขังที่มีโทษสูงมากๆ หรือกลุ่มที่เคยพยายามจะหลบหนีมาแล้ว กลุ่มเหล่านี้จะถูกตีตรวนไว้ เพื่อให้การเคลื่อนไหวช้าลง แต่โดยรวมๆ แล้วก็มีไม่มากนัก และยังเริ่มมีนโยบายปลดโซ่ตรวนในกลุ่มนักโทษประหารชีวิตอีกด้วย

ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงรายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ให้ข้อมูลในรายละเอียดที่แตกต่างไปจากกิตติพัฒน์ว่า ถ้าเรือนจำมีอำนาจคุมขังต่ำกว่าโทษที่ผู้ต้องขังได้รับ หรือแม้จะอยู่ในระหว่างพิจารณา หากอัตราโทษสูงสุดในข้อหานั้นๆ เกินกว่าที่เรือนจำจะรับได้ ก็จะถูกนำไปคุมตัวในแดนความมั่นคงสูงซึ่งมีการควบคุมพิเศษ ในรูปของการขังเดี่ยวหรือขังรวม และถูกตีตรวนในเรือนจำตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ในระหว่างรอการย้ายตัวไปยังเรือนจำที่มีอำนาจคุมขังสูงกว่าต่อไป โดยสภาพการถูกคุมขังเดี่ยวนั้น จะไม่ได้เจอกับใคร และต้องอยู่ในห้องแคบๆ มืดๆ ตลอดเวลา มีชีวิตประจำวันจะอยู่กับตรวนตลอดเวลา ไม่ว่าจะกินข้าว นอน หรืออาบน้ำ แม้กระทั่งการเปลี่ยนเสื้อผ้าก็ต้องฝึกวิธีเฉพาะในการถอดและสวมใส่ในขณะที่ยังมีโซ่ตรวนอยู่ที่ข้อเท้า

โล่และอาวุธแขวนอยู่ในแดนควบคุมพิเศษเรือนจำกลางเชียงใหม่ สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เห็นว่าโดยวัฒนธรรมและความคิดของรัฐในการดูแลนักโทษ ยังมีลักษณะต้องการให้หลาบจำและการใช้อำนาจอยู่มาก โดยที่หลักสิทธิมนุษยชนยังมีผลไม่มากนัก อย่างในกรณีของจินตนา แก้วขาว (แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์) ที่เคยเล่าว่า นักโทษต้องนั่งพับเพียบต่อหน้าเจ้าหน้าที่ นักโทษผู้หญิงก็ถูกละเมิดโดยการตรวจตราต่างๆ การปฏิบัติจึงเหมือนเป็นเจ้านายกับไพร่-ทาส ความคิดเหล่านี้ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน

จากการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิฯ ยังพบปัญหาการละเมิดสิทธิผู้ต้องขังหลายประการ ทั้งสิทธิการให้ประกันตัว สิทธิการดูแลเรื่องสุขภาพหรือความปลอดภัย เช่น นักโทษบางคนก็ถูกซ้อมทรมานจากนักโทษด้วยกัน ระบบการดูแลสุขภาพก็ยังไม่ทั่วถึง หรือเข้าไม่ถึงหลักประกันสุขภาพ

“สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 30 คือไม่ได้เห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่ในเรื่องของนักโทษทั่วๆ ไป ยิ่งเป็นเรื่องของคนยากคนจนด้วย เราก็จะเห็นว่า นักโทษที่เป็นอดีตนายพล อะไรต่างๆ หลักปฏิบัติในเรือนจำก็ไม่เหมือนนักโทษปกติทั่วไป...ฉะนั้นการที่กรมราชทัณฑ์บอกว่าจะเปลี่ยนไป ไม่ใช้โซ่ตรวน ใช้อิเล็กทรอนิคส์อะไรต่างๆ แทน  ผมก็ว่ามันเปลี่ยนด้วยเครื่องมือ หรือสร้างเรือนจำก็เปลี่ยนที่ตัวตึก แต่แนวคิดจิตสำนึกในเรื่องการดูแลปฏิบัติยังมีปัญหา เรายังไม่ได้เปลี่ยนแนวคิด มุมมองในเรื่องของผู้ต้องหาหรือนักโทษ”  นพ.นิรันดร์กล่าว

ไม่เพียงปัญหาความเข้าใจและวิธีคิดในการจัดการเรือนจำของเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว แต่การจัดการเรือนจำไทยยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างจากกระบวนยุติธรรม ที่บังคับใช้โทษจำคุกอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการทำให้เกิดปัญหาความแออัดของผู้ต้องขังในคุกทั่วประเทศ และถือได้ว่าอยู่อันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ในรายงานตอนต่อไปจึงจะสำรวจปัญหานักโทษล้นคุกของไทย ที่มาที่ไปและความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวของกรมราชทัณฑ์

#######

 

โครงการให้ทุนเพื่อทำข่าวเชิงลึกได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการสะพาน โดยการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา โดยเปิดรับสมัครผู้สนใจเสนอประเด็นเพื่อขอรับทุนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 โดยคณะกรรมการได้คัดเลือกประเด็นจำนวน 41 ประเด็น จากผู้สมัครเข้าขอรับทุนทั้งหมด 39 ราย จนได้ผู้มีสิทธิได้รับทุนจำนวน 10 ราย และผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียงพอที่จะนำเผยแพร่จำนวน 8 ประเด็น  โดยเว็บไซต์ประชาไทได้ทยอยนำขึ้นเผยแพร่ ดังปรากฏอยู่ในหน้านี้แล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท