สัมภาษณ์ ‘ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ’ ถอดรหัสข้อกล่าวหาแบ่งแยกดินแดน

 

เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา กลุ่ม สปป.ล้านนา หรือสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยล้านนา ทำพิธีอุทิศส่วนกุศลแผ่ส่วนบุญให้กับเหล่าบรรดาผู้ที่กล่าวหาทางกลุ่มว่ามีแผนจะแบ่งแยกประเทศ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ทาง สปป.ล้านนาได้ออกมาชี้แจงต่อสาธารณะแล้วว่า ไม่มีแนวคิดในเรื่องดังกล่าว วัตถุประสงค์ของการตั้ง สปป.ล้านนา ขึ้นเพื่อต้องการปกป้องประชาธิปไตยเท่านั้น

แม้ประเด็นเรื่องแบ่งแยกดินแดนที่ดูจะร้อนแรงในตอนแรก ขนาดตัวแทนกองทัพดำเนินการแจ้งข้อหากับกลุ่ม สปป.ล้านนา แต่เรื่องก็กลับเลือนหายไปจากพื้นที่ข่าวของสื่อต่างๆ ในเวลาอันรวดเร็ว และไม่เป็นกระแสต่อเนื่องลุกลามบานปลาย อาจจะเรียกว่าจุดไม่ติดก็ว่าได้

แต่หากย้อนพลิกไปในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะในช่วงที่มีการขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด จะพบว่าข้อกล่าวหาเช่นนี้ได้เคยปรากฏขึ้นมาแล้วหลายครั้ง และท้ายที่สุดก็ไม่พ้นเป็นการใช้ข้อกล่าวหาแบ่งแยกดินแดนเพื่อกำจัดคู่แข่งหรือศัตรูทางการเมือง และผู้ที่เห็นต่างในทางการเมือง การนำประวัติศาสตร์ดังกล่าวมาทบทวนเพื่อให้เห็นข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นซ้ำๆ อาจช่วยให้สังคมไทยได้เรียนรู้และเข้าใจการวิธีต่อสู้ทางการเมืองได้ดีขึ้น

ประชาไทสัมภาษณ์ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงประเด็นเกี่ยวกับข้อกล่าวหาแบ่งแยกดินแดนซึ่งเคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในอดีต และกลับมาอีกในปัจจุบัน ต่อกรณีมีผู้แขวนป้ายผ้าในภาคเหนือ และการกล่าวหาจากกองทัพและสื่อมวลชนบางฉบับว่ากลุ่มสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยล้านนา หรือ สปป.ล้านนา ว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน และต่อมามีการแถลงข่าวปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

ติดตามและถอดรหัสเบื้องหลังหลังวิธีคิด ทัศนคติและมุมมอง ของหน่วยงานความมั่นคงของรัฐไทยภายใต้วาทกรรม “แบ่งแยกดินแดน” ผ่านประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองตั้งแต่ทศวรรษที่ 2490 จนถึงปัจจุบัน ว่าเหมือนหรือต่างกันหรือไม่อย่างไร รวมถึงข้อเสนอและทางออกว่าควรเป็นอย่างไร

 

 

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อนที่มีการติดป้ายผ้าหลายจังหวัดในภาคเหนือ และต่อมาผู้บัญชาการทหารบกและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพก็ประกาศว่าจะกวดขันผู้ติดป้ายผ้า และบอกว่าจะดำเนินคดีกับกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า "สปป.ล้านนา" ซึ่งกลุ่มนี้ใช้ชื่อเต็มว่า "สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยล้านนา" แต่ถูกสื่อมวลชนไปนำเสนอว่า "สปป." คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน คำถามก็คือผู้นำกองทัพมีวิธีคิดอย่างไร ทำไมจึงตระหนักว่าเรื่องเหล่านี้เป็นภัยหรือเป็นสิ่งที่ต้องเข้มงวดกวดขัน

ศัพท์คำว่า "แบ่งแยกดินแดน" เป็นความคิด อุดมการณ์ทางการเมืองที่อ่อนไหวมาก เป็นศัพท์เดียวที่พูดง่ายๆ ว่าฝ่ายความมั่นคง กองทัพ และหน่วยราชการที่ทำงานด้านความมั่นคงของรัฐ รู้หรือเข้าใจ หรือว่ามีบทเรียนกับการเคลื่อนไหวทำนองนี้มากที่สุด คิดว่าอาจจะรองจากลัทธิคอมมิวนิสต์ เพราะลัทธิคอมมิวนิสต์สหรัฐอเมริกาก็ช่วยโฆษณา คนก็เชื่อทั้งโลก รองจากลัทธิคอมมิวนิสต์คือการแบ่งแยกดินแดน

บังเอิญว่าในประเทศไทยมีการต่อสู้ทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล และฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมักจะมาจากรอบนอก เช่น ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคใต้สุด และเมื่อมาถึงจุดหนึ่งการต่อสู้เข้มข้นและมีการใช้กำลังโค่นล้มกันไปโค่นล้มกันมา ยึดอำนาจกันไปมา ก็เลยโยงเข้ากับการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามว่าถ้าเขาจะล้มรัฐบาลให้ได้ มีทางหนึ่งที่จะใช้ได้คือข้อกล่าวหาว่า "การแบ่งแยกดินแดน" ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ไม่ได้อธิบายว่าแบ่งอย่างไร มีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง แต่ในกฎหมายอาญา จะกล่าวถึงเรื่องการดูถูกรัฐบาล หรือไม่เชื่อฟังรัฐบาล หรือทำให้อำนาจอธิปไตยส่วนกลางเสื่อมลงไป เขาตีความได้ว่ามันเข้าข่ายแบ่งแยกดินแดน แต่มันก็ไม่เคยได้รับการพิสูจน์จริงๆ

คดีที่ขึ้นศาลข้อหาแบ่งแยกดินแดน เริ่มประมาณปี 2493 - 2494 หรือหลังรัฐประหารปี 2490 ข้อสังเกตคือทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนเกิดหลังรัฐประหารที่ทหารเป็นคนทำ และมีการกวาดรัฐบาลเสรีนิยมลงไปในตอนนั้นคือรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ ฝ่ายเสรีไทย พรรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญ และพรรคสหชีพ ที่มี ส.ส.มาจากภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่

วิธีของรัฐบาลที่มาจากฝ่ายทหารใช้ในตอนนั้นคือสร้างคดีแบ่งแยกดินแดนขึ้นมา เพราะมันเท่ากับกล่าวหาว่าคนพวกนี้เป็นกบฏ เป็นผู้ทำลายความมั่นคงของรัฐ ตอนนั้นในปี 2493 ข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ยังใช้ไม่ค่อยไม่ได้

อันที่จริงเรามีกฎหมายใช้เล่นงานอาจารย์ปรีดีกรณีเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2476 (พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476) ทั้งนี้ข้อกล่าวหาเรื่องแบ่งแยกดินแดน เป็นข้อกล่าวหาที่ใช้ในการจัดการกับคู่ต่อสู้ทางการเมืองของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร

นอกจากกรณีภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐเองยังรู้สึกไม่ไว้วางใจ หรือรู้สึกระแวงต่อภูมิภาคอื่น เช่นภาคใต้ที่ประชากรเป็นชาวมลายู ที่ความขัดแย้งระลอกล่าสุดก็ดำเนินมาเข้าสู่ปีที่ 11 แล้ว และช่วงทศวรรษ 2490 เองก็มีมาแล้วใช่ไหม

ในตอนนั้นรัฐบาลมีการจับผู้นำปัตตานี คือหะยีสุหลง ข้อกล่าวหาในตอนนั้นคือ แบ่งแยกอำนาจอธิปไตย ดูหมิ่นรัฐบาลไทย ปลุกระดม ซึ่งเข้าข่ายกบฏ แต่หลักฐานที่ได้คือดูหมิ่นเท่านั้น แต่เรื่องแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยนั้นไม่มีหลักฐานพอ แต่ศาลเขาไม่ทิ้ง เขาตีความว่าแค่ดูหมิ่นก็เป็นกบฏได้ นี่เป็นการตีความที่เกินกว่ากฎหมายแบบใหม่ นี่เป็นเรื่องอดีต

น่าสังเกตคือ รัฐบาลตอนนั้นเป็นรัฐบาลประชาธิปัตย์ คุณควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นคนฟ้อง แต่ตอนขึ้นศาล เป็นช่วงที่กองทัพบกมาจี้ให้คุณควงลาออก แล้ว จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีแทน คนเลยสับสนว่าหะยีสุหลงถูกจับสมัยจอมพล ป. และจอมพล ป.ดูท่าทางจะเป็นเผด็จการมากกว่า หะยีสุหลงถูกจับสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ แต่ว่าตัดสินคดีจบลงตอนจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว

เรียกว่ากลไกของรัฐตั้งแต่อัยการ ศาล ดูจากคำพิพากษาและคำฟ้อง เขามีความเชื่อมากว่าบรรดาผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องต่างๆ ใน 4 จังหวัดภาคใต้ ชาวมลายูเขาเชื่อว่ามีใจเอนเอียงอย่างเข้ากับฝ่ายมาเลเซีย ตอนนั้นยังไม่ได้เอกราชแต่อังกฤษมีการเตรียมมอบเอกราช มีการตั้งสหภาพมลายูอะไรต่างๆ ทางฝั่งมาเลเซียมีการเคลื่อนไหวจะเป็นเอกราชเยอะมาก ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ไทยเชื่อว่า คนมลายูในภาคใต้คงเอนเอียงจะเข้ากับทางฝ่ายมาเลเซีย เพราะผู้นำปัตตานี จนถึงผู้ปกครองคนสุดท้ายก็ถูกจับข้อหากบฏต่อกรุงเทพฯ ต่อมารุ่นลูกคือ ตนกู มะไฮยิดดิน เขาอยู่เมืองไทยไม่ได้ ก็ไปอยู่กลันตัน ทางฝ่ายไทยก็เชื่อว่าเขาวางแผนแยกปัตตานีไปรวมกับมาเลเซีย

เพราะฉะนั้นเมื่อดูตามประวัติศาสตร์ มันก็คิดได้ เพราะฉะนั้นความกลัวของรัฐบาลกรุงเทพฯ ก็มาจากสภาพความเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลตอนนั้น แล้วภาคใต้ของไทย มีสิ่งที่รัฐบาลไทยหนักใจ คือมีขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเกิดขึ้น เป็นขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของฝ่ายสังคมนิยม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาคือ เฉินผิง ร่วมมือกับอังกฤษปราบญี่ปุ่น พอชนะญี่ปุ่น ก็มีกองกำลังเข้มแข็ง เป็นกลุ่มที่ต่อสู้ มีฐานที่มั่นมีอะไรต่างๆ ทางฝ่ายอังกฤษไม่ยอมให้เอกราช พยายามต่อรอง เพราะกลัวว่าถ้าปล่อยไปฝ่ายคอมมิวนิสต์จะขึ้นมา ก็กลัวจะเหมือนกับจีนหรือเวียดนาม ดังนั้นทำให้พรรคคอมมิวนิสต์มลายาลงใต้ดิน และเริ่มใช้กำลัง อังกฤษก็กล่าวหาว่าเป็นการก่อการร้าย

เข้าใจว่าความกลัวนี้มาถึงกรุงเทพฯ ด้วย เจ้าหน้าที่ก็กลัวว่าจะข้ามมาทางฝั่งนี้ โอกาสที่ฝ่ายมลายูจะเข้ามาร่วมมือก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นพอมีผู้นำเคลื่อนไหวเช่น หะยีสุหลง ที่คนมลายูนับถือมาก เจ้าหน้าที่ก็กลัวว่าต้องเป็นขบวนการแบบเฉินผิงแน่ๆ เพราะฉะนั้นจึงจับเลย ศาลร่วมมือกันหมดทุกฝ่าย ลงโทษให้หนักที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะที่จริงหลักฐานที่จะเอาผิดเต็มที่คือหมิ่นประมาท แต่จะเล่นงานให้เป็นข้อหากบฏให้ได้

เพราะฉะนั้นข้อหากบฏ ข้อหาแบ่งแยกดินแดนกลายเป็นคดีการเมืองตั้งแต่ตอนนั้น

ที่นี้ถ้าจะถามว่า รัฐไทยจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาไม่ได้เป็นกบฏ หรือแบ่งแยกดินแดน ผมคิดว่าปัญหานี้น่าจะตอบปัญหาในปัจจุบันได้ ก็คือต้องให้ประชาชนมีเสรีภาพทางการเมือง ต้องเปิดให้ทุกฝ่ายได้ข้อมูล ให้ความเข้าใจเขา ถ้าหากว่ามีขบวนการแบ่งแยกดินแดนจริง ถ้าไม่มีประชาชนเข้าร่วม เขาก็ยึดไม่ได้ ที่ประชาชนเข้าร่วมเพราะเขาเชื่อ

เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องโฆษณาว่าทำอะไรบ้าง ไม่ทำอะไรบ้าง แล้วใครจะได้ประโยชน์ ให้ประชาชนเขาตัดสิน ยิ่งเราไปฆ่า ก็อย่างที่พรรคคอมมิวนิสต์ในที่ต่างๆ ชนะรัฐบาลนั้น ก็เพราะรัฐบาลฆ่ากระทั่งคนอยู่ไม่ได้ ต้องเข้าป่า ไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้นถ้าเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายมาสู้กันเปิดเผยได้ ผมคิดว่าการใช้กำลังยึดอำนาจแบบปฏิวัติรัฐประหาร หรือคอมมิวนิสต์แบบสุดกู่ก็ไม่เกิด

แล้วการใช้งบประมาณเพื่อเข่นฆ่าต่างๆ ในรอบ 40-50 ปีมันก็จะหมด เพราะฉะนั้นจนบัดนี้เรายังอยู่กับซากเดนของผีแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดภาคใต้ แล้วถอนไม่ได้เพราะทุ่มไปเยอะมากในทางกองทัพ จนกระทั่งเขาคิดว่าถ้าถอนต้องกลายเป็นอีกฝ่ายทันที

ถ้าดูในประวัติศาสตร์ มีกรณีเทียบเคียงกับตอนหลังที่พยายามยัดเยียดข้อหาแบ่งแยกดินแดน เอาตั้งแต่ภาคเหนือเลยก็ได้  ครูบาศรีวิชัย ซึ่งเป็นผู้นำภิกษุสงฆ์ที่มีชื่อเสียงมากในภาคเหนือ ท่านเคยถูกทางการจากกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 สอบสวนข้อหาว่า กระทำการที่ไม่ทำตามระเบียบของคณะสงฆ์ ซึ่งสมัยรัชกาลที่ 5 ปฏิรูปคณะสงฆ์ แล้วก็รวมศูนย์ เหมือนกับรัฐบาลกลางไปจัดระเบียบหัวเมือง ก็ไปจัดระเบียบการปกครองให้พระหัวเมืองด้วย เช่น การบวชก็ต้องใช้ระเบียบใหม่ที่บรรจุไว้ในกรุงเทพฯ

ครูบาศรีวิชัยก็ใช้วิธีการแบบชาวบ้าน ท่านเห็นว่าอายุครบแล้วก็ให้บวชโดยไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าคณะอำเภอ จังหวัดตามระเบียบ พอทำหลายครั้งเขาก็จับ ข้อหาคล้ายๆ กับว่าไม่ทำตามระเบียบ ถ้าพูดแบบทางฝ่ายรัฐก็คือ เป็นกบฏพระนั่นแหละ ถึงขั้นเข้าไปในเชียงใหม่ไปสอบสวนหลายเดือน ในที่สุดก็เอาผิดไม่ได้ เพราะท่านบอกว่าไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ทำแบบพระพุทธเจ้า อ้างพระพุทธเจ้า ก็ทำตามนั้น แล้วท่านก็กลับมา

อีกคดีหนึ่งก็คือ ทางฝ่ายคณะสงฆ์ให้จัดพิธีเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 6 ครองราชย์ ทุกวัดก็ต้องติดธง ทำพิธีสวดต่างๆ วัดที่ครูบาศรีวิชัยอยู่ก็บอกว่า ถ้าไปทำตามนั้นก็เปลืองเงิน เปลืองเวลา เปลืองคน ท่านก็บอกว่าท่านสวดให้เลย ไม่ต้องไปทำตามนั้น เขาก็เรียกไปสอบอีกว่า นี่เป็นการดูหมิ่นลบหลู่ ไม่ทำตามระเบียบ ท่านก็บอกว่าอธิบายแล้วว่าที่ทำก็ทำไปตามนั้น ได้ผลแล้วก็คือสวดให้แล้ว แต่ไม่ได้ทำพิธีแบบกรุงเทพฯ เท่านั้นเอง ถ้าเป็นปัจจุบันก็คือ ม.112 ใช่ไหม หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ท่านก็ต้องถูกเข้าคุกไป

อีกหลายเรื่อง ท่านพาคนเป็นร้อยเลยไปสร้างถนนหนทางต่างๆ ทางการก็ปวดหัวมาก นึกว่าท่านจะกบฏทุกที แล้วก็เอาตัวลงมากรุงเทพฯ เพื่อที่จะสอบสวนใหญ่เอาเรื่องให้ได้ จบลงด้วยการที่ว่า ไม่รู้จะลงโทษอะไรเพราะไม่ได้ทำผิด ทางกรุงเทพฯ บอกว่ามีวิธีเดียวคือจับมาเรียนหนังสือใหม่ ครูบาศรีวิชัยท่านบอกว่าอายุมากแล้ว เรียนก็ไม่ไหว คิดถึงบ้าน กลับละกัน อยู่ 3 เดือนเหนื่อยละ ไม่ไหวละ ก็ขึ้นรถไฟกลับ จบลงด้วยการตัดสินว่า ครูบานั้นเป็นชาวบ้าน ไม่รู้เรื่อง ไม่มีความรู้จริงๆ เพราะนั้นจึงทำผิดหมด

เพราะฉะนั้น กบฏที่จะแบ่งแยกหรืออะไรต่างๆ กับรัฐไทย ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่รัฐไทยมองว่า ไม่เคารพ ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของส่วนกลาง ก็คือเป็นคนที่ยังล้าหลัง อนารยชน

ในอีสานถึงยุค พ.ศ. 2493-2494 พวก ส.ส.อีสานที่ถูกจับ เพราะเป็นพวกของอาจารย์ปรีดี เป็นฝ่ายเสรีไทย พอถูกล้มลงไปแล้วเขาก็หาเรื่องที่จะจับพวกนี้ ก็ไปแจ้งข้อหาว่าพวกนี้เคยข้ามไปฝั่งลาว ไปร่วมมือกับพวกลาวอิสระ กับลาวฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อเอกราชจากฝรั่งเศส ก็จับเขามาหาว่าพวกนี้พยายามที่จะแบ่งแยกดินแดน

ปรากฏว่า พอขึ้นศาล ส.ส.อีสานก็ให้การว่า ใช่ เขาจะแบ่งแยกดินแดน แต่เขาไม่ได้จะแบ่งแยกดินแดนอีสานนะ เขาจะไปแบ่งแยกดินแดนลาวที่อยู่ใต้ฝรั่งเศสให้มารวมกับอีสาน ให้มารวมกับดินแดนไทย ก็เป็นไทยที่ใหญ่กว่านี้ เพราะฉะนั้น เขาไม่ได้ทำผิด เขาไม่ได้แบ่งแยกดินแดนไทย จะลงโทษเขาได้ยังไง

คดีก็จบลงด้วยการที่ลงโทษเขาไม่ได้ แต่มันสะท้อนประเด็นที่ผมพูดไปแล้วก็คือ ฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายปกครองต้องการที่จะเล่นงานนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเป็นอันดับแรก เพราะฉะนั้น ไม่ได้พยายามจะเข้าใจหรือคิดเลยว่าคนพวกนั้นทำไปบนเงื่อนไขหรือบริบทอะไร ครูบาศรีวิชัยไม่ได้เป็นคนที่จะมาท้าทายอำนาจรัฐ แต่เป็นคนที่จะทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้นเอง ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น แล้วก็เป็นคนที่ชาวบ้านนับถือ

เพราะฉะนั้น ก็กลับมาตรงนี้ว่า ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ความเป็นจริงแล้ว ข้อหาเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ผมว่าเป็นข้อหาที่เบาบางมาก พูดง่ายๆ ว่ามีความกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐน้อยมากๆ นอกจากว่า ต้องมีหลักฐานจริงๆ ว่าผู้นำรัฐร่วมมืออยู่ตรงนั้น คุณไปจัดการเลย เพื่อเป็นการสู้ในระดับของรัฐ ระดับของผู้ที่มีอำนาจจริงๆ

แต่ถ้าระดับชาวบ้านท้องถิ่นที่เขาเคลื่อนไหวกันเอง ตอนนี้การเมืองมันเปิด เสื้อแดง 5 คน 10 คน เขาก็พูดได้แล้ว ในในปัตตานี คนรุ่นใหม่ 4-5 คนก็ขึงผ้าได้แล้ว เพราะเขามีความคิด เขารู้เขาเข้าใจแล้วว่า การเมืองตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว เขาต้องการหรือไม่ต้องการอะไรก็พูดผ่านแผ่นป้าย

เพราะฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาล ผู้มีอำนาจเอาสัญญะพวกนั้นมา ต้องมาทบทวนดุว่าความต้องการ ความเข้าใจของพลเมืองไปถึงไหน อยู่ตรงไหนแล้ว อย่าไปคิดแค่ความมั่นคงของรัฐอย่างเดียว ความมั่นคงของรัฐไม่ได้อยู่ที่กองทัพ แต่อยู่ที่ประชาชนทั้งหมด 

กรณีล่าสุดอย่างที่เกิดขึ้นในภาคเหนือโดยเฉพาะการติดป้ายผ้าว่า ถ้าไม่มีความยุติธรรมขอแยกตัวดีกว่า เท่าที่อาจารย์ได้ติดตาม เรื่องนี้มันสะท้อนอะไร รวมไปถึงวิธีคิดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงซึ่งตอบสนองต่อเรื่องการติดป้ายผ้าที่เกิดขึ้น

จริงๆ แล้วแนวคิด พูดง่ายๆ ว่าแนวคิดแบ่งแยกดินแดน ที่เราใช้คำว่า "separatism" แต่ที่อื่นใช้คำว่า “secession” ไม่ใช่ความคิดของชาวบ้าน ชาวบ้านคิดไม่ได้ คือ คิดเล่นๆ สนุกๆ แบบลิเกน่ะได้ แต่เอาจริงจังจะฟ้องร้อง คั้นให้ตายมันต้องระดับผู้นำรัฐ ต้องมีอำนาจเทียบเคียงกับอำนาจรัฐ

ผมคิดว่า ประวัติศาสตร์ที่ชัดที่สุดของการแบ่งแยกทั้งภูมิภาคเป็นดินแดนขนาดใหญ่คือ สหรัฐอเมริกา ช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างภาคเหนือและภาคใต้ การประกาศแยกภาคใต้ออกจากภาคเหนือทำตอนไหน ทำโดยใคร คือทำตอนหลังจากที่ลินคอล์นได้รับเลือกตั้ง ผู้นำภาคใต้เขาไม่รับแนวคิดของพรรครีพับลิกันของลินคอร์น เขาประชุมกันแล้วคนที่มาประชุมคือพวก ส.ส. และ ส.ว.ที่อยู่ในวอชิงตัน ดีซี และ ส.ว.และ ส.ส.แต่ละรัฐก็มีผู้แทนพิเศษออกมาประชุมกัน

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องชาวบ้าน ชาวบ้านไม่ได้คิดเรื่องพวกนี้ คิดไม่ถึง แล้วไม่มีศักยภาพที่จะทำได้ ต้องเป็นผู้นำระดับรัฐที่สามารถจะคิดเรื่องนี้ได้ สหรัฐอเมริกาพอเขาตกลงแยก ก็ยื่นคำขาดไปที่รัฐบาลกลาง บอกว่า 9 รัฐภาคใต้รวมกันแล้วประกาศขอแยก จบ แล้วตอนนั้นเขาไม่คิดจะรบกันด้วยนะ คือต่างคนต่างอยู่ เขามีดินแดนแล้ว มีที่มีคนอยู่ ก็จบกันไปอย่างนั้น

เชคโกสโลวาเกีย ก็มาแยกหลังสหภาพโซเวียตล่ม โซเวียตเองก็แยกออกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยต่างๆ เกิดเป็นสิบกว่ารัฐ รวมทั้งยูเครนด้วย แล้วล่าสุดไครเมียประกาศว่าจะแยกจากยูเครนแล้วจะไปรวมกับโซเวียต ใครเป็นคนประกาศแยกไครเมีย รัฐสภาไครเมียนะครับ บรรดาผู้นำทั้งนั้นเลย แล้วก็มีกองทัพอยู่ด้วย มันถึงประกาศได้

เพราะฉะนั้น ถ้าชาวบ้านประกาศ คุณไม่ต้องตื่นเต้นครับ มันเป็นความรู้สึก จะด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ จะด้วยความคึกคะนอง หรือจะด้วยความอะไรต่างๆ แต่ว่ามันไม่มีผลต่อการไปกระเทือนอธิปไตยของประเทศไหนๆ ทั้งนั้น หนังฮอลลีวูดก็ทำได้ พอทำมา คุณไปจะจับหนังอย่างนั้นหรือ ที่สำคัญคือ คนที่มีอำนาจเขาอยู่ตรงไหน ถ้าคนที่มีอำนาจเขาไม่เล่นด้วย ก็ไม่ไปหรอกครับ ไปไหนไม่ได้

อาจารย์คิดว่าวิธีไหนที่เจ้าหน้าที่รัฐควรจะปฏิบัติต่อกรณีที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ

ตัวอย่างพวกนี้ รวมทั้งภาคใต้ด้วยซึ่งไปติดป้ายผ้าเยอะมาก แต่คำมลายูพอแปลมาแล้วก็คือ ขอสิทธิอำนาจปกครองตนเอง คือ absolute sovereignty ของเขา คุณจะแปลว่าแบ่งแยกดินแดนหรืออะไรก็ไม่ทำให้เขายอมรับได้ เพราะเขาถือว่าอันนั้นเป็นความยุติธรรม เป็นความชอบธรรมถูกต้องที่เขาอยู่มาก่อนแล้ว

จริงๆ แล้วฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลกลาง จะต้องศึกษาพัฒนาการที่เกิดขึ้นเหล่านั้นว่า มันมีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้คำเหล่านั้นออกมามีความหมายที่ประชาชนเขารับได้ อย่างที่ผมพูดแล้วว่า ถ้าการเมืองเป็นเวทีที่เปิดให้คนแลกเปลี่ยน และต่อสู้ทางความคิดกัน บางคนอยากที่จะอยู่ในภูมิภาคซึ่งอำนาจปกครองของเขามากหน่อย เช่น เป็นจังหวัดปกครองตนเอง หรือสี่จังหวัดปกครองตนเอง หรือเป็นภูมิภาค ภาคเหนือปกครองตนเอง คุณจะจับเขาไปลงโทษข้อหาอะไร

แทนที่จะไปลงโทษ ลองถามเขาไหมว่ามีปัญหาอะไร ทำไมอยู่กับกรุงเทพฯ ไม่ดีหรือ แล้วตอบกันตรงๆ เลย เอาบัญชีมาเปิดดูสิว่า คุณได้เท่าไหร่ถ้าอยู่กับเรา แล้วคุณเสียเท่าไหร่ แต่ถ้าปรากฏว่าถ้าเปิดแล้วเขาเสียมากกว่า เราก็ต้องทำใจนะครับ

ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า โลกมาถึงยุคที่ความยุติธรรมทุกคนอ้างได้แล้ว มันเข้าถึงได้ แล้วมันเฉลี่ยกันได้ ไม่ใช่ยุติธรรมคือผมเป็นใหญ่ แล้วคุณก็เชื่อผม คุณอยู่ในความสงบแล้วความยุติธรรมจะเกิดขึ้น ไม่ใช่ อันนั้นมันเป็นความยุติธรรมแบบศักดินา แบบโบราณแล้ว ซึ่งหมดยุคไปแล้ว มันต้องเปลี่ยนใหม่

ตรงนี้ไงที่ผมถึงบอกว่า ปัญหาเรื่องแบ่งแยก จริงๆ เป็นปัญหาเรื่องความไม่พอใจระบอบใหญ่ที่ไม่เป็นธรรม ที่ไม่ยุติธรรม ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้น ไปแก้ตรงนี้เถอะครับ แทนที่จะไปทิ้งไปวางระเบิด มันไม่ได้ทำให้คนยอมรับ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าอยู่ตรงไหน อยู่กับใคร แต่อยู่ที่ว่าเขาอยู่ในฐานะอะไร อยู่ในฐานะมนุษย์ที่มีความหมายหรือเปล่า หรืออยู่ในฐานะมนุษย์ที่มีคนส่วนหนึ่งไปกำหนดว่าคุณทำได้เท่านี้ คิดได้เท่านี้ พูดได้เท่านี้ จะไปบูชาคนอื่นไม่ได้ต้องบูชาฉัน ถ้าอย่างนี้มันอยู่กันยาก ก็ต้องเอาปืนใหญ่มาตั้งทั่ว 77 จังหวัด จะปกครองกันอย่างนั้นหรือ แล้วจะอยู่กันได้ยังไง

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท