Skip to main content
sharethis

 

หากถามถึงอาชีพในฝันของ "คนรุ่นใหม่" ในศตวรรษที่ 21 ... หนุ่มสาวหลายคนคงนึกไปถึงภาพตัวเองใส่สูทผูกไทด์ แต่งตัวสวยไฮไซ ทำงานสะดวกสบายในออฟฟิศติดแอร์เย็นฉ่ำ แต่ทว่าในมุมกลับ กลับเห็นภาพคนหนุ่มสาวทิ้งสังคมเมืองหันไปใช้วิถีชีวิต “เกษตรกร” ทำไมหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งจึงเลือกมอง “ต่าง”

เรามาฟังวงสนทนาของเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่แม้หลายคนไม่ได้มีทุนฐานมาก่อน แต่มองเห็นคุณค่าและความหมายลึกๆ ซ่อนอยู่ในอาชีพการเกษตร อาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษ กับ"ความหวัง" ฝากชีวิตไว้อย่างมั่นคงบนวิถีพึ่งพาตนเอง ... พวกเขาแวะเวียนมาเจอกันในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “เครือข่ายเกษตรกรกล้าใหม่” ที่ จ.มหาสารคาม

“ผมมีรายได้จากการขายผักสลัดให้กับร้านสเต็ก หักค่าใช้จ่ายแล้วกำไรเดือนละ 2 แสนบาท ในจำนวนนี้ไม่รวมเงินเดือนที่ผมจะกันไว้เป็นค่าตอบแทนให้ตัวเองเดือนละ 2 หมื่นบาท” โจ้ – จิรายุทธ ภูวพูนผล อายุ 25 ปี เจ้าของสวนผักและร้านสเต็ก “โอ้กะจู๋” อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กล่าวและยิ้มอย่างมีความสุข

ด้วยต้นทุนเดิมที่สนใจการปลูกผัก และต้นทุนใหม่คือความรู้ที่เรียนจบมาโดยตรงในด้านการเกษตรที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้โจ้รู้จุดอ่อนของเกษตรกรรุ่นเก่า คือ การหาช่องทางการตลาดและจัดจำหน่าย โจ้และเพื่อนจึงร่วมหุ้นกันเปลี่ยนลานจอดรถขนาด 2 ไร่ให้เป็นสวนผัก และเปิดร้านอาหารติดกันโดยใช้ผักที่ปลูกเองเป็นวัตถุดิบ

เมื่อผนวกสายตาของคนรุ่นใหม่เข้ากับเรื่องการตลาด โจ้ยังใช้สื่อใหม่อย่างโซเชี่ยลมีเดีย Facebook.com เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักสวนผักและร้านสเต็กโอ้กะจู๋มากยิ่งขึ้น ภาพผักสลัดสดใหม่และภาพอาหารหน้าตาน่ารับประทานที่โพสต์ขึ้นสังคมออนไลน์อยู่ไม่ขาดก็ส่งผลให้มีแฟนเพจแวะเวียนมาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การตบแต่งหน้าร้านให้มีจุดถ่ายภาพและชมวิวแปลงผักระหว่างรับประทานก็ยิ่งทำให้ร้านมีเอกลักษณ์โดดเด่น การันตี “ปลูกได้และขายเป็น”     

อีกตัวอย่างเกษตรกรรุ่นใหม่เป็นหนุ่มน้อยจาก อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร เก้า – ธีรพงษ์ สุขสวรรค์ บัณฑิตหนุ่มวัยเบญจเพสจากสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่เกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่มีพ่อและแม่เป็นชาวนา แต่ทั้งคู่คาดหวังให้ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนทำงาน “นั่งโต๊ะ” มากกว่าจะมาอาบเหงื่อต่างน้ำ

เก้าเล่าว่าเขาเคยใช้ชีวิตตามแบบแผน เป็นเด็กขี้กลัวและเชื่อฟังผู้ใหญ่มาก คิดว่าเมื่อเรียนจบก็จะหางานทำในสาขาที่เรียนมาเหมือนกับคนส่วนใหญ่ คิดซื่อๆ ว่าด้วยวิธีการนี้จะทำให้ตนเองมีหน้าที่การงานและความร่ำรวยเป็นผลตอบแทน แต่เมื่อนั่งคิดสาระตะแล้วกลับพบว่าความใฝ่ฝันของคนทำงานเป็นลูกจ้างช่างเป็นความเพ้อฝันเกินจริง ทว่าการทลายกำแพงความคุ้นชินเดิมก็ไม่ใช่เรื่องง่ายหากไม่มี “จุดเปลี่ยน”

จุดเปลี่ยนของเก้าเกิดขึ้นขณะที่เขาอยู่บ้านตามลำพัง ค่ำวันนั้นเก้าเกือบถูกงูพิษกัด โชคดีที่แมวของเก้าส่งเสริมขู่ขึ้นมาให้เขาได้สังเกตและหลบทัน “ผมเลยได้คิดว่าชีวิตคนเรามันสั้นเท่านี้เองนะ ถ้าแมวผมไม่ช่วยไว้ ผมอาจตายไปแล้วก็ได้ เลยได้คิดต่อไปว่าถ้าเราอยากจะทำอะไรก็ให้ทำซะเลยก่อนที่จะไม่มีโอกาสทำ สิ่งที่คิดได้ในเวลานั้นคือการเกษตรซึ่งวนเวียนอยู่ในหัวผมมาตั้งแต่เด็กเพราะเราอยู่กับเขามาตลอด ผมรู้ว่าถ้าผมอยู่กับสิ่งนี้แล้วผมจะมีความสุข”

ปัจจุบัน เก้าได้พิสูจน์ตัวเองจนพ่อแม่ยอมรับและไว้วางใจให้ดูแลแปลงปลูกข้าวของครอบครัวอย่างครบวงจรรวมพื้นที่ราว 100 ไร่ และปรับเปลี่ยนวิถีการปลูกจากใช้สารเคมีมาเป็นการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ ส่วนหนึ่งเพื่อปกป้องสุขภาพของคนในครอบครัว ขณะที่การปลูกพืชวิถีนี้ยังช่วยลดต้นทุน และผลผลิตที่ได้เป็นที่ต้องการของตลาด เก้าบอกด้วยว่าเขากำลังมีแผนสร้างเตาอบข้าวเปลือกขนาด 30 ตันไว้รองรับผลผลิตในฤดูเก็บเกี่ยว โดยนำความรู้ที่เรียนมาในสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์มาปรับใช้

สำหรับเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “เครือข่ายเกษตรกรกล้าใหม่” ที่มีเกษตรกรรุ่นใหม่มาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์กันกว่า 20 คน จัดโดย บริษัท ธัญญเจริญผล จำกัด ผู้ประกอบการสังคมด้านการปลูกข้าวอินทรีย์ ในการสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการสร้างสรรค์ชุมชน ของ บริษัท ธัญญเจริญผล ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคนทำงานภาคสังคมที่เป็นผลผลิตมาจากกระบวนการพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้เป็นคน “เก่ง ดี มีจิตอาสา” ของมูลนิธิสยามกัมมาจล และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

โอห์ม - วีระ นากระโทก อายุ 25 ปี แกนนำและผู้ก่อตั้ง บริษัท ธัญญเจริญผล จำกัด กล่าวว่า การพบปะกันของเกษตรกรรุ่นใหม่ นอกจากจะทำให้เกิดวงแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการเกษตรซึ่งแต่ละคนสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้กับแปลงปลูกของตนแล้ว ยังมีเวิร์คช็อปเล็กๆ ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมสำรวจระบบการผลิตของตนว่าอยู่บนวิถีพึ่งพาตนเองหรือพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากกว่ากัน เมื่อทราบแล้วจะได้หาทางปรับปรุงระบบการผลิตให้สามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น โดยหวังด้วยว่าเวทีนี้จะเป็นตัวเชื่อมประสานให้เกิด “เครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่” ที่สามารถแบ่งปันความรู้และแบบปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน

การหันกลับเข้าสู่วีถีการเกษตรของคนรุ่นใหม่ นอกจากจะทำให้พวกเขาได้เข้ามาสัมผัสและเรียนรู้วิถีการพึ่งพาตนเองบนฐานอาชีพของบรรพบุรุษแล้ว ยังทำให้เกิดความประทับใจในสายตาของ “เกษตรกรตัวจริงเสียงจริง” ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อนด้วย

กนกพร ดิษฐกระจันทร์ วัย 37 ปี หมอดินอาสา และผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ข้าวพื้นบ้าน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี สะท้อนว่าสถานการณ์ปัจจุบันของคนหนุ่มสาวในชนบทต่างหันหลังให้กับอาชีพการเกษตร หากไม่มีคนรุ่นใหม่เข้ามารับช่วงต่อ เกษตรกรไทยจะมีค่าเฉลี่ยอายุมากกว่า 55 ปี และไม่เกินสิบปีต่อจากนี้ประเทศไทยจะไม่มีเกษตรกรหลงเหลืออยู่ การได้มาเข้าร่วมเวทีในครั้งนี้จึงทำให้เธอรู้สึกดีใจและมีความหวังเมื่อได้เห็นคนหนุ่มสาวที่มีความรู้ความสามารถ บางคนเรียนจบเมืองนอกเมืองนา แต่กลับมาให้ความสำคัญและมาทำอาชีพการเกษตร

เช่นเดียวกับ สุริยกุล เที่ยมสกุล เกษตรกรผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกข้าวอินทรีย์แบบลดต้นทุน จาก อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ในวัย 40 ปี กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้เห็นเกษตรกรรุ่นใหม่มีความมุ่งมั่นจริงจัง ซึ่งตนพร้อมจะแบ่งปันความรู้ และให้คำปรึกษาแนะนำแก่น้องๆ นำไปใช้จนประสบผลสำเร็จ

นี่เป็นเพียงก้าวเล็กๆ ของเกษตรกร “คนรุ่นใหม่” ที่เสมือนเป็น “ความหวัง” ของสังคม “เกษตรไทย” ไม่ให้เลือนหายไป เรามาเอาใจช่วยให้บรรดา “คนรุ่นใหม่” กลุ่มนี้ให้เติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน เพื่อช่วยกันพัฒนาท้องถิ่นไทยต่อไปตราบนานเท่านาน.

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net