Skip to main content
sharethis

มูลนิธิเพื่อผู้โภค เผยปี 56 ยอดผู้บริโภคร้องเรียนสูง 3,514 เรื่อง มากที่สุดคือบริการสุขภาพ ขณะที่กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคสุดแย่ แก้ปัญหาไม่ได้จริง ทั้งล่าช้า แถมใช้ข้อกฎหมายเอาผิดผู้บริโภคซ้ำด้านสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หนุนตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีโดยเร็ว

รศ.ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์  ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราใช้เวลาในการเสนอ พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมานานถึง 16 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ปัจจุบันเรื่องนี้ยังค้างอยู่ที่สภา ดังนั้นในส่วนของเราจึงถึงเวลาที่ต้องร่วมแรงร่วมใจในการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ อย่างไรก็ตามส่วนตนเชื่อว่าเมื่อเรามีสภา พ.ร.บ.องค์กรอิสระ จะเกิดเสียที แต่จากการที่รอมานานจึงคิดว่าต้องทำปฏิบัติการให้เห็นถึงความจำเป็นของกรมี พ.ร.บ. จึงจำลองคณะกรรมการภาคประชาชน แต่แตกต่างจากพ.ร.บ. คือมี 2 ชุด 1. ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้เชี่ยวชาญ ทั้ง 2 ชุดมาจากการเลือกตั้งโดยองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ 7 ท่าน  7 ด้าน และผู้เชี่ยวชาญเขต  8 เขต

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากสถิติการร้องเรียนของผู้บริโภคซึ่งร้องเรียนเข้ามายังเครือข่ายมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อปี2556 พบว่า มีสูงถึง 3,514 เรื่อง ในจำนวนนี้พบว่าปัญหาที่มีการร้องเรียนมาที่สุดคือเรื่องบริการสุขภาพ 1,263 เรื่อง กิจการโทรคมนาคม 749 เรื่อง การเงินการธนาคาร 391 เรื่อง ที่อยู่อาศัย 208 เรื่อง ผลิตภัณฑ์สุขภาพ 196 เรื่อง สินค้าและบริการ 191 เรื่อง และอื่น 229 เรื่อง แต่กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคในปัจจุบันถือว่ามีปัญหามาก ไม่ว่าจะเป็นร้องเรียนแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง ล่าช้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ล่าสุดเป็นกรณีที่บริษัทแมคโดนัลลงบันทึกประจำวันกับผู้บริโภคที่พบแมลงสาบในช็อคโกแลตซันเดย์ ซึ่งจาการตรวจสอบไม่พบว่ามีประเทศใดเคยทำอย่างนี้มาก่อน และยังพบว่านักวิชาการ และสื่อมวลชนก็เสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่าเกิดเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก การไม่เปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริง การทดสอบสินค้าต่อผู้บริโภค การโฆษณาผิดกฎหมาย ไม่ขออนุญาตโฆษณา โฆษณาเกินจริง หลอกลวง เป็นเท็จ ข้อมูลทางเลือกในการบริโภค ไม่เปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นในการตัดสินใจของผู้บริโภค ขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องเดียวกัน ฟ้องคดีนักวิชาการ สื่อที่ให้ข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ปัญหาการผูกขาดกิจการพลังงาน โครงสร้างราคาพลังงานที่ไม่เป็นธรรม คุณภาพบริการที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เช่น ความล่าช้าของบริการการรถไฟ การไม่มีประกันผู้โดยสารของการรถไฟ ไม่มีการลงทุนและสนับสนุนผู้บริโภคในการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม

ดังนั้นเบื้องต้นจึงขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการ 1.เร่งรัดการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค  ในการให้ความเห็นในการตราและการบังคับใช้กฎหมาย และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานรัฐ 2.พัฒนากลไกยกเลิกสินค้าอันตรายอัตโนมัติ เช่น ยาอันตราย สารเคมีอันตราย หรือสินค้าอันตรายที่พบว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีนโยบายยกเลิกหนึ่งยกเลิกทั้งหมด 3. การเยียวยาเชิงลงโทษ ที่ทันท่วงทีและอัตโนมัติ เพื่อปรับปรุงคุณภาพสินค้าและบริการ เช่น การเยียวยา 7.3 ล้านบาทกรณีเสียชีวิตจากรถโดยสารสาธารณะ 4. มีหน่วยงานเดียวรับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ข้อมูล รับเรื่องร้องเรียน และคุ้มครองผู้บริโภค และเป็นอัตโนมัติ เป็นต้น 5. สนับสนุนองค์กรผู้บริโภค เพื่อให้มีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภค การเผยแพร่ข้อมูล การเข้าถึงห้องทดลอง การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งตรวจสอบหน่วยงานรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภคได้มากขึ้น ปัจจุบันเราให้ความสำคัญกับรัฐมาก ท่ามกลางความล้มเหลวของภาครัฐ ดังนั้นตรงนี้เห็นว่าภาคประชาชนและภาคเอกชนควรร่วมมือกันทำงาน เพราะฉะนั้นถ้าข้อเสนอที่เสนอไปนั้นไม่เป็นจริงก็จะไปคุยกับคนขับรถโดยสารให้รับผิดชอบผลิตรถที่มีมาตรฐานแข่งขันกัน อยากให้ผู้ให้บริการมีความรับผิดชอบบ้าง ไม่ใช่รับผิดชอบสังคมโดยการปลูกป่าอะไรแบบนั้น แต่ขอให้รับผิดชอบในสินค้า และบริการของตัวเอง

นายไพโรจน์ พลเพชร  กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า เห็นด้วยว่าจะต้องขับเคลื่อนให้พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเกิดขึ้นให้ได้ เพราะการเกิดองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคจะนำไปสู่การปฏิรูปด้านอื่น เช่น การปฏิรูปโครงสร้างของกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันโครงสร้างของกฎหมายยังเป็นแบบเดิมคือให้อำนาจกับภาครัฐมากกว่า ขณะที่กรอบขององค์การอิสระจะเน้นที่การสร้างการมีส่วนร่วมโดยเพิ่มองค์ประกอบของภาคส่วนต่างๆ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่เราต้องยืนหยัดต่อสู้กันต่อไปแม้ว่าจะผ่านมา 16 ปี แล้วยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ก็ตาม

คุณชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ กรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคจะต้องทำร่วมกันทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จะละทิ้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ แต่จะต้องพยายามดึงคนดีเข้ามาร่วมงาน นอกจากนี้ยังเห็นว่าจะต้องพัฒนาองค์ความรู้ให้กับประชาชน ทำให้เกิดความแข็งไม่ตกเป็นเหยื่อ ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งนี้เห็นว่าทั้งหมดนี้ควรเริ่มดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องรอให้องค์การอิสระเพื่อการบริโภคเกิดขึ้น

นางสาวอรอุมา เกษตรพืชผล สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ในเรื่องของการไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภคที่ยังเป็นปัญหาในปัจจุบันนั้นตนเห็นว่าการไกล่เกลี่ยจะได้ผลจริงๆ จะต้องทำบนพื้นฐานของความยุติธรรม ไม่ใช่ว่าไกล่เกลี่ยไปพอให้เรื่องจบๆ ไป ซึ่งหากทำเช่นนั้นเชื่อว่าปัญหาจะไม่จบ คนที่ได้รับผลกระทบก็จะได้รับผลกระทบซ้ำๆ เพราะฉะนั้นจึงเห็นด้วยว่าจำเป็นต้องมีองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคขึ้นมา นอกจากนี้ยังเห็นว่าควรตั้งหน่วยงานขึ้นมาแก้ไขปัญหาผู้บริโภคอย่างครอบคลุมทั้งระบบแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One stop service)

นายบัณฑิต ตั้งประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วตนเห็นด้วยกับการคุ้มครองผู้บริโภค และยืนดีสนับสนุนให้เกิดพ.ร.บ.องค์การอิสระ โดยให้ยึดหลักธรรมาธิบาล มีส่วนร่วม โปร่งใสในการทำงาน  อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของ สคบ.ถือว่าครอบคลุมทั่วประเทศ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะดูแลเนื่องจากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีน้อย เพียง 200 กว่าคนเท่านั้นแต่ต้องดูแลคนถึง 60กว่านล้านคน ปรับบทบาทผู้บริโภคจากผู้รับสารเป็นผู้สื่อสารเช่นอาจจะสื่อสารผ่านโลหออนไลน์มากขึ้น แต่จะต้องใช้เทคโนโลยีการสื่อสารอย่างรู้เท่าทัน 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net