Skip to main content
sharethis

วงอภิปรายในการประชุม "อาเซียนภาคประชาชน" ที่พม่าหัวข้อ "ประชาธิปไตยอาเซียนในวิกฤต" เล่าบทเรียนปฏิรูปการเลือกตั้งจากมาเลเซีย กัมพูชา และไทย ด้าน บก.ประชาไท ระบุหลังคำวินิจฉัยศาล รธน. เป็นโอกาสที่สังคมไทยจะตั้งคำถามกับตัวเองว่ายังคงเชื่อมั่นวิถีประชาธิปไตยหรือไม่

22 มี.ค. 2557 - ในการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน หรือ ACSC/APF 2014 ซึ่งเมื่อวานนี้ (22 มี.ค.) จัดมาเป็นวันที่ 2 ที่ศูนย์การประชุมเมียนมาร์ (MCC) ถนนมิงตะมะ นครย่างกุ้ง โดยวันนี้มีการประชุมห้องย่อยหลายหัวข้อ หัวข้อหนึ่งในช่วงเช้าคือ "ประชาธิปไตยอาเซียนในวิกฤต" อภิปรายโดย คุน ปัญญา ผอ.พันธมิตรเพื่อปฏิรูปการเลือกตั้ง (COMFREL) จากกัมพูชา มาเรีย ชิน อับดุลลาห์ ผู้อำนวยการองค์กร Empower for Change และหนึ่งในแกนนำขบวนการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม หรือ Bersih 2.0 จากมาเลเซีย และพิณผกา งามสม บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท ดำเนินรายการโดย เสรี นนทสูติ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้แทนไทยประจำคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR)

 

มาเลเซีย: คะแนนเสียงที่เพิ่มขึ้นจนพรรคฝ่ายค้านกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่
และเรื่อง "เชื้อชาติ-ศาสนา" ในประเด็นการเมืองของพรรครัฐบาล

มาเรีย ชิน อับดุลลาห์ ผู้อภิปรายคนแรกจากองค์กร Empower for Change มาเลเซีย กล่าวถึงวิธีที่พรรคร่วมรัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (BN) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปกครองประเทศมานับตั้งแต่ 2510 ใช้ควบคุมพลเมือง คือนำประเด็นเรื่องเชื้อชาติและศาสนามาใช้ ทั้งนี้อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียเคยระบุว่ามาเลเซียเป็นศาสนาประจำชาติ นอกจากนี้ในมาเลเซียยังมีการทำให้ประเด็นเรื่องเหยียดเชื้อชาติ (racism) กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในทางการเมือง เช่น เอาประเด็นศาสนาอิสลามมาเป็นประเด็นการเมือง ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลต้องการได้รับความชอบธรรมจากประชากรซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม

ทั้งนี้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา กระบวนการเลือกตั้งของกัมพูชาเป็นไปด้วยความไม่ชอบมาพากล โดยผลการนับคะแนนรวมทุกเขตเลือกตั้งของพรรคฝ่ายค้านอยู่ที่ร้อยละ 51 หรือมีคะแนนเหนือพรรครัฐบาล อย่างไรก็ตามปัญหาอยู่ที่วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. ในมาเลเซีย ที่แต่ละเขตมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เท่ากัน เช่น พื้นที่ที่พรรคฝ่ายค้านชนะ เป็นเขตที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า ขณะที่พื้นที่ที่รัฐบาลชนะ จะมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะมีน้อยกว่า ซึ่งผลทำให้พรรคร่วมรัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" ชนะได้ที่นั่ง ส.ส. มากกว่าพรรคฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตาม ข้อดีของผลการเลือกตั้งรอบนี้ คือ พรรคฝ่ายค้านได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2551

มาเรีย กล่าวด้วยว่า ยังมีประเด็นที่ยังไม่มีการพูดถึงอย่างจริงจังในมาเลเซีย เช่น ประเด็นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ในปี 2558 รัฐบาลมาเลเซียจะเริ่มเก็บภาษีสินค้าและบริการ ในอัตราร้อยละ 6 ซึ่งจะทำให้คนที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น และที่ผ่านมาหลังจากราคาก๊าซในมาเลเซียเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้น และราคาอาหารในประเทศรวมถึงค่าเดินทางก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน ในขณะที่รายได้ขั้นต่ำของชาวมาเลเซียยังไม่ถึง 500 เหรียญสหรัฐต่อเดือน

ทั้งนี้ในปีหน้าที่ประเทศมาเลเซียจะเป็นประธานอาเซียน และประชาคมอาเซียนกำลังจะรวมกันเป็นตลาดเดียวกัน สิ่งที่คาดว่าจะเป็นไปได้ต่อไปคือ พื้นที่การเมืองที่จะลดลงในมาเลเซีย รัฐบาลพยายามหยุดยั้งฝ่ายค้าน มีกรณีชัดเจนคือกรณีที่ศาลอุทธรณ์ของมาเลเซียกลับคำตัดสินให้อันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้านมาเลเซียมีความผิดฐานร่วมเพศทางเว็จมรรค และหลักฐานที่ศาลนำมาดำเนินคดีก็ไม่ยอมนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ และทนายความของอันวาร์ ก็ไม่สามารถปฏิบัติงานได้เต็มที่ นอกจากนี้ยังเชื่อว่ารัฐบาลคงพยายามเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดคงตั้งเป้าหมายไม่เพียงแค่ชนะได้รับเสียงข้างมากเท่านั้น แต่คงต้องการชนะได้เสียงเกิน 2 ใน 3 ด้วย

ในตอนท้าย มาเรียระบุว่า ยังคงมั่นใจว่าประชาชนในมาเลเซียจะสามารถเอาชนะได้ในสภาพการเมืองเช่นนี้ เพราะปัจจุบันมีการรวมตัวของคนกลุ่มใหม่ๆ เช่น ปีกเยาวชน ซึ่งให้กำลังใจขบวนการเคลื่อนไหวในประเทศเป็นอย่างมาก และนอกจากการรณรงค์เรื่องการเลือกตั้งที่โปร่งใสแล้ว ยังอยากเรียกร้องให้มีพื้นที่ประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น อยากให้มีกลไกเฝ้าระวังสถานกาณณืด้านสิทธิมนุษยชน และประชาชนเองต้องเข้าไปมีส่วนตัดสินใจเรื่องเศรษฐกิจที่จะมีผลกระทบกับชีวิตของพวกเขาด้วย

นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของประชาสังคมในมาเลเซียที่ผ่านมา อาจจะมีบทบาทเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเลือกตั้งหรือแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการพูดถึงการปฏิรูปกฎหมายสื่อเท่าที่ควร ทั้งนี้ยังคงเชื่อมั่นว่า พื้นที่การแสดงความคิดเห็นในแต่ละประเทศจะทำงานได้ดี ต่อเมื่อภาคประชาสังคมเข้าไปกดดัน ในส่วนของการที่มาเลเซียจะขึ้นมาเป็นประเทศประธานอาเซียนในปี 2558 ก็หวังว่าภาคประชาสังคมในมาเลเซียจะร่วมกันตัดสินใจว่าจะกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนอย่างไร

 

กัมพูชา: ข้อเสนอปฏิรูปการเลือกตั้ง และมีสถาบันกษัตริย์ที่มีบทบาทคลี่คลายวิกฤต

คุน ปัญญา ผอ.พันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการเลือกตั้ง จากกัมพูชา กล่าวว่าในภูมิภาคอาเซียน ยังมีสิ่งที่ต้องปรับอีกมากในเรื่องของการเลือกตั้ง และแต่ละประเทศยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมาก โดยจะขออภิปรายในส่วนของประเทศกัมพูชา ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2556 มีการเลือกตั้งทั่วไป โดยกลุ่มประชาสังคมในกัมพูชา 25 กลุ่ม ได้รวมตัวกันในนามพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการเลือกตั้ง หรือ "Electoral Reform Alliance" โดยกลุ่มดังกล่าวได้ทำรายงานการศึกษา และสอบสวนภายหลังจัดการเลือกตั้ง ทำให้พบว่าในช่วงจัดการเลือกตั้ง รัฐบาลกัมพูชามีปัญหาเรื่องการจัดทำบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง องค์กรจัดการเลือกตั้งอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ (National Election Committee) หรือ NEC ไม่มีความเป็นกลาง

นอกจากนี้ยังพบปัญหาการเข้าถึงสื่อ เพราะรัฐบาลควบคุมสื่อกระแสหลัก โดยโทรทัศน์ และคลื่นวิทยุกว่า 90% รัฐบาลควบคุม ขณะที่หนังสือพิมพ์เป็นสื่อที่มีเสรีภาพมากกว่า โดยฝ่ายค้านยังสามารถเข้าถึงสื่อหนังสือพิมพ์ได้ รวมถึงวิทยุบางคลื่น ผลการศึกษายังพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารมีใจเอนเอียงไปในทางสนับสนุนรัฐบาล มีการพบกรณีที่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงไปร่วมกิจกรรมของรัฐบาลเป็นต้น

โดยผลการเลือกตั้ง ส.ส. กัมพูชาเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2556 ซึ่งเป็นการเลือกตั้ง ส.ส. 123 คนทั่วประเทศนั้น ฝ่ายค้านอ้างว่าชนะการเลือกตั้งได้รับที่นั่ง 63 ที่นั่ง ส่วนพรรครัฐบาลอ้างว่าได้ที่นั่ง 68 ที่นั่ง ซึ่งยากที่จะบอกว่าผู้ชนะแท้จริงเป็นใคร โดยมีหลักฐานว่ารัฐบาลทำผิดการเลือกตั้ง และมีปัญหาในการจัดการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามข้อเสนอที่ให้มีการสืบสวนทั้งฝ่ายรัฐบาล และ กกต. กัมพูชา ปฏิเสธข้อเสนอที่ให้มีการสอบสวนเรื่องเหล่านี้

คุน ปัญญา กล่าวว่า "เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว กัมพูชาก็มีวิกฤตเหมือนประเทศไทย แต่ความแตกต่างคือ เราต้องการ Free and Fair election ไม่ใช่ Less election เราต้องการให้มีการปฏิรูปการเลือกตั้งด้วย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้งของเรายังไม่เอาใจใส่ในการสืบสวนข้อร้องเรียนจากการเลือกตั้ง"

ทั้งนี้ข้อเสนอของ พันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการเลือกตั้งกัมพูชา เพื่อปฏิรูปการเลือกตั้งในกัมพูชาก็คือ ข้อหนึ่ง ปรับปรุงทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยคุน ปัญญา กล่าวถึงปัญหาที่พบในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ในทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่ามีชื่อบุคคลอื่นมาแทนที่ชื่อในทะเบียน หรือมีรายชื่อซ้ำซ้อน ทั้งนี้มีการลงคะแนนที่ผิดกฎหมายหลายรายมาก โดยมีการร้องเรียนว่ามีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4 แสนราย ไปที่หน่วยเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถลงคะแนนได้ เพราะไม่มีชื่อที่หน่วยเลือกตั้ง นอกจากนี้มีการลงคะแนนผิดกฎหมายในลักษณะอื่นด้วย เช่น หนึ่งคนลงคะแนนสองครั้ง

ข้อสอง คือปฏิรูปคณะกรรมการเลือกตั้งแห่งชาติ (National Election Commission - NEC) หรือ กกต.กัมพูชา เพราะองค์กรนี้ถูกควบคุมโดยรัฐบาล โดยการปฏิรูปต้องไม่เพียงแต่ปฏิรูปในระดับชาติเท่านั้น แต่ กกต.กัมพูชา ในระดับจังหวัด และหมู่บ้านก็ต้องมีการปฏิรูปด้วย

ข้อสาม ในกัมพูชายังไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้เงินของพรรคการเมืองในช่วงการเลือกตั้ง ทำให้พรรครัฐบาลมีโอกาสใช้เงินจำนวนมากในช่วงเลือกตั้ง พวกเขาสามารถจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยที่หากมีการจ่ายเงินก่อนช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมายเลือกตั้ง และด้วยการที่ไม่มีการควบคุมนี้เอง ก็ทำให้เขารอดจากกฎหมาย

ข้อที่สี่ ฝ่ายค้านควรเข้าถึงพื้นที่ออกอากาศทางโทรทัศน์เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

คุน ปัญญา กล่าวถึงข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการเลือกตั้งอื่นๆ ด้วยว่า ยังมีการเสนอให้ตำรวจและทหารเป็นกลาง โดยเฉพาะช่วงเลือกตั้ง ทั้งนี้ในกัมพูชามีกฎหมายห้ามไม่ให้ทหาร หรือตำรวจสนับสนุนหรือคัดค้านพรรคการเมืองใดๆ แต่อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติไม่สามารถใช้บังคับได้ และตำรวจในตำแหน่งสูงมักจะทำงานสนับสนุนพรรครัฐบาล

ในช่วงท้าย คุน ปัญญา กล่าวว่า สถานการณ์สื่อในกัมพูชานั้นปัจจุบันการพัฒนาของเทคโนโลยีถือว่าเข้ามาสนับสนุนการใช้พื้นที่สื่อมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สื่อโทรทัศน์ในกัมพูชา ยังคงมีข้อจำกัดที่ทุกคนไม่สามารถเข้าถึงได้ แม้จะมีเงินซื้อโทรทัศน์ก็ตาม เพราะคลื่นความถี่ในการออกอากาศยังจำกัด ทำให้ทุกคนไม่สามารถเข้าถึงได้ สิ่งนี้ก็เป็นอุปสรรค ซึ่งกัมพูชาเองอาจจะเรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย ที่มีการจัดการเรื่องคลื่นความถี่ การใช้ดิจิตอลทีวี หรือกรณีการมีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมในประเทศไทย

คุน ปัญญา กล่าวด้วยว่า อยากให้สถาบันกษัตริย์ของกัมพูชามีบทบาทตรวจสอบพรรครัฐบาล หรือมีบทบาทเป็นกลาง ช่วยคลี่คลายวิกฤตการเมืองทำให้ฝ่ายค้านและรัฐบาลสามารถเจรจากันได้ แต่ที่ผ่านมากษัตริย์นโรดม สีหมุนี ของกัมพูชา ได้รับรองผลการเลือกตั้งของกัมพูชา ซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งหนัก ทั้งนี้ควรจะมีบทบาทที่เป็นกลางกว่านี้ หรือช่วยหาทางออกทางการเมือง แต่โชคร้ายที่พระองค์มีพระราชกรณียกิจที่สนับสนุนพรรครัฐบาล ทั้งนี้ในกัมพูชาประชาชนมีคำถามว่าทำไมพระมหากษัติรย์ของกัมพูชาไม่ทำเหมือนกษัตริย์ของไทย แต่เวลาถามเพื่อนชาวไทย พวกเขาก็จะมีความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งที่ประเทศกัมพูชาไม่มีกฎหมายนี้ใช้บังคับ

 

ทางสองแพร่งของประเทศไทย หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

พิณผกา งามสม บรรณาธิการข่าว หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท กล่าวว่า วิกฤตการเมืองของประเทศไทยอยู่ภายใต้แสงสปอตไลท์จากนานาประเทศมาหลายปี และเมื่อไม่กี่วันมานี้ ศาลรัฐธรรมนูญในประเทศไทยตัดสินให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ เป็นโมฆะ ทั้งนี้คำตัดสินดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิทธิทางการเมืองของคนที่มาเลือกตั้ง และดูเหมือนว่าทั้ง กกต. และศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เคารพการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชน และสถานการณ์ทางการเมืองก็เป็นแบบนี้มาหลายสิบปี นับตั้งแต่มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลก่อนการรัฐประหารปี 2549 จนถึงตอนนี้ ผู้นำการชุมนุมมักจะประกาศว่า "นี่เป็นสงครามครั้งสุดท้าย" แต่ก็พูดมาแบบนี้เป็นร้อยเป็นพันครั้ง และท่าทีล่าสุดทำให้เราเห็นว่า องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต่างๆ มีจุดยืนต่อเรื่องประชาธิปไตย และสิทธิทางการเมืองอย่างไร

สำหรับหัวข้อที่กำลังอภิปรายกันคือเรื่องประชาธิปไตยไทยในวิกฤต เราไม่สามารถมองย้อนหลังไปเพียงรอบไม่กี่วันมานี้ แต่จะต้องพิจารณาย้อนหลังอย่างน้อย 8 ทศวรรษก่อน ส่วนความขัดแย้งรอบล่าสุดนั้น เริ่มต้นนับตั้งแต่กรณีที่รัฐบาลสมัยทักษิณ ชินวัตร ถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องคอร์รัปชั่น และปัญหาสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตามมีการปั่นกระแสว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผลของเรื่องนี้ก็คือทำให้รัฐบาลทักษิณพ้นไปจากอำนาจด้วยการถูกทำรัฐประหาร

โดยความขัดแย้งทางการเมืองระลอกล่าสุดนั้น ได้กลายเป็นความขัดแย้งในอุดมการณ์ทางการเมืองของประชาชนสองฝ่ายไปแล้ว โดยมีคนหลายล้านคนในประเทศเข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งทางการเมืองทั้งฝ่าย กปปส. และฝ่าย นปช. ซึ่งไม่ใช่แค่ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำเท่านั้น

ทั้งนี้ ประเด็นความขัดแย้งในประเทศไทยขณะนี้ ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างพรรคการเมืองเท้านั้น แต่เป็นการต่อสู้ที่อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อทางการเมืองไปแล้ว เช่น อยากได้คนดีหรืออยากได้คนเลว อยากได้คนที่มาจากการแต่งตั้งหรือคนที่มาจากการเลือกตั้ง อยากได้รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพหรือรัฐบาลที่ไม่คอร์รัปชั่น ทั้งนี้มีคำถามแบบนี้เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะมีคำตอบที่ง่ายแบบนี้จริงๆ หรือ

พิณผกากล่าวด้วยว่า สถานการณ์การเมืองไทยภายหลังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญนั้น เหมือนอยู่ในภาวะสุญญากาศ สำหรับทิศทางของประเทศไทยอาจจะอยู่บนสองทางเลือก คือหนึ่ง เป็นไปตามวิถึทางประชาธิปไตยและสันติ หรือ ไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยและเกิดความรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องจับตาต่อไป ทั้งนี้ทิศทางของประเทศไทยควรกลับเข้าสู่เส้นทางที่เป็นวิถีทางประชาธิปไตย และหาทางออกจากวิกฤตอย่างสันติ ทั้งนี้หากแนวโน้มทางการเมืองในอนาคตมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้ง ก็เป็นไปได้ว่าความขัดแย้งจะดำรงต่อไป อย่างไรก็ตามยังคงมองโลกในแง่ดีว่าทุกส่วนของสังคมไทย จะเรียนรู้เรื่องคุณค่าของการเลือกตั้ง และตั้งคำถามกับตัวเองว่ายังคงเชื่อมั่นในวิถีประชาธิปไตยหรือไม่

ในช่วงท้ายบรรณาธิการข่าวจากประชาไท อภิปรายด้วยว่า ในประเทศไทยแม้จะมีเสรีภาพสื่อเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อย่างไรก็ตามก็มีกฎหมายที่จำกัดสิ่งนี้ ทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งนี้แม้ผู้สื่อข่าวจะสามารถตั้งคำถามกับผู้นำทางการเมืองได้ แต่ก็ต้องถามกลับว่าคำถามชนิดไหนที่เราใช้ตั้งคำถามกัน เช่น เมื่อไม่กี่วันมานี้เพิ่งมีผู้สื่อข่าวถามนายกรัฐมนตรีว่าจะเชื่อมั่นรัฐบาลจากการเลือกตั้งได้อย่างไร ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็นิ่งไปพักใหญ่แต่ก็ถามผู้สื่อข่าวกลับมาว่าจะเชื่อมั่นในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่มาด้วยวิธีการอื่น เรื่องการตั้งคำถาม ที่จริงสื่อมวลชนจะถามอะไรก็ได้ แต่สิ่งนี้อาจจะกลับมาถามตัวสื่อมวลชนไทยเองด้วยว่า ที่ผ่านมาสื่อมวลชนในประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในความขัดแย้งทางการเมืองในรูปแบบไหน สื่อมวลชนเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ข่าวลือหรือไม่ สำหรับประเด็นเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แม้ว่าผู้คนจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้หลายรูปแบบ แต่คนก็เลือกที่จะฟังในสิ่งที่อยากฟัง ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่วิธีที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรอบด้าน

พิณผกากล่าวด้วยว่าที่ผ่านมาสื่อมวลชนมักจะตั้งคำถามกับความโปร่งใสของรัฐบาล เรื่องการคอร์รัปชัน ขณะที่ขาดเรื่องของการตรวจสอบองค์กรอิสระที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ยังขาดการตั้งคำถามจากสื่อมวลชนไทย นอกจากนี้สื่ออาจจะมีบทบาทเป็นหมาเฝ้าบ้าน แต่ในอนาคตเราอาจต้องการคณะกรรมการผู้บริโภคเพื่อตรวจสอบทำหน้าที่ของพวกเขาด้วย หากมีการรายงานข่าวหรือการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net