Skip to main content
sharethis

กิจการประมงขอลดค่าประกันสุขภาพต่างด้าว ระบุ 2.8 พันสูงเกิน ชี้บางรายไม่ได้ใช้ประโยชน์

 ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ประสานแรงงานประมงในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและสงขลา เพื่อติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานของศูนย์ฯ และตรวจเยี่ยมสถานการณ์การค้ามนุษย์ในกิจการประมงซึ่งจากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมประมงจังหวัด ผู้ประกอบกิจการประมง มีข้อเสนอแนะว่าอยากขอให้ลดค่าประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในภาคประมง โดยปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรียกเก็บอยู่ที่คนละ 2,800 บาทต่อปี แบ่งเป็นค่าตรวจสุขภาพ 600 บาทและค่าประกันสุขภาพ 2,200 บาท จากเดิมเก็บค่าตรวจสุขภาพและค่าประกันสุขภาพอยู่ที่คนละ 1,800 บาท เนื่องจากมีการเพิ่มค่ารักษาในส่วนของโรคที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง เช่น ป่วยฉุกเฉิน ยาต้านไวรัสเอดส์ เพราะค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ผู้ประกอบกิจการประมงมองว่าแรงงานบางส่วนไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะแรงงานประมงนอกน่านน้ำไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ในเรื่องนี้ เนื่องจากมีระยะเวลาออกเรือเป็นเวลานานและกลับเข้าฝั่งปีละไม่กี่ครั้ง ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้นำเรื่องนี้ไปพูดคุยกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักดูแลแก้ปัญหาค้ามนุษย์ เพื่อให้ช่วยหารือกับสธ.โดยร่วมกับสมาคมประมงแยกกลุ่มแรงงานประมงออกเป็นกลุ่มประมงในน่านน้ำกับประมงนอกน่านน้ำและกำหนดการประกันสุขภาพให้เหมาะสมกับสภาพการทำงานของแรงงานต่างด้าวภาคประมงแต่ละกลุ่ม

“ผู้ประกอบการกังวลในเรื่องภาระค่าใช้จ่ายค่าประกันสุขภาพแรงงานประมง จึงน่าเป็นห่วงว่าจะมีผลทำให้ผู้ประกอบการนำแรงงานต่างด้าวภาคประมงมาขึ้นทะเบียนเป็นจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยขณะนี้กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างเปิดให้จดทะเบียนรอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม - 31 พฤษภาคม 2557 หากสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ก็จะช่วยกระตุ้นให้มีการนำแรงงานมาจดทะเบียนมากขึ้น” ม.ล.ปุณฑริก กล่าว

รองปลัด รง.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ผู้ประกอบกิจการประมงยังได้แจ้งปัญหาว่าเมื่อนำแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนแล้วนายหน้ากลับพาไปทำงานบนฝั่ง ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนแต่กลับไม่มีแรงงานทำงาน ซึ่ง รง.จะแก้ปัญหานี้โดยดูแลให้มีการทำสัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เพื่อปิดช่องโหว่ไม่ให้นายหน้านำแรงงานต่างด้าวไปทำงานบนฝั่ง หากนายหน้าพาไปก็สามารถเอาผิดได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ส่วนแผนการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในปีนี้ จะมีการตรวจแรงงานแบบบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบสหวิชาชีพโดยตรวจเรือประมงใน 22 จังหวัดชายฝั่งทะเลรวม 1,100 ลำ มีจำนวนลูกจ้าง 38,000 คน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 19-3-2557)

ไฟไหม้บ่อขยะไม่กระทบโรงงานใกล้เคียง รง.เตรียมนำแพทย์ตรวจสุขภาพแรงงาน 19 ม.ค.นี้

นายพานิช จิตร์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีไฟไหม้บ่อขยะ ในซอย 8 นิคมอุตสาหกรรมบางปู หมู่ 4 ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการว่า เบื้องต้นได้รับรายงานจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ว่าสถานประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมและบริเวณใกล้เคียงยังไม่มีการสั่งปิดงานชั่วคราว เนื่องจากควันพิษจากการเผาไหม้ของบ่อขยะไม่ได้กระจายมาทางทิศที่ตั้งของสถานประกอบการ แต่กระจายไปตามทิศทางอื่น อย่างไรก็ตามในวันพรุ่งนี้ (19 มี.ค.) นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงานจะนำนำทีมแพทย์ในเครือข่ายระบบประกันสังคมลงพื้นที่เพื่อสุ่มตรวจสุขภาพแรงงานว่าได้รับผลกระทบหรือไม่ หากพบว่ามีอาการเจ็บป่วยก็จะนำเข้าสู่การรักษาในสถานพยาบาลเครือข่ายประกันสังคม

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 19-3-2557)

โรงงานในพื้นที่ไฟไหม้บ่อขยะได้รับผลกระทบ 7 แห่ง หยุดงาน 3 แห่ง

ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู ตำบลแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมบางปูและบริเวณใกล้เคียง เพื่อติดตามผลกระทบจากเหตุการณ์เพลิงไหม้บ่อทิ้งขยะ ภายในซอย 8 นิคมอุตสาหกรรมบางปู หมู่ 4 ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ ที่ไฟไหม้มาตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม พร้อมนำแพทย์ในเครือข่ายประกันสังคมลงพื้นที่ตรวจแรงงานที่ได้รับผลกระทบ

 นายจีรศักดิ์ กล่าวว่า จากข้อมูลการเข้าตรวจสอบของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ พบว่า มีสถานประกอบการอยู่เขตตำบลแพรกษาได้รับผลกระทบจากมลพิษดังกล่าว 7 แห่งและได้สั่งให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราว 3 แห่ง ได้แก่ 1.บริษัทรับเบอร์อินเตอร์เทรด จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 539 หมู่ 6 ซอยนาคดี (ศิวิลัย) ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ มีลูกจ้าง 576 คน บริษัทจ่ายค่าจ้างร้อยละ 75
2.บริษัท อุตสาหกรรม วินิลเทค จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 609 หมู่ 6 ซอยนาคดี ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ผลิตแผ่นพลาสติก มีลูกจ้าง 100 คน จะเปิดทำงานในวันที่ 22 มีนาคม

3.บริษัท ออคิดแบกส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 424 หมู่ 7 ซอยนาคดี ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ผลิตผลิตภัณฑ์หนังสัตว์ มีลูกจ้าง  200 คน ได้สั่งให้หยุดงานในวันที่ 18 มีนาคมและจะประเมินสถานการณ์วันต่อวัน

ส่วนสถานประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมบางปูยังไม่ได้รับแจ้งว่ามีการสั่งให้หยุดงานแต่อย่างใด สำหรับพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ ปัจจุบันมีสถานประกอบกิจการ จำนวน 3,930 แห่ง มีจำนวนลูกจ้างจำนวน 207,282 คน

(มติชน, 19-3-2557)

จับโรฮิงญา-บังคลาเทศ 38 คน ลำเลียงส่งประเทศเพื่อนบ้าน

ร.ต.อ.วสันต์ มาวิเลิศ สารวัตรการข่าว กองบังคับการ ตชด. ภาค 4 และเจ้าหน้าที่ ตชด.ที่ 434 พัทลุง ได้ร่วมกันตั้งด่านตรวจสกัด บนถนนเอเชีย ช่วงนครศรธรรมราช-พัทลุง ท้องที่บ้านตำเสา หมู่ที่ 3 ต.ชะมวง อ.ควนขนุน หลังจากสืบทราบว่าจะมีการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า หลบหนีเข้ามายังประเทศไทยผ่านจังหวัดพัทลุง เพื่อไปยัง อ.สะเดา จ.สงขลา ต่อมาได้มีรถกระบะยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้ หมายเลขทะเบียน บจ 6505 ระนอง และกระบะอีซูซุ แค๊ป หมายเลขทะเบียน ฒฉ 6266 กทม.ตรงกับที่สายรายงานมา ขับผ่านมา จึงได้ทำการค้น ปรากฏว่าพบแรงงานต่างด้าวชาวบังคลาเทศ และพม่าโรอิงญา รวม 38 คน แยกเป็นผู้หญิง จำนวน 3 คน ในนี้มีเด็กหญิงอายุ 4 ขวบด้วย 1 คน โดยแยกบรรทุกคันล่ะ 19 คน แออัดกันมาในแค๊ป ด้านหน้า ส่วนด้านหลังกระบะใช้วิธีให้แรงงานต่างด้าวนอนราบมาในกระบะ และใช้สแลมปิดคลุมปิดบังในการซ่อนตัวระหว่างการหลบหนีเข้ามา

เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวแรงงานต่างด้าวทั้งหมด พร้อมนายปัญญา ชูภู่ ยุ 36 ปี และนายวรรณชัย เหลือสม อายุ 53 ปี คนขับรถทั้ง 2 คน ส่ง พ.ต.ต.กมล ศิลปปัญญา พนักงานสอบสวน สภ.ควนขนุน เพื่อดำเนินคดีตามกฏหมายต่อไป จากการสอบสวนเบื้องต้น ทั้งคู่ให้การรับสารภาพว่า ไปรับแรงงานต่างด้าวทั้งมาจาก จ.สุราษฎร์ธานี

โดยประสานผ่านนายหน้าทางโทรศัพท์ เพื่อนำแรงงานต่างด้าวทั้งหมดไปส่งในพื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา ก่อนจะรับค่าจ้างในการนำส่งเที่ยวล่ะ 8,000 บาท ส่วนแรงงานต่างด้าวจากการสอบปากคำของเจ้าหน้าที่ทราบว่า ทั้งหมดต้องเสียเงินค่านายหน้าและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อหางานทำในราคาคนละ 50,00-70,000 บาท

(เนชั่นทันข่าว, 20-3-2557)

ไทย-กาตาร์ ร่วมมือดูแลสวัสดิการ การรับ-ส่งต่อแรงงานไทย

 (20 มี.ค.) เวลา 14.00 น.  ที่โรงแรมสุโกศล พญาไท กรุงเทพฯ กรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน จัดพิธีแลกเปลี่ยนสัตยาบรรณสารความตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานไทยในรัฐกาตาร์ โดยมี นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยร่วมแลกเปลี่ยนสัตยาบรรณสาร กับ นายจาเบอร์ บิน อาลี อัล-โดซารี (Jabor All H.A.-Dosari) เอกอัครราชทูตกาตาร์ประจำประเทศไทยในฐานะผู้แทนรัฐกาตาร์     
 
นายจีรศักดิ์ กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนสัตยาบรรณสารครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลไทย โดยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลงนามร่วมกับนายนัสเซอร์ บิน อับดุลลา อัลฮูมิดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสังคมรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของ รัฐกาตาร์ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 ณ กรุงโดฮาร์ รัฐกาตาร์ โดยเนื้อหาของข้อตกลงนั้นเป็นกรอบความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมการจ้างงานแรงงานไทยไปทำงานในรัฐกาตาร์ การที่แรงงานไทยได้รับการปฏิบัติและคุ้มครองเช่นเดียวกับแรงงานท้องถิ่น การอำนวยความสะดวกในการจ้างแรงงานไทย และยังกำหนดแนวทางการดำเนินการ รวมไปถึงภาระความรับผิดชอบของทั้งไทยและกาตาร์ไว้ เช่น ฝ่ายกาตาร์ มีหน้าที่แจ้งความต้องการแรงงานและการดำเนินการส่งแรงงานกลับ ส่วนฝ่ายไทย มีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการรับสมัคร การฝึกอบรมก่อนเดินทาง การจัดส่งแรงงานไทย ทั้งนี้รวมถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของนายจ้างที่จะต้อบดูแลแรงงานไทยในด้านต่างๆ อีกด้วย

“ข้อตกลงดังกล่าวมีประโยชน์ต่อแรงงานไทย เพราะจะทำให้กระบวนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในรัฐการตาร์เป็นไปด้วยความ สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และด้วยเงื่อนไขการจ้างที่มีความชัดเจนทำให้แรงงานไทยได้รับความคุ้มครองตาม สัญญาจ้างและกฎหมายของกาตาร์ ซึ่งสัตยาบรรณดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป” นายจีรศักดิ์ กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 20-3-2557)

อีก 5 ปี ไทยต้องการแรงงานถึง 40 ล.คนต่อปี

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสำนักเศรษฐกิจการแรงงาน กลุ่มงานวิจัยและวางแผนกำลังแรงงาน ว่าการคาดประมาณแนวโน้มความต้องการแรงงาน ปี พ.ศ. 2557-2561 พบว่า มีจำนวนความต้องการแรงงานโดยรวมหรือการจ้างงานรวมทั่วประเทศใน 5 ปีข้างหน้าเฉลี่ย 40,473,484 คนต่อปี โดยเป็นความต้องการแรงงานส่วนเพิ่มรวมเฉลี่ย 995,514 คนต่อปี เป็นความต้องการแรงงานส่วนเพิ่มเพื่อขยายตำแหน่งงานจำนวนเฉลี่ย 268,287 คนต่อปี และความต้องการแรงงานส่วนเพิ่มทดแทนแรงงานเก่าที่ออกไปจำนวนเฉลี่ย 727,227 คนต่อปี ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลความต้องการและการขาดแคลนแรงงานของสถานประกอบการ ปี พ.ศ. 2556 ซึ่งดำเนินการสำรวจสถานประกอบการใน 28 ประเภทกิจการทั่วประเทศ โดยการสุ่มตัวอย่างจากสถานประกอบการที่มีรายชื่ออยู่ในระบบประกันสังคมทั่วประเทศ (ยกเว้นสถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ) จำนวน 35,107 แห่ง พบสถานประกอบการมีความต้องการแรงงาน รวมทั้งสิ้น 435,126 อัตรา ซึ่งประเภทกิจการที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด ได้แก่ กิจการค้าส่ง ค้าปลีก มีความต้องการแรงงาน จำนวน 239,185 อัตรา รองลงมาได้แก่ กิจการยานยนต์และชิ้นส่วน จำนวน 41,767 คน และกิจการก่อสร้าง จำนวน 22,885 อัตรา       

ส่วนระดับทักษะฝีมือที่สถานประกอบการมีความต้องการแรงงานมากที่สุด คือ แรงงานมีฝีมือจำนวน 184,135 อัตรา รองลงมาได้แก่ แรงงานกึ่งฝีมือ จำนวน 152,388 อัตรา และแรงงานไร้ฝีมือ จำนวน 60,175 อัตรา ตามลำดับ สถานประกอบการมีการขาดแคลนแรงงาน จำนวนทั้งสิ้น 276,493 อัตรา ประเภทกิจการที่มีการขาดแคลนแรงงานมากที่สุด คือ กิจการค้าส่ง ค้าปลีก จำนวน 181,394 อัตรา รองลงมาได้แก่ กิจการโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร จำนวน 9,281 อัตรา  และกิจการก่อสร้าง จำนวน 8,039 อัตรา ตามลำดับ  ระดับทักษะฝีมือ ที่มีการขาดแคลนมากที่สุด คือแรงงานมีฝีมือ จำนวน 124,100 อัตรา รองลงมาได้แก่ แรงงานกึ่งฝีมือ จำนวน 102,003 อัตรา และแรงงานไร้ฝีมือ จำนวน 32,981 อัตรา       

นายจีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของตำแหน่งงาน ที่มีการขาดแคลนแรงงานมากที่สุด คือ ตำแหน่งพนักงานขายและผู้นำเสนอสินค้า จำนวน 51,892 อัตรา รองลงมาได้แก่ ตำแหน่งช่างไม้ทั่วไป จำนวน 50,396 อัตรา และตำแหน่งช่างซ่อมและปรับแต่งเครื่องจักรกลทั่วไป จำนวน 36,354 อัตรา
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 20-3-2557)

แนวโน้มแรงงานขุดทองต่างแดนลดลงเหตุสอบตกภาษา

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานอยู่ต่างประเทศรวมทั้งหมด 1.2 แสนคน นำรายได้เข้าประเทศประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยในปี 2556 มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศจำนวนทั้งหมด 78,105 คน แบ่งเป็นเดินทางด้วยตนเองจำนวน 12,975 คน กกจ.จัดส่ง 14,650 คน นายจ้างพาไปทำงาน 12,614 คน นายจ้างพาไปฝึกงาน 4,349 คน บริษัทจัดส่ง 33,517 คน โดยประเทศที่มีแรงงานไทยไปทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ไต้หวัน 26,592 คน สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) 7,964 คน อิสราเอล 6,008 คน ญี่ปุ่น 5,693 คน ซึ่งในส่วนของไต้หวัน ส่วนมากแรงงานไทยจะเดินทางไปทำงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เกาหลีใต้ส่วนมากอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม อิสราเอลทำงานในภาคเกษตร และญี่ปุ่นทำงานในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมต่างๆ        
นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า คาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศลดลง โดยเฉพาะในเกาหลีและญี่ปุ่น เนื่องจากไม่ผ่านการสอบภาษา อีกทั้งประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หันมาปลูกยางพารา ทำนา และการเกษตรมากขึ้น แต่ในประเทศแถบแอฟริกาใต้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในสาขาช่างเชื่อม ที่มีความต้องการปีละกว่า 5,000 คน ในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ในประเทศอื่นๆ เช่น เยอรมนี ก็มีความต้องการแรงงานฝีมือ อย่างวิศวกร สถาปนิก แต่แรงงานไทยมีปัญหาด้านการสื่อสาร ดังนั้นกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันพัฒนาแรงงานไทยให้มีทักษะภาษาที่ดีขึ้น

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 20-3-2557)

กลุ่มเยาวชน-ธุรกิจบริการครองแชมป์ถูกเลิกจ้าง บัณฑิตใหม่เตะฝุ่นถึง1.13แสนราย

รายงาน ข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่า ภาวการทำงานของประชากรเดือนม.ค.2557 จำนวนผู้ว่างงานมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสูงถึง 361,000 คน หรือคิดเป็น 0.9% เพิ่มขึ้น 78,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.2556 จำนวนผู้ว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากถึง 105,000 คน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าในจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมดนั้นเป็นผู้ที่สำเร็จการ ศึกษาในระดับอุดมศึกษาถึง 113,000 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 31,000 คน รองลงมาคือระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และผู้ที่ไม่มีการศึกษา และต่ำกว่าประถมศึกษา
ทั้งนี้ นอกจากกลุ่มผู้ว่างงานในระดับอุดมศึกษาจะมีเพิ่มขึ้น มากที่สุดแล้ว รองลงมายังเห็นได้ว่ากลุ่มผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา และระดับประถมศึกษายังมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเท่ากันที่ 27,000 คน ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายว่างงานลดลง 4,000 คน และระดับมัธยมศึกษาตอนต้นลดลง 3,000 คน

ขณะที่จำนวนของผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนมีอยู่ถึง 143,000 คน และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 218,000 คน เพิ่มขึ้น 38,000 คน จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผู้ว่างงานจากภาคการบริการและการค้า 106,000 คน ภาคการผลิต 62,000 คน และภาคเกษตรกรรม 50,000 คน ขณะเดียวกันหากพิจารณาการว่างงานตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มวัยเยาวชน หรือผู้มีอายุระหว่าง 15-24 ปี มีอัตราการ ว่างงานมากที่สุด 4.7% ซึ่งปกติในกลุ่มนี้อัตราการว่างงานจะสูง รองลงมาเป็นกลุ่มวัยผู้ใหญ่ อายุ 25 ปีขึ้นไป และกลุ่มวัยเยาวชน

สำหรับภาพรวมของผลสำรวจ ภาวการณ์การทำงานของประชากร พบว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 54.65 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมที่จะทำงาน 38.43 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.79 ล้านคน ผู้ว่างงาน 361,000 คน และผู้ที่รอฤดูกาล 278,000 คน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ ไม่พร้อมทำงานมีอยู่ 16.22 ล้านคน คือ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา

นอกจากนี้หากพิจารณาถึงจำนวนผู้ที่ทำงานแต่ยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้ทำงานแต่ยังมีเวลา และพร้อมที่จะทำงานได้อีก หรือเรียกว่าผู้ทำงานต่ำกว่าระดับ จากผลการสำรวจพบว่าผู้ที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวมีอยู่ 265,000 คน หรือ 0.7% ของจำนวน ผู้ทำงานทั้งหมด โดยคนกลุ่มนี้แม้ว่าจะมีงานทำแล้ว แต่ยังมีเวลาว่างที่มากพอและพร้อมทำงานเพิ่มเพื่อต้องการเพิ่มรายได้ให้กับ ตนเอง

(ข่าวสด, 24-3-2557)

รับ นร.-นศ.ฝึกงานได้ลดหย่อนภาษี

 นายอรรถการ ตฤษณารังสี รองประธานคณะกรรมการแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในการสัมมนาส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพแรงงานในสถานประกอบกิจการ ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ว่า วันนี้เป็นการชี้แจงเรื่องความเข้าใจหลักเกณฑ์การรับสิทธิประโยชน์ในการพัฒนาฝีมือแรงงานและการรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไปเข้าฝึกเตรียมทำงาน ซึ่งที่ผ่านมาถือว่ามีกฎหมายแม้แต่ยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความสับสนในเรื่องการขอรับสิทธิประโยชน์ เช่น ไม่ได้กำหนดรายละเอียดในการยื่นฝึก ทั้งเอกสาร หลักสูตรกรณีรับนักเรียน นักศึกษาเข้าฝึกงาน ระยะเวลาการฝึก อุปกรณ์การฝึก รวมถึงกรมสรรพากรไม่สามารถวินิจฉัยค่าใช้จ่ายตามสิทธิประโยชน์เหมือนกันทุกพื้นที่ แต่หลังจากการหารือกับทุกฝ่ายทั้ง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กรมสรรพากร และผู้ประกอบการ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2557

 ทั้งนี้ มองว่าการรับนักเรียน นักศึกษาเข้าทำงานจะทำให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งจะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

 นายวิษณุ ปาณวร รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า หลักเกณฑ์การรับสิทธิประโยชน์ในการพัฒนาฝีมือแรงงานและการรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไปเข้าฝึกเตรียมทำงานมีรายละเอียด เช่น การยื่นคำขอต่อนายทะเบียน พร้อมหลักฐานประกอบคำขอ เช่น สำเนาหนังสือการจดทะเบียน วิธีและมาตรฐานการฝึก โดยต้องให้นายทะเบียนตรวจสอบให้ความเห็นชอบภายใน 30 วัน รวมถึงการกำหนดค่าใช้จ่ายในการฝึกเตรียมเข้าทำงาน เช่น รายละเอียดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการฝึก เช่น ค่าสอนหรือค่าตอบแทนวิทยากรไม่เกินชั่วโมงละ 1,200 บาท ไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง ค่าเบี้ยเลี้ยงผู้เข้ารับการฝึกเท่าที่จ่ายจริง เฉพาะวันที่รับการฝึก ค่าอุปกรณ์ป้องกันอันตราย หรือเครื่องมือประจำตัวผู้เข้ารับการฝึกไม่เกินคนละ 3,000 บาท เป็นต้น

(สำนักข่าวไทย, 24-3-2557)

ครม.ผ่อนผันแรงงานต่างด้าวอยู่ทำงานต่ออีก 180 วัน

ร้อยโทหญิงสุนิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา กว่า 200,000 ราย ที่พิสูจน์สัญชาติแล้ว และทำงานในไทยครบ 4  ปี แต่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเกินกำหนดที่ได้รับอนุญาตให้สามารถอยู่ต่อเป็นกรณีพิเศษอีก 180 วัน หรือ 6  เดือน หรือจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณา ทั้งนี้ เพื่อสนองตอบความต้องการแรงงานของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถที่จะดำเนินการให้แรงงานนี้เข้าสู่ระบบการจ้างงานอย่างถูกต้องได้

(สำนักข่าวไทย, 25-3-2557)

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net