Skip to main content
sharethis

วันประวัติศาสตร์ “บังซาโมโร” ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์-นายกมาเลย์-ประธาน MILF ร่วมเป็นสักขีพยานในการร่วมลงนามข้อตกลงบังซาโมโร หลังเจรจาสันติภาพต่อเนื่อง 43 ครั้งใน 17 ปี ระบุเป็นหลักประกันสิทธิชาวบังซาโมโร รวมทั้งชาวคริสเตียนและคนพื้นเมืองมินดาเนา

27 มีนาคม 2557 เมื่อเวลา 16.30 น.ตามเวลาประเทศไทย หรือเวลา 18.30 น.ตามเวลาของประเทศฟิลิปปินส์ ที่ทำเนียบมาลากันยัง กลางเมืองมะนิลา นางมิเรียม คอรอเนล-เฟอร์เรอร์ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพของรัฐบาลฟิลิปปินส์ กับ นายโมฮาเกอร์ อิกบาล หัวหน้าคณะพูดคุยของแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (MILF) ซึ่งถือเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ใหญ่ที่สุดในฟิลิปปินส์ ร่วมพิธีลงนามในข้อตกลงที่มีเนื้อหาครอบคลุมแห่งบังซาโมโร Comprehensive Agreement on the Bangsamoro (CAB) ซึ่งเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญของกระบวนการส้นติภาพที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 17 ปี

การลงนามครั้งนี้มีนายเบนิกโน อากีโนที่ 3 ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และอัลฮัจมุรอด อิบรอฮิม ประธานของ MILF ซึ่งเป็นผู้นำคนสำคัญของชาวโมโร นายนาจิบ บิน อับดุลราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นางเทเรสซิตา ควินโตส-เดเลส เลขาธิการสำนักงานที่ปรึกษาประธานาธิบดีเพื่อกระบวนการสันติภาพ (OPAPP) ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์และเว็บไซต์ของทางการฟิลิปปินส์ไปทั่วประเทศ ทั้งนี้ เว็บไซต์ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ของไทยก็ได้เชื่อมต่อสัญญาณมาถ่ายทอดสดด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันแห่งประวัติศาสตร์นี้ มีประชาชนชาวบังซาโมโรทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์และในเมืองหลวงต่างรวมตัวกันเฉลิมฉลองแสดงความยินดีกันหลายจุด โดยมีติดป้ายสัญลักษณ์และโบกธงสันติภาพหลายแห่งในเมือง รวมไปถึงในฐานที่มั่นของ MILF ด้วย ในขณะที่ความเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ต่างก็แสดงความยินดีต่อการลงนามครั้งนี้อย่างคับคั่ง

การลงนามครั้งนี้เป็นการลงนามรับรองในข้อตกลงบังซาโมโรฉบับครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด หรือ Comprehensive Agreement of Bangsamoro (CAB) ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากความพยายามกว่า 17 ปี ในการพูดคุยและเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร ก่อนหน้านี้ มีการพูดคุยที่ต่อเนื่องถึง 43 ครั้ง และยังต้องมีภารกิจในการร่วมกันยกร่างกฎหมายพื้นฐานสำหรับบังซาโมโรและจัดตั้งเขตปกครองบังซาโมโรให้แล้วเสร็จภายในปี 2559

อัลฮัจมุรอด ประธานของ MILF กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้เป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของการต่อสู้ของกลุ่ม MILF ข้อตกลงสันติภาพนี้มิใช่เป็นเพียงคำสัญญา แต่ทว่าเป็นหลักประกันถึงสิทธิของชาวบังซาโมโร ซึ่งหลังจากนี้ก็ยังมีงานที่สองฝ่ายจะต้องทำร่วมกันเพื่อทำให้ข้อตกลงนี้ไปสู่การปฏิบัติได้

เขากล่าวว่า MILF จะไม่อ้าง “ความเป็นเจ้าของ” ในข้อตกลงนี้ ซึ่งเขาถือว่าเป็นของ MNLF (MILF เป็นกลุ่มที่แตกตัวจาก MNLF) ชาวคริสเตียนและกลุ่มคนพื้นเมืองที่อยู่ที่มินดาเนาด้วยเช่นกัน MILF นั้นทำหน้าที่เสมือนเป็นแค่ “ผู้เฝ้าประตู” (gatekeeper) ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน

ผู้นำสูงสุดของ MILF กล่าวต่อไปว่า หลังจากนี้การปกครองในมินดาเนาก็จะขึ้นกับเจตนารมณ์บนวิถีประชาธิปไตยของชาวบังซาโมโร รัฐบาลจะไม่ใช่เป็นของ MILF แต่จะเป็นของชาวบังซาโมโรทั้งหมด นายมูรอดยังได้กล่าวรำลึกถึงวีรชนที่พลีชีพเพื่อเสรีภาพและการกำหนดชะตากรรมของตนเองไปนับจำนวนไม่ถ้วนในเวลาที่ผ่านมา ทั้งของ MILF และ MNLF และสุดท้ายยังกล่าวแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์เครื่องบินของสายการบิน Malaysian Airline ที่หายไปอีกด้วย

ส่วนนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายนาจิบ ราซัค กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงในครั้งนี้เป็น “การกระทำที่หาญกล้าที่จะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของชาติตลอดไป” รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ยอมรับถึงสิทธิของชาวบังซาโมโรที่จะตัดสินชีวิตของตนเอง หลังจากนี้ชาวบังซาโมโรจะได้มีชีวิตอยู่โดยปราศจากความรุนแรง ความทุกข์ทรมานอันเกิดจากความขัดแย้งที่ยึดเยื้อหลายทศวรรษ และความหวาดหลัว พวกเขาจะได้เริ่มสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของชาวบังซาโมโร

นายนาจิบยังกล่าวด้วยว่า ยังคงมีงานที่จะต้องทำอีกมาก เพราะว่าความเป็นเอกภาพต้องใช้เวลาในการสร้าง ซึ่งต้องการความมุ่งมั่นตั้งใจจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เราต้องเตรียมที่จะเผชิญถึงความยากลำบากในการทำงานพัฒนา การสร้างระบบสาธารณสุข การศึกษาและรายได้ นายนาจิบกล่าวว่ามาเลเซียยินดีที่จะเป็น “หุ้นส่วนสันติภาพ” ที่จะให้ความช่วยเหลือต่างๆ ตราบเท่าที่ทางฟิลิปปินส์จะต้องการ

ส่วนของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ นายเบนิกโน อากีโนที่ 3 กล่าวว่า ตอนที่พยายามจะรื้อฟื้นการพูดคุย มีหลายฝ่ายได้แสดงความคลางแคลงสงสัยอย่างมากว่าการเจรจาจะสำเร็จได้อย่างไร ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจสูงมาก ในครั้งที่ได้พบกับนายมูรอด ประธานของ MILF ที่ญี่ปุ่น ก็เห็นได้ว่านายมูรอดนั้นมีความปรารถนาที่จะสร้างสันติภาพ สิ่งที่เขาต้องการก็คือการมีตัวแทนในสถาบันต่างๆ อย่างเป็นธรรม ด้วยความช่วยเหลือของประเทศต่างๆ เช่น ลิเบีย ญี่ปุ่น อังกฤษ ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ เช่น EU ธนาคารโลก UNDP และองค์กรเอกชนระหว่างประเทศต่างๆ เช่น HDC, Asia Foundation, Conciliation Resources การทำงานในครั้งนี้จึงสำเร็จลุล่วงไปได้ พร้อมทั้งย้ำว่าชาวฟิลิปปินส์จะเป็นหนี้มาเลเซียตลอดไปอีกด้วย

ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ชี้ว่าข้อตกลงนี้แสดงให้เห็นว่าการแสวงหา “ความเห็นร่วม” (common ground) นั้น เป็นสิ่งที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งมากกว่าความพยายามที่จะสร้างอำนาจเพื่อครอบงำ หลังจากนี้ก็จะมีการร่างกฎหมายใหม่สำหรับเขตปกครองบังซาโมโร ซึ่งจะได้มีการลงประชามติต่อไป ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2559 ในช่วงที่ผ่านมาชาวมุสลิมได้ถูกละเลย พวกเขาต้องตกอยู่ในสภาวะแห่งความยากจน ความอยุติธรรมและความรุนแรง เขาจะต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และรัฐบาลจะต้องพยายามทำให้ช่องว่างระหว่างศูนย์กลางและชายขอบแคบลง หากเราจะสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน

 


รายงานข่าวของเว็บ Rappler


อ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
เราต้องการบังซาโมโร?: กระบวนสันติภาพที่ครอบคลุมทุกกลุ่ม
เปิดข้อตกลง ‘บังซาโมโร’ ฉบับแปลไทย
สรุปบทสนทนากับนักเจรจาจากมินดาเนา โดย ฮาร่า ชินทาโร

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net