หลังประตูปิดลับ มีแค่ชายแก่หนึ่งคน กับความหวาดกลัวลมๆแล้งๆ เท่านั้น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เรื่องเล่าเล็กๆในเดือนมีนาคม 2557 เริ่มต้นจากคราวซวยของชายแก่คนหนึ่ง ก่อนจะเดินทางมาถึงบัลลังก์หรูในตึกใหญ่ ที่ซึ่งบรรจุความกลัวอันยิ่งใหญ่ที่สุดของยุคสมัย

.....................................................................................

 

ชายแก่คนหนึ่ง คือจำเลยในคดีหลังประตูปิดลับ ในปีที่กำลังจะถูกศาลพิพากษา มีอายุ 64 ปี ขณะถูกจับมีอายุ 56 ปี มีอาชีพขายของเร่ แบบ "แบกะดิน" ปูเสื่อกับพื้น ในแผงของชายแก่จะมีทั้งเสื้อ หมวก พัด สายรัดข้อมือ ซีดีเก่า หนังสือเก่า ฯลฯ งานเทศกาลต่างๆ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ งานเฉลิมพระชนมพรรษา ของที่เอา ไปขายก็จะเปลี่ยนไปตามเทศกาล

เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ช่วงเริ่มต้นของไฟร้อนทางการเมืองก่อนที่จะลุกลามใหญ่โต ในงานชุมนุมทางการเมืองที่สวนลุมพินี ที่เรียกว่า "เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร" ชายแก่ไปขายของตามปกติ มีคนเอาหนังสือมาฝากขาย คนแรกเอาหนังสือฟ้าเดียวกันปกโค้กมาฝาก คนที่สองเอาหนังสือกงจักรปีศาจมาฝากสองเล่ม ชายแก่รับไว้

ชายแก่ขายหนังสือกงจักรปีศาจได้หนึ่งเล่มราคา 500 บาท จะต้องแบ่งให้คนฝากขาย 300 บาท และเป็นกำไรของตัวเอง 200 บาท แต่ยังไม่ทันได้แบ่งเงินกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินีก็เข้ามาจับกุม เบื้องต้นตั้งข้อหาผิดพ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ฐานขายหนังสือฟ้าเดียวกันซึ่งเป็นหนังสือต้องห้าม

คดีขายหนังสือฟ้าเดียวกันตำรวจสั่งไม่ฟ้อง แต่ 7 ปีถัดมา การขายหนังสือกงจักรปีศาจเป็นเหตุให้อัยการส่งเรื่องฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ตามมาตรา 112 วันส่งฟ้องเจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสิทธิซึ่งจะเป็นผู้ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวให้ เตรียมเอกสารมาผิดพลาดเล็กน้อย คืนนั้นชายแก่เข้าไปนอนเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในเรือนจำ

กุมภาพันธ์ 2557 เดือนแห่งความรัก ชายแก่เดินทางมาขึ้นศาลที่ห้องพิจารณาคดี 501 หน้าห้องมีกระดาษแปะไว้ว่า "พิจารณาลับ (ห้ามเข้า)" เพื่อนของลุงที่จะมาให้กำลังใจเข้าฟังไม่ได้ ศาลสั่งพิจารณาลับเพราะเห็นว่าเป็นคดีเกี่ยวข้องกับเรื่องที่อ่อนไหวที่สุดในสังคม เพราะหนังสือกงจักรปีศาจ หน้าปกเขียนไว้ว่า "บทวิเคราะห์กรณีสวรรคต ของในหลวงอานันท์ฯ"

ทั้งที่ความจริงเบื้องหลังการสวรรคตจะเป็นอย่างไรนั้นไม่ใช่ประเด็นที่ต่อสู้กันในคดี ประเด็นของจำเลยเพียงต้องการบอกว่า หนังสือนั้นมีคนมาฝากขาย ไม่เคยอ่าน ไม่รู้เนื้อหาข้างใน จึงไม่มีเจตนา ย่อมไม่มีความผิด แต่ด้วยความกลัวว่าการพิจารณาคดีจะทำให้คนรับรู้เนื้่อหาในหนังสือกันมากขึ้น ศาลจึงสั่งพิจารณาลับ

ไม่ใช่คดีแรก อย่างน้อยก็เป็นคดีที่สามแล้วในรอบหลายปีมานี้ ต่อจากคดีดา ตอร์ปิโด และคดีป้ายผ้าลึกลับที่ปัตตานี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็เคยประทับตรารับรองแล้วว่า การพิจารณาคดีมาตรา 112 แบบปิดลับนั้น ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

พอเห็นคนอื่นเดินไปถ่ายรูปป้ายห้ามเข้า ชายแก่ก็เดินเอามือถือเก่าๆ ของตัวเองไปถ่ายรูปเก็บไว้บ้าง พร้อมกับบ่นเสียดายที่คนอื่นเข้าไม่ได้ เพราะอยากให้คดีของตัวเองเป็นคดีตัวอย่างต่อไปในอนาคต

ตำรวจสันติบาล ตำรวจที่จับ พนักงานสอบสวน พยานที่มาให้ความเห็น รวมแล้วพยานโจทก์ทุกคนที่จะมาบอกว่าจำเลยมีความผิด ไม่มีใครเคยอ่านหนังสือจบทั้งเล่มเลย หรือไม่ ต่างก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามถึงเนื้อหาในหนังสือ

พยานโจทก์คนหนึ่งที่มาให้ความเห็น ว่าข้อความบางส่วนในหนังสือนั้น "หมิ่นฯ" เมื่อถูกถามว่าข้อความนั้นเกี่ยวกับอะไร อึกอักอึกอัก ตอบว่าเกี่ยวกับรัชกาลที่ 8 ถามว่ารัชกาลที่ 8 อย่างไร อึกอักอึกอัก ตอบว่า การสวรรคต ถามว่า "หมิ่นอย่างไร" อึกอักอึกอัก ตอบว่าไม่เหมาะสม ขนาดอัยการและศาลบอกว่า ให้พูดเลย สามารถพูดได้ ก็ยัง อึกอักอึกอัก ไม่ยอมตอบ

เมื่อทนายความถาม ศ.ธงทอง จันทรางศุ ว่าสถิติคดีมาตรา 112 ที่สูงขึ้นเป็นผลดีหรือผลเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลก็รีบเบรกบอกว่าเป็นคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี ศาลไม่อนุญาตให้ถาม ในอีกนัยหนึ่ง คือ ศาลอาจไม่พร้อมที่จะได้ยินคำตอบนี้ตรงๆ

พยานโจทก์หลายปาก ที่มีความจงรักภักดียอมรับว่า เมื่ออ่านข้อความบางส่วนแล้วไม่เชื่อตามนั้น แต่ไม่แน่ใจว่าสังคมที่คนมีวุฒิภาวะหลากหลายอ่านแล้วจะเชื่อหรือไม่ หรือพูดอีกอย่างว่า ตัวเองมีวิจารณญาณพออ่านได้ไม่เป็นไร แต่กลัวว่าคนอื่นอ่านแล้วจะไม่ดี

เมื่อฝั่งจำเลยต้องการสืบพยานปากนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในฐานะพยานคนเดียวในคดีนี้ที่อ่านหนังสือจบทั้งเล่ม และอธิบายเนื้อหาของหนังสือได้ ศาลพยายามจะไม่ให้นำสืบอ้างว่าไม่เกี่ยวกับคดี กลัวว่าจะถามนอกประเด็น แต่ฝั่งจำเลยยืนยันที่จะสืบให้ได้ ศาลจึงยอม ด้วยความกลัวอย่างมากว่าจะมีการเอาพยานมาพูดเกี่ยวกับประเด็นกรณีสวรรคตที่ผ่านไปแล้ว

แต่สุดท้ายอาจารย์สุลักษณ์ก็ไม่ได้มาเบิกความอะไรเกี่ยวกับกรณีสวรรคตเลย พูดแต่ว่าประวัติหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างไร เมื่ออ่านหนังสือจบแล้วเลือกเชื่ออย่างไร หากมีนักข่าว ญาติ เพื่อน หรือผู้สังเกตการณ์ใดๆ นั่งฟังตลอดการพิจารณาคดี ก็คงไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเนื้อหาของหนังสือกงจักรปีศาจที่ว่าไป "หมิ่นฯ" นั้นเป็นอะไรยังไง

แม้อาจจะพอเดาเองได้ แต่ต่อให้เดาไปก็ไม่มีข้อมูลประกอบอะไรจะเก็บไปคิดต่อได้อยู่ดี

ในห้องหลังประตูปิดลับ ตลอด 5 วันของการสืบพยาน ไม่ปีศาจร้ายที่พร้อมจะหลุดออกมาทำลายโลกแต่อย่างใด มีแค่ชายแก่หนึ่งคน กับความหวาดกลัวลมๆแล้งๆ เท่านั้น

สุดท้ายศาลนัดฟังคำพิพากษาชะตาของลุงวันที่ 31 มีนาคม 2557 โดยไม่อนุญาตให้ทนายความคัดบันทึกคำเบิกความพยาน แม้ว่าจะไม่มีเนื้อหาอะไรผิดกฎหมายอยู่ในนั้นเลยก็ตาม โดยอ้างว่า คดีนี้เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ทั่วไปของประชาชน จึงไม่อนุญาตให้คัด

... โอเค เข้าใจได้ เนื่องจากจำเลยและทนายความไม่ได้บันทึกคำเบิกความพยานมาไว้ดูเพื่อวางแนวทางต่อสู้คดี ประเทศชาติจึงสงบเรียบร้อยมาจนถึงทุกวันนี้นี่เอง

เป็นการสืบพยานคดี 112 ที่เงียบเหงา เพราะไม่มีใครเข้าฟังได้ จึงไม่มีญาติมิตร กองเชียร์ ฝรั่งต่างชาติ นักข่าว หรือใครหน้าไหนมาให้กำลังใจ

บนเก้าอี้ม้านั่งยาวสามแถว ที่น่าจะรองรับคน 50-60 คนได้สบายๆ มีชายแก่คนหนึ่งนั่งอยู่เพียงลำพัง ผมแกขาวหมดหัว แต่ตัดสั้นเกรียน เพราะติดใจมาจากทรงที่เรือนจำบริการตัดให้ฟรี ในมือชายแก่ถือปากกาและสมุดโน็ต แต่ก็ไม่ค่อยได้จดอะไร เพราะแกไม่รู้จะจับประเด็นไหนมาเป็นเรื่องสำคัญ

ชายแก่นั่งง่วงบ้าง หาวบ้าง เบื่อบ้าง เอนตัวเอามือท้าวเก้าอี้บ้าง บางจังหวะก็ยิ้มออกบ้าง พอสืบพยานเสร็จแต่ละปากชายแก่ก็ถามทนายความแต่เพียงว่า "ต่อไปใคร?" "นัดอีกทีวันไหน?" "บ่ายนี้ต้องอยู่ไหม?"

มันคงน่าแปลกดีที่ในวัยบั้นปลายของชีวิต ชายแก่คนหนึ่งต้องมานั่งฟังกระบวนการอะไรที่ใช้ภาษาแปลกๆ เข้าใจยาก แต่ภาษายากๆ เหล่านี้แหละอาจเป็นตัวตัดสินว่าช่วงเวลาที่เหลืออยู่ข้างหน้าว่าแกจะต้องไปใช้ชีวิตที่ไหน และมันคงน่าแปลกที่แม้แกจะมีเพื่อนฝูงครอบครัวคอยเป็นห่วงอยู่บ้าง แต่ในห้องแอร์ใต้บัลลังก์อันหรูหรานั้น เมื่อมองซ้ายมองขวาแล้วไม่เห็นมีใครอยู่ข้างๆ เลย

หลังสืบพยานเสร็จสิ้น การต่อสู้อย่างเต็มที่ได้ผ่านไปแล้ว ชายแก่ยังขับรถกลับบ้านที่หนองแขมคนเดียวเงียบๆ ยังไม่เข้าใจว่าทำไมใครๆ ก็มีหนังสือกงจักรปีศาจวางขายกันอยู่ทั่วไปแต่แกต้องมาถูกจับคนเดียว และยังคงไม่เข้าใจทำไมศาลถึงไม่ให้คนอื่นเข้าฟังการพิจารณา

สิ่งหนึ่งที่ชายแก่ยังไม่รู้ คือ คนก่อนหน้านี้ที่อยากต่อสู้ให้คดีของตัวเองเป็นตัวอย่าง คือ ดา ตอร์ปิโด (15 ปี) หนุ่ม ธันย์ฐวุฒิ (13 ปี) สมยศ (10 ปี) เอกชัย (3 ปี 4 เดือน) และอื่นๆ อีกมากมาย

หวังว่าในวันที่ผู้พิพากษานั่งพิจารณาสำนวนอยู่ในห้องทำงานที่่ปิดลับเพียงลำพัง เพื่อลงมือเขียนตัวอักษรสำหรับการชี้ชะตาชายแก่คนหนึ่ง วันนั้นความกลัวจากภายนอกห้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เรื่องสีเสื้อ เรื่องสถาบันฯ หรือเรื่องการแบ่งแยกประเทศใดๆ ก็จะไม่สามารถฝ่าประตูเข้าไปมีอิทธิพลกับการรับฟังข้อเท็จจริงและปรับใช้กฎหมายของท่านได้เช่นเดียวกับในห้องพิจารณา

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: http://ilaw.or.th/node/3061

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท