Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

เวลาผ่านมาถึงเดือนเมษายนนี้ ก็จะถึงเวลาที่สมยศ พฤกษาเกษมสุข ติดคุกอธรรมมาเป็นเวลา 3 ปี การคุมขังคุณสมยศเป็นกรณีหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความไร้หลักการและความอยุติธรรมของกระบวนการศาลไทย เป็นการตอกย้ำถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของมาตรา 112 และยังสะท้อนถึงความอำมหิตของ”คนดี”ในสังคมไทย ที่เพิกเฉยและยอมรับได้กับการที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์จะต้องติดคุกในเวลาเนิ่นนานเช่นนี้

สมยศ พฤกษาเกษมสุข เกิดวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2504 จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง แล้วดำเนินชีวิตเป็นนักหนังสือพิมพ์และนักกิจกรรมด้านแรงงานมาเป็นเวลานาน ที่คุณสมยศเลือกเส้นทางชีวิตดังนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการรับอุดมการณ์ที่ต้องการต่อสู้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม เพื่อยกระดับชีวิตแรงงาน เช่นเดียวกับนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมจำนวนมากของยุคสมัยที่ใฝ่ฝันถึงสังคมใหม่ที่ดีงาม ปราศจากการกดขี่ เป็นสังคมแห่งความเสมอภาพเท่าเทียมกัน ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ดังนั้น การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสังคมไทยก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่ง คุณสมยศจึงเข้าร่วมกับฝ่ายประชาชนต่อต้านเผด็จการในการเคลื่อนไหวพฤษภาประชาธรรม เมื่อ พ.ศ.2535

ไม่เคยมีข้อเท็จจริงใดเลยที่จะเชื่อมโยงได้ว่า คุณสมยศเป็นคนของฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 คุณสมยศไม่ได้รู้จักกับ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นส่วนตัว และเคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทักษิณเสียด้วยซ้ำ เคยเขียนบทความเรื่อง "พฤติกรรมเผด็จการรัฐบาลทักษิณ" ลงในไทยเอ็นจีโอ.น่าจะราว พ.ศ.2547

แต่เมื่อเกิดการรัฐประหาร คุณสมยศก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนแรกๆ ที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร และเรียกร้องให้บ้านเมืองกลับคืนมาสู่ประชาธิปไตย โดยตั้งกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยมาเป็นองค์กรเคลื่อนไหว คุณสมยศได้ผลักดันการออกนิตยสาร”สยามปริทัศน์”มาสนับสนุนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะขาดเงินทุน ในระหว่างนั้นก็ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวเรื่องร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย และคัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และเข้าร่วมการก่อตั้ง นปก.(แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ)เมื่อ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นจังหวะก้าวสำคัญที่พัฒนามาสู่ขบวนการคนเสื้อแดงในปัจจุบัน

เมื่อแกนนำของ นปก.ถูกจับกุมหลังการเคลื่อนไหวสงกรานต์เลือด เมษายน พ.ศ.2552 คุณสมยศและกลุ่ม 24 มิถุนายน ก็เป็นกลุ่มแรก ทีจัดการชุมนุมประชาชนที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2552 เพื่อทำลายบรรยากาศอึดอัดแห่งเผด็จการ และในปีเดียวกันนั้น คุณสมยศก็ได้ร่วมกับเพื่อนหลายคน รวมทั้งคุณประแสง มงคลศิริ และผู้เขียน ก่อตั้งนิตยสารเสียงทักษิณ ที่มุ่งจะเป็นกระบอกเสียงให้กับคนเสื้อแดง นิตยสารนี้มีความโดดเด่นที่การใช้รูปของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นปกหน้า หรือไม่ก็ปกหลังแทบทุกฉบับเพื่อหวังผลในด้านการขาย นิตยสารเสียงทักษิณนี้ถูกปิดโดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เมื่อเดือนพฤษภาคม  พ.ศ.2553 พร้อมกับการที่คุณสมยศที่เป็นบรรณาธิการ ต้องถูกคุมตัวไปขังไว้ที่ค่ายอดิศร กองพันทหารม้า สระบุรี เป็นเวลา 3 สัปดาห์ และเมื่อพ้นจากที่คุมขัง คุณสมยศได้ออกหนังสือใหม่ ชื่อ เรดพาวเวอร์ ซึ่งยังคงอยู่มาจนถึงเมื่อ พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา จึงได้ปิดกิจการเพราะประสบภาวะขาดทุน

ภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณสมยศถูกจับกุมอีกครั้ง เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2554 โดยถูกควบคุมตัวที่ด่านอรัญประเทศ ในขณะที่กำลังจัดการท่องเที่ยวไปกัมพูชา ข้อหาที่ได้รับแจ้งคือ ความผิดตามกฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพ ตามมาตรา 112 หลังจากนั้น ทางทนายความได้ยื่นประกันตัวนับสิบครั้ง แต่ไม่ได้รับการประกันตัว

การจับกุมคณะสมยศเป็นส่วนหนึ่งของกระแสกวาดล้างประชาชนด้วยมาตรา 112 ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดังจะเห็นได้ว่า มีการจับกุมฝ่ายคนเสื้อแดง หรือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายเสื้อแดงจำนวนมาก และถูกฟ้องดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 อีกเหตุผลหนึ่งการจับกุมเป็นก็เป็นการสกัดกั้นการเคลื่อนไหวของคุณสมยศ เพราะขณะที่ถูกจับกุม คุณสมยศกำลังรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 เพื่อทำลายเครื่องมือของรัฐเผด็จการทีจะใส่ร้ายป้ายสี และนำประชาชนเข้าคุกอย่างขาดความชอบธรรม คดีที่เป็นตัวอย่างของความไม่เป็นธรรมนี้อย่างที่สุด คือ กรณีคุณอำพน ตั้งนพคุณ ที่ถูกจับกุมอย่างไร้เหตุผลตามมาตรา 112 แล้วถูกศาลตัดสินจำคุกทั้งที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากระทำความผิด สุกท้ายก็ต้องเสียชีวิตในคุก ซึ่งกลายเป็นกรณีประจานความอยุติธรรมโดยกระบวนการศาลไทยไปทั่วโลก

ข้อหาที่กล่าวร้ายต่อคุณสมยศ มาจากบทความ 2 บทความที่ลงพิมพ์ในนิตยสารเสียงทักษิณ และถูกตีความว่าเป็นบทความที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คงต้องอธิบายในที่นี้เสียก่อนว่า บทความ 2 บทนั้นไม่มีข้อความใดเลยที่จะกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นบทความที่อ่านไม่รู้เรื่อง แต่ต่อมา ในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2556 ศาลก็ตัดสินให้คุณสมยศมีความผิด และลงโทษตัดสินจำคุก 10 ปี โดยการตีความว่า บทความลักษณะนี้เอง ที่เรียกว่า เป็นบทความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

แต่กระนั้น ก็เป็นที่ทราบข้อเท็จจริงว่า บทความทั้ง 2 เรื่อง คุณสมยศไม่ได้เป็นผู้เขียน คนเขียนคือผู้ใช้นามปากกาว่า “จิตร พลจันทร์” แต่ศาลก็อ้างว่า คุณสมยศต้องรับผิดในฐานะที่เป็นบรรณาธิการ แต่ปัญหาก็คือ กฎหมายที่เอาผิดบรรณาธิการคือ กฎหมายการพิมพ์ พ.ศ.2484 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยกเลิกแล้ว กฎหมายการพิมพ์ฉบับใหม่ พ.ศ.2550 บัญญัติว่า ความรับผิดชอบเป็นของผู้เขียน บรรณาธิการและผู้จัดพิมพ์ไม่ต้องรับผิด คำพิพากษาของศาลจึงตัดสินโดยการ”ให้ความเห็น”กล่าวคือ “ศาลเห็นว่า การที่จำเลยจะพ้นผิดย่อมหมายความว่าจำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 เท่านั้น ส่วนการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามฟ้องนั้นไม่ได้ถูกยกเลิกโดยผลของกฎหมายดังกล่าวด้วย” จึงตีความคำพิพากษาได้ว่า ไม่ว่ากฎหมายจะยกเลิกความผิดอย่างไร ศาลก็สามารถให้ความเห็นให้มีความผิด และตัดสินตามความเห็นนั้นได้ โดยไม่ต้องอ้างหลักกฎหมายอีกต่อไป

ด้วยความมั่นใจว่า ตนเองไม่ได้กระทำความผิด คุณสมยศจึงตัดสินใจสู้คดีโดยต่อสู้ในชั้นศาลอุทธรณ์ ทั้งที่คุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ซึ่งถูกจับกุมด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เช่นกันแนะนำให้คุณสมยศรับสารภาพ แล้วขอพระราชทานอภัยโทษ เพราะการต่อสู้คดีเช่นนี้ในสังคมไทย ไม่มีวันได้รับความเป็นธรรมจากศาล แม้กระทั่งสิทธิประกันตัวยังไม่ได้รับ ตัวอย่างก็คือ คุณดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล ที่ติดคุกมานานเกือบ 6 ปี และไม่เคยได้รับความเป็นธรรมจากศาลในด้านสิทธิการประกันตัว แต่คุณสมยศก็ยังยืนยันที่จะต่อสู้ต่อไป

คดีของคุณสมยศ และรวมถึงกรณีผู้ต้องหาคดี 112 รายอื่น ซึ่งขณะนี้รวมถึงคุณปภัสชนัญญ์ ฉิ่งอินทร์ ที่ติดคุกที่นครราชสีมา คุณเอกชัย หงส์กังวาน คุณกิตติธน แย้มสมัย หรือเคนจิ และคุณดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล เป็นตัวอย่างสะท้อนถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย คดีเหล่านี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในต่างประเทศ แต่เป็นที่เพิกเฉยของขบวนการสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

ประเด็นที่อยากจะพูดถึงในที่นี้ ก็คือ ความไม่เป็นธรรมเช่นนี้ แม้ว่าจะเปลี่ยนจากรัฐบาลประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย สถานะแห่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากกรณี 112 ก็ยังดำเนินต่อไป นี่คือความมืดดำของสังคมไทยอีกกรณีหนึ่ง นอกเหนือจากความชั่วร้ายที่กระทำโดยศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นแล้ว

 

 

ที่มา:  โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 457 วันที่ 29 มีนาคม 2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net