ยูเครน และสงครามเย็นครั้งใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ความขัดแย้งระหว่างตะวันตกและรัสเซียในประเด็นแหลมไครเมียและการคุกคามทางทหารของรัสเซียต่อยูเครนกำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็วอันอาจส่งผลกระทบถึงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ของโลกในอนาคตอย่างมหาศาล แม้จะมีการคาดคะเนถึงอนาคตอย่างมากมายแต่ก็ไม่มีใครสามารถรับประกันได้อย่างชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นอะไรขึ้นต่อไป  ด้วยการเมืองในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ที่เต็มไปด้วยตัวแปรซับซ้อนและที่สำคัญแผนลึกลับที่อยู่ในสมองของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูตินเป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์ทางการเมืองต้องทำงานหนักในการถอดรหัสออกมา กระนั้นสิ่งที่เป็นความจริงแท้แน่นอนคือการผนวกแหลมไครเมีย (และเซวัสโตปอล) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียได้ดำเนินอย่างเป็นพิธีกรรมและถูกต้องตามกฎหมายของทั้งสองฝ่ายคือรัสเซียและไครเมียไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นถึงแม้สหประชาชาติ ตะวันตกและยูเครนจะทั้งคัดค้านว่าผิดกฎหมายของยูเครนและกฎหมายระหว่างประเทศ รวมไปถึงคว่ำบาตรและประณามรัสเซียด้วยเสียงเซ็งแซ่  แต่กระบวนการนี้ไม่น่าจะย้อนกลับไปได้เพราะนอกจากรัสเซียจะมีคำอธิบายเกี่ยวกับกฎหมายอีกชุดหนึ่งแล้วยังหมายถึงเกียรติยศศักดิ์ศรีของรัสเซียและไครเมีย ตอกย้ำโดยวาทกรรมประชาธิปไตยผสมกับลัทธิชาตินิยมอันทรงพลังเพราะได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามของชาวไครเมียผ่านการลงประชามติเพื่อเป็นหนึ่งเดียวกับรัสเซีย (1) 

อย่างไรก็ตามวิกฤตยูเครนในครั้งนี้ย่อมไม่อาจอธิบายได้ด้วยเพราะสาเหตุง่ายๆ เช่นความโลภอยากเป็นใหญ่ของปูตินหรือความหวงผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของรัสเซียเพียงประการเดียวแต่เพราะพัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นมานานนับตั้งแต่สงครามเย็นระหว่างรัสเซียในคราบของสหภาพโซเวียตและตะวันตกซึ่งในที่นี้มักมีผู้มองว่าประกอบด้วยสหรัฐฯ และยุโรป (ซึ่งความจริงแล้วนโยบายต่างประเทศของทั้ง 2 ฝ่ายมีความแตกต่างและความขัดแย้งกันพอสมควรและผู้เขียนจะขอไม่กล่าวถึงมากนัก) จนมาถึงช่วงเวลา  20 ปีในช่วงหลังสงครามเย็นจนถึงวินาทีนี้  ผู้เขียนต้องการจะอธิบายถึงประวัติศาสตร์โดยย่อของรัสเซียอันจะส่งผลถึงนโยบายต่างประเทศยุคหลังสงครามเย็น รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครนในปัจจุบัน และสิ้นสุดลงด้วยความสัมพันธ์สหรัฐฯ และรัสเซีย  อันเป็นการตอกย้ำบทความของผู้เขียนเมื่อปีก่อนได้แสดงว่าโลกได้เข้าสู่สงครามเย็นครั้งใหม่

ประวัติศาสตร์

รัสเซียนั้นในยุคของจักรวรรดิ (Empire)  ภายใต้การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชนั้นครอบคลุมพื้นที่อันกว้างใหญ่นับตั้งแต่ยุโรปตะวันออกจนไปถึงทะเลแปซิฟิกและอาลัสกาซึ่งเป็นดินแดนของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน แน่นอนว่าย่อมครอบคลุมเมืองหลวงของยูเครนในปัจจุบันคือเคียฟซึ่งถูกจัดว่าเป็นเมืองหลวงแห่งแรกๆ ของหลายชาติรวมถึงรัสเซีย ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 1917 จึงเป็นภาระอันหนักหน่วงของผู้นำของพรรคบอลเชวิกที่จะรักษาดินแดนและความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิไว้ในรูปแบบของสหภาพโซเวียต กลยุทธที่สำคัญของพรรคจึงมีอยู่ในรูปแบบบู๊ (Hard power) คือการใช้กำลังทางทหารเพื่อไม่ให้รัฐต่างๆ แยกตัวและการใช้กำลังของตำรวจลับ      เชกาในการปราบปรามปรปักษ์ภายในของระบอบใหม่ ส่วนแบบบุ๋น (Soft power)  คือการสนับสนุนให้พรรคคอมมิวนิสต์แผ่อิทธิพลไปยังส่วนต่างๆ ของรัสเซียและสานต่อการสร้างความเป็นชาติรัสเซีย (Russification) อันเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิชาตินิยมกระแสหลักของสหภาพโซเวียต  ความใหญ่โตของโซเวียตประการหนึ่งสะท้อนได้จากการที่ผู้นำสูงสุดของโซเวียตมาจากรัฐอื่นที่ไม่ใช่รัสเซีย เช่น โจเซฟ สตาลินก็มาจากพื้นที่ซึ่งเป็นประเทศจอร์เจียในปัจจุบัน

นโยบายต่างประเทศยุคหลังสงครามเย็น

ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต รัสเซียยังมุ่งแผ่อิทธิพลเหนืออดีตประเทศบริวารรวมไปถึงยุโรปไม่ว่าตะวันออกและตะวันตกทั้งทางการเมืองและสังคมด้วยความทะเยอทะยานของชั้นชนนำในการรักษาอัตลัษณ์การเป็นจักรวรรดิและประเทศอันยิ่งใหญ่ในอดีต ตัวอย่างได้แก่เครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States)  หรือ CIS เพื่อความร่วมมือกันทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจอันผันผวนอันประกอบด้วยรัสเซีย และอดีตรัฐบริวารเช่นอาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน   เบลารุส  คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน  มอลโดวา ทาจิกิสถาน  อุซเบกิสถาน (ส่วนอดีตสมาชิกได้แก่จอร์เจียและยูเครน) แต่  CIS  ถูกมองว่าค่อนข้างล้มเหลวเพราะได้รับการครอบงำโดยรัสเซียมากเกินไปเช่นเดียวกับความพยายามของรัฐอดีตบริวารที่จะเป็นอิสระ  อย่างไรก็ตามรัสเซียก็ประสบความสำเร็จใน ด้านเศรษฐกิจซึ่งรัฐอดีตบริวารต้องพึ่งพิงรัสเซียทางทรัพยากรธรรมชาติเช่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติและอีกวิธีหนึ่งคือรัสเซียเข้าไปแทรกแซงภูมิภาคซึ่งมีปัญหากับรัฐบาลกลางของประเทศเหล่านั้นเช่นจอร์เจียมีปัญหากับรัสเซียเพราะต้องการอิงแอบกับยุโรปตะวันตกโดยเฉพาะการเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การนาโต  รัสเซียจึงตอบโต้จอร์เจียโดยการช่วยเหลือและรับรองแคว้นเซาว์โอเซทเทียกับแคว้นอับคาเซียซึ่งมีปัญหาในการประกาศแยกตัวจากจอร์เจีย  จนในที่สุดทั้ง 2 ประเทศต้องสงครามกันในปี 2008

ปัจจัยด้านบวกอีกประการหนึ่งสำหรับรัสเซียคือการที่คนเชื้อสายรัสเซียกระจัดกระจายไปยังอดีตรัฐบริวารหลายรัฐเช่นยูเครน เบลารุส ลัตเวีย เอสโตเนีย ลิทัวเนีย มอลโดวาย่อมทำให้เกิดกระแสสนับสนุนรัสเซียและส่งผลกระทบถึงการเมืองภายในประเทศเช่นยูเครนซึ่งมีประชากรเชื้อสายรัสเซียกว่า 11 ล้านจากทั้งหมด 48 ล้านคนโดยคนเชื้อสายและพูดภาษารัสเซียส่วนใหญ่อาศัยอยู่กันหนาแน่นในด้านตะวันออกของประเทศและมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับรัสเซียอย่างมหาศาลได้ส่งผลให้นักการเมืองที่รัสเซียให้การสนับสนุนอย่างเช่นนายวิกเตอร์  ยานุชโควิกขึ้นมามีอำนาจและล่าสุดรัฐทรานส์นิสเตรีย (Transnistria) ซึ่งมีคนเชื้อชาติรัสเซียกว่า 200,000 คนได้และประกาศแยกตัวจากมอลโดวาตั้งแต่ปี 1990 ได้แสดงเจตจำนงเข้ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับรัสเซียในปี 2014 นี้  

ภาพพจน์ของปูติน

ภาพพจน์ของปูตินอันส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและอดีตรัฐบริวารรวมไปถึงส่วนอื่นของโลกค่อนข้างมีความหลากหลายและแตกต่างกันแบบขาวกับดำ  สำหรับฝ่ายชื่นชอบมักมองว่าปูตินเป็นบุรุษเหล็กที่มาช่วยกอบกู้รัสเซียให้พ้นจากความวุ่นวายสับสนและนำรัสเซียไปสู่ความยิ่งใหญ่ระดับโลกอีกครั้ง ปูตินยังได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพและยังเป็นวีรบุรุษของคนไม่ชอบอเมริกา โดยการให้การช่วยเหลือเป็นที่ลี้ภัยสำหรับอดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอคือนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนซึ่งเปิดเผยการสอดแนมความลับของสหรัฐฯ ไปทั่วโลก แต่สำหรับฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับปูตินอย่างสื่อตะวันตกมักนำเสนอว่าเป็นนักการเมืองเผด็จการที่เปรียบได้ดังซาร์หรือทรราชของรัสเซียในอดีตเช่นพระเจ้าอีวานผู้ชั่วร้ายและ สตาลินผู้ส่งผลให้ชาวรัสเซียหลายล้านคนต้องเสียชีวิต ปูตินยังถูกวิจารณ์ว่าสามารถกุมอำนาจได้ทั้ง 3 สถาบันทางการเมืองไม่ว่าบริหาร นิติบัญญัติ  ตุลาการอันนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามใจชอบและยังยัดเหยียดข้อหาให้กับผู้นำของฝ่ายค้านรวมถึงการปราบปรามกลุ่มประท้วงของประชาชนแต่ละครั้งอย่างไร้ความปราณีการริดรอนสิทธิพลเมืองของชนกลุ่มน้อยเช่นพวกรักร่วมเพศ ทำให้ตะวันตกมองว่า เขาทำให้ประชาธิปไตยของรัสเซียเสื่อมถอยกลายเป็นประชาธิปไตยเทียม (Illiberal democracy) หรือรัฐ   มาเฟีย และเป็นส่วนสำคัญให้สังคมรัสเซียเต็มไปด้วยการฉ้อราษฎรบังหลวงในทุกระดับ

ภาพของปูตินที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ของตะวันตกย่อมทำให้ประชาชนในรัฐอดีตบริวารมองภาพของปูตินในด้านลบและนำมาทับซ้อนกับภาพของสตาลินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นกฎหมายที่เข้มงวดในการปราบปรามการประท้วงรวมไปถึงการเลือกตั้งที่ขาดความโปร่งใสเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในหลายประเทศอย่างเช่นตรุกี  ตะวันออกกลาง และเอเชียกลาง แต่การนำเสนอของสื่อตะวันตกได้ทำให้ปูตินมีภาพเป็นสตาลินคนที่สอง (2)  เขาถูกมองว่าต้องการรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ของสหภาพโซเวียต (resovietize) เสียใหม่ทั้งรูปแบบการปกครองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  รัสเซียซึ่งเป็นรัฐที่สืบทอดความยิ่งใหญ่ของสหภาพโซเวียตต้องทนต่อความอับอายในฐานะที่ตกจากการเป็นมหาอำนาจชั้นหนึ่งมาก่อนซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ว่าทำไมปูติน อดีตเคจีบีจึงได้รับการสนุนให้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นประธานาธิบดีต่อจากเยลต์ซินในปี 2000   ภาพการเป็นสตาลินยุคใหม่ของปูตินยังถูกผลิตซ้ำผ่านการกล่าวคำปราศรัยต่อหน้าวุฒิสภาในปี 2005 ของเขาที่ว่า การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเป็นความหายนะทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่แห่งศตวรรษ (Collapse of the Soviet Union was a major geopolitical disaster of the century)

ยูเครนกับรัสเซีย

ความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนกับรัสเซียในช่วงหลังสงครามเย็นอยู่ในสภาพไม่คงเส้นคงวาแม้ยูเครนเป็นสมาชิกเครือรัฐเอกราชตั้งแต่ต้น ด้วยความยิ่งใหญ่ของรัสเซียทำให้ยูเครนจำต้องคงความสัมพันธ์อันปกติแต่ในรูปแบบชิงไหวชิงพริบเหมือนหนูกับแมวและค่อนข้างเลวร้ายในยุคของประธานาธิบดีวิกเตอร์              ยุชเชงโก  ความสัมพันธ์เช่นนี้เกิดจากประวัติศาสตร์ของยูเครนต่อสหภาพโซเวียต แม้ยูเครนจะเคยประกาศเอกราชเมื่อปี 1917 ในขณะที่จักรวรรดิรัสเซียกำลังล่มสลายแต่ก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเยอรมันจนต้องกลับมาอยู่กับสหภาพโซเวียตในปี 1921 ภายหลังสงครามกลางเมืองอันนองเลือด ต่อมาในต้นทศวรรษที่ 30 สตาลินได้นำนโยบายกสิกรรมรวม (Collective farming) มาบังคับใช้ทั่วประเทศ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาวยูเครนจำนวนหลายล้านคนต้องเสียชีวิตจากภัยพิบัติ  นักประวัติศาสตร์หลายคนชี้ให้เห็นว่าเป็นความตั้งใจของสตาลินในการบีบบังคับให้ยูเครนซึ่งขณะนั้นต้องการอิสระในการปกครองยอมตกอยู่ใต้อำนาจของกรุงมอสโคว์เช่นเดียวกับการกดขี่และปราบปรามทางการเมืองอย่างรุนแรงของสตาลิน (Great terror) ที่ส่งผลถึงยูเครนอย่างมากแต่ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 รัฐได้ดีขึ้นในยุคของนิกิตา ครูซชอฟ (3)   ในปัจจุบันความรู้สึกไม่ไว้ใจและความเกลียดชังของชาวยูเครนต่อรัสเซียจึงเกิดขึ้นได้ง่ายเพราะประวัติศาสตร์ดังกล่าวผสมกับลัทธิชาตินิยมที่โหมกระพือโดยพรรคการเมืองแบบขวาตกขอบของยูเครนตอกย้ำด้วยความเข้าใจของคนยุคใหม่ที่ว่าปูตินกำลังนำรัสเซียกลับไปสู่ยุคของสหภาพโซเวียตและกำลังดึงดูดให้ยูเครนกลับเข้าสู่เครือข่ายทางอำนาจของรัสเซียอีกครั้ง

ตัวอย่างก่อนหน้านี้ได้แก่ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ยูเครนเป็นอดีตรัฐบริวารที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์มากที่สุดคือ 5,000 ลูก (ในขณะที่คาซักสถานมี 1,400 ลูก และเบลารุสมีเพียง 81 ลูก) แม้นโยบายของรัฐบาลเยลต์ซินในการกดดันให้ยูเครนส่งมอบอาวุธนิวเคลียร์จะผ่อนปรนมากขึ้นแต่ก็ไม่สำเร็จ จึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในการเจรจา อันส่งผลให้มีการลงนามในข้อตกลงเพื่อรับประกันความมั่นคงบูดาเปส  (Budapest Memorandum on Security Assurances) ระหว่าง 4 ประเทศในปี 1994 เพื่อให้ยูเครนปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์หรือ denuclearization โดยตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่ามหาอำนาจคือสหรัฐฯ อังกฤษและรัสเซียจะยอมรับเคารพต่อเอกราชและความมั่นคงโดยไม่คุกคามหรือรุกรานยูเครน

รวมถึงการปฏิวัติสีส้มในยูเครนในปี 2004 ที่ชาวยูเครนไม่เห็นด้วยกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มีผู้ชนะคือวิกเตอร์ ยานุชโควิก สาเหตุนอกจากจากความไม่โปร่งใสของการเลือกตั้งแล้วยังรวมถึงการที่เขาได้รับการสนับสนุนจากทางมอสโคว์ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อยานุชโควิกได้เป็นประธานาธิบดีในปี 2010  ความสัมพันธ์ของยูเครนและรัสเซียดีขึ้นอย่างมหาศาล ความพยายามของยูเครนในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การนาโตถูกระงับไปและการนำเข้าก๊าซธรรมชาติของยูเครนได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียด้วยความเต็มใจ แม้ว่าตอนเริ่มต้นยานุชโควิกจะได้รับความนิยมอย่างมากแต่ภาพพจน์ของเขาก็ค่อยเปลี่ยนไปเป็นภาพที่ทับซ้อนกับปูตินในหลายประเด็นไม่ว่าเรื่องการเป็นเผด็จการหรือความไม่โปร่งใสในการบริหารประเทศได้ทำให้เขาไม่เป็นที่นิยมของชาวยูเครนตะวันตกอีกต่อไป ส่วนฟางเส้นสุดท้ายคือสัญญาทางการค้าระหว่างยูเครนกับสหภาพยุโรปได้ถูกระงับไปในปลายปี  2013 ทำให้มีการประท้วงครั้งใหญ่ในปลายปี 2013 และการปราบปรามอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตเกือบ 90 คนจน ในที่สุดยานุชโควิกต้องพ้นจากตำแหน่งไปในเดือนกุมภาพันธ์ปี  2014 

การที่รัฐบาลเฉพาะกาลของยูเครนได้เร่งรีบลงนามในสัญญาทางการค้ากับสหภาพยุโรปสะท้อนถึงการเข้าไปอยู่ในเครือข่ายอำนาจของสหภาพยุโรป นอกจากจะทำให้ความฝันของการกลับมาเป็นมหาอำนาจอีกครั้งของรัสเซียสะดุดแล้วยังทำให้ปูตินรู้สึกเปราะบางต่ออำนาจของตน ก่อนหน้านี้ชาวรัสเซียโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จะประท้วงปูตินหลายครั้งโดยเฉพาะประเด็นของความไม่โปร่งใสของการเลือกตั้ง แม้ว่าจะเป็นประเด็นของต่างประเทศ หากปล่อยให้การแอบอิงตะวันตกของยูเครนและประเทศอดีตบริวารพัฒนาไปเรื่อยๆ จะเป็นการบั่นทอนความเป็นผู้นำของปูตินไม่ว่าในสายตาของภาคประชาชนรัสเซียหรือแม้แต่พวกเหยี่ยวในเครมลินและกองทัพ อย่างไรก็ตามสำหรับกองทัพรัสเซียนั้นปูตินได้สร้างความสัมพันธ์อันดีเยี่ยมนอกจากงบประมาณป้องกันประเทศเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และจีนแล้ว เมื่อปี 2013 ปูตินได้ให้มีการซ้อมรบครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเพราะได้ใช้กำลังทหารกว่าแสนนายอันเป็นการส่งสัญญาณถึงความพร้อมในการจัดระเบียบโลกใหม่ของรัสเซียโดยเฉพาะการทหาร

การรุกคืบทางทหารต่อยูเครนกลายเป็นผลดีของปูตินในการลั่นกลองรบอันจะเป็นการเสริมสร้างอำนาจของตนภายในประเทศ เพราะในภาวะสงคราม ผู้นำจะได้รับความนิยมจากประชาชนซึ่งปราถนาจะเห็นความปลอดภัยและความยิ่งใหญ่ของปิตุภูมิและเป็นการสะกัดฝ่ายค้านด้วยข้อหาว่าไม่รักชาติ กระนั้นสาเหตุที่ทำให้ปูตินหลีกเลี่ยงการทำสงครามกับยูเครนถึงแม้กองทัพของทั้ง 2 ฝ่ายจะมีขนาดแตกต่างกันอย่างมากก็ตาม สงครามอาจส่งผลด้านลบต่อเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของรัสเซียเองชนิดที่คาดไม่ถึงคือถ้าเกิดสงคราม  องค์การนาโตอาจไม่กล้าปะทะกองทัพรัสเซียโดยตรงแต่ก็ส่งกำลังอาวุธไปให้รัฐบาลยูเครนและเกิดสงครามตัวแทนที่สร้างความเสียหายให้กับยูเครนและกองทัพของรัสเซีย   ส่วนประเทศที่เคยเป็นบริวารของสหภาพโซเวียตไม่ว่ายุโรปตะวันออกเช่นโปแลนด์ รัฐบอลติกหรือแม้แต่ในเอเชียกลางก็อาจเกิดความตื่นตระหนกกว่าเดิมและหันเข้าไปสู่การเป็นเครือข่ายทางอำนาจของตะวันตกยิ่งขึ้นไป  การเข้าเข้ายึดแหลมไครเมียแบบค่อยเป็นค่อยไปจึงเป็นกลยุทธที่ดีที่สุดของเครมลินเพราะนอกจากจะเป็นพื้นที่ซึ่งมีความเป็นรัสเซียมากที่สุดพื้นที่หนึ่งไม่ว่าชนชาติและภาษาอันนำไปสู่ความรู้เห็นเป็นใจของนักการเมืองท้องถิ่นแล้ว เมืองเซวัสโตโปลของไครเมียยังเป็นที่ตั้งของกองทัพเรือขนาดใหญ่ของรัสเซีย ทั้งหมดนี้กลายเป็นไพ่ใบสำคัญของปูตินในการสร้างแรงกดดันรัฐบาลเฉพาะกาลของยูเครนซึ่งวุ่นวายขาดเสถียรภาพให้เกิดความเชื่องและควรจะกลับมาอยู่ภายใต้วงอำนาจของตนอีกครั้ง

ปัญหาและความวุ่นวายของรัฐบาลยูเครน

รัฐบาลเฉพาะกาลของยูเครนยังคงมีปัญหาอย่างมากถึงแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมศกนี้ (4)  รัฐบาลของยูเครนซึ่งมาจากการแต่งตั้งของรัฐสภาประกอบด้วยบุคคลและพรรคการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมประท้วงนายยานุชโควิกที่จตุรัสมายแดน แม้ว่าได้รับการรับรองและสนับสนุนจากสหรัฐฯ และยุโรปแต่ถูกประณามจากรัสเซียว่าเป็นรัฐบาลเถื่อนที่มาจากการทำรัฐประหาร (coup) ที่สนับสนุนโดยจักรวรรดินิยมอเมริกัน ไม่ใช่การปฏิวัติ (Revolution) ที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง  ดังนั้นเมื่อมีผู้มองว่าการที่รัสเซียได้ทำการเข้าประชิดและบุกเข้าไปในแหลมไครเมียเป็นการผิดข้อตกลงเพื่อรับประกันความมั่นคงบูดาเปส  รัสเซียจึงมีข้อแก้ต่างได้ว่าเพราะรัฐบาลเฉพาะกาลของยูเครนไม่ใช่รัฐบาลที่มาตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นสัญญาที่รัสเซียเคยส่งมอบไครเมียให้กับยูเครนจึงเป็นโมฆะและชาวไครเมียมีสิทธิที่จะแยกตัวกลับไปอยู่กับรัสเซียได้

สื่อของรัสเซียยังโหมกระพือประเด็นที่ว่ายูเครนนั้นกำลังถูกกลุ่มนิยมลัทธิชาตินิยมแบบสุดขั้วแบบนาซีเข้ามาคุกคามยูเครนโดยเฉพาะคนเชื้อสายรัสเซีย การโจมตีมีข้อมูลมาจากข้อเท็จจริงที่ว่านายโอเล็กซานเอร์ ทูรคีย์นอฟ ประธานาธิบดี และนายอาร์เซนีย์ เย็ตเซนยุค นายกรัฐมนตรีจากพรรคถิ่นปิตุภูมิ (Fatherland) ซึ่งได้รับการบรรยายจากวิกิพีเดียว่าเป็นพรรคกลางค่อนขวา (Centre-right) และมีผู้นำคือนางยูเลีย  ทีโมเชนโก  นอกจากนี้ยังมีอีกจำนวนหนึ่งมาจากพรรคแบบขวาตกขอบ (Far-right) อย่างเช่นพรรคสโวโบดา (Svoboda)  ซึ่งเดินขบวนไปตามถนนแล้วชูป้ายรูปนายแบนเดอราเป็นนักชาตินิยมของยูเครนซึ่งเคยร่วมมือกับเยอรมันนาซีเพื่อให้ยูเครนเป็นเอกราชจากสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอกย้ำโดยการที่ผู้ประท้วงยูโรมายแดนแสดงภาพขนาดใหญ่ของแบนเดอราตรงหน้าหอประชุมของสภาเทศบาลเมืองเคียฟ   ไม่ว่ารัฐบาลเฉพาะการนี้จะคุกคามคนเชื้อสายรัสเซียหรือไม่ แต่สิ่งที่แน่ชัดคือ หากอยู่ไปเป็นเวลานานก็อาจก่อความขัดแย้งอย่างรุนแรงได้ในอนาคตเพราะยังมีชาวยูเครนอีกมากมายที่มีอุดมการณ์ที่แตกต่างกันออกไปไม่ว่าพวกเสรีนิยมหรือพวกสังคมนิยม 

นอกจากนี้การที่รัฐบาลเฉพาะกาลยกเลิกกฎหมายที่ยินยอมให้ภูมิภาคของยูเครนสามารถใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาที่สองทำให้คนเชื้อสายรัสเซียเกิดความไม่พอใจ การเดินขบวนของกลุ่มสนับสนุนรัสเซียในหัวเมืองใหญ่ๆ ของยูเครนเช่นเมืองคาร์เคียฟเป็นสิ่งที่รัฐบาลยูเครนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะหากมีความรุนแรงเกิดขึ้นระหว่างผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่ก็อาจจะทำให้ข้ออ้างของรัฐบาลรัสเซียที่ว่าชาวยูเครนเชื้อสายรัสเซียถูกกดขี่หรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมมีความชัดเจนยิ่งขึ้น สิ่งนี้จะเอื้ออำนวยต่อการที่ทหารของรัสเซียซึ่งประจำอยู่ชายแดนกว่าแสนนายในการบุกโจมตียูเครน (ขณะนี้ได้ถอนกำลังออกไปบางส่วน)  อย่างไรก็ตามการที่นายอาเล็กซานเดอร์ มูซีชโก ผู้นำกลุ่มขวาตกขอบที่มีส่วนร่วมในการประท้วงยูโรมายแดนถูกหน่วยพิเศษจับกุมและยิงจนเสียชีวิตในวันที่ 24 มีนาคม 2014 นอกจากความต้องการต่อเสถียรภาพภายในประเทศแล้วอาจเป็นไปได้ว่ารัฐบาลต้องการสลัดภาพของการเป็นพวกขวาตกขอบออกไปและยังแสดงการประนีประนอมกับเครมลินได้ในระดับหนึ่งเพราะรัสเซียนั้นถือว่านายมูซีชโกเป็นศัตรู ด้วยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายหลังจากการเจรจาระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียและยูเครนคือนายเซอร์ไกย์ ลาฟรอฟและนายอันดรีย์ เดชชีทเซีย ได้มาพบปะเจรจากัน

ไม่ว่าการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมจะมีผลออกมาอย่างไรรัฐบาลยูเครนใหม่จะต้องพบกับหนทางอันแสนยากลำบากสำหรับเรื่องทางเศรษฐกิจ ยูเครนกำลังพบกับปัญหาทางเศรษฐกิจต้องจ่ายค่าหนี้สินจากก๊าซธรรมชาติที่ยูเครนติดค้างกับรัสเซียเช่นเดียวกับการหาแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่เพื่อลดการพึ่งพิงรัสเซีย ตอกย้ำโดยค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการบูรณะเศรษฐกิจประเทศรวมกันอีกหลายพันล้านเหรียญ แม้ว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีการประมาณว่าภายใน 2 ปีข้างหน้ายูเครนต้องการเงินประมาณสองหมื่นห้าพันเหรียญ อันเป็นเรื่องแน่ชัดว่าเงินเหล่านั้นย่อมมีเงื่อนไขคือนโยบายรัดเข็มขัดที่ต้องตัดสวัสดิการสังคมซึ่งทำให้รัฐบาลยูเครนต้องพบกับการเดินขบวนประท้วง การจลาจลและความวุ่นวายต่างๆ ตามมาเช่นเดียวกับกรีซหรือสเปน และยังอาจนำภาระมาให้กับสภาพยุโรปเองหากรับเอายูเครนมาเป็นสมาชิก นอกจากนี้ทางตะวันออกของประเทศนั้นมีธุรกิจและอุตสาหกรรมหนักเช่นโรงงานผลิตเหล็กที่อิงอาศัยรัสเซียอย่างสูง ประชากรแถบนั้นซึ่งมีเชื้อสายรัสเซียอยู่กันหนาแน่นและรู้สึกต่อต้านการเข้าร่วมสหภาพยุโรปเพราะเห็นว่าไม่เอื้ออำนวยต่อผลประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมตนมากกว่ารัสเซียอันอาจนำไปสู่การก่อจลาจลและการเข้าแยกดินแดนได้ในที่สุด

ปัญหาอันใหญ่โตของรัฐบาลใหม่ของยูเครน อีกประการหนึ่งที่จะต้องแก้ไขให้ได้เพื่อให้เข้ากับระบบตลาดเสรีนิยมใหม่คือการฉ้อราษฎรบังหลวงและภาวะการขาดธรรมาภิบาลระบบตลาดเสรีใหม่ ที่สำคัญเศรษฐกิจใต้ดิน (Shadow Economy) ของประเทศนี้มีขนาดใหญ่มากคือร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของทั้งประเทศ  ธุรกิจจำนวนมากของยูเครนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางใต้ดินไม่ว่าการค้าประเวณี ยาเสพติด การฟอกเงินฯลฯ จึงไม่มีการเสียภาษีและยังเป็นตัวถ่ายเทกองทุนต่างๆ ของรัฐบาลอันส่งผลต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจ รัฐบาลเฉพาะกาลยังได้กล่าวหามีเงินหายไปกว่าสามหมื่นเจ็ดพันล้านเหรียญฯ ในช่วงที่นายยานุโควิกมีอำนาจอยู่  อย่างไรก็ตามก็ไม่มีเครื่องรับประกันใดๆ ทั้งสิ้นว่ารัฐบาลเฉพาะกาลหรือแม้แต่รัฐบาลใหม่ในอนาคตจะสะอาดบริสุทธิ์กว่านายยานุชโควิกหรือไม่
ตะวันตกจะสามารถช่วยยูเครนให้พ้นจากอำนาจของรัสเซียและปัญหาภายในประเทศหรือไม่เป็นสิ่งที่น่าสงสัย แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือวิกฤตยูเครนเป็นปัจจัยสำคัญระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและรัสเซียในสงครามเย็นครั้งใหม่นี้

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ ต่อรัสเซียค่อนข้างแปรผันไปตามรูปแบบการปกครอง เป็นข้อเท็จจริงที่ว่าในช่วงสงครามเย็น สหรัฐฯ เป็นศัตรูตัวฉกาจกับสหภาพโซเวียต แนวคิดของวลาดิเมีย เลนินในการสร้างเครือข่ายคอมมิวนิสต์เพื่อต่อสู้กับลัทธิทุนนิยมไปทั่วโลก  สหภาพโซเวียตจึงถูกมองจากโลกตะวันตกในช่วงสงครามเย็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อโลกและเป็นนักล่าดินแดน (Expansionist)  ตอกย้ำโดยเหตุการณ์เช่นการบุกยึดฮังการีในปี 1956 และเช็คโกสโลวาเกียในปี 1968  รวมไปถึงการบุกอัฟกานิสถานิสถานในปี  1979  อันเป็นเรื่องน่าสนใจว่าภาพเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำขึ้นมาอีกครั้งภายหลังจากที่วลาดิเมียร์ ปูตินได้ขึ้นมามีอำนาจ

อย่างไรก็ตามมีหลายช่วงที่ 2 ประเทศเข้าสู่สภาวะผ่อนคลายความเป็นปรปักษ์ต่อกัน (detente) ในช่วงทศวรรษที่ 70 ที่ริชาร์ด นิกสันมีความสัมพันธ์อันดีกับลีโอนิด เบรซเนฟจนทั้งสองฝ่ายประสบความสำเร็จในการเจรจาลดจำนวนอาวุธหัวรบนิวเคลียร์ได้สำเร็จ  ภายหลังการล่มสลายของสหภาพ        โซเวียต สังคมรัสเซียอยู่ในภาวะสับสน ต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก สหรัฐฯ ในยุคของบิล คลินตันได้ระดมเงินช่วยเหลือรัฐบาลของนายบอริส เยลต์ซินอย่างมากเช่นเดียวกับถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟที่ให้เงินกู้จำนวนมหาศาลแก่รัสเซีย (อันเป็นเหตุให้พวกชาตินิยมแบบตกขอบเห็นว่าตะวันตกกำลังพยายามเข้าครอบงำรัสเซีย) เพราะตะวันตกตระหนักดีว่ารัสเซียซึ่งยังมีกำลังทหารที่น่ากลัวและครอบครองหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุดในโลกหากขาดเสถียรภาพแล้วย่อมกลายเป็นภัยต่อโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ที่ว่าสังคมที่วุ่นวายก็ย่อมนำไปสู่ผู้นำเผด็จการหัวคลั่งชาติอย่างเช่นเยอรมันในยุคไวมาร์ที่ให้เอื้อให้เกิดฮิตเลอร์ในทศวรรษที่ 30   

นอกจากนี้นายคลินตันยังได้แสดงท่าทีผ่อนปรนต่อรัสเซียเช่นไม่ยอมประณามการปราบปราบขบถเชเชนของรัฐบาลเยลต์ซิน รวมถึงการทำข้อตกลงที่จะไม่เข้าไปรุกล้ำในอาณาเขตทางอำนาจแต่เดิมของรัสเซียอันแต่การให้ความช่วยเหลือต่อหลายรัฐที่เป็นอดีตบริวารของสหภาพโซเวียตเช่นรัฐบอลติกก็ทำให้ความรู้สึกของรัสเซียต่อสหรัฐฯ แฝงด้วยความไม่ไว้วางใจ แม้โดยรวมแล้ว สหรัฐฯและรัสเซียในยุคของคลินตันและเยลต์ซินค่อนข้างเป็นมิตรกันก็ตามแต่ด้วยขนาดของอดีตจักรวรรดิและลักษณะทางภูมิศาสตร์การเมืองของรัสเซีย ย่อมเป็นไปได้ยากที่ทั้ง 2 ประเทศจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกันได้ สิ่งที่บ่งบอกตั้งแต่แรกเริ่มคือกรณีที่สหรัฐฯ และพันธมิตรโจมตีอิรักในปี 1991 ได้ทำให้สหภาพโซเวียตซึ่งกำลังใกล้ล่มสลายต้องประสบปัญหาในการวางนโยบายการต่างประเทศใหม่จากการที่เป็นมิตรและค้าขายอาวุธกับอิรักจึงต้องหันมาประณามการบุกยึดครองคูเวตของอิรัก และให้การสนับสนุนต่อสหรัฐฯ อันเป็นเหตุให้กองทัพเห็นว่าเป็นการแสดงความอ่อนแอของรัฐบาลกอร์บาชอฟ เยลต์ซินจึงต้องระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศและการทหารเพื่อไม่แสดงว่าตกอยู่ใต้อำนาจของสหรัฐฯ อันเป็นสาเหตุหนึ่งว่าเหตุใดรัสเซียจึงไม่เข้าร่วมกับองค์กรนาโตนอกจากการเป็นหุ้นส่วน

จุดสะดุดของความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับนาโตเกิดขึ้นในปี 1999  ที่ ยูโกสลาเวียถูกองค์การนาโตโจมตีเพราะข้อหาการสังหารหมู่ชาวอาบาเนียนในโคโซโวที่ต้องการแยกตัว อันทำให้รัสเซียไม่พอใจตะวันตกอย่างมากและยังถือว่าองค์กรนาโตได้เข้ามาประชิดเขตอำนาจเก่าของตน  นอกจากนี้รัฐบาลรัสเซียยังถูกสหรัฐฯ ในช่วงปลายสมัยของคลินตันและจอร์จ ดับเบิลยู บุช โจมตีอย่างมากในเรื่องล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนจากที่ปราบปรามชนเผ่าเชเชนซึ่งต้องการแบ่งแยกดินแดน  อย่างโหดเหี้ยม แม้ว่ารัสเซียของปูตินกับรัฐบาลสหรัฐฯ ของบุชจะมีความสัมพันธ์อันดีในระยะเวลาหนึ่ง  เช่นปูตินเป็นผู้นำรัฐบาลต่างประเทศคนแรกที่โทรศัพท์แสดงความเสียใจต่อบุชภายหลังจากเกิดการก่อวินาศกรรมเครื่องบินชนตึกเมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 และรัสเซียยังประกาศแสดงความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on terror) ซึ่งกลายเป็นผลประโยชน์ของรัสเซียเองที่จะได้ปราบปรามพวกแบ่งแยกดินแดนเช่นชาวเชชเนียในฐานะผู้ก่อการร้ายได้อย่างถูกต้องชอบธรรม แต่ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศก็ไม่ได้ราบรื่นดังเช่นรัสเซียได้ร่วมกับฝรั่งเศสแสดงการคัดค้านการบุกอิรักของสหรัฐฯ ในปี  2003 และการที่บุชได้วางแผนในการติดตั้งสถานีต่อต้านขีปนาวุธที่โปแลนด์และเช็คโดยข้ออ้างว่ามีเป้าหมายคืออิหร่านแต่ก็ทำให้รัสเซียมีความเชื่อว่าสหรัฐฯและตะวันตกพยายามเผยแพร่อิทธิพลมาคุกคามตน โดยภาพรวมแล้วข้อกล่าวหาการสร้างโซเวียตอีกครั้งของปูตินได้ส่งผลต่อนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อรัสเซียจนกลายเป็นศัตรูที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยนักการเมืองหัวอนุรักษ์นิยมอย่างเช่นในพรรครีพับลิกันหรือพวกเหยี่ยวในทำเนียบขาวตอกย้ำกับความขัดแย้งนอกประเทศดังที่ได้กล่าวมา

สำหรับโอบามาได้พยายามรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียเสียใหม่ภายหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2008  เช่นการยุติการติดตั้งสถานีต่อต้านขีปนาวุธที่โปแลนด์และเช็ค นอกจากนี้กับการขึ้นมามีอำนาจของประธานาธิบดีดมิทริ เมดเดเวฟหัวเสรีนิยมจึงทำให้ทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ดีขึ้น กระนั้นเมดเดเวฟได้รับการมองว่าถูกบงการและสนับสนุนโดยปูติน การที่ปูตินดำรงตำแหน่งแทนอีกครั้งในปี 2012 ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศจึงกลับไปตั้งอยู่ความหวาดระแวงกันมากขึ้น อันนำไปสู่การที่รัสเซียให้การสนับสนุนอิหร่านซึ่งมีปัญหาเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ รวมไปถึงรัฐบาลของนายบาร์ชาร์ อัลอัดซัดในช่วงสงครามกลางเมืองของซีเรีย       

โอบามาและปูติน

ภาพพจน์และความสัมพันธ์ระหว่างโอบามาและปูตินเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อวิกฤตยูเครน ในขณะที่โอบามาตามสายตาของพวกหัวอนุรักษ์นิยมและพวกเหยี่ยวคือประธานาธิบดีที่อ่อนแอเน้น "บุ๋น" มากเกินไปทำให้สหรัฐฯ ไม่ประสบความสำเร็จในการเข้าไปแก้ไขวิกฤตต่างๆ  ทั่วโลกเช่นอาหรับสปริง สงครามการเมืองในซีเรียรวมไปถึงความขัดแย้งกับอิหร่าน สำหรับปูติน คนจำนวนมากแม้จะมองเขาในด้านลบดังที่ได้กล่าวมาแต่ก็ยอมรับว่าปูตินเหมือนกับ "เจ้าผู้ปกครอง" จากหนังสือ The Prince ของนิโคโล แม็คเคียวารีโดยเฉพาะการเป็นราชสิงห์ที่น่าเกรงขาม พร้อมใช้อำนาจทางทหารไปสลับกับกลยุทธอันลึกซึ้งเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมเหมือนจิ้งจอก ตอกย้ำโดยการโฆษณาประวัติเดิมของปูตินในฐานะเจ้าหน้าที่ของ     เคจีบี หน่วยข่าวกรองและตำรวจลับเก่าของสหภาพโซเวียตเก่า  ในขณะที่โอบามามีภาพเป็นเพียงอดีตนักกฎหมายและเป็นนักการเมืองแบบดาดๆ ทั่วไปที่ชูคำขวัญ “เปลี่ยนแปลง” อันไม่เคยเกิดขึ้นจริง

โดยส่วนใหญ่ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลของทั้งคู่จะอยู่ในรูปอันเหินห่างที่สุดในระหว่างบรรดาผู้นำของสหรัฐฯ และรัสเซียช่วงหลังสงครามเย็น แม้โอบามาจะพยายามให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขาและปูตินเป็นไปอย่างสนิทสนม  แต่ด้วยความแตกต่างกันในด้านพื้นฐานดังกล่าวทำให้ผู้เขียนเห็นว่าการวางตัวอย่างเย็นชาของปูตินเป็นการใช้ไหวชิงพริบเพื่อครอบงำโอบามา  ความขัดแย้งระหว่างผู้นำทั้งสองพัฒนาตัวอย่างชัดเจนนับตั้งแต่การปูตินยินยอมให้นายสโนว์เดนพักพิงเมื่อปีที่แล้วทำให้โอบามาตอบโต้โดยการไม่ยอมเข้าร่วมพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวโซชิที่ปูตินแสนภูมิใจ  การที่โอบามาพูดคุยกับปูตินเป็นเวลานานในช่วงที่เกิดวิกฤตไครเมียแต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ยังถูกมองว่าโอบามาห่างชั้นจากปูตินและไม่สามารถสานความสัมพันธ์ส่วนบุคคลกับปูตินจากความขัดแย้งดังกล่าว   ส่วนการที่โอบามาร่วมกับสหภาพยุโรปกดดันทางการทูตและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย การอายัติทรัพย์สิน การห้ามการทำธุรกรรมต่างๆ  ในต่างประเทศของคนสำคัญในรัฐบาลรัสเซียรวมไปถึงการระงับจากการเป็นสมาชิกของรัสเซียในกลุ่มจีแปด ฯลฯ   (5) ก็ถูกโจมตีจากพรรครีพับลิกันว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับการใช้กำลังทางทหารหรือการส่งอาวุธไปช่วยเหลือรัฐบาลยูเครน สำหรับการเจรจาระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของทั้ง 2 ฝ่ายคือนายจอห์น เคอร์รีและนายวิกเตอร์ ลาฟรอฟดูเหมือนจะไม่คืบหน้านัก กระนั้นผู้สนับสนุนโอบามาเองก็ได้แก้ต่างว่าการที่ปูตินได้เป็นฝ่ายโทรศัพท์มาหาโอบามาก่อนบ้างเพื่อให้มีการเจรจาเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นการคว่ำบาตรของตะวันตกเริ่มส่งผลถึงเศรษฐกิจของรัสเซียซึ่งปัจจุบันก็กำลังประสบปัญหาการทดถอยอยู่มากเช่นเดียวกัน จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าคนทั้งคู่จะแลกเปลี่ยนกลยุทธเกี่ยวกับยูเครนอย่างไรในอนาคต

สงครามเย็นครั้งใหม่ ?

จนถึงปัจจุบัน (วันที่ 3 เมษายน 2014 )  วิกฤตยูเครนยังคงเป็นเรื่องที่ต้องคาดเดากันต่อไปถึงพัฒนาการ แต่ผู้เขียนเห็นด้วยกับการคาดการณ์มาหลายปีแล้วว่าโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็นครั้งใหม่ กระนั้นสงครามครั้งนี้มีลักษณะที่โดดเด่นไม่เหมือนครั้งแรกซึ่งสิ้นสุดลงไปในปี 1991 เพราะความยิ่งใหญ่ทางการเมืองและเศรษฐกิจของรัสเซียในปัจจุบันยังไม่สามารถเทียบได้กับสหภาพโซเวียต นอกจากนี้ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและรัสเซียยังห่างไกลจากเรื่องอุดมการณ์เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ระหว่างประเทศเพียงอย่างเดียว และขอบเขตของความขัดแย้งของโลกปัจจุบันก็ยังไม่เท่ากับสงครามเย็นในอดีตเคยแผ่กระจายไปทั่วโลกและกระทบถึงทุกแง่มุมของชีวิต อย่างไรก็ตามผู้เขียนคิดว่ากรณีของยูเครนเองก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายความขัดแย้งไปทั่วโลกต่อจากความขัดแย้งของอีกหลายประเทศเช่นเกาหลีเหนือ อิหร่าน ซีเรีย

แม้ว่าลัทธิคอมมิวนิสต์จะอ่อนแอลงเพราะลัทธิทุนนิยมตามแบบโลกาภิวัฒน์ แต่ลัทธิเผด็จการซึ่งมีประเทศแบบอย่างคือจีนซึ่งหากร่วมมือกับรัสเซียอย่างแนบแน่นย่อมกระตุ้นให้กับนักการเมืองหัวขวาสุดขอบอาศัยความวุ่นวายทางเศรษฐกิจ สังคมของประเทศต่างๆ เพื่อขึ้นมาเป็นใหญ่ในการปกครองแบบเผด็จการ   (อันเป็นสาเหตุที่ว่าเหตุใดฮิตเลอร์จึงมักได้รับการกล่าวถึงจนถึงปัจจุบัน) ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่อียิปต์ซึ่งล้มเหลวจากการทดลองประชาธิปไตยแบบสั้นๆ และทางกองทัพได้เข้าไปเชื่อมความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย ในอนาคตประเทศซึ่งมีอุดมการณ์ใดๆ ก็ตามที่ต่อต้านประชาธิปไตยหรือเป็นเผด็จการแบบอำนาจนิยมสามารถรวมตัวกันเป็นค่ายใหญ่ในการต่อต้านโลกประชาธิปไตย(ซึ่งก็จริงบ้างเทียมบ้าง)

มีผู้มองว่าวิกฤตการณ์ยูเครนครั้งนี้เกิดจากการเสื่อมอิทธิพลทางการเมืองและการทหารของโลกตะวันตกเช่นสหรัฐฯ ภายหลังสงครามอัฟกานิสถานอิรัก แต่ผู้เขียนเห็นว่าหากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ที่ได้เขียนมา นโยบายการทหารของสหรัฐฯ นั้นไม่สามารถครอบงำประเทศขนาดใหญ่อย่างเช่นรัสเซียได้และยังมีนโยบายไกล่เกลี่ยประนีประนอมกับรัสเซียเสมอมาดังเช่นยุคของคลินตันและเยลต์ซินจึงเป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อนว่ากองทัพสหรัฐฯ อ่อนแอลงอย่างทันตาเห็น เพราะโอบามาจัดรูปแบบของนโยบายการต่างประเทศใหม่ให้แตกต่างจากบุชเพียงแค่ลดบทบาทลงในยุโรป และตะวันออกกลางโดยมุ่งหน้ามาสู่การแข่งการแพร่อิทธิพลในเอเชีย  (Pivot to Asia)  แทน ในขณะที่งบประมาณทางทหารของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในอันดับหนึ่งแม้จะมีแผนการลดงบประมาณและกำลังพลแต่ก็อยู่ในรูปแบบของการลดเพื่อให้เกิดประสิทธิมากขึ้น

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ชัดเจนที่สุดในสงครามเย็นครั้งใหม่คือการที่สหรัฐฯ ได้สูญเสียความถูกต้องชอบธรรมทางการเมืองและการทหาร การรุกรานอัฟกานิสถานและอิรักรวมไปถึงปฏิบัติการเครื่องบินไร้คนขับของ         โอบามาในปากีสถานและเยเมนทำให้คนบริสุทธิ์จำนวนมากเสียชีวิตส่งผลให้ชาวโลกจำนวนมากเสื่อมศรัทธาต่อกฎหมายระหว่างประเทศที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ สามารถล่วงละเมิดได้ตามใจชอบ ตามความเชื่อของใครหลายคน การบุกอิรักโดยปราศจากหลักฐานที่แน่ชัดของรัฐบาลบุชในปี 2003 ได้สะท้อนภาพของโลกเข้าสู่ยุคตามแนวคิดของนักปรัชญาการเมืองโทมัส โฮบส์ (Hobbesian) หรือโลกปลาใหญ่กินปลาเล็กได้ตามสบาย และวิกฤตการณ์ยูเครนครั้งนี้ก็ได้ตอกย้ำภาพเช่นนี้

   
เชิงอรรถ

(1) ความโปร่งใสของการลงประชามติยังเป็นประเด็นที่สนใจ เพราะผลที่ให้ไครเมียไปรวมกับรัสเซียรวมกันได้กว่า 96 เปอร์เซนต์ในเมื่อคนเชื้อสายอื่นของไครเมียที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะสนับสนุนรัสเซียดังเช่นพวกเชื้อสายยูเครนมีกว่า 24 เปอร์เปอร์เซนต์ และพวกเชื้อสายทาร์ทาร์ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามและมีประสบอันเลวร้ายในยุคสตาลินถึง 12 เปอร์เซนต์ เป็นที่น่าสนใจว่าในปัจจุบันชาวทาร์ทาร์จำนวนมากได้อพยพหนีไปยังยูเครนและอีกจำนวนมากกำลังเรียกร้องให้ตัวเองแยกตัวออกจากไครเมีย

(2) อย่างไรก็ตามก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าฝ่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ปูตินเองก็มีความพยายามสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับตัวสตาลินเสียใหม่โดยการคัดสรรแต่ภาพอันดีงามหรือความยิ่งใหญ่ของโซเวียตภายใต้การปกครองของสตาลินเพื่อทับซ้อนกับภาพของปูติน และในขณะเดียวกันกลุ่มที่นิยมและสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งอยู่คนละฝ่ายกับปูตินเองก็พยายามรื้อฟื้นภาพอันยิ่งใหญ่ของสตาลินเสียใหม่ อันส่งผลให้คนรัสเซียในปัจจุบันมองสตาลินในแง่ดีขึ้นกว่าเมื่อทศวรรษก่อน

(3) ครูซชอฟนั้นเกิดในเมืองคาลินอฟกาซึ่งเป็นเมืองชนบทซึ่งอยู่ติดชายแดนระหว่างรัสเซียกับยูเครน และภรรยาคนหนึ่งของเขาเป็นชาวยูเครน  อันน่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ครูซชอฟประนีประนอมผ่อนปรนกับยูเครนมากขึ้น  ดังเช่นในวาระครบรอบ 300 ปีที่ยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเมื่อปี  1954  ครูซชอฟได้ส่งมอบเกาะไครเมียให้กับยูเครนเพราะนอกจากเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์แล้วยังเพื่อประสิทธิภาพในการทำชลประทานกับคลองที่ผ่านแหลมไครเมีย

(4)  ผู้สมัครที่ชื่อเสียงโด่งดังได้แก่นางยูเลียนา ทีโมเช็งโก อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงซึ่งก็มีภาพที่ไม่สวยงามในสายตาของชาวยูเครนจำนวนมาก แม้ว่าการสนับสนุนให้ประเทศอิงกับสหภาพยุโรปและการที่เธอถูกคุมขังโดยนายยานนุชโควิกนั้นทำให้เธอมีภาพเหมือนกับอองซาน ซูจีอยู่บ้าง แต่ประวัติที่อื้อฉาวเกี่ยวกับการฉ้อราษฎรบังหลวงก็ยังคงติดตัวเธอมาจนถึงปัจจุบันและอาจส่งผลให้เธอพ่ายแพ้แก่นายเปโตร ปอโรเชงโก นักธุรกิจ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศซึ่งมีนโยบายที่เอาใจทั้งยุโรปและรัสเซียไปพร้อมกัน

(5) เป็นบททดสอบความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ เป็นอย่างดี เพราะหลายประเทศในยุโรปหวาดกลัวว่าการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียในระยะยาวจะส่งผลเสียในด้านลบกับตนยิ่งกว่าสหรัฐฯ เพราะประเทศเหล่านั้นมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท