จุดเปลี่ยนทางความคิดจากปรากฏการณ์ ส. ศิวรักษ์ ‘พุทธศาสนาสำคัญกว่าสถาบันกษัตริย์’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในวงเสวนาสามัคคีวิจารณ์เปิดตัวหนังสือ "ไตรทัศน์วิจารณ์ : ความคิดว่าด้วยพุทธศาสนา สถาบันกษัตริย์ และประชาธิปไตยของ ส. ศิวรักษ์"  เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิจารณ์ “ปรากฏการณ์ ส. ศิวรักษ์” ไว้อย่างน่าสนใจ (เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก sulak sivaraksa) ขอคัดมาให้อ่านดังนี้

ผมมองการเคลื่อนไหวของ ส. ศิวรักษ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 มาถึงปัจจุบัน ว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญา เรียกว่าเป็น “ปรากฏการณ์ปัญญาชนสยาม” ด้วยการชูด้านหลักของความคิดว่าเป็นมิติและแกนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงพัฒนาสังคมให้ก้าวไปได้อย่างมีความหมาย (หรือมี “น้ำยา” อันเป็นคำที่ ส. ศิวรักษ์ใช้บ่อยๆ เมื่อวิพากษ์การปฏิบัติของฝ่ายรัฐและสถาบันต่างๆ)

ปรากฏการณ์ของการเกิดขบวนการภูมิปัญญาดังกล่าว ไม่ใช่มีแต่ในสังคมสยาม หากแต่เป็นปรากฏการณ์ทั่วไป ซึ่งได้เกิดขึ้นหลังจากสังคมตะวันตกได้ผ่านเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา หรือเรเนซองส์ (Renaissance) และจุดระเบิดให้แก่การก่อรูปและเติบใหญ่ของสำนักปรัชญาแสงสว่างทางปัญญา (Enlightenment)

ในสังคมตะวันออก ขบวนการปัญญาชนเกิดท่ามกลางเงื่อนไขของการครอบงำจากลัทธิอาณานิคมตะวันตก เส้นทางและเนื้อหาของปรากฏการณ์ภูมิปัญญาจึงมีทั้งที่ร่วมกันและแตกต่างกันไปตามสภาพของแต่ละสังคม เช่นในฟิลิปปินส์มีกลุ่ม Illustrado หรือนักคิด แบบปัญญาชนหัวนอก หนึ่งในนั้นคือโฮเซ ริซาล บิดาของขบวนการชาตินิยมฟิลิปปินส์ต่อมา สิ่งที่มีร่วมกันคือการที่ปัญญาชนคนรุ่นใหม่เริ่มตระหนักถึงพลังของความคิด เมื่อพวกเขาสามารถคิดอย่างวิพากษ์ได้ (critical thinking) การคิดอย่างวิพากษ์เป็นผลมาจากการพัฒนาของปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลกับสังคม นี่เป็นปรากฏการณ์ของโลกสมัยใหม่และคนสมัยใหม่

คำถามแห่งยุคสมัยคือ อะไรคือสัจธรรม อะไรคือความจริงทางภววิสัย บัดนี้ความจริงได้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้เป็นวัตถุวิสัย คำถามแห่งยุคสมัยดำเนินไปบนวิธีวิทยาสมัยใหม่ ที่มีเหตุผลและตรรกะเป็นอาวุธ

เมื่อมองกลับไป คิดว่าโจทย์ใหญ่ของ ส.ศิวรักษ์ คือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์สยามจะเดินไปอย่างไรและไปทางไหน “เราจะไปทางไหนกัน”

ส. ศิวรักษ์ ให้คำตอบผ่านงานเขียนและการพูดในวาระและสถานที่ต่างๆ กว่าสี่ทศวรรษ สรุปเป็นสองคำตอบและแนวทาง

ประการแรก คือ ต้องรู้รากรู้อดีตของเราเอง ข้อนี้แสดงออกในงานเขียนว่าด้วยระบบกษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ อีกด้านคือต้องรู้เรื่องพุทธศาสนา มองเห็นมิติทางสังคมของพุทธศาสนา ในการประคับประคองสังคมไทยมายาวนาน กล่าวโดยรวมทั้งสองสถาบันเป็นพื้นฐานทางความคิดและภูมิปัญญาของสังคมสยามมายาวนานและมีความต่อเนื่องสูงที่สุด เมื่อเทียบกับสถาบันทางสังคมอื่นๆ

ประการที่สองคือรู้อนาคต ประเด็นนี้คือการพูดและวิเคราะห์วิจารณ์ว่าด้วยปัญหาและอุปสรรคของระบบประชาธิปไตยในสังคมไทยรวมถึงระบบการศึกษาด้วย

ข้อจำกัดและจุดอ่อนของปรากฏการณ์ ส. ศิวรักษ์ ได้แก่การที่การเคลื่อนไหวและกลุ่มที่เกิดขึ้นมาทำกิจกรรมทั้งหลายไม่สามารถสร้างความคิดที่วิพากษ์ต่างๆ ให้เป็นทฤษฎีหรือระบบคิดที่มีลักษณะทั่วไปได้ ด้านหนึ่งเป็นผลมาจากเพดานทางภูมิปัญญาสมัยใหม่นั้นในที่สุดไม่สามารถฝ่าและทะลุเพดานขององค์ความรู้ที่กำกับโดยพุทธทรรศน์และระบบสมบูรณาญาสิทธิ์ได้ อย่างมากที่สุดคือการวิพากษ์และชี้ถึงจุดอ่อนของสถาบันสงฆ์และกษัตริย์ที่ปฏิบัติอยู่ได้ แต่การเคลื่อนไหวนี้ไม่อาจก้าวไปสู่การนำเสนอทฤษฎีสังคมที่ลดและตัดทอนฐานะนำของสองสถาบันหลักของสังคมสยามลงไปได้ (เน้นโดยผู้เขียน)…

การชี้ให้เห็น “ข้อจำกัดและจุดอ่อนของปรากฏการณ์ ส. ศิวรักษ์” ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ชวนให้ถกเถียงกันต่อได้อีกมาก แต่ในหนังสือ “ไตรทัศน์วิจารณ์”  (น.255) ผู้เขียนได้อ้างข้อสังเกตของนิธิ เอียวศรีวงศ์ถึงปรากฏการณ์ ส.ศิวรักษ์ว่า ได้ก่อให้เกิด “จุดเปลี่ยนสำคัญ” ในแง่พัฒนาการทางความคิดของสังคมไทยก็คือ  การที่สุลักษณ์เสนอว่า “พุทธศาสนาสำคัญกว่าสถาบันกษัตริย์”

ข้อสังเกตของนิธิทำให้เรามองเห็นภาพว่า นับแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา สถาบันกษัตริย์สำคัญเทียบเท่าหรือสำคัญกว่าพุทธศาสนามาโดยตลอด เห็นได้จากการใช้พุทธศาสนาสถาปนาสถานะกษัตริย์ให้สูงส่งศักดิ์สิทธิ์เป็นพระโพธิสัตว์ กระทั่งเป็น “พระพุทธเจ้าอยู่หัว” การอ้างทศพิธราชธรรมก็อ้างเพื่อสดุดีกษัตริย์

แต่สุลักษณ์เปลี่ยนมาอ้างทศพิธราชธรรมเพื่อกำกับตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ว่า ได้ปฏิบัติสอดคล้องตามครรลองแห่งรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

หมายความว่า ก่อนหน้านั้นมิติทางสังคมการเมืองของพุทธศาสนา คือมิติที่สนับสนุน “สมบูรณาญาสิทธิ์สยาม” เป็นด้านหลัก แต่สุลักษณ์คือผู้ที่เสนอการตีความมิติทางสังคมการเมืองของพุทธศาสนาใหม่  ให้เป็นไปในทางสนับสนุนความเป็นประชาธิปไตย เขายืนยันว่าประชาธิปไตยที่พึงประสงค์นั้น ต้องพ้นไปจากอำนาจเผด็จการทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการศักดินาอำมาตยาธิปไตย หรือเผด็จการทุนนิยมที่กดขี่เอาเปรียบคนชั้นล่างในสังคม

แน่นอน ผู้เขียนเห็นด้วยกับอาจารย์ธเนศว่า การทำความเข้าใจความคิดของปัญญาชนสยามสมัยใหม่ (ไล่มาตั้งแต่เทียนวรรณ จนถึงกุหลาบ สายประดิษฐ์, นายผี, จิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ) เราอาจทำความเข้าใจความคิดของพวกเขาได้ผ่านบริบทการเปลี่ยนแปลงทางความคิดสู่ความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ในโลกตะวันตก เพราะความคิดสมัยใหม่แบบตะวันตกย่อมมีอิทธิพลต่อความคิดของพวกเขาในแง่ใดแง่หนึ่ง

พุทธศาสนาตามนิยามของสุลักษณ์ก็ไม่ใช่พุทธศาสนาในความหมายของ “พุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” หากเป็นพุทธที่ “ตีความใหม่” ผ่านการปะทะกับภูมิปัญญาตะวันตกอย่างมีนัยสำคัญ

เช่น เมื่อสุลักษณ์พูดถึง “ทศพิธราชธรรม” ก็มีกลิ่นไอของคุณธรรมผู้ปกครองที่เป็นราชาปราชญ์ของเพลโต มีมิติของกษัตริยธรรมตามคติคริสต์นิกายอังกฤษ (Anglican) ที่ถือว่าคนสูงศักดิ์ต้องเสียสละเพื่อประโยชน์ของคนอื่น (noblesse oblige) หรือที่สุลักษณ์มักจะพูดว่า “เสียสละรับใช้ราษฎร”

เมื่อพูดว่าสังคมสงฆ์สมัยพุทธกาลเป็นแบบอย่างแห่งสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยบนพื้นฐานของความเสมอภาค เสรีภาพ ภราดรภาพ สุลักษณ์ก็อ้างการตีความของ ดร.อัมเบดการ์ประธานร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอินเดีย ผู้สำเร็จปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกตะวันตก

เช่นเดียวกัน เมื่อเขาพูดถึงการเปลี่ยนโครงสร้างอันอยุติธรรมและรุนแรงทางสังคมภายใต้อิทธิพลของการกระตุ้นความโลภ โกรธ หลง ให้เป็นโครงสร้างแห่งการให้ ความรัก และปัญญา ซึ่งหมายถึงต้องพ้นไปจากการครอบงำของศักดินาอำมาตยาธิปไตยและอำนาจทุนทางการเมือง หรือทุนนิยม บริโภคนิยม เราก็เห็นความคิดดังกล่าวในนักคิดสมัยใหม่อย่างเดวิด ลอย

เมื่อเขายืนยัน “วิถีประชาธิปไตยแบบชาวบ้าน” เขาก็อ้างถึงทั้งวิถีชาวบ้านไทยในอดีต วิถีชุมชนแอฟริกาที่ผ่านคำบรรยายของเนลสัน แมนเดลา เมื่อเขายืนยันสัจจะที่ต้องมีคู่กับเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบ เราก็เห็นความคิดคล้ายกันนี้ที่ว่าด้วย “แสงสว่างทางปัญญาเกิดขึ้นได้เมื่อมนุษย์ใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์” ของอิมมานูเอล ค้านท์ เป็นต้น

จึงกล่าวได้ว่า พุทธศาสนาตามการตีความใหม่ของสุลักษณ์ เป็นพุทธศาสนาที่พยายามเข้ามาปะทะสังสรรค์ ขัดแย้ง กลมกลืน และอยู่ร่วมกับความคิดสมัยใหม่ พยายามหนุนเสริมคุณค่าบางอย่างของความคิดสมัยใหม่โดยเฉพาะคุณค่าในเรื่องการแสวงหาสัจจะ คุณธรรม ภายใต้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบประเด็นสาธารณะในทุกๆ เรื่อง

 

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม “พุทธศาสนากับความคิดสมัยใหม่” เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข (5-11 เม.ย.57)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท