Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

ถึงแม้ว่าสุสานจีนที่วัดพนัญเชิง  ที่กำลังจะมีการดำเนินการขุดรื้อกันอยู่นี้  จะเพิ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2495  แต่หากพิจารณาบทบาทความเป็นมาของชาวจีนในพระนครศรีอยุธยา  ก็จะพบว่ามีประวัติยาวนานคู่เคียงมากับประวัติศาสตร์ของอโยธยา-อยุธยาโน่นแหล่ะ  ดังจะเห็นได้จากการที่ชาวจีนมีประวัติเกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องสำคัญดังต่อไปนี้  

(1) ภูมิศาสตร์กายภาพ แม่น้ำ ลำคลอง,  ก่อนหน้าอโยธยาจะถือกำเนิดขึ้น  ละโว้และอู่ทอง เคยเป็นรัฐชายฝั่งโบราณมาแต่ก่อน  และแม่น้ำสายหลักสำคัญเก่าแก่นั้น ได้แก่ แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำท่าจีน, แม่น้ำแม่กลอง, แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำเพชรบุรี บ้านเมืองต่างๆ ที่ตั้งริมฝั่งแม่น้ำเหล่านี้  รวมทั้งเมืองที่มีแม่น้ำและลำคลองสายย่อยเชื่อมต่อกับแม่น้ำสายหลักทั้งห้า  ล้วนเป็นเมืองสำคัญในเขตภาคกลางของสยาม  โดยที่แม่น้ำท่าจีนกับแม่กลองมีเส้นทางไหลเชื่อมกับเมืองท่าทวาย  ก็ทำให้เกิดเป็นเส้นทางเข้าสู่สุวรรณภูมิของอารยธรรมอินเดีย 

แต่เมื่อแม่น้ำท่าจีน แม่กลอง ป่าสัก และน้ำเพชร บางช่วงเกิดตื้นเขินและหดแคบ  ประกอบกับเกิดผืนแผ่นดินใหม่ขึ้นที่บริเวณที่เป็นอยุธยา กรุงเทพ สมุทรสาคร และแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายน้องใหม่มีความกว้างและลึก  จนเรือสำเภาขนาดใหญ่สามารถแล่นจากปากอ่าวเข้าไปติดต่อกับบ้านเมืองต่างๆ ได้  จึงทำให้เกิดเส้นทางคมนาคมใหม่  ซึ่งสะดวกและเอื้อต่อการไหลบ่าเข้ามาของอารยธรรมจีนที่มาพร้อมกับการค้าทางทะเล  

(2) ชุมชนจีนพัฒนากลายเป็นบ้านเมือง, กลุ่มพ่อค้าชาวจีนนับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แรกๆ ที่เข้ามาตั้งชุมชนอยู่อาศัยในบริเวณแผ่นดินใหม่ที่เป็นอโยธยา-อยุธยาในเวลาต่อมา  โดยในระยะแรกเริ่มชาวจีนได้สร้างสถานีที่พักหลังเดินทางข้ามทะเลมา  ก่อนจะเดินทางต่อไปยังบ้านเมืองในแคว้นละโว้และสุพรรณภูมิ  และเป็นที่สำหรับเปลี่ยนถ่ายเรือขนสินค้าข้าวของและผู้คน  ก่อนแล่นออกสู่ทะเลไปยังจีนและที่อื่นๆ ของย่านอุษาคเนย์  ความสำคัญที่มีต่อการเป็นเส้นทางการค้าและด้านอื่นๆ  ทำให้ราชวงศ์ละโว้ได้เคลื่อนย้ายผู้คนและทรัพยากรลงมาสถาปนาขึ้นเป็นศูนย์กลางใหม่ ในชื่อว่า “กรุงอโยธยาศรีรามเทพนคร” เปลี่ยนละโว้เป็นเมืองลูกหลวงมีชื่อว่า “ลพบุรี” จึงได้หัวเมืองในแคว้นละโว้เก่าไว้ในอำนาจทางการเมืองการปกครอง  ขยายไปมีอิทธิพลต่อสุพรรณภูมิในลุ่มแม่น้ำท่าจีนเก่า  ต่อมาก็ไปพิชิตเขมรพระนคร  จากการรวมกำลังกันของลพบุรีและสุพรรณภูมิ  เมื่อเสร็จศึกนอก  ศึกในก็บังเกิด  ราชวงศ์สุพรรณภูมิปราบดาภิเษกชิงเมืองอโยธยาได้จากราชวงศ์ละโว้เป็นผลสำเร็จ 

(3) ตำนานปรัมปรา พระราชพงศาวดารเหนือ ประเพณีทิ้งกระจาด, เรื่องของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง-พระนางสร้อยดอกหมาก ที่ท้ายสุดไม่ว่าจะมีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ออกไปในทางใด  ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตำนานนี้บอกเล่าความสำคัญของจีนที่มีต่ออโยธยา  ราชธิดาพระเจ้ากรุงจีนเป็นสิ่งแสดงบุญญาธิการของกษัตริย์ที่มิได้สืบเชื้อสายมาจากชนชั้นสูง  การเดินทางของเจิ้งเหอ-ซำปอกง  ก็เป็นอีกตำนานหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อความสมานฉันท์ระหว่างชาวจีนกับคนพื้นเมืองเชื้อสายหลักเป็นเขมร (ลพบุรี) และเชื้อสายมอญ-ลาว (สุพรรณบุรี) 

บริเวณปากน้ำแม่เบี้ยติดกับบ้านฮอลันดา ไม่ไกลวัดพนัญเชิง  มีศาลเจ้าเก่าแก่ชื่อซำปอฮุดกงตั้งอยู่  ความเชื่อระหว่างคนพื้นเมืองกับคนจีนก็ผสมปนเปอยู่ในพื้นที่เดียวกัน  หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง ศิลปะอโยธยา สำหรับคนพื้นเมืองสร้างขึ้นโดยพระเจ้าธรรมิกราชา  เพื่อระลึกถึงพระเจ้าสายน้ำผึ้ง พระราชบิดาของพระองค์  ในขณะที่สำหรับชาวจีนพระพุทธรูปองค์นี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ซำปอกง”  เพื่อระลึกนึกถึงบรรพชนที่เดินทางเข้ามา ควบคู่กับประเพณีทิ้งกระจาดเพื่อระลึกถึงบรรพชนชาวจีนที่พลัดพรากจากแผ่นดินเกิดมา  ไม่ใช่ประเพณีเพื่อการแบ่งแยก  ดังจะเห็นได้จากไม่มีการกีดกันคนนอกเข้าร่วมพิธี

ตำนานพระเจ้าสายน้ำผึ้ง-พระนางสร้อยดอกหมาก เจิ้งเหอ/ซำปอกง ที่ให้นิยามความหมายกำเนิดวัดพนัญเชิงและพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านเมือง  ล้วนเป็นสิ่งยืนยันว่าวัดตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนจีนที่มีมาก่อนหน้า  แม้ชุมชนจีนเก่าแก่ครั้งอโยธยาจะหายไปจากพื้นที่ตามกาลเวลา  และชาวจีนในพระนครศรีอยุธยาปัจจุบันเป็นอีกกลุ่มที่เข้ามาภายหลัง  ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงอย่างไรก็ได้ชื่อเป็นเจ๊กเป็นจีนเหมือนกันนั่นแหล่ะ  โดยไม่ต้องไปสืบสาแหรกให้ยุ่งยากมากความ  การเป็นที่ตั้งวัดชุมชนจีน  ก็เป็นสิ่งยืนยันว่าพื้นที่ตรงนี้ได้รับสิทธิให้เป็นพื้นที่ของชาวจีนเป็นที่รู้กัน   

(4) การต่างประเทศ การเมืองการปกครอง การปราบดาภิเษก ศิลปวัฒนธรรม,  สาเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราชวงศ์สุพรรณภูมิมีชัยต่อราชวงศ์ละโว้ได้ราบคาบ  นอกจากความช่วยเหลือจากเครือญาติในราชวงศ์สุโขทัย  ราชวงศ์สุพรรณภูมิที่ได้รับสิทธิปกครองอยุธยานับร้อยปีเศษ  ยังมีฐานสนับสนุนในระดับสากลจากจีนที่เป็นมหาอำนาจของโลกตะวันออกยุคนั้น  หลังจากอินเดียที่เคยติดต่อสัมพันธ์เปลี่ยนไปถูกยึดครองโดยราชวงศ์ที่นับถืออิสลาม  ประกอบกับความรุ่งเรืองของจีนได้เบ่งบานทั่วไปในย่านอุษาคเนย์  หลังมีเส้นทางคมนาคมใหม่  ราชวงศ์สุพรรณภูมิก็เริ่มให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมจีนบ้าง  กระทั่งได้ส่งยุพราช “เจ้านครอินทร์” (ชื่อตำแหน่ง) จากสุพรรณบุรีไปศึกษาศิลปวิทยาการยังจีนแผ่นดินใหญ่ 

เมื่อเสด็จกลับไม่นาน เจ้านครอินทร์พระองค์นั้นก็จากสุพรรณบุรีมาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา  ภายใต้ความสนับสนุนจากขุนนางผู้ใหญ่และภิกษุสงฆ์ เนื่องจากเจ้านครอินทร์ได้นำช่างจีนและทรงนิยมขนบประเพณีจีน  ก็เป็นเหตุให้เกิดการแพร่หลายของศิลปวัฒนธรรมแบบจีนขึ้นตามวัดวาอารามสถานที่สำคัญในพระนครศรีอยุธยา ตลอดจนขนบธรรมเนียมในราชสำนักอยุธยาก็นิยมปฏิบัติตามแบบจีน

(5) การค้า กรมท่าซ้าย คลองนายก่าย เกาะแก้ว คลองสวนพลู, เมื่อมีชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายมากขึ้น อันเป็นผลจากการขยายตัวของการค้าจากระดับนานาชาติ ก็ทำให้มีชาวต่างชาติเข้ามาตั้งชุมชนอยู่อาศัย อย่างเช่น คุชราต มากัสซาร์ เปอร์เซีย ญี่ปุ่น ยุโรป ฯลฯ  ชาวจีนที่เข้ามานานและเป็นที่รู้จักมักคุ้นมาก่อนกลุ่มอื่นๆ  ก็ได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา  เดิมพื้นที่เกาะเมืองเป็นที่หวงห้ามสำหรับต่างชาติ  แต่ชาวจีนก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้าไปตั้งชุมชนอยู่อาศัย 

ต่อมาเมื่อชาวเปอร์เซียได้รับพระบรมราชานุญาตให้ย้ายคนส่วนหนึ่ง  จากตะเกี่ยมาตั้งชุมชนในพื้นที่เกาะเมืองด้วยเช่นกัน  จึงได้เกิดการขุดคลองคั่นระหว่างทั้งสองชุมชนใหญ่ขึ้น คือคลองนายก่าย (คลองในไก่ต่อคลองมะขามเรียงในปัจจุบัน) เกิดเป็นย่านการค้าขนาดใหญ่ใจกลางพระนคร  ภายใต้การกำกับดูแลและขึ้นต่อกรมท่าขวาและกรมท่าซ้าย กรมท่าขวาเป็นกรมท่าการค้าของชาวเปอร์เซีย  มีขุนนางผู้ใหญ่คือ “ออกพระจุฬาราชมนตรี” ทำหน้าที่กำกับดูแล  กับกรมท่าซ้าย กรมท่าการค้าชาวจีน มีขุนนางผู้ใหญ่คือ “พระยาโชฎึกราชเศรษฐี” ทำหน้าที่กำกับดูแล 

นอกจากขยายเข้าไปสู่เกาะเมืองแล้ว  ชุมชนจีนยังขยายไปครอบรวมบริเวณเกาะแก้ว ย่านคลองสวนพลู  อันเป็นย่านศูนย์กลางเก่าของอโยธยาก่อนเป็นกรุงศรีอยุธยา  จากความสำคัญของพื้นที่นำไปสู่การแบ่งชนชั้นในชุมชนจีน  โดยจีนที่อยู่ในเกาะเมือง  เป็นจีนฮกเกี้ยน (ชนชั้นผู้ดี)  จีนที่อยู่ย่านคลองสวนพลู เป็นจีนแต้จิ๋ว (ไพร่, ชาวนา)  ครั้นถึงปลายอยุธยา  ชุมชนทั้งสองก็ได้ให้กำเนิดบุคคลสำคัญของชุมชนจีนและเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยด้วย ได้แก่  นายสิน (พระเจ้าตากสินในเวลาต่อมา) จากชุมชนจีนแต้จิ๋วที่เกาะแก้ว และนายทองด้วง (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ในเวลาต่อมา) จากชุมชนจีนฮกเกี้ยนที่บริเวณวัดสุวรรณดาราราม ฝั่งตะวันออกของคลองนายก่าย  เมื่อได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา  ครั้นเกิดเหตุพม่ามอญมารบพุ่งทำลาย  ก็ได้คนจากชุมชนจีนนี้แหล่ะที่กอบกู้และฟื้นฟู  กระทั่งกลับตั้งเป็นบ้านเมืองอีกครั้ง   

จะเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์นั้นบ่งบอกชัดว่าชาวจีนมีสิทธิในที่ดินผืนนั้น  มาแต่ครั้งอโยธยาจนตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา  แต่เหตุการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น  กลับกลายเป็นว่าวัดที่มีประวัติก่อตั้งและความเป็นมาที่สัมพันธ์กับชุมชนจีนในพระนครศรีอยุธยามาตั้งแต่ตอนต้น  กลับจะมีการกระทำอันถือเป็นการทำร้ายจิตใจและเหยียบย่ำเกียรติภูมิศักดิ์ศรีของพี่น้องชาวจีนอย่างร้ายแรง  ถึงขนาดจะดำเนินการนำเอาที่ดินอันเป็นสุสานฝังบรรพชนคนจีน  ไปแปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่เศรษฐกิจการท่องเที่ยวเพื่อรองรับและบริการผู้คนจากในเมือง โดยให้เหตุผลว่าจะจัดให้เป็นสถานที่อำนวยความสะดวกแก่ญาติโยมที่หลั่งไหลกันมาสักการะหลวงพ่อโต  เหตุดังนั้น ถ้าเราแลเห็น เคารพ และเข้าใจ ประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาและของชาวจีนในพระนครศรีอยุธยา  ก็ขอให้ยุติการกระทำดังกล่าวนี้เสีย  หันมาหาทางออกร่วมกันกับชุมชน  เพื่อวัดกับชุมชนจะได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และอยู่ร่วมกันได้ต่อไป

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:   ปัจจุบัน กำพล  จำปาพันธ์ เป็นนักวิชาการอยู่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนรายวัน 7 เมษายน 2557
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net