4 ปีเมษา-พฤษภาเลือด: สรุปภาพรวมคำสั่งไต่สวนการตาย กระสุนมาจากไหน

"..รัฐบาลชุดนี้พยายามจะนิรโทษกรรม คนที่ฆ่าพลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม และทหารที่ออกมารักษาความสงบด้วยมือเปล่า แต่ถูกบรรดาสมุนบริวารของทักษิณฆ่าตายด้วยอาวุธสงคราม ที่หน้าเจ็บใจคือว่าไอ้พวกที่เข่นฆ่าพลเอกร่มเกล้า ตอนนี้มาเป็นรัฐบาล และ พวกท่านที่เป็นทหาร ยังต้องทำความเคารพพวกมัน ทั้งๆ ที่มันหมดความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาล ตั้งแต่ที่มันไม่เคารพรัฐธรรมนูญแล้ว.."

สุเทพ เทือกสุบรรณ, 19 ก.พ.57

ที่มา: เพจ Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)

 

คำพูดของสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งเข้าพบนายทหารระดับสูงเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บ่งชี้ถึงความพยายามอธิบายเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนเมษายนว่า “ทหารมามือเปล่า” และละเว้นการกล่าวถึงตัวเองซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งหลักโดยตรง ขณะที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยกล่าวว่าไม่อาจเอ่ยคำขอโทษ เพราะข้อเท็จจริงทั้งหมดยังไม่เป็นที่สรุปแจ้งชัด

ที่ผ่านมานายสุเทพได้เลื่อนนัดรายงานตัวต่ออัยการหลายครั้งเนื่องจากติดภารกิจนำการชุมนุมทางการเมือง จนล่าสุดเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2557 ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับเขา ในฐานะผู้ต้องหาร่วมกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล กรณีออกคำสั่ง ศอฉ.ขอคืนพื้นที่การชุมนุมเมื่อปี 2553 ในคดีนี้ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 23 มิ.ย. เนื่องจากต้องการรอข้อมูลการไต่สวนข้อเท็จจริงจากป.ป.ช.ก่อน (อ่านข่าวที่นี่)

จากเหตุการณ์ความรุนแรงเดือนเมษายนต่อเนื่องถึงเดือนพฤษภาคม 2553 ตัวเลขทางการระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 94 ราย (ตัวเลขจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการสลายชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 - ศปช.) บาดเจ็บราว 2,000 ราย ปัจจุบันมีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ไต่สวนการตาย ดำเนินอยู่หลายคดี ส่วนที่ศาลมีคำสั่งแล้วมีอยู่ 19 คดี รวม 29 ราย

ในจำนวน 29 รายที่ศาลมีคำสั่งแล้วนั้น มีอยู่ 17 ราย ที่ศาลระบุว่ามีวิถีการยิงมาจากฝั่งทหารชัดเจน แต่ไม่อาจระบุถึงตัวบุคคลได้ว่านายทหารผู้ใดเป็นคนยิง คำสั่งเหล่านี้ทยอยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยสื่อส่วนใหญ่แทบจะไม่ให้ความสนใจ

การไต่ชันสูตรพลิกศพนั้นเป็นกระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เพื่อให้ศาลสั่งเบื้องต้นว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์การตายเป็นอย่างไร ใครกระทำ จากนั้นอัยการจึงจะส่งฟ้องเป็นคดีอาญา

ผู้เสียชีวิตที่อัยการสั่งฟ้องคดีแล้วคือกรณีของนายพัน คำกอง, ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ (น้องอีซา) รวมถึงนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส และเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอัยการได้แถลงเตรียนำสำนวน 6 ศพวัดปทุมวนาราม ไปรวมกับคดีที่ยื่นฟ้องไปแล้วด้วย

ส่วนกรณีที่ยังอยู่ในกระบวนการไต่สวนในชั้นศาลมีอีก 4 ราย ประกอบด้วย นายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ นายวสันต์ ภู่ทอง นายทศชัย เมฆงามฟ้า และนายเกรียงไกร คำน้อย  ขณะที่มีส่วนที่อยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาลอีก 4 ราย คือพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล นายสวาท วางาม นายไพรศล ทิพย์ลม และนายมนต์ชัย แซ่จอง

สำหรับกรณีของนายเกรียงไกร คำน้อย จะมีการสืบพยานนัดสุดท้ายวันที่ 12 มิ.ย.นี้  ส่วนกรณีของนายฮิโรยูกิ นายวสันต์ และนายทศชัยนั้น มีนัดไต่สวนครั้งต่อไปวันที่ 22 เม.ย.นี้

 


คลิ๊กดูภาพขนาดใหญ่

 

เปิดรายละเอียดคำสั่งศาลไต่สวนการตาย

รายละเอียดคำสั่งชันสูตรพลิกศพของผู้เสียชีวิตทั้ง 29 รายนั้น ศาลเริ่มมีคำสั่งทยอยออกมาตั้งแต่ปลายปี 2555 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2557 มีหลายรายที่เสียชีวิตในเหตุการณ์เดียวกันในพื้นที่ใกล้กันและใช้พยานชุดเดียวกัน ก็ถูกรวมกันไว้เป็นคดีเดียว รายละเอียดของแต่ละคดีเรียงตามลำดับวันเวลาที่ศาลมีคำสั่ง ปรากฏดังนี้

“นายพัน คำกอง” 

คนขับแท็กซี่ที่ถูกยิงเสียชีวิตคืนวันที่ 14 ต่อ 15 พ.ค.53 บริเวณแอร์พอร์ตลิงก์ ถนนราชปรารภ ในเหตุการณ์ทหารยิงรถตู้ที่วิ่งเข้ามา

ศาลสั่งเมื่อวันที่ 17 ก.ย.55

"เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเกิดจากการถูกลูกกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ตู้ หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหม เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ ปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน"

http://prachatai.com/journal/2012/09/42676

“นายชาญณรงค์ พลศรีลา”

คนขับรถแท็กซี่เสื้อแดงที่ถูกยิงและเสียชีวิตบริเวณหน้าปั้มเชลล์ ถนนราชปรารภ ช่วงบ่ายวันที่ 15 พ.ค.53 ภาพเหตุการณ์ที่เขาถูกยิงถูกถ่ายและเผยแพร่โดยช่างภาพต่างประเทศ นิค นอสติทช์

ศาลเมื่อวันที่ 26 พ.ย.55

“เป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารขณะควบคุมสถานการณ์การชุมนุม ตามคําสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ที่บริเวณถนนราชปรารภ ด้วยกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 หรือ 5.56 มิลลิเมตร ที่บริเวณช่องท้องและแขน เป็นเหตุให้เสียชีวิต แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นทหารคนใดหรือสังกัดใดที่ทำให้นายชาญณรงค์เสียชีวิต” 

คำสั่งศาลระบุด้วยว่ากระสุนดังกล่าวเป็นกระสุนที่ใช้กับ ปืน HK33, M16 และ ปืนทราโว่ ทาร์ 21 ซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกให้กับบุคคลทั่วไปได้ และมีใช้ในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ ทั้งนี้ประจักษ์พยานที่ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นนักข่าวชาวไทยและชาวต่างชาติยืนยันตรงกันว่ากระสุนถูกยิงมาจากฝั่งที่ทหารวางกำลังอยู่ รวมทั้งพยานที่เป็นพนักงานสอบสวนในดดีนี้เบิกความด้วยว่าในบริเวณที่ทหารวางกำลังอยู่นั้นไม่สามารถมีบุคคลอื่นใดเข้าออกได้ ทำให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่ากระสุนปืนที่มาจากฝั่งทหารนั้น จึงไม่มีใครที่อยู่ในพื้นที่นั้นได้นอกจากเจ้าหน้าที่ทหาร อีกทั้งพยานยืนยันด้วยว่าผู้ตายไม่ได้มีการใช้อาวุธตอบโต้หรือยั่วยุเจ้าหน้าที่

http://prachatai.com/journal/2012/11/43874

“นายชาติชาย ชาเหลา”

เสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 53 เวลากลางคืน ถนนพระราม 4 นับเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม ต่อจาก เสธ.แดง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล

ศาลสั่งเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.55

“เหตุและพฤติการณ์การตาย สืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด ขนาด .223 (5.56 ม.ม.) เป็นเหตุให้สมองฉีกขาดร่วมกับกะโหลกศีรษะแตกอย่างมาก ซึ่งวิถีกระสุนปืนมาจากแนวด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบ ถ.พระราม 4 โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

ศาลระบุด้วยว่า ในวันที่ 13 พ.ค.53 เวลาประมาณ 21.00 น. ระหว่างเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ ผู้ตายกับพวกซึ่งเป็นผู้ชุมนุม นปช. ได้รวมตัวกัน ทยอยเคลื่อนที่เข้าหาด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน และได้ยิงพลุและตะไลเข้าใส่เจ้าพนักงาน ส่วนผู้ตายถือกล้องถ่ายวิดีโอถ่ายภาพระหว่างเคลื่อนที่เข้าหาด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน  ระหว่างนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นกระสุนปืนถูกผู้ตายที่ศีรษะทะลุด้านหลัง ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ศาลเห็นว่าผู้ร้องมีประจักษ์พยาน(เจ้าหน้าที่กู้ชีพของวิชรพยาบาล)ยืนยันว่าว่าเห็นแสงที่เชื่อว่าเป็นกระสุนปืนมาจากแนวตั้งด่านของฝ่ายเจ้าพนักงาน ซึ่งพยานเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าพยานเบิกความตามความจริงที่รู้เห็นมา เมื่อรับฟังประกอบความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ เชื่อได้ว่าวิถีกระสุนมาจากทางแยกศาลาแดง แนวตั้งด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน ทั้งจุดเกิดเหตุมีเพียงเจ้าพนักงานตั้งด่านตรวจแข็งแรงและเจ้าพนักงานมีอาวุธประจำกายได้แก่ ปืนเล็กยาวเอ็ม 16 ปืนเล็กสั้นเอ็ม 653 ปืนเล็กยาวแบบ 11(HK 33) ปืนลูกซองและปืนพก ดูแลพื้นที่ตามคำสั่ง ศอฉ. กระสุนปืนขนาด .223 ที่ยิงมาถูกผู้ตายก็เป็นกระสุนปืนขนาดเดียวกับกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธเจ้าพนักงานที่ใช้ประจำการ

http://prachatai.com/journal/2012/12/44257

"ด.ช.อีซา"

ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณหรือ “อีซา” อายุ 12 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนความเร็วสูงที่หลังทะลุ เข้าช่องท้องทําให้เลือดออกมากในช่องท้องเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 เวลาหลังเที่ยงคืน ที่บริเวณใต้แอร์พอร์ตลิงก์ ปากซอยหมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ ถนนราชปรารภ 

ศาลมีคำสั่งเมื่อ 20 ธ.ค.55

“ผู้ตายคือ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ตายระหว่างถูกนำส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พ.ค.53 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือถูกลูกกระสุนปืนซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่”

คำสั่งศาลระบุด้วยว่า แม้พยานผู้ร้องจะไม่มีใครสามารถระบุตัวได้แน่ชัดว่า ผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นใคร แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันเกิดเหตุ ถ.ราชปรารภตั้งแต่ สี่แยกประตูน้ำไปจนถึง สี่แยกมักกะสัน เป็นพื้นที่ควบคุม โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ และกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ประจำอยู่ตลอดแนวถนนราชปรารภทั้ง 2 ฝั่ง จึงเป็นการยากที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหารจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุได้โดยไม่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำการอยู่พบเห็น อีกทั้งแพทย์ผู้ตรวจศพผู้ตายได้เบิกความรับรองว่าพบโลหะชิ้นเล็กที่บาดแผลของผู้ตาย สันนิษฐานว่าเป็นโลหะจากหัวกระสุนปืนความเร็วสูงซึ่งเป็นปืนที่ใช้ในราชการสงคราม ประเภท เอ็ม16 หรืออาก้า ซึ่งเมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานผู้ร้องและภาพที่ปรากฏในแผ่นดีวีดีหลักฐาน จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการบริเวณที่เกิดเหตุหลายคนมีอาวุธปืนเอ็ม16 อยู่ด้วย ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังเป็นประการอื่นได้

http://prachatai.com/journal/2012/12/44309

“นายบุญมี เริ่มสุข”

วัย 71 ปี ถูกยิงที่ย่านบ่อนไก่ บริเวณท้องด้านซ้ายกระสุนตัด ลําไส้เล็กขาดตอน เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 โดยนายบุญนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหลายวัน ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 28 ก.ค.53

ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่  16 ม.ค.56  

เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายสืบเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด ร่วมกับประวัติถูกยิงที่บริเวณช่องท้อง ด้วยกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) ขณะที่อยู่บริเวณถนนพระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ”

http://prachatai.com/journal/2013/01/44703

“นายมานะ อาจราญ”

ลูกจ้างของสวนสัตว์ดุสิตแผนกบำรุงรักษา ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตเมื่อกลางดึกของวันที่ 10 เม.ย. 53 บริเวณสวนสัตว์ดุสิต ภายหลังการสลายการชุมนุมในช่วงค่ำบริเวณแยกคอกวัวและถนนดินสอสงบลง ทั้งนี้ ลานจอดรถของสวนสัตว์ดุสิตเป็นจุดพักของเจ้าหน้าที่ทหารจากค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา จำนวนหลายกองร้อย

ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 ก.พ.56

 "นายมานะ อาจราญ ถึงแก่ความตายในสวนสัตว์ดุสิตในคืนวันที่ 10 เม.ย.53 โดยถูกกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะทำลายเนื้อสมอง โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ”

ศาลระบุด้วยว่า ผู้ร้องไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุว่าผู้ยิงเป็นทหารหรือบุคคลใด ไม่มีพยานยืนยันการใช้อาวุธปืนของทหารซึ่งมีการนำสืบว่าหมอบอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ แม้ รปภ.สวนสัตว์ดุสิตจะเบิกความว่ามีการยิงของทหารจากด้านในสวนสัตว์โดยยิงเฉียงขึ้นฟ้าไปทางฝั่งรัฐสภา แต่ก็เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุกำลังวิ่งเข้าไปที่อาคารจอดรถ ไม่ใช่จุดที่นายมานะถูกยิงเสียชีวิตและไม่ใช่จุดที่พบทหารหมอบอยู่ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ที่เข้าเวรคู่กับนายมานะได้วิ่งออกมาหลังได้ยินเสียงปืนก็พบกับทหารที่หมอบอยู่ ทหารก็ไม่ได้มีท่าทีจะทำร้ายนายบุญมี หากทหารกลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ทำร้ายนายมานะ นายบุญมีก็คงถูกยิงเช่นกัน ส่วนแพทย์จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ตรวจแนววิถีกระสุน จำลองแนววิถีกระสุนได้เพียงจุดยิงกว้างๆ ไม่อาจสันนิษฐานว่าเป็นจุดเดียวกับที่ทหารหมอบอยู่ ส่วนปลอกกระสุน 2 ปลอกที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุนั้น ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นกระสุนที่ใช้ยิงผู้ตายหรือไม่ เพราะไม่มีหัวกระสุนมาตรวจสอบ และจากการตรวจสอบอาวุธปืน 29 กระบอกที่กองกำลังค่ายสุรนารีเบิกใช้ก็ไม่ตรงกับปลอกในที่เกิดเหตุ 

http://prachatai.com/journal/2013/02/45413

“นายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง

นายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง หรือ ลุงคิม อายุ 55 ปี ที่ถูกยิงเข้าที่หลังด้านซ้าย กระสุนทะลุไขสันหลังและปอดขวา กระสุนไปฝังที่สะบักขวา บาดเจ็บสาหัสและเป็นอัมพาตเกือบ 2 ปีก่อนเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 12.00 - 13.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค.53 บริเวณหน้าโรงรับจำนำน่ำเลี้ยง ถนนพระราม 4 บ่อนไก่ นายฐานุทัศน์ ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมาเมื่อ 23 ก.พ. 55 ที่ รพ.มเหสักข์

ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 มี.ค.56

“เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตายสืบเนื่องจากปอดอักเสบ  ระบบไหลเวียนโลหิตและการหายใจล้มเหลวจากโรคมะเร็งระยะลุกลาม โดยมิใช่ผลโดยตรงจากการถูกยิง"

ศาลระบุด้วยว่า การที่นายฐานุทัศน์ถูกยิงแล้วมีผลให้เป็นอัมพาตที่ขาทั้งสองข้าง มิได้เป็นผลโดยตรงที่ทำให้นายฐานุทัศน์เป็นอัมพาตที่แขนทั้งสองข้าง  อีกทั้งทางไต่สวนไม่ปรากฎว่า การที่นายฐานุทัศน์มีกระดูกทับเส้นประสาทระดับคอ  และมีเลือดออกที่กระดูกคอนั้นเกิดขึ้นเพราะสาเหตุใด และได้ความว่าหลังจากหลังจากถูกยิงผู้ตายยังมีอาการหายใจได้ดีมาตลอด  เพิ่งมีปัญหาเรื่องระบบการหายใจตั้งแต่เมื่อมีอาการแขนทั้งสองข้างอ่อนแรงและมีการกดทับไขสันหลังระดับคอนอกจากนี้ยังได้ความว่า  นายฐานุทัศน์ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบและโรคมะเร็งในระยะลุกลามจนกระทั่งถึงแก่ความตาย  แม้มีการพบหัวกระสุนปืนที่บริเวณสะบักด้านขวาก็ตาม  แต่ได้ความจากแพทย์ผู้ตรวจศพว่าหัวกระสุนปืนดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้ถึงแก่ความตาย และแม้ว่าหัวกระสุนปืนดังกล่าวจะอยู่ในร่างกายของนายฐานุทัศน์ตลอดไปก็ไม่เป็นเหตุทำให้ถึงแก่ความตาย เพราะตำแหน่งหัวกระสุนปืนอยู่ใต้ผิวหนังบริเวณสะบักซึ่งไม่มีอวัยวะสำคัญ  จากข้อเท็จจริงดังที่วินิจฉัยมาข้างต้นฟังได้ว่า การที่นายฐานุทัศน์ถูกยิงมิใช่ผลโดยตรงที่ทำให้ถึงแก่ความตาย  แต่สาเหตุที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายเกิดจากปอดอักเสบ ระบบไหลเวียนโลหิตและการหายใจล้มเหลวจากโรคมะเร็งระยะลุกลาม

http://prachatai.com/journal/2013/03/45966

“พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ”
ทหารสังกัด ร.พัน. 2 พล.ร. 9 จ.กาญจนบุรี ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ชุดลาดตระเวนเคลื่อนที่เร็ว เพื่อระงับเหตุการณ์การปะทะกันของตำรวจ ทหาร กับผู้ชุมนุม นปช. ที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เขตบางเขน ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2553

ศาลมีคำสั่งวันที่ 30 เม.ย.56  

"เหตุและพฤติการณ์การตายคือ ถูกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฎิบัติหน้าที่ โดยกระสุนถูกที่ศรีษะด้านซ้ายหางคิ้วผ่านทะลุกระโหลกศรีษะทำลายเนื้อสมองเป็นเหตุให้เสียชีวิต”

http://prachatai.com/journal/2013/04/46485

“ฟาบิโอ โปเลนกี”

ช่างภาพชาวอิตาลี ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553

ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 56  

“เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน เป็นเหตุให้เกิดบาดแผลกระสุนปืนทะลุหัวใจ ปอด ตับ เสียโลหิตปริมาณมาก โดยมีวิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าพนักงานที่กำลังเคลื่อนเข้ามาควบคุมพื้นที่จากทางแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ”

http://prachatai.com/journal/2013/05/46945

“‘6 ศพวัดปทุมฯ”

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ผู้เสียชีวิตทั้ง 6 รายได้แก่ นายสุวัน ศรีรักษา ผู้ตายที่ 1 นายอัฒชัย ชุมจันทร์ ผู้ตายที่ 2 นายมงคล เข็มทอง ผู้ตายที่ 3 นายรพ สุขสถิต ผู้ตายที่ 4 นางสาวกมนเกด อัคฮาด ผู้ตายที่ 5 นายอัครเดช ขันแก้ว ผู้ตายที่ 6

ศาลมีคำสั่งเมื่อ 6 ส.ค.56  

“ผู้ตายทั้ง 6 เสียชีวิตเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหารและบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.”

http://prachatai.com/journal/2013/08/48057

“นายจรูญ ฉายแม้น-นายสยาม วัฒนนุกูล”

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53

ศาลสั่งเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 56

"วิถีกระสุนปืนยิงมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปที่บริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้แยกสะพานวันชาติ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ"

ศาลระบุว่า ได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องแล้วเห็นว่า ผู้ร้องมีประจักษ์พยาน 4 ปากอยู่ในที่เกิดเหตุบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ต่างเบิกความยืนยันว่า เห็นประกายไฟจากกระบอกปืนและได้ยินเสียงปืนจากทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปบริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้สี่แยกสะพานวันชาติ ซึ่งขณะนั้นประจักษ์พยานเห็นผู้ตายทั้งสองล้มลงที่บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา จึงเชื่อว่าพยานทั้ง 4 ต่างเบิกความไปตามความจริงที่ได้รู้เห็นมา ประกอบกับแพทย์จากนิติเวชที่ชันสูตรศพผู้ตายทั้งสองยืนยันว่านายจรูญ ผู้ตายที่ 1 ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลกลาง โดยสาเหตุการตายเกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง

ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบพบเศษลูกกระสุนปืน เศษตะกั่ว เศษเหล็กในศพของผู้ตายที่ 1  ส่วนนายสยาม ผู้ตายที่ 2 เสียชีวิตระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาลกลาง ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน ตรวจพบเศษตะกั่วในศพผู้ตายที่ 2 ประกอบกับผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนยืนยันว่า เศษลูกกระสุนปืนที่พบในศพของผู้ตายที่ 1 เป็นอาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่ใช้ในวันเกิดเหตุ และแม้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเศษตะกั่วที่พบในศพผู้ตายที่ 2 มีขนาดเท่าใด แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ตายทั้งสองอยู่ในบริเวณเดียวกันและล้มลงในช่วงระหว่างที่เจ้าพนักงานใช้อาวุธปืนยิงมาทางผู้ชุมนุมที่ติดตามเข้าไป จึงเชื่อว่าผู้ตายทั้งสองถูกกระสุนปืนที่ยิงมาจากบริเวณเดียวกัน นอกจากนี้ คำเบิกความของพยานยังสอดคล้องกับผู้ตรวจวิถีกระสุนในบริเวณที่เกิดเหตุ จากข้อเท็จจริงและเหตุผลทั้งหมดที่ได้วินิจฉัยมา เชื่อได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงถูกผู้ตายทั้งสองนั้น มีวิถีกระสุนปืนที่ยิงมาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ แต่พยานของผู้ร้องทั้งหมดที่นำสืบมา ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

http://prachatai.com/journal/2013/09/49003

“จ่าอากาศเอก พงศ์ชลิต พิทยานนทกาญจน์”

จ่าอากาศเอก พงศ์ชลิต พิทยานนทกาญจน์ ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ประจำอยู่ดาดฟ้าของอาคารซีพีทาวเวอร์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนสีลม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.2553 และถูกยิงเสียชีวิตคืนวันที่ 17 พ.ค.2553

ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 พ.ย.56

“ตายภายในรถยนต์กระบะบนถนนสีลมใกล้เคียงอาคารซีพีทาวเวอร์ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2553 เวลา 1 นาฬิกาเศษ เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่ศรีษะโดยระสุนทำลายเนื้อสมองสืบเนื่องจากถูกคนร้ายซึ่งไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดใช้อาวุธปืนยิงขณะผู้ตายปฏิบัติภารกิจขับรถยนต์กระบะจากอาคารซีพีทาวเวอร์ไปยังซอยสีลม 3”

http://prachatai.com/journal/2013/11/49781

“นายปิยะพงษ์ กิติวงศ์ – นายประจวบ ศิลาพันธ์ – นายสมศักดิ์ ศิลารัตน์”

นายปิยะพงษ์ กิติวงศ์ ผู้ตายที่ 1 การ์ดแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายประจวบ ศิลาพันธ์ ผู้ตายที่ 2 ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตภายในสวนลุมพินี และนายสมศักดิ์ ศิลารัตน์ ผู้ตายที่ 3 ซึ่งถูกยองบริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6  ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2553

ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่  29 พ.ย.56

“ตายทั้งสามรายถึงแก่ความตายภายในสวนสาธารณะลุมพินี เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2553 โดยผู้ตายที่ 1-2 เสียชีวิตภายในสวนสาธารณะลุมพินี เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตายที่ 1 สืบเนื่องจากบาดแผลกระสุนปืน ขนาด.223 นิ้ว หรือ 5.56 มิลลิเมตร ทำลายเส้นเลือดแดงใหญ่บริเวณคอ ผู้ตายที่ 2 เสียชีวิตเนื่องจากบาดแผลกระสุนปืนไม่ทราบชนิดและขนาดทะลุหัวใจและตับทำให้เสียเลือดมาก โดยวิถีกระสุนมาจากฝั่งถนนวิทยุหรือถนนพระราม 4 แต่ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ ส่วนเหตุและพฤติการณ์การตายของผู้ตายที่ 3 เนื่องจากกระสุนปืนขนาด .223 นิ้ว หรือ 5.56 มิลลิเมตรทำลายสมองโดยมีวิถีกระสุนมาจากบริเวณด้านหน้าพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 แต่ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ”

http://prachatai.com/journal/2013/11/50078

“นายถวิล คำมูล”
ถวิล คำมูล ศพแรก 19 พ.ค.53 บริเวณศาลาแดง ข้างตึก สก. รพ.จุฬาลงกรณ์

ศาลศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.56

“เสียชีวิตด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะ วิถีกระสุนมาจากด้านเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ยังไม่ทราบว่าใครลงมือ”

http://prachatai.com/journal/2013/12/50703

“นายสมชาย พระสุพรรณ”

นายสมชายถูกยิงเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2553 เชิงสะพานลอยคนข้าม ปากซอยปลูกจิต ใกล้ปั๊มน้ำมัน ปตท. ถ.พระราม 4 กทม.

ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.56

“ถูกยิงด้วยกระสุนปืนไม่ทราบชนิดและขนาดที่บริเวณศีรษะ กระสุนปืนทำลายสมองรุนแรง ขณะอยู่ที่ปากซอยปลูกจิต ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กทม. ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการชุมนุมทางการเมือง โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ”

http://prachatai.com/journal/2013/12/50785

“นายมานะ แสนประเสริฐศรี  และนายพรสวรรค์ นาคะไชย”

ทั้งสองถูกยิงเสียชีวิตบริเวณปากซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553

ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.56  

“ทั้งสองถึงแก่ความตาย เพราะถูกยิงด้วยกระสุนปืนชนิดร้ายแรงและมีความเร็วสูง ขณะอยู่บริเวณใกล้ปากซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

http://prachatai.com/journal/2013/12/50785

“ชายไม่ทราบชื่อ”

ชายไทยไม่ทราบชื่อนามสกุล ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณแยกสารสิน ถนนราชดำริ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53

ศาลมีคำสั่งเมื่อ 17 ก.พ.57  

“ผู้ตายคือชายไทยไม่ทราบชื่อนามสกุล ถึงแก่ความตายที่ถนนราชดำริ หน้าอาคาร สก. รพ.จุฬาฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 เวลาประมาณ 10.00 น. เหตุและพฤติการณ์การตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะทะลุเข้ากะโหลกศีรษะทำลายเนื้อสมอง ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ทหารเคลื่อนกำลังพลเข้ามาควบคุมพื้นที่จากแยกศาลาแดงมุ่งหน้าถนนราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำ”

http://prachatai.com/journal/2014/02/51823

"นายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล และนายประจวบ ประจวบสุข"

ทั้งสองถูกยิงเสียชีวิตบริเวณใต้ทางด่วนพระราม 4 ถนนพระราม 4 แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กทม. 

ศาลมีคำสั่งเมื่อ 17 มี.ค.57

"ผู้ตายที่ 1 คือ นายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล และผู้ตายที่ 2 คือ นายประจวบ ประจวบสุข ถึงแก่ความตายที่ ร.พ.เจริญกรุงประชารักษ์ เพราะเหตุถูกยิงด้วยปืนขนาด .223 (5.56 ม.ม.) โดยผู้ตายที่ 1 ถูกยิงเข้าที่ด้านหลัง ใต้สะบักซ้าย ส่วนผู้ตายที่ 2 ถูกยิงเข้าที่หน้าอกด้านซ้าย เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2553 บริเวณใต้ทางด่วนพระราม 4 ถนนพระราม 4 แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กทม. โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง"

http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNU5URXdPRFV6Tmc9PQ

“นายนรินทร์ ศรีชมภู”

ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 เวลาประมาณ 8.00 – 9.00 น. โดยถูกยิงเข้าที่ศีรษะ บริเวณทางเท้าหน้าคอนโดมิเนียมบ้านราชดำริ ถนนราชดำริ (ใกล้เคียงกับจุดที่ฟาบิโอ ช่างภาพอิตาลีถูกยิง)

ศาลมีคำสั่งเมื่อ 25 มี.ค.57

“เหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงบริเวณศรีษะ กระสุนปืนทำลายสมองด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง วิถีกระสุนปืนมาจากทางด้านเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ในการเข้าควบคุมพื้นที่จากแยกศาลาแดงมุ่งไปทางแยกราชดำริ ตามคำสั่งของ ศอฉ. โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ”

ความคืบหน้ากรณีอื่นๆ

ส่วนความคืบหน้าคดีไต่สวนการตายกรณีอื่นๆ นั้น เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า ดีเอสไอระบุว่าได้ส่งสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ ไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพิ่มเติมอีก 5 ศพ คือ นายธนโชติ ชุ่มเย็น นายวงศกร แปลงศรี นายเฉลียว ดีรื่นรัมย์ โดยทั้ง 3 ราย เหตุเกิดที่ถนนพระราม 4 และอีก 2 ราย คือ นายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ และนายอำพน ตติยรัตน์ เหตุเกิดที่ถนนตะนาวและถนนดินสอ เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ทั้ง 5 ศพนี้มีพยานหลักฐานน่าเชื่อได้ว่าเป็นการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ในขณะนั้น

ก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ส่งให้สำนวนชันสูตรพลิกศพให้บช.น.พิจารณาไปแล้ว 12 ศพ ประกอบด้วย 1.น.ส.สัญธะนา สรรพศรี อายุ 32 ปี 2.นายกิตติพันธ์ ขันทอง อายุ 25 ปี 3.นายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือน้องเฌอ อายุ 17 ปี วัยรุ่นนักกิจกรรมทางสังคม 4.นายอำพล ชื่นสี อายุ 25 ปี 5.นายอุทัย อรอินทร์ อายุ 39 ปี 6.นายสุภชีพ จุลทัศน์ อายุ 36 ปี 7.นายมนูญ ท่าลาด อายุ 44 ปี 8.นายธันวา วงศ์ศิริ อายุ 26 ปี 9.นายสรไกร ศรีเมืองปุน อายุ 34 ปี 10.นายบุญทิ้ง ปานศิลา อายุ 25 ปี 11.นายทิพเนตร เจียมพล อายุ 32 ปี และ 12.นายเหิน อ่อนสา อายุ 40 ปี

หมายเหตุ ประชาไทขออภัยผู้อ่าน มีการแก้ไขภาพอินโฟกราฟฟิค เนื่องจากข้อมูลผิดพลาด 1 จุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท