Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในที่สุด การเลือกตั้งวุฒิสภาทั่วประเทศ 77 จังหวัดเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ก็ผ่านไปโดยความเรียบร้อยตามการรณรงค์ของคณะกรรมการเลือกตั้ง จึงคาดหมายกันว่าจะมีการรับรองผลการเลือกตั้ง และนำมาสู่การเปิดประชุมวุฒิสภาได้ในเวลาไม่นานนัก ที่การเลือกตั้งราบรื่นเป็นเพราะ ม็อบ กปปส.ที่ก่อกวนขัดขวางการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ไม่ได้ก่อกวนหรือปิดการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งหมายถึงว่า แนวทาง”ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ใช้เพื่อขัดขวางเฉพาะการเลือกตั้ง ส.ส.เท่านั้น แต่กระนั้น การเลือกตั้งวุฒิสภาก็ยังไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองคลี่คลาย กลุ่ม กปปส.และฝ่ายองค์กรอิสระก็ยังคงหาทางที่จะล้มล้างรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และตะแบงกฎหมายเพื่อตั้งนายกรัฐมนตรีเถื่อนของตนเองต่อไป

คงต้องอธิบายในที่นี้ว่า แม้ว่าประชาชนในแต่ละจังหวัดจะมีสิทธิในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา แต่กระนั้น โครงสร้างโดยรวมของวุฒิสภาถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เพราะยังมีสมาชิกวุฒิสภาแบบลากตั้ง หรือที่เรียกให้ภาพดีว่า “ส.ว.สรรหา” อีก 73 คน ซึ่งมีที่มาจากคณะกรรมการเพียง 7 คน คือ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมาย และตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดมอบหมาย จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการทั้ง 7 คนเป็น”เทวดา”ที่มีเสียงมากเสียยิ่งกว่า ประชาชนผู้มาลงคะแนน 18 ล้านคน

แต่ที่ตลกจนขำไม่ออกก็คือ เมื่อรัฐสภาได้มีความพยายามที่จะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิก ส.ว.ลากตั้ง ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด ศาลรัฐธรรมนูญกลับมีคำวินิจฉัยในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนี้กระทำไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ ต้องให้มี ส.ว.ลากตั้งต่อไป จึงจะสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย หลังจากนั้น ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็แจ้งข้อกล่าวหาให้ถอดถอน ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 308 คน ที่ลงมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ซึ่งทั้งหมด ก็คือ ส.ส.และ ส.ว.ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ซึ่งถ้าหาก ส.ว.และ ส.ส.เหล่านี้ถูกถอดถอน ก็จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองและการรับราชการเป็นเวลา 5 ปี

ไม่เพียงแต่ประเด็นเหล่านี้เท่านั้น ที่องค์กรอิสระเหล่านี้ ใช้เป็นเครื่องมือในการเล่นงานรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยังมีเรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำการสอบสวนเพื่อชี้มูลความผิดนายกรัฐมนตรีในข้อกล่าวหาเรื่องการละเลยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ทั้งที่ยังไม่มีคดีเกี่ยวกับการจำนำข้าวคดีใดเลยที่มีหลักฐานถึงการทุจริตที่ชัดเจน และแสดงให้เห็นการเกี่ยวข้องกับการทุจริตของนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี แต่คดีนี้ก็เห็นได้ว่า กรรมการ ปปช.ปฏิบัติหน้าที่อย่างน่าเคลือบแคลง และขัดต่อหลักนิติธรรม โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคดีของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เช่น คดีเกี่ยวกับโครงการประกันราคาข้าว คดีทุจริตครุภัณฑ์อาชีวะศึกษา คดีทุจริตโครงการไทยเข้มแข็ง คดีก่อสร้างสถานีตำรวจ จำนวน 390 กว่าแห่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นคดีที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้ถูกกล่าวหาคดีเหล่านี้เกิดก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่การไต่สวนข้อเท็จจริงของกรรมการ ป.ป.ช. กลับเป็นไปอย่างล่าช้า ส่วนคดีของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ป.ป.ช.ใช้ระยะเวลาไต่สวนข้อเท็จจริงเพียง 21 วัน ก็แจ้งข้อกล่าวหา

ต่อมา ก็คือเรื่องที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในวันที่ 7 มีนาคม ให้คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติให้แก่นายถวิล เปลี่ยนศรีภายใน 45 วัน โดยอ้างว่า นายกรัฐมนตรีโยกย้ายข้าราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่รัฐบาลทุกชุด ก็ต้องมีการโยกย้ายข้าราชการตำแหน่งสำคัญเพื่อหาบุคคลที่สามารถทำงานประสานกับรัฐบาลได้ดี ดังนั้น ในเดือนกันยายน พ.ศ.2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จึงได้โยกย้ายนายถวิลออกจากตำแหน่ง แล้วแต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เข้าแทนที่ ซึ่งก็ไม่ต่างจากการที่ รัฐบาลอภิสิทธิ์ย้ายนายถวิล เข้ามาเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแทน พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2552 เช่นเดียวกัน ซึ่งในกรณีนี้ คำพิพากษาของศาลปกครองก็ยอมรับว่า อำนาจในการโยกย้ายเป็นของฝ่ายบริหาร แต่ก็อ้างว่า รัฐบาลทำผิดเพราะ”ไม่มีคำอธิบายว่า นายถวิลบกพร่องอย่างไร และไม่มีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่อย่างไร” แต่เรื่องอย่างนี้ ก็ตีความได้ว่าเป็นการตั้งใจหาเหตุ เพราะสมมุติว่า รัฐบาลมีคำอธิบายถึงความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของนายถวิล ก็จะถูกกล่าวหาได้อีกว่า ไปกล่าวร้ายนายถวิลอย่างไม่เป็นธรรม

จากนั้น กลุ่ม ส.ว. 27 คน ได้นำเรื่องนี้ไปเป็นเครื่องมือในการถอนถอนนายกรัฐมนตรี โดยการยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย กลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยนั้นดีดลูกคิดรางแก้วไปว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กรณีโยกย้ายนายถวิลขัดรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีรักษาการจะต้องพ้นสภาพ และได้มีความพยายามในการตีความด้วยว่า คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องหมดต้องสภาพไปด้วย และในภาวะที่ขณะนี้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่สามารถนำมาใช้บังคับได้ และจากความจำเป็นที่ประเทศนี้จะต้องมีรัฐบาล ก็ถึงคราวที่จะต้องนำมาตรา 7 มาใช้เพื่อแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็จะได้รับ”ราชรถ”มาเป็นผู้นำคนใหม่อย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

จะเห็นได้ว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งหมด ก็มาจากการคบคิดรับลูกกัน ตั้งแต่ กปปส.โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถือโอกาสเอาเรื่องความผิดพลาดในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง มาก่อการประท้วงใหญ่ขับไล่รัฐบาลและขัดขวางการเลือกตั้ง ต่อมา คณะกรรมการเลือกตั้ง(ก.ก.ต.)ก็ทำหน้าที่จัดการให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์มีปัญหาไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แล้วเปิดทางให้ศาลรัฐธรรมนูญตะแบงกฎหมายประกาศให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์เป็นโมฆะ แล้วจะนำมาสู่นายกคนกลางตามที่ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยคาดหวัง

แต่ปัญหาทั้งหมดนี้อยู่ที่ว่า ประชาชนส่วนข้างมากของประเทศนั้นไม่เอาด้วย ไม่ยอมรับ และถ้ามีการเลือกตั้งอย่างถูกต้องชอบธรรมครั้งใด พรรคเพื่อไทยก็จะได้รับชัยชนะด้วยการสนับสนุนของประชาชนอีกทุกครั้ง กลายเป็นว่า ฝ่ายศาลและองค์กรอิสระเหล่านี้เลือกข้างสนับสนุนพวกขี้แพ้ในการเลือกตั้ง จึงไปยอมรับการก่อกวนของ ม็อบ กปปส.ว่าเป็นชอบธรรม ปฏิเสธการเลือกตั้งเฉพาะการเลือกสภาผู้แทนราษฎร และใช้การวิธีการ”ศรีธนนชัย”ทางกฏหมายมาล้มล้างกระบวนการประชาธิปไตย ละเลยเสียงประชาชน 20 ล้านคนที่มาออกเสียงเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และละเมิดสิทธิของพรรคการเมือง 53 พรรคที่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันรับเลือกตั้งตามกติกา เพื่อไปโอบอุ้มพรรคที่สมัครใจคว่ำบาตรการเลือกตั้ง

ด้วยการดำเนินการเช่นนี้ องค์กรอิสระจึงร่วมมือกับ กปปส.สร้างภาวะมิคสัญญีขึ้นในประเทศ และทำให้เศรษฐกิจของประเทศพังเสียหายยับเยิน แต่ก็ยังไม่บรรลุเป้าหมายในการล้มรัฐบาล จึงทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อมาถึงในวันนี้

ความจริงแล้ว บทเรียนจากต่างประเทศก็ชี้ว่า ประชาธิปไตยนั้นเอง คือ วิธีการแก้ปัญหาวิกฤตได้ถูกต้องและตรงจุด และเป็นวิธีการสันติ ที่ได้รับการยอมรับ การแต่พวกชนชั้นนำ สลิ่ม ศาลและองค์กรอิสระ กปปส.และผู้สนับสนุน พยายามใช้วิธีการอันฝืนใจประชาชน อนาคตของพวกเขาจึงเป็นไปไม่ได้

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 458 วันที่ 5 เมษายน 2557

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net