Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

คำว่า “รัฏฐาธิปัตย์”ได้กลับกลายมาเป็นคำสำคัญตามหน้าหนังสือพิมพ์อีกครั้งเมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.(คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ได้ประกาศบนเวทีสวนลุมพินี เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมาว่า กปปส. ได้มีการประชุมแกนนำเครือข่ายทั่วประเทศซึ่งมีประมาณ 1,800 กลุ่ม และตกลงให้ต่อสู้ต่อไปเป็นยกสุดท้าย โดยจะยึดอำนาจประเทศไทย เพราะอำนาจอธิปไตยตกเป็นของปวงชนชาวไทยตั้งแต่ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภา ดังนั้น กปปส.จึงมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะประกาศความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของประชาชน เหมือนกับสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อประกาศตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แล้วจะสั่งยึดทรัพย์ตระกูลชินวัตรทั้งหมด แล้วให้ไปพิสูจน์เอาเองว่าทรัพย์ส่วนใดที่ที่หามาได้ด้วยความสุจริต จากนั้นจะออกคำสั่งห้ามคนตระกูลชินวัตร ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง  นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล  นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ห้ามออกนอกประเทศ

นายสุเทพ กล่าวต่อไปว่า จากนั้น กปปส.จะออกคำสั่งแต่งตั้ง นายกฯ และคณะรัฐมนตรีของประชาชน และตนจะนำรายชื่อนายกฯ และ ครม. กราบบังคมทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และตนจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรฐมนตรี ในฐานะเป็นร่างทรงของประชาชน จากน้น จะตั้งสภานิติบัญญัติของประชาชน และรีบปฏิรูปประเทศตามพิมพ์เขียวที่ได้มีการระดมความคิดไว้ก่อนหน้านี้ และเมื่อดำเนินการปฏิรูป แก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ จะปล่อยให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามกระบวนการประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบที่แท้จริง

การดำเนินการประกาศตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของนายสุเทพคร้งนี้ ได้รับการอธิบายว่า เป็นการดำเนินการต่อเนื่องกับยุทธศาสตร์ที่ได้ดำเนินการมาแล้ว นับตั้งแต่การชุมนมของ กปปส.ที่เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา ตั้งแต่เริ่มผลักดันให้กองทัพทำการยึดอำนาจล้มรัฐบาล โค่นนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ และเสนอนายกรัฐมนตรีใหม่ตามมาตรา 7  ในกระบวนการนี้ นายสุเทพได้ปฏิเสธระบบรัฐสภาและการเลือกตั้ง แต่เสนอแนวทางปฏิวัติประชาชน โดยตั้งสภาประชาชนเองตามใจชอบเพื่อมาทำหน้าที่รัฐสภา และสุดท้ายเมื่อกองทัพไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะยึดอำนาจได้ แต่กลับเป็นศาลและองค์กรอิสระที่รับบททำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะล้มรัฐบาล นายสุเทพจึงประกาศการเป็นรัฎฐาธิปัตย์คู่ขนาน เพื่อรองรับการดำเนินการขององค์กรอิสระให้สมบูรณ์มากขึ้น

ปัญหาก็คือคำว่ารัฏฐาธิปัตย์ที่นายสุเทพประกาศใช้ ไม่มีคำทางรัฐศาสตร์ที่ชัดเจน เพราะคำว่า sovereignty ที่หมายถึงอำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐ ได้ถอดเป็นภาษาไทยว่า “อำนาจอธิปไตย” ซึ่งในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยย่อมเป็นของประชาชน หมายถึงว่า ประชาชนจะต้องเป็นเจ้าของรัฎฐาธิปัตย์ ซึ่งก็คือจะต้องเป็นการเมืองในระบอบรัฐสภาที่ยอมรับในเสียงของประชาชน ถ้ายอมรับความหมายในลักษณะนี้ ย่อมไม่เหตุผลใดเลยที่จะปฏิเสธการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพราะอย่างน้อยในขบวนการเลือกตั้งก็เป็นการสะท้อนอำนาจของประชาชนที่ชัดเจนที่สุด

คำถามที่จะต้องถามก็คือ กปปส.ใช้สิทธิอะไรมาใช้อำนาจแทนประชาชน โดยไม่ต้องการผ่านการเลือกตั้ง หรือใครเป็นคนตั้งให้นายสุเทพเป็นร่างทรงของประชาชน จะอ้างอำนาจการมาชุมนุมสนับสนุนของประชาชนจำนวนมาก แล้วประกาศตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ยึดอำนาจจะเป็นไปได้หรือ เพราะถ้าเป็นดังนี้ กล่มคนเสื้อแดง นปช. ซึ่งก็มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน ก็คงประกาศตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ยึดอำนาจได้บ้าง ซึ่งกรณีนี้สะท้อนได้จากคำแถลงของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการประกาศตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของนายสุเทพโดยอธิบายว่า  "ถ้าหากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งประกาศตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้ เดี๋ยวอีกฝั่งก็ประกาศบ้างสุดท้ายจะเกิดภาวะงูกินหางหรือกงกรรมกงเกวียนไม่จบสิ้น ดังนั้นการเคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนพรรคภูมิใจไทยคิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด"

ประเด็นหลักของเรื่องนี้ก็คือ การอ้างเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของนายสุเทพเช่นนี้ ไม่มีกฏหมายใดในประเทศไทยรองรับเลย ถ้านายสุเทพจะยึดทรัพย์ตระกูลชินวัตร ห้ามใครออกนอกประเทศ และดำเนินการทูลเก้าฯตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเอง ก็จะเป็นการใช้อำนาจรัฐเถื่อน และเป็นเรื่องนอกกฏหมายทั้งหมด ไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองอย่างใดเลย แม้กระทั่งในส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญ และกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)กำลงหาทางใช้อำนาจเพื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรีรักษาการ ก็ยังเป็นที่วิจารณ์ด้วยซ้ำว่าเป็นการใช้อำนาจเกินกฏหมายแบบตั้งธงล่วงหน้าและมีลักษณะสองมาตรฐาน ซึ่งไม่มีความชอบธรรมเช่นกัน

ถ้าจะถามต่อไปว่าแล้วในอดีตของประเทศไทยมีการสถาปนาอำนาจรัฐเถื่อนในลักษณะนี้หรือไม่ คำตอบก็คือ การสถาปนาอำนาจเถื่อนนอกกฏหมายเหล่านี้ทั้งหมดจะเกิดขึ้นหลังจากการยึดอำนาจของกองทัพ โดยเฉพาะการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ใน พ.ศ.2501 ตามที่นายสุเทพอ้างอิงถึง จอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มระบอบรัฐสภา แล้วสถาปนาระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จทั่วด้าน ใช้อำนาจเถื่อนจับกุมคุมขัง และประหารชีวิตประชาชนผู้ปราศจากความผิด การใช้อำนาจของจอมพลสฤษดิ์จึงไม่ได้เป็นอำนาจในระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถใช้อ้างอิงเป็นต้นแบบของการปกครองอันชอบธรรมได้

แต่ในสังคมไทย การอ้างรัฏฐาธิปัตย์ในอดีตกลับแสดงให้เห็นความเกี่ยวเนื่องอย่างยิ่งระหว่างการรัฐประหารกับขบวนการศาล เหตุเกิดหลังจากรัฐประหาร พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นการรัฐประหารของฝ่ายทหารบกเป็นครั้งแรก ในครั้งนั้น หลวงอรรถสารประสิทธิ์ (ทองเย็น หลีละเมียร)ได้ยื่นฟ้องต่อศาลให้อำนาจของฝ่ายรัฐประหารเป็นโมฆะ เพราะเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญที่ได้มาอย่างถูกต้อง คำสั่งของคณะรัฐบาลที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารแล้วโยกย้ายหลวงอรรถสารประสิทธิ์จากตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังจึงไม่ชอบด้วยกฏหมาย ปรากฏว่า จากคำพิพากษาฎีกาที่ 45/2496 ได้อธิบายว่า แม้รัฐบาลที่ออกกฎหมายจะได้อำนาจมาโดยการรัฐประหารก็ตาม แต่สามารถที่จะยืนหยัดรักษาอำนาจของตนไว้ได้ การใช้อำนาจเช่นนั้นจึงมีผลตามกฏหมาย การตัดสินของศาลเช่นนี้ จึงกลายเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคดีต่อมา และเป็นการยอมรับความชอบธรรมของคณะรัฐประหารเสมอ ศาลไทยจึงไม่เคยต่อต้านรัฐประหาร และผลที่ตามมาคือ การรัฐประหารทุกครั้งที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะล้มรัฐบาลและล้มเลิกสภานิติบัญญัติ แต่ก็จะไม่แตะต้องอำนาจตุลาการ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ศาลและคณะรัฐประหารจึงมีผลประโยชน์ร่วมกันเสมอมา

แต่ในภาวะเช่นนี้ ปัญหาทางการเมืองที่ดำเนินอยู่ ถ้าจะแก้ไขให้ถูกต้องและตรงจุดแล้ว ควรจะต้องล้มเลิกอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เถื่อนตามแบบของ กปปส.แล้วนำประเทศเข้าสู่ประชาธิปไตยตามแบบฉบับโดยคณะกรรมการเลือกตั้ง(ก.ก.ต.) ต้องจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ อันจะนำสู่การเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนญ แล้วให้รัฐสภาเข้ามามีส่วนในการพิจารณาแก้ไขปัญหาของประเทศ ให้รัฐบาลใหม่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายบริหารประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป นี่คือการนำความขัดแย้งทางสังคมทั้งมวลที่เกิดขึ้นให้กลับมาต่อสู้ในระบบ ซึ่งจะเป็นหลักประกันที่ดีกว่าในการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างสันติวิธิ และลดความเสียหายแก่บ้านเมือง

ถ้าหากไม่เป็นเช่นนี้ แต่สังคมไทยกลับยอมรับโอบอุ้มรัฏฐาธิปัตย์เถื่อนของ กปปส. และปล่อยให้องค์กรอิสระใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญขัดขวางและทำลายระบอบประชาธิปไตยต่อไป หรือแม้กระทั่งสนับสนุนการรัฐประหาร ก็จะเท่ากับว่า เป็นการผลักดันประเทศให้ถอยไปสู่ยุคบ้านป่าเมืองเถื่อน เศรษฐกิจของประเทศจะเสียหาย การพัฒนาการทางการเมืองจะชะงักงัน เหมือนอย่างที่ชะงักมาแล้วเป็นเวลากว่า 5 เดือน

การแก้ปัญหาด้วยหลักประชาธิปไตยเท่านั้น จึงเป็นการสร้างรัฏฐาธิปัตย์อันถูกต้อง

 

 


เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 459 วันที่ 12 เมษายน 2557

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net