ลักษณะเฉพาะของการเมืองไทยยุคปลุกระดม :ความขัดสนทางภาษา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เกริ่นนำ

ฤาสมมติฐานที่ว่า “เหตุผลใช้ไม่ได้กับเมืองไทยจะเป็นจริง?”  จากปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินไปอย่างไร้รูปแบบ สะเปะสะปะ และหาความเอาแน่เอานอนทางตรรกะไม่ได้ ทำให้เกิดข้อสงสัยทางทฤษฎีมากมาย ที่ตลกไปกว่านั้น ขณะที่บรรดานักวิชาการพร้อมทั้งผู้สันทัดกรณีทั้งหลายกำลังพร่ำพูดกันเพื่อแสวงหาความเป็นไปได้ต่างๆนานาพลันกลับมีความสูญเสียเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง เรื่องแบบนี้ดูเหมือนจะไม่มีเหตุผลและไม่มีที่มาที่ไป  น่าสนใจว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่อาจอธิบายอะไรให้สวยหรูได้ นอกจากสบถแช่งฟ้าแช่งฝนไปตามอารมณ์ของผู้ที่ร่วมสูญเสีย กล่าวคือ "เมื่อเกลียดใครแล้ว ก็จะจงเกลียดจงชังอยู่อย่างนั้น ไม่มีเหตุผล"คำถามมีว่า ปัญหาสำคัญเช่นนี้ควรจะมีการอภิปรายอย่างไรเพื่อให้เกิดความเข้าใจรากฐานแท้จริงของปัญหา จะมีแนวทางใดบ้างที่จะจับให้มั่นคั้นให้ตายกับความเอาแน่เอานอนไม่ได้แบบนี้  แล้วเครื่องมือทางสังคมศาสตร์ในยุคปัจจุบันมีเพียงพอหรือไม่ที่จะรื้อถอนปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าวออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ซึ่งการรื้อถอนเช่นนี้จะช่วยให้เราค้นพบชิ้นส่วนอันเป็นลักษณะเฉพาะของปัญหาในประเทศไทย อาจกล่าวแบบติดตลกได้ว่า ปัญหานั้นเราอาจพบ แต่เราคงต้องชั่งใจด้วยว่าจะพูดได้หรือไม่?

เนื้อหา 

ข้อสมมติฐานหนึ่งจากการถอดรื้อที่น่าสนใจ คือ “ความเป็นไปของภาษา”

(1) สงครามน้ำลายไพร่ไซเบอร์

การต่อสู้ด้วยคีย์บอร์ดในที่ลับเป็นความเชี่ยวชาญที่คนไทยหมกมุ่นเป็นพิเศษ ที่สำคัญเป็นบ่อเกิดแห่งความวิปริตผิดปกติในระดับที่ซับซ้อนด้วย ซึ่งการปลุกระดมคนให้เคียดแค้นและโหมกระพือไฟแห่งความเกลียดชังกลายเป็น  Target หรือ เป้าหมาย ที่ต้องบรรลุผลให้ได้เชิงการตลาด ความที่โลกออนไลน์มีธรรมชาติเป็นโลกแห่งการผลิตซ้ำอยู่แล้วจึงทำให้ข่าวลือ ข่าวลวง เกิดง่ายเหมือนไฟลามทุ่ง โดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร คนไทยสรุปเป็นว่ามีกลิ่นคาวก็พร้อมส่งต่อข้อมูลทันที ข้อนี้เป็นพฤติกรรมทางจิตวิทยาที่น่าสังเกตเป็นพิเศษ เพราะสะท้อนกลับไปถึงระบบทาสในอดีตที่วรรณกรรมไทยมักวางตัวละครประเภทบ่าวไพร่ให้มีกลุ่มหนึ่งต้องเป็นไพร่สอพลอขี้นินทา และเมื่อถูกดัดแปลงเป็นละครจอแก้ว ตัวละครแบบนี้ก็จะปรากฏให้เห็นในทุกเรื่องไปไม่ว่าจะน้ำดีหรือน้ำเน่า ถึงแม้จะกลายเป็นละครยุคใหม่แล้วก็ตาม บ่าวไพร่เหล่านั้นราวกับกลับชาติมาเกิดเพื่อต่อยอดพฤติกรรมผิดปกติที่ถอดแบบมาจากสมัยทาส คือ“ช่างนินทาเจ้านาย และข่มเหงผู้อื่นในนามเจ้านาย” การปรากฏซ้ำของตัวละครเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญทางวรรณกรรม แน่นอนมันเป็นแรงบันดาลใจในยุคที่ใครๆ สามารถพิมพ์อะไรก็ได้ หลายต่อหลายคนเสพติดดราม่าออนไลน์ไม่ต่างจากติดละครน้ำเน่า ความหมกมุ่นดังกล่าวทำให้โลกออนไลน์มีอิทธิพลครอบงำวิถีชีวิตประจำวันของชนชั้นกลางไทย จะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นทุกทีว่า ใครก็ตามที่อยู่กับดราม่าออนไลน์ชนิดที่เรียกว่าเสพติด มักจะห่างเหินจากโลกแห่งความเป็นจริงเข้าไปทุกที หลายต่อหลายคนกล้าแสดงความไร้น้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างหน้าตาเฉย (ทั้งที่ในชีวิตจริงเขาไม่เคยแสดงออกอย่างนั้นเลยก็ตาม) keyword สำคัญที่เราอาจสรุปแนวโน้มของคนไทยกลุ่มนี้ คือ หน้าไหว้หลังหลอก ลิงหลอกเจ้า ดีแต่ปาก ฯลฯ แต่ซับซ้อนกว่านั้น Keyword ดังกล่าวถูกทำให้ความหมายเดิมของสำนวนพร่าเลือนไป เพราะข้อจำกัดบางอย่าง

(2)ดราม่าที่เต็มไปด้วยความขัดสนทางภาษา

ความขัดสนทางภาษาความจำกัดจำเขี่ยของคลังคำทำให้เกิดปัญหาอย่างแท้จริงในทางปฏิบัติ เพราะอารมณ์ที่พลุ่งพล่านเก็บกดควรจะควบคู่กับช่องทางระบายออกที่ได้สัดส่วนกัน แต่ชนชั้นกลางบางส่วนรักที่จะใช้ภาษาเป็นช่องทางระบายออก ทั้งที่มีทักษะการใช้ภาษาน้อยเหลือเกิน (แม้ว่าจะได้รับการศึกษามา)ในขณะที่ชาวบ้านแต่เดิมอาจใช้ช่องทางอื่นอย่าง การร้องรำทำเพลง(ซึ่งปรากฏว่ารุ่มรวยทางภาษามากกว่า) หรือไม่เช่นนั้น ก็ไปลงกับเหล้า หรือ เข้ามุ้ง ให้มันจบความเก็บกดไปจึงความผิดปกติดังกล่าวได้กลายเป็นการซ้ำคำ ซ้ำความ ซ้ำซาก ที่สุดเป็นการทำลายความหมายของสำนวนเดิมให้พร่าเลือนไปทั้งสิ้น เป็นต้น คุณจะกล่าวหาว่าคนนี้ดีแต่ปาก ที่จริงแล้วคุณอาจจะแค่หาคำอื่นมาด่าไม่ได้ด้วยเพราะจนปัญญาในถ้อยคำ สุดท้ายแล้วสมมติว่าจะใช้ตัวนับทางคอมพิวเตอร์ เช่นโปรแกรมนับคำซ้ำ คุณอาจพบก็ได้ว่า คำที่คุณพิมพ์ในโลกออนไลน์บ่อยที่สุด หรือคำพูดที่ปรากฎในการปราศรัยบ่อยที่สุด อาจเป็นคำที่คุณร่วมกันกับชาวดราม่าทั้งปวงทำลายความหมายให้พร่าเลือนไปเสียเองก็ได้ จากนั้นพอคุณใช้คำนี้อีก ความหมายของมันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และผู้ที่รับสารเข้าไปก็ไม่จำเป็นต้องเข้าใจตรงกันกับคุณอีกต่อไป เพราะธรรมชาติของภาษาย่อมเลื่อนไหล โชคร้ายตรงที่การกระทำนั้นเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว แต่ผลร้ายเกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวงนั่นคือ “จะไม่มีวันเจรจากันได้อีก”เมื่อคู่ขัดแย้งผู้ยากจนทางภาษาใช้คำเดียวกันแต่ในความหมายและบริบทที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เป็นต้น คำว่า “ความเท่าเทียม”, “ไพร่”, “ประชาธิปไตย” ซึ่งเราไม่เรียกความจำกัดจำเขี่ยนี้ว่า “วัฒนธรรมหรืออารยธรรม” แต่เราจะเรียกมันว่า “อนารยะ” เพราะไม่ว่ามันเป็นประโยคเหน็บแหนมที่เรียกเสียงโห่ฮาเพียงใด รากฐานของมันคือการซ้ำคำ ซ้ำความที่มีข้อจำกัดในตัวเองทั้งสิ้น ขณะที่ ชนชั้นล่างกลับรุ่มรวยทางภาษาอย่างน่าแปลก ไม่ใช่เพราะการศึกษา แต่เพราะภาษามีธรรมชาติรุ่มรวยในตัวมันเอง ใครที่ใช้มันตามธรรมชาติย่อมพบวิธีการที่จะใช้ให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างน่าสนใจ สังเกตได้จากบทกวีข้างถนน บทเพลงของชาวบ้านแต่โบราณมา เราสรุปแบบนี้ก็ไม่ผิดว่า ภาษาที่รุ่มรวยมักแฝงด้วยหนทางแก้ปัญหาไว้ด้วยธรรมชาติแห่งการเชื่อมโยงของคำแต่ละคำ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นว่า ภาษาคือเครื่องมือแห่งความแตกแยก เนื่องจากไม่สามารถเชื่อมโยงให้คำและความลงรอยกันได้เลย ซึ่งความไม่ลงรอยนี้เอง คือ ความขัดสนทางภาษา

(3)ระบอบทุนสมบูรณ์กับเหยื่อที่ไม่รู้ตัว

ศาสนาพุทธถูกอ้างว่าเป็นศาสนาประจำชาติ มีคำสอนที่โดดเด่นว่าด้วย “สติสัมปชัญญะ” แต่กลายกลับเป็นว่า คนไทยผู้เปิดรับกระแสวัฒนธรรมที่พร่างพรมเข้ามาอย่างไม่มีประมาณผ่านบรรษัททุน มีพ่อค้าคนกลาง ครอบครัวของพ่อค้าคนกลาง ผู้ถือหุ้นและจัดสรรดั่งพรหมอำนวยให้คนไทยจับจ่ายใช้สอยพลอยเป็นหนี้กันถ้วนหน้า โดยคนไทยไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อนเลยว่า ตนเองเป็นเหยื่อของระบอบทุนสมบูรณ์อยู่ก่อนแล้ว ก็คนไทยทั้งหลายเป็นผู้ถูกกระทำโดยชนชั้นปกครองทั้งนั้น เมื่อชนชั้นปกครองรับอะไรเข้ามาก็เป็นว่าชนชั้นที่ด้อยฐานะทางเศรษฐกิจกว่าเป็นอันน้อมรับเข้าไปด้วย เพราะแรงจูงใจที่อยากจะก้าวขึ้นเป็นเจ้าคนนายคนกับเขาบ้าง ดังนั้น มันไม่ได้มีเพียงแค่หนึ่งคนโกง หรือหนึ่งครอบครัวโกง แต่มันคือ “ผังคนโกง” ซึ่งเป็นเครือข่ายแห่งความสมประโยชน์กันอย่างขูดรีดบนพื้นฐานที่ฉาบทาด้วยการป่าวประกาศว่าตนเองดำรงความดีงามตามคติพุทธศาสนา ดังนั้น หากเราคิดว่า เราตื่นรู้อยู่อย่างอารยะจริง ความกล้าที่จะออกแบบ “ผังล้มคนโกง”ต่างหากจึงเป็นหลักฐานที่ยืนยันความศิวิไลซ์ แต่โดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะกระทำเช่นนั้น ดังนั้น เมื่อเป็นไปไม่ได้ที่จะสืบสาวแก่นรากแห่งความคดโกงที่ว่า เพราะว่ามันได้แทรกซึมอยู่ใน Products และ Packages ต่างๆของชีวิตไปเสียแล้ว สิ่งที่อาจทำได้และง่ายกว่าคือ การลดจำนวนพวกที่โกงอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู และการลดจำนวนพวกที่โกงแล้วแสร้งทำเป็นคนดีประเสริฐ ให้เหลือแต่พวกที่ตรงไปตรงมา พอยอมรับได้ และแฟร์พอที่จะเข้าไปต่อรองหรือขอแบ่งปันทรัพยากรให้แก่ผู้ที่ยังขัดสน
แต่ปมเขื่องที่ทำให้เกิดภาพมายาคติทั้งหมดนั่น คือ “ภาษา”  พูดโดยง่าย คือ เพราะรู้ภาษาไม่รอบคอบก็เลยโดนคนมีวาทศิลป์หลอกเอาได้ ก็พลอยเคลิบเคลิ้มหมดเนื้อหมดตัวไปกับลัทธิเอกบุรุษ ลัทธิสถาบัน ร่างทรง องค์อวตารต่างๆ เพราะคำพูดสวยๆ หรูๆ แต่ขาดความรุ่มรวยทางภาษาแบบนี้เอง มันสะกดจิต ! และไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น เพราะมันซ้ำ

ก็การใช้ภาษานี้เองไม่ใช่หรือ ที่ทำให้มีคนตายและติดคุก
ก็การใช้ภาษานี้เองไม่ใช่หรือ ที่ทำให้คนจนยังถูกกดหัวอยู่ทุกวันนี้
ก็การใช้ภาษานี้เองไม่ใช่หรือ ที่เบียดเบียนความเป็นไปของพลวัตในสังคม
ลองย้อนกลับไปเมื่อวัยเยาว์ อะไรเล่าคือประโยคความซับซ้อน (สังกรประโยค)?

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท