‘จริยธรรมสื่อ’ เรื่องล้าสมัย? ในโลกที่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลง

'จอม เพชรประดับ' เชื่อจริยธรรมสื่อยังสำคัญ เพราะสื่อต้องนำสังคม ไม่ให้ดิ่งเหว เตือนทำสื่อต้องมองพ้นความเป็นไทย ให้ความเป็นธรรมทุกคนบนโลก ด้าน 'อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์' ผู้ก่อตั้งเว็บข่าวไอทีบล็อกนัน ไม่เชื่อเว็บเดียวจะมีทุกอย่าง หนุนการแยกไปทำสื่อเองหากไม่เห็นด้วยจุดยืนเว็บ
 
 
22 เม.ย. 2557 เสวนา: ‘จริยธรรมสื่อ’ เรื่องล้าสมัย?  ในโลกที่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลง ในการอบรม “จริยธรรมสื่อและการเซ็นเซอร์” จัดโดยโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย (SAPAN) โดยการสนับสนุนของ USAID และมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ระหว่างวันที่ 22-23 เม.ย. 2557 ที่ โรงแรม ดิเอทัส กรุงเทพฯ (ซอยร่วมฤดี)
 
จอม เพชรประดับ ผู้สื่อข่าวอิสระวอยซ์ทีวี ในฐานะสื่อมวลชนอาชีพ กล่าวว่า จริยธรรมวิชาชีพของสื่อหลักและสื่อทางเลือกต่างก็มีเหมือนกัน แต่ความเข้มข้นขึ้นอยู่กับอิทธิพลของสื่อนั้นๆ อย่างสื่อหลักอาจต้องคิดมากและจริงจังเพราะเข้าถึงง่าย มีอิทธิพลกับผู้คนในวงกว้าง แต่ปัจจุบันมองว่าสื่อทางเลือกพลิกมาเป็นสื่อหลักแล้ว โดยยกตัวอย่างการรับสื่อของตัวเองที่รับสื่อทางเลือกและโซเชียลมีเดียมากขึ้น เพราะเห็นปัญหาของสื่อหลักที่ไม่รอบด้าน ไม่ลึก ไม่เป็นธรรม ดังนั้นกรอบจริยธรรมวิชาชีพต่อสื่อรองจึงควรเข้มข้นมากขึ้นเช่นกัน
 
ทิศทางของสื่อโซเชียลมีเดีย ที่ถูกมองว่าเป็นสื่อรองเป็นแหล่งปลดปล่อยระบายอารมณ์ แต่ในภาวะความขัดแย้งของสังคม สื่อดังกล่าวจะกลายเป็นที่พึ่งหลักของสังคม การนำจริยธรรมวิชาชีพมาเป็นกรอบการทำงานเป็นสิ่งที่ดี ทำให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น
 
ส่วนคำถามว่า “จริยธรรมสื่อ” เป็นเรื่องล้าสมัยไหม คิดว่าจริยธรรมยังมีความสำคัญเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อวิชาชีพ โดยเฉพาะสื่ออาจจำเป็นเพราะเป็นการให้ความคิด นำความคิดคนในสังคม ต้องมีความรอบคอบเพื่อไม่ให้สังคมดิ่งลง กลายเป็นสังคมที่ไม่มีอารยะ อาชีพสื่อมีความผูกพันเกี่ยวเนื่องกับสังคม โดยเฉพาะระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
 
จอม กล่าวต่อมาว่า บริบทสังคมที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้สื่อกลายเป็นสิ่งแปลกปลอม กรอบจริยธรรมวิชาชีพกับบริบทสังคมแบบเดิมมีการเผชิญหน้ากันอยู่อย่างรุนแรง เพราะวิชาชีพสื่อมวลชนที่แท้จริงเป็นวิถีทางแห่งเสรีภาพและความเท่าเทียมของสังคมตามหลักคิดประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สังคมอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และทิศทางสื่อออนไลน์ทำให้คนมีพื้นที่ในการส่งเสียง เป็นบรรยากาศที่เอื้อต่อความเป็นประชาธิปไตย
 
ธงที่ควรตั้งสำหรับคนทำสื่อคือนำพาสังคมไปสู่ความเจริญ สู่ความเป็นอริยะ ไม่นำเสนอข้อเท็จจริงทุกเรื่องที่อาจมีผลให้สังคมต่ำลง ในส่วนสื่อกระแสรองถึงเวลาที่จะกลับมาทำให้กรอบจริยธรรมมีความเข้มข้นมากกว่าหรือเท่ากับสื่อกระแสหลัก
 
จอม กล่าวว่าด้วยว่า การทำสื่ออย่าติดกรอบ “เราคือคนไทย” หรือต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศ วิชาชีพนี้เป็นวิชาชีพที่พูดถึงคน ต้องเคารพในสิทธิความเป็นคนอย่างเท่าเทียมกัน ให้ความเป็นธรรมกับทุกคนบนโลก
 
 
อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ดูแลเว็บไซต์ Blognone.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวสารไอที และชุมชนของคนในวงการไอทีกลุ่มใหญ่ เล่าว่า ส่วนตัวไม่ได้จบนิเทศศาสตร์ แต่จบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ โดยเริ่มทำเว็บ blognone เพราะไม่มีคนทำ 10 ปีที่แล้วแม้จะมีข่าวไอที แต่ไม่ใช่อย่างที่ต้องการ บางครั้งแปลผิดบ้าง ซึ่งเข้าใจได้เพราะไอทีเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ ทั้งนี้พบว่าผู้สื่อข่าวในสื่อหลักไม่มีใครเรียนจบไอทีมาโดยตรง
 
ผู้ดูแลเว็บไซต์ Blognone.com กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวไม่ได้สนใจเรื่องสื่อหลัก สื่อทางเลือก เพราะมองว่าสื่อก็คือสื่อ และในยุคปัจจุบันที่คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ ผู้บริโภคมีทางเลือกเสมอ จึงต้องสร้างคุณภาพทุกมิติ และในส่วนของ blognone พยายามสร้างมาตรฐานขึ้น เช่น การสะกดคำ แม้จะไม่มีฝ่ายพิสูจน์อักษร แต่ก็พยายามสร้างวัฒนธรรมตรวจสอบทักท้วงกัน ให้สมาชิกมีส่วนร่วมทำให้ข่าวดีขึ้น
 
สำหรับจุดยืนของ blognone ได้ประกาศว่ามีคุณค่าด้านไอทีบางอย่างที่สนับสนุน เช่น การไม่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ และสนับสนุนโครงการของนักศึกษา
 
ต่อคำถามว่าการมีจุดยืนแบบนี้เป็นการเซ็นเซอร์หรือไม่ อิสริยะ ตอบว่า บนอินเทอร์เน็ต มีทางเลือกเสมอ พร้อมเปรียบเทียบเว็บไซต์เป็นเหมือนเกาะหนึ่งบนมหาสมุทรอินเทอร์เน็ต ใครรับจุดยืนของ blognone ได้ก็ขึ้นมา รับไม่ได้ก็ไปเกาะต่อไป เพราะในยุคใหม่ การไปเกาะอื่นนั้นใช้ต้นทุนน้อยมาก แค่ 2 คลิกเท่านั้น
 
อิสริยะ กล่าวว่าไอเดียที่สร้าง blognone เพราะอยากได้คุณค่านี้ที่หาไม่ได้จากที่อื่น ถ้าไม่มีคุณค่านี้ เราก็ไม่มีตัวตน อย่างไรก็ตาม ยินดีสนับสนุนเว็บใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น สนับสนุนให้คนแยกไปและโยงเป็นเครือข่ายกัน เพราะมองว่าโมเดลเว็บเดียวทำทุกอย่าง มีทุกอย่างเป็นไปไม่ได้ในโลกปัจจุบัน เพราะโลกปัจจุบันเป็นโลกของเครือข่าย
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท