‘ต้องให้เห็นพลังภาคประชาชน’ เสียงวิพากษ์รายงานสันติภาพปาตานี

ปาตานี ฟอรั่ม จัดเวทีวิพากษ์รายงานพิเศษการเจรจาสันติภาพปาตานี “เส้นทางสู่การหยุดเลือด: การต่อรองสู่การไม่ฆ่า” เผยข้อน่าสงสัยทำไมจึงรีบเปิดโต๊ะเจรจา ชี้การพูดคุยสันติภาพเป็นความต้องการของคนกรุงเทพฯ มากกว่าคนในพื้นที่ ตัวแทนจาก 4 องค์กรวิพากษ์ไม่เห็นพลังการขับเคลื่อนเพื่อสันติภาพของภาคประชาชน

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2557 ที่โรงแรมปารค์วิวรีสอร์ท อ.เมือง จ.ปัตตานี องค์กรปาตานีฟอรั่ม จัดเวทีนำเสนอและวิพากษ์รายงานพิเศษ เรื่อง เส้นทางสู่การหยุดเลือด : การต่อรองสู่การไม่ฆ่า ณ ปาตานี โดยนายดอน ปาทาน ผู้อำนวยการฝ่ายการต่างประเทศ ปาตานี ฟอรั่ม เป็นผู้นำเสนอรายงานประจำปี 2557 หัวข้อคือ การเจรจาสันติภาพในจังหวัดของชาวมลายูของประเทศไทย โดยมีตัวแทนองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมประมาณ 50 คน

ทั้งนี้ในเว็บไซต์ของปาตานีฟอรั่ม ระบุว่าการจัดเวทีครั้งนี้ มุ่งหวังเพื่อให้เกิดบรรยากาศ การวิพากษ์ และถกเถียง เกี่ยวกับข้อมูล มุมมอง และบทวิเคราะห์ ต่อประเด็นการเจรจาระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มขบวนการ BRN ซึ่งเป็นรายงานฉบับต่อเนื่องจากรายงานพิเศษฉบับแรก “การเจรจาสันติภาพระหว่างมุสลิมมลายูและรัฐไทย” ที่เคยเผยแพร่ไปแล้วเมื่อช่วงปลายปี 2555

ในเวทีมีวิทยากรวิพากษ์รายงานได้แก่ คือ ผศ.ดร.ศรีสมภาพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณะบดีคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี และนาย สุไฮมี ดูละสะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษาและเยาวชนปาตานี (PerMAS)

ทั้งนี้รายงานดังกล่าวพยายามชี้ให้เห็นแง่มุมของความเคลื่อนไหวการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มขบวนการที่ไม่ได้ปรากฏขึ้นบนหน้าสื่อกระแสหลัก หรือการถกเถียงในวงกว้าง อีกทั้งได้นำเสนอบทวิเคราะห์และทิศทางสู่สันติภาพ อันมีแนวโน้มให้เห็นอนาคต ของสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี
 

กระบวนการสันติภาพที่เร็วไปหน่อย?
เนื้อหาของรายงานกล่าวถึงความต่อเนื่องจากการนำเสนอรายงานพิเศษก่อนจะมีการลงนามในฉันทามติทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยสันติภาพเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งมีสิ่งที่น่าสงสัยว่าทำไมจึงมีความรีบเร่งในการเปิดโต๊ะเจรจา หากเมื่อเปรียบเทียบกับความขัดแย้งพื้นที่อื่นๆ ในโลก ซึ่งถือว่าเร็วมาก เมื่อไปค้นหาคำตอบ ก็พบว่าการเปิดโต๊ะเจรจาเป็นไปโดยความไม่พร้อมทั้งภาครัฐ และฝ่ายขบวนการ ขณะเดียวกันมีข้อเสนอให้มีการจัดตั้ง ให้มีพื้นที่เพื่อให้เกิดการแสดงความรับผิดชอบ หรือไกล่เกลี่ยของแต่ละฝ่าย ที่เรียกว่า “clearing house”

รายงานดังกล่าว ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา กลุ่มผู้นำศาสนาอิสลามไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับการพูดคุยสันติภาพดังกล่าว และยังได้ตั้งคำถามว่านายฮัสซัน ตอยิบ มีอิทธิพลเหนือพวกนักรบของขบวนการจริงๆ หรือไม่ และการพูดคุยสันติภาพดังกล่าวเป็นความต้องการของคนที่กรุงเทพมหานครมากกว่าเป็นความต้องการของคนในพื้นที่

“จากการค้นคว้าของปาตานี ฟอรั่ม พบว่า สภาองค์กรนำของ BRN หรือ Dewan Penilian Party (DPP) ไม่ได้มีบทบาทอะไรเลยกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่เกิดขึ้น”
 

ความท้าทายของรัฐไทย
รายงานยังพูดถึงสิ่งที่ท้าทายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยิ่งวัตร หรือรัฐบาลอื่นๆ ก่อนหน้านี้ คือทำอย่างไรจะก้าวข้ามพ้นวิธีการของระบบราชการแบบเดิมๆ ที่เคยชินกันมานานในอันที่จะค้นหาแนวทางสันติภาพกับชาวมลายู

“ถ้ารัฐบาลชุดนี้หรือรัฐบาลที่ผ่านมาเข้าใจว่า ปัญหารากฐานของความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดจากกระบวนการในการสร้างชาติของไทยเองก็จะเข้าใจและสร้างสรรค์กระบวนการสันติภาพที่ดี ครอบคลุม เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมได้มากและที่สำคัญสามารถที่จะสะท้อนความอึดอับคับข้องใจชาวมลายูได้อย่างชัดเจน”

“เพียงแค่ประกาศว่าการเจรจากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนนั้นเดินมาถูกทางแล้วคงจะไม่เพียงพอ ถ้าทางการไทยในกรุงเทพต้องการจะแก้ปัญหาภาคใต้จริงๆ ก็ควรที่เริ่มต้นวางพื้นฐานกระบวนการสันติภาพที่ครอบคลุมและมีความชอบธรรมโดยการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของทุกภาคส่วน และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของผู้ที่มีส่วนได้เสียทั้งหมด ถ้าทางการไทยทำได้สักส่วนหนึ่งของสิ่งที่ควรจะทำ BRN ก็เพียงแต่มาพบกันที่ครึ่งทาง เรื่องต่างๆ ก็จะทำสำเร็จได้” รายงานระบุ
 

ไม่เห็นพลังขับเคลื่อนภาคประชาชน
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) วิพากษ์ว่า รายงานฉบับนี้มองกระบวนการพูดคุยสันติภาพคนละด้านกับกลุ่มคนที่พาตัวเองไปผสมโรง เป็นกลุ่มคนที่เชื่อว่าเป็นความหวังที่จะทำให้กระบวนการสันติภาพที่เป็นจริงเกิดขึ้นได้

ผศ.ดร.ศรีสมภพ วิพากษ์ต่อไปว่า ขณะเดียวกันรายงานไม่ได้ชี้ให้เห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่มีความพยายามขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ หรือมีความพยายามส่งสัญญาณทางการเมืองอะไรบางอย่างที่ผ่านพื้นที่สาธารณะ อันมุ่งหวังที่อยากให้มีการปรับเปลี่ยนจากภาครัฐ ซึ่งมองว่าเป็นพลังที่จะผลักให้การเจรจา การยอมรับระหว่าง 2 ฝ่าย เกิดขึ้นจริง โดยคำนึงถึงความก้าวหน้า 2 ส่วนคือ ส่วนแรกที่มีการเจรจากับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ขณะเดียวกันความก้าวหน้าส่วนที่สองคือ การเปิดพื้นที่สาธารณะขับเคลื่อนของภาคประชาชน การเปิดพื้นที่สาธารณะในสังคมไทย

“ทั้ง 2 ส่วนที่มีแนวโน้มผลักให้เห็นทางออกของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ชัดเจน แต่ในรายงานฉบับนี้ ไม่ได้นำเสนอแง่มุมตรงนี้ประกอบไปด้วย” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
 

PERMAS ย้ำต้องระบุบทบาทพลเมือง อย่าเน้นแค่ทางทหาร
นายสุไฮมี ดูละสะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษาและเยาวชนปาตานี (PERMAS) ได้วิพากษ์รายงานว่า การต่อต้านรัฐไทยของประชาชนปาตานีมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1786 หรือเมื่อ 200 ปีที่แล้ว หลังจากสยามยึดปาตานีเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ไม่ได้เริ่มเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1960 ตามที่รายงานฉบับนี้ระบุไว้

นายสุไฮมี วิพากษ์ต่อไปว่า รายงานฉบับนี้ให้ความสำคัญกับบทบาททางทหารของขบวนการ BRN กับรัฐไทยเท่านั้น ไม่ได้ระบุถึงบทบาทของพลเมืองในพื้นที่ในกระบวนการสันติภาพ ซึ่งหากไม่ระบุจะส่งผลกระทบต่อขบวนการนักศึกษาที่ถูกเหมารวมไปว่าเป็นกลุ่มการเมืองของฝ่ายขบวนการด้วยเช่นกัน

นายสุไฮมี ชี้ให้เห็นว่า ภายหลังจากมีการลงนามในการพูดคุยสันติภาพเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ฝ่าย BRN ก็มีข้อเสนอ 5 ข้อต่อรัฐไทย ซึ่งในข้อเสนอดังกล่าว มี 3 ข้อที่มาจากประชาชนในพื้นที่ผ่านเวที Bicara Patani ที่จัดขึ้นที่ ม.อ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2556 ซึ่งทางทีมงาน Bicara Patani ได้ยื่นต่อศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และยื่นต่อกงสุลใหญ่มาเลเซีย เพื่อส่งต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติภาพ แต่ในรายงานฉบับนี้ยังไม่ได้ระบุ

นายสุไฮมี กล่าวต่อไปว่า อยากให้ระบุด้วยว่า ความเป็นมาของการปรับท่าทีของทั้งฝ่ายรัฐ และฝ่าย BRN มาจากการขับเคลื่อนของขบวนการนักศึกษา ด้วยเนื้อหาเช่นนี้จึงมองว่า รายงานฉบับนี้ไม่ค่อยมีการนำเสนอการปฏิบัติการทางการเมืองของภาคประชาชน มุ่งเน้นนำเสนอการปฏิบัติการทางการทหารของทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการเท่านั้น

นายสุไฮมี กล่าวด้วยว่า การพูดคุยสันติภาพครั้งนี้เกิดความล้มเหลวแน่นอน ไม่ใช่เพราะฝ่ายไทยไม่รับข้อเสนอ 5 ข้อดังกล่าว แต่เพราะการพูดคุยครั้งนี้มีการลงนามวไว้ตั้งแต่แรกว่าจะต้องพูดคุยภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ซึ่งในการพูดคุยต้องไม่มีการวางกรอบ
 

ชี้ช่องตั้งคำถามกับกระบวนการสันติภาพ
ผศ.ดร.วลักษณ์มล จ่างกมล คณะบดีคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี ให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้สื่อสมัยใหม่เป็นเครื่องมือเผยแพร่ปรากฏการณ์การพูดคุยสันติภาพครั้งนี้ ประเด็นแรก รายงานได้พยายามทำให้เห็นภาพอีกระดับหนึ่งของกระบวนการสันติภาพ ขณะเดียวกันสามารถทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงกระบวนการสันติภาพที่รับรู้ผ่านสื่อกระแสหลัก ประเด็นที่สอง เนื้อหาของรายงานมองว่า กระบวนการสันติภาพล้มเหลวซึ่งก็เป็นเรื่องเศร้าสำหรับคนในพื้นที่ แต่พอจะมีแง่มุมอื่นอีกหรือไม่ที่พอทำให้มีความหวัง

ขณะที่นายแวรอมลี แวบูละ จากเครือข่ายชุมชนศรัทธา และนายอับดุลสุโกร ดินอะ จากโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ  ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ได้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมในพื้นที่ โดยระบุตรงกันว่าควรจะแสดงให้เห็นถึงบทบาทของภาคประชาชนในพื้นที่ที่มีต่อกระบวนการสันติภาพดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ส่วนแง่มุมอื่นๆ จากผู้เข้าร่วมมองว่า รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นถึงสถานภาพทางการเมืองของรัฐไทยค่อนข้างจะนิ่งยากทำให้การเจรจาสันติภาพไม่ต่อเนื่อง ก่อนจะมีการพูดคุยกันต่อทั้ง 2 ฝ่ายควรจะถอดบทเรียน ไม่อย่างนั้นการเจรจาพูดคุยก็คงจะล้มเหลวเหมือนเดิม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท