‘คนคลิตี้ล่าง’ ในความเปลี่ยนแปลงหลังฝันร้าย และความหวังที่ยังไม่เป็นจริง

ในวาระครบรอบ 1 ปีคำตัดสินศาลปกครองสูงสุด ประชาไทลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ล่าง กว่า 16 ปี ที่สังคมไทยรับรู้ถึงความทุกข์ของผู้คนที่นั่น ถึงวันนี้สิ่งที่สัมผัสได้ คือ ความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน ตะกอนสารพิษที่การชดเชยเยี่ยวยาอาจไม่เพียงพอ
 
สภาพบ้านเรือนภายในหมู่บ้านคลิตี้ล่างที่ตั้งอยู่ติดบริเวณป่า เขา
 
 

1

เส้นทางสู่ ‘คลิตี้ล่าง’ สภาพแวดล้อมสองข้างทางก่อนถึงหมู่บ้านเต็มไปด้วยภาพของเครื่องมือหนัก เครื่องจักร รถบรรทุก และคนทำงานที่กำลังขะมักเขม้นในการปรับปรุงถนน สายไฟฟ้าหลายเส้นถูกเรียงร้อยสอดผ่านเสาปูนที่ตั้งอยู่ตามแนวระยะทางเรียบตีนเขาตำบลภายในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
 
ระหว่างทางยังได้ยินเสียงประกาศเร่ขายของจากรถยนต์ที่หลังกระบะเต็มไปด้วยเนื้อสัตว์ พืช ผัก ผลไม้ตามฤดูกาล พื้นที่โล่งกว้างบริเวณกลางหมู่บ้านยังพบกับคาราวานสินค้าที่มาพร้อมกับข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า สินค้าเบ็ดเตล็ดที่ถูกนำมาวางเรียงรายอย่างสอดคล้องต้องกันกับภาพการแต่งกายของหนุ่มสาว เสื้อผ้าหน้าผมมองดูแล้วล้วนไม่ต่างจากหนุ่มสาวในสังคมเมือง      
 
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้คณะผู้เดินทางลงพื้นที่เพื่อร่วมงาน “ทำบุญลำห้วย 16 ปีคิลตี้ ชนะคดีศาลปกครองและฉายหนังรอบปฐมทัศน์ภาพยนตร์สารคดี By the River สายน้ำติดเชื้อ” เมื่อวันที่ 3 – 5 เมษายน 2557 ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้านกะเหรี่ยงเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกลกลางป่าลึกได้เป็นอย่างดี
 
“หมู่บ้านสารพิษคลิตี้ล่าง” ชื่อนี้ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนช่วงเมษายน ปี 2541 เพื่อให้สังคมรับรู้ถึงความทุกข์ทรมานของชุมชนกระเหรี่ยงห่างไกลใต้ตีนเขาใกล้บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่ต้องเผชิญชะตากรรมรับสารพิษร้ายแรงเข้าสู่ร่างกายเนื่องจากความมักง่ายของธุรกิจเหมืองแร่ที่ปล่อยของเสียสารพิษลงสู่ลำห้วยคลิตี้
 
จนมาถึงการฟื้นฟูลำห้วยที่ปนเปื้อนสารตะกั่วของกรมควบคุมมลพิษตามคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดในทุกวันนี้
 
 

2

“หลังจากลำห้วยคลิตี้เกิดปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่ว วิถีชีวิตชาวบ้านในหมู่บ้านของผมก็เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อน” ธนกฤต โต้งฟ้า หรือ มิ๊ก เยาวชนในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง กล่าว
 
มิ๊กเล่าว่า ในอดีตคนในหมู่บ้านของเขาเคยหาอาหารกินได้ในพื้นดิน ท้องน้ำ และตามธรรมชาติรอบๆ ตัว โดยไม่ต้องลำบากเข้าไปหาซื้อในตัวเมืองเหมือนอย่างในปัจจุบัน นอกจากนั้นเมื่อชาวบ้านเจ็บป่วยจากการรับสารพิษก็ต้องหาเงินเพื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลในตัวเมือง เกิดภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทั้งค่าเดินทาง และค่าอยู่ค่ากินในระหว่างช่วงพักรักษาพยาบาล สิ่งเหล่านี้ได้กระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน
 
“ชาวบ้านไม่ค่อยได้พบปะพูดคุยกัน วัยรุ่นหนุ่มสาวห่างเหินจากผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่มีภาระเพิ่มมากขึ้นคือต้องทำงานหนักเพื่อหาเงินไว้จับจ่าย ใช้สอย” มิ๊กกล่าวถึงสภาพสังคมของคนคลิตี้ล่างในวันนี้
 
นักศึกษานิติศาสตร์ ชั้นปี 2 กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นชาวบ้านไม่ได้เป็นคนก่อ แต่ว่าผลกระทบกลับตกที่ชาวบ้าน และแม้จะได้รับความยุติธรรมในกระบวนการทางกฎหมายและเงินชดเชยต่างๆ ก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป้าหมายที่ชาวบ้านต้องการ เพราะเป้าหมายที่แท้จริงคือต้องการลำห้วยคลิตี้ที่สะอาดกลับคืนมา และผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาคือกรมควบคุมมลพิษ
 
เด็กในหมู่บ้านคลิตี้กำลังสนุกสนานกับการเล่นน้ำตกธิดาดอยหนึ่งในจุดที่ได้รับการปนเปื้อนสารตะกั่ว
 
 

3

 
‘คลิตี้ล่าง’ เป็นหมู่บ้านกระเหรี่ยงที่ตั้งอยู่ห่างจากตัว อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ประมาณ 120 กิโลเมตร เริ่มตั้งรกรากเป็นหลักแหล่งถาวรเมื่อปี 2440 โดยวิถีชีวิตทั่วไปของชาวบ้านที่นี่มีลำห้วยเล็กๆ เป็นแหล่งอาหารและน้ำที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ
 
จนเมื่อปี 2518 สายน้ำที่เปรียบเสมือนสายเลือดหล่อเลี้ยงทุกชีวิตในหมู่บ้านได้ถูกทำลายลง จากการที่บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปล่อยของเสียกากหางแร่ตะกั่วลงลำห้วย เป็นผลให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างต้องแบกรับความเจ็บป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันทำหนังสือร้องเรียนให้กรมทรัพยากรธรณีทำการตรวจสอบมลพิษในลำห้วย ซึ่งผลที่ออกมาพบว่า มีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยจริง
 
ต่อมา กลางปี 2541 กรมทรัพยากรธรณีได้มีคำสั่งให้บริษัทดังกล่าวหยุดประกอบกิจการแต่งแร่ และกรมควบคุมมลพิษกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีมติให้บริษัทเหมืองแร่ทำการฟื้นฟูลำห้วยโดยการขุดลอกดินตะกอนที่ปนเปื้อนสารตะกั่วออกจากลำห้วยแล้วเอาไปฝังกลบ และมีการสร้างเขื่อนเพื่อดักตะกอนตะกั่วภายในลำห้วย
 
ต้นปี 2546 ชาวบ้านร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายมูลนิธิที่ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมต่อศาลเพ่งเพื่อให้บริษัทตะกั่วฯ ชดเชยค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของชาวบ้าน พร้อมกับต้องฟื้นฟูลำห้วยให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้เหมือนเดิม และยังยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในกรณีที่กรมควบคุมมลพิษละเลยและมีความล่าช้าในการฟื้นฟูอีกด้วย
 
กว่า 10 ปีของการต่อสู้ในชั้นศาล ในที่สุดเมื่อต้นปี 2556 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษในลำห้วยทั้งหมด 22 คนเป็นเงินคนละ 1.7 แสนบาท 
 
ส่วนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ศาลให้กรมควบคุมมลพิษกลับไปจัดทำแผนฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ และดำเนินการฟื้นฟูตามธรรมชาติ ซึ่งต้องตรวจสอบคุณภาพน้ำในทุกฤดูกาลจนกว่าสารตะกั่วในน้ำจะอยู่ในระดับที่ไม่เกินค่ามาตรฐานการควบคุม ต่อเนื่องกันอย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปี โดยให้มีการติดประกาศให้ชาวบ้านได้รับทราบโดยทั่วกัน
 
 

4

 
สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและการพัฒนา จ.กาญจนบุรี
 
ถึงวันนี้ เวลาล่วงเลยมาถึง 1 ปี หลังศาลปกครองมีคำตัดสินคดี ลำห้วยคลิตี้แห่งนี้ยังคงมีการปนเปื้อนสารตะกั่วในปริมาณที่สูง เนื่องจากแผนการฟื้นฟูที่กรมควบคุมมลพิษวางไว้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง
 
สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและการพัฒนา จ.กาญจนบุรี ได้อธิบายว่า ในกรณีการขุดหลุมฝังกลบนั้น กรมควบคุมมลพิษไม่ได้ทำตามแผนที่วางเอาไว้คือการขุดหลุมฝังกลบนั้นต้องมีระยะห่างจากลำห้วยประมาณ 100 เมตร แต่เมื่อทำออกมาจริงแล้วหลุมฝังกลบมีระยะห่างเพียงแค่ไม่ถึง 10 เมตร และมีการนำดินกลบหน้าหนาไม่เกิน 1 นิ้ว โดยออกมาบอกกับชาวบ้านว่าได้ทำการฟื้นฟูเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนการทำเขื่อนดักตะกอนนั้น ในแผนบอกว่าต้องมีการดูดเอาตะกอนไปฝังกลบ แต่กรมควบคุมมลพิษก็ไม่ทำตามแผนที่กำหนด
 
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือเมื่อเกิดฝนตกหรือน้ำป่าไหลหลากก็จะทำให้สารพิษตะกั่วที่อยู่ในดินที่ฝังกลบไหลย้อนกลับสู่ลำห้วย และการสร้างเขื่อนดักตะกอนในลำห้วยก็เกิดการรั่วของชั้นหิน จึงทำให้น้ำที่ปนเปื้อนตะกั่วเกิดการทะลักลงสู่ลำห้วยเช่นเดิม
 
ทั้งนี้ ปัญหาของการฟื้นฟูในลักษณะดังกล่าวมีมาตั้งแต่ก่อนคำตัดสินของศาลปกครอง ชาวบ้านจึงต้องทำหนังสือไปทวนถามถึง 4 ครั้งแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด และในที่สุดกรมควบคุมมลพิษได้ออกมาบอกกับชาวบ้านว่า “ปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟู”
 
“ผมคิดว่าวิธีการที่ปล่อยให้ธรรมชาติบำบัดนั้นเป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพเพราะไม่สามารถทำให้ลำห้วยปราศจากสารพิษได้จริง ถึงได้ก็ต้องใช้เวลานาน” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและการพัฒนากล่าว
 
สภาพเขื่อนดักตะกอนในปัจจุบันที่มีการรั่วของชั้นหิน
 
หลุมกลบดินตะกอนที่ห่างจากลำห้วยไม่ถึง 10 เมตร
 
 

5

 
พี่หนู สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม (En-LAW)
 
ขณะที่สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสถิติผู้ที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพหลังจากชนะคดีว่า ปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถยืนยันตัวเลขผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีลำห้วยคลิตี้ได้อย่างชัดเจน เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือกระทรวงสาธารณสุขยังไม่มีบทบาทที่ชัดเจน ถึงแม้ช่วงแรกๆ จะพอมีบ้าง แต่ช่วงหลังมานี้ไม่ค่อยเห็น
 
“ระบบของสาธารณสุขของบ้านเรานั้นไม่มีการจัดทำระบบดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สามารถติดตามได้อย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องการติดตามและประเมินผล การให้แพทย์และพยาบาลที่มีความรู้เฉพาะทางเข้ามาประจำในพื้นที่ คอยตรวจดูแลรักษาชาวบ้าน ยามฉุกเฉิน” สุภาภรณ์วิจารณ์ระบบการรักษาพยาบาลที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 
ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมกล่าวให้ข้อมูลด้วยว่า ชาวบ้านเมื่อเกิดการเจ็บป่วยต้องเดินทางเข้าไปในตัวเมือง บางรายที่มีอาการร้ายแรงจนต้องส่งไปในกรุงเทพ เพื่อไปหาแพทย์ที่มีความถนัดในการรักษา ทำให้ชาวบ้านเกิดภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
 
ส่วนสมพร เพ็งค่ำ จากสถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ หนึ่งในคณะทำงานในพื้นที่ กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านคลิตี้ล่างในปัจจุบันว่า การต่อสู้ของชาวบ้านกว่าสิบปีจนชนะคดีในชั้นศาล ด้วยความหวังว่าซักวันจะได้ลำห้วยที่สะอาดกลับเหมือนเดิม แต่จนปัจจุบันนี้ไม่เห็นวี่แววของหน่วยงานไหนจะเข้ามาฟื้นฟูลำห้วยอย่างยั่งยืน จึงทำให้ชาวบ้านต้องคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง
 
สมพร กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันชาวบ้านนั้นสามารถปรับตัวจนเริ่มชินกับปัญหาแล้ว จนทำให้จิตวิญญาณที่ผูกผันระหว่างสายน้ำกับมนุษย์เริ่มจางหายไป เนื่องจากชาวบ้านรู้สึกท้อกับสิ่งที่พวกเขาต่อสู้มานานหลายสิบปีแต่ไม่ได้ผล และคนรุ่นหลังก็คิดว่าไม่จำเป็นแล้วที่จะพึ่งพาลำห้วยอีกต่อไป สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างลำห้วยกับชาวบ้านที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเป็นอย่างมาก
 
“ถึงแม้บางคนจะวิเคราะห์ว่าอาจเป็นเพราะยุคสมัยโลกาภิวัตน์ที่เป็นตัวเร่งสำคัญกว่าปัญหาลำห้วยปนเปื้อน ที่ทำให้หมู่บ้านเปลี่ยนแปลง แต่สำหรับฉันคิดว่าปัญหาลำห้วยปนเปื้อนนั้นเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ไปถึงโลกาภิวัตน์เร็วกว่า” สมพรแสดงความเห็น
 
เด็กในหมู่บ้านคลิตี้ล่างกำลังเล่นน้ำในบริเวณน้ำตกธิดาดอยซึ่งยังคงมีการปนเปื้อนตะกั่วอยู่บ้างเช่นกัน
 
 

6

 
ปัญหาลำน้ำเปื้อนพิษยังคงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนคลิตี้ล่าง แม้หลังชนะคดีศาลจะมีคำสั่งให้กรมควบคุมมลพิษมอบเงินชดเชยให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ แต่สำหรับพวกเขาแล้ว เงินไม่สำคัญเท่ากับการฟื้นฟูลำห้วยให้คืนดีดังเดิม
 
“หลังจากชนะคดีผมคิดว่าวิถีชีวิตของผมก็ยังไม่ดีขึ้น ถึงแม้จะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐก็ตาม สำหรับผมเงินนั้นไม่มีสำคัญใช้จ่ายไปไม่นานก็หมด แต่ลำห้วยสำคัญกว่า เพราะเราต้องนึกถึงรุ่นลูก รุ่นหลานของเราที่เกิดมาใหม่พวกเขาต้องใช้น้ำ อยู่กินกับน้ำ” สมศักดิ์ นาสวนประภา ชาวบ้านคลิตี้ล่าง หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบกล่าว
 
สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เนื่องจากหมู่บ้านอยู่ในป่าเขาวิถีชีวิตจึงต้องพึ่งพาธรรมชาติ และถึงแม้ในปัจจุบันจะมีระบบประปาใช้ แต่ก็ยังมีไม่ทั่วถึง บ้านที่อยู่สูงยังต้องใช้น้ำจากลำห้วยที่มีการปนเปื้อนของสารตะกั่วเช่นเดิม
 
“การต่อสู้ครั้งนี้สำหรับผมมันยังไม่สิ้นสุด เพราะว่าเป้าหมายของเราต้องการให้ลำห้วยกลับมาใช้ประโยชน์ได้เหมือนเดิม” สมศักดิ์กล่าวเน้นน้ำด้วยน้ำเสียงแห่งความมุ่งมั่น
 
ขณะที่ชาวบ้านอีกหลายคนให้ความเห็นว่า การเตือนจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่ให้ชาวบ้านใช้น้ำและจับสัตว์น้ำในบริเวณลำห้วยมารับประทานโดยให้เหตุผลว่าลำห้วยยังคงมีสารตะกั่วปนเปื้อนอยู่นั้น ในความเป็นจริง ชาวบ้านไม่อาจเลี่ยงไม่ใช้ประโยชน์จากลำห้วยได้ เพราะชาวบ้านบางคนที่ไม่มีรายได้ที่จะไปซื้ออาหารจากข้างนอก จึงยังต้องพึ่งพาลำห้วยในการหากินเช่นเคย
 
ภาพวงคุยสนทนาเรื่องผลกระทบของปัญหาลำห้วยคลิตี้ในปัจจุบัน
 
 

7

 
เมื่อวันที่ 3 – 5 เม.ย. 2557 นักกิจกรรมทางสังคมในประเด็นสิ่งแวดล้อม อาทิ เครือข่ายเพื่อนคลิตี้  มูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม (EnLAW) นักกิจกรรมกลุ่มดินสอสี กลุ่มแปลน และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เดินทางลงพื้นเนื่องในโอกาสวันครบรอบการตัดสินชนะคดีศาลปกครอง
 
วาระสำคัญของการเดินทางครั้งนี้คือการร่วมกันจัดงานทำบุญลำห้วยคลิตี้ เพื่อระดมทุนพัฒนาและสร้างระบบประปาภูเขาเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกหลังคาเรือน โดยคาดหวังว่าจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน เพื่อให้ชาวบ้านได้มีน้ำที่สะอาดใช้ในระหว่างการฟื้นฟูลำห้วย
 
ความทุกข์ของชาวบ้านคลิตี้ล่างแม้จะถูกตีแผ่เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ การต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมชองชาวบ้านจะได้รับการรับรองจากการชนะคดีทางปกครอง รวมทั้งได้รับเงินชดเชยเยียวยา แต่สิ่งเหล่านี้ไม่อาจรักษาความเจ็บป่วยให้หมดไปได้ขณะที่สารตะกั่วในลำห้วยยังไม่ถูกจัดการอย่างถูกต้อง และยิ่งไม่สามารถสมานรอยร้าวที่เกิดขึ้นในชุมชมที่เกิดขึ้นได้ เพราะวันนี้ความสัมพันธ์ในชุมชนคลิตี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว
 
“หมู่บ้านสารพิษคลิตี้ล่าง” คือบทเรียนของความทุกข์ระทมสำหรับชุมชนอื่นๆ ซึ่งจะต้องพยายามปกป้องพื้นที่ของตนเอง และสำหรับหน่วยงานรัฐนี่คือตัวอย่างของความผิดพลาดอันใหญ่หลวงในการป้องกันปัญหา ในฐานะตัวกลางระหว่างชาวบ้านและเอกชนที่เขามาแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ แทนที่จะมานั่งฟื้นฟูและชดเชยความเสียหายของสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคมที่ไม่อาจแก้ไขคืนมาได้ดังเดิม
 
บรรยากาศการฉายหนังสายน้ำติดเชื้อ
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท