Skip to main content
sharethis

ว่าด้วยตัวเลขและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต้อนรับวันแรงงาน 2557 ไม่ว่าจะเป็น ค่าแรงขั้นต่ำของพม่า, ค่าแรงขั้นต่ำที่คนไทยต้องการ, หนี้สินของแรงงาน และจำนวนของสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงานจากกระทรวงแรงงาน 10 ปีติดต่อกัน ฯลฯ

‘วันแรงงาน’ นอกจะเป็นวันหยุดและวันพักผ่อนแล้ว ก็ยังเป็นวันที่ข้อเรียกร้องของแรงงานถูกเผยแพร่ออกหน้าสื่อมากที่สุด (ที่มา: แฟ้มภาพ)

วันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันแรงงานสากล ธรรมเนียมปฏิบัติของสื่อต่างๆ ก็จะมีการพูดถึงประเด็นแรงงานในวันพิเศษที่หนึ่งปีจะเวียนมาบรรจบเสียทีหนึ่ง และวันนี้ ‘ประชาไท’ ลองชวนผู้อ่านมาดูตัวเลขและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจเพื่อต้อนรับวันแรงงานปี พ.ศ. 2557

 

0 0 0

0.60

เงินจำนวน 0.60 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นการประมาณการค่าแรงขั้นต่ำต่อวันในประเทศพม่า โดยแรงงานพม่าในประเทศไทยได้กลับไปเข้าสู่กระบวนการสำรวจสำมะโนประชากร ตามนโยบายของรัฐบาลพม่า รวมทั้งเงื่อนไขของการทำงานในประเทศไทยก็ครบ 4 ปี ตามมติของคณะรัฐมนตรี ที่แรงงานต่างด้าวต้องเดินทางกลับ และแรงงานจากพม่าเหล่นนี้ก็เริ่มทยอยเดินทางกลับประเทศตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานั้น

พบว่าแรงงานจากพม่าได้กลับไปยังประเทศพม่าแล้วใช้อยู่ในประเทศยาวขึ้น แรงงานหลายคนกลับไปยังพม่าใช้เวลาถึง 2-3 เดือน ซึ่งปกติแล้วแรงงานเหล่านี้จะกลับบ้านไปประมาณเพียง 1 เดือนเท่านั้น แต่กระนั้นพวกเขาก็ยังต้องกลับมาหางานยังประเทศไทย เพราะค่าแรงขั้นต่ำที่เขาได้รับในพม่านั้นเทียบไม่ได้กับรายได้จากการทำงาน(หนัก)ในประเทศไทย

16

16 แห่ง คือจำนวนของสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงานจากกระทรวงแรงงาน 10 ปีติดต่อกัน (พ.ศ. 2547-2556)

ทั้งนี้รางวัลนี้ของกระทรวงแรงงาน ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของนักสหภาพแรงงานมาทุกยุคทุกสมัย ในเรื่องเกณฑ์การคัดสรรคัดเลือกสถานประกอบการและการมีส่วนร่วมของคนงานในการตัดสินรางวัลนี้

180

180 วัน (นับจากวันที่ 25 มี.ค. 2557) คือระยะเวลาประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา กว่า 200,000 ราย ที่พิสูจน์สัญชาติแล้ว และทำงานในไทยครบ 4  ปี แต่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเกินกำหนดที่ได้รับอนุญาตให้สามารถอยู่ต่อเป็นกรณีพิเศษอีก หรือจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณา

300

ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน (รอบที่ 1 เริ่ม 1 เม.ย. 55 โดยปรับให้จังหวัดภูเก็ต กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็น 300 บาท จังหวัดอื่นๆ ให้เพิ่ม 39.50% และรอบที่ 2 เริ่ม 1 ม.ค. 56 โดยปรับจังหวัดที่ค่าแรงยังไม่ถึง 300 บาท ให้เป็น 300 บาท) นั้นก็ไม่ได้ส่งผลกระทบที่หลายฝ่ายกลัวกัน นั่นก็คือทำให้ภาคธุรกิจต้องเลิกจ้างแรงงานเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ตัวเลขการว่างงานหลังการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเมื่อปี 2556 ก็ยังคงต่ำอยู่ โดยจำนวนผู้ว่างงานในเดือนมกราคม 2557 มีทั้งสิ้น 3.61 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.9% เท่านั้น (ซึ่งตัวเลขนี้เป็นตัวเลขอัตราการว่างงานอันดับต่ำเป็นอันดับที่ 2 ของโลก)

แต่กระนั้นหลังนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำนี้ ในหลายแห่งก็พบว่านายจ้างเองก็มีเทคนิคในการจ่ายให้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการลดการทำงานล่วงเวลา (Over Time), เพิ่มปริมาณงานที่ทำอยู่ต่อวันมากขึ้น, เพิ่มชั่วโมงการทำงานต่อวันมากขึ้น และลดสวัสดิการบางอย่าง เป็นต้น

ทั้งนี้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหรือการเมืองครั้งใหญ่ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำก็จะคงไว้ที่วันละ 300 บาทนี้ไปจนถึงปี พ.ศ.2558

388

ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 388 บาท ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจสถานภาพแรงงานไทยปี 2557 เมื่อปลายเดือนเมษายน 2557 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,200 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่าแรงงาน 90% เห็นว่าค่าแรงขั้นต่ำควรปรับเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 388 บาท เพื่อสะท้อนถึงภาวะค่าครองชีพที่แท้จริง

2,500

2,500 บาท คืองบประมาณเฉลี่ยที่มาจากการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล ในการเหมาจ่ายให้กับผู้ประกันตนต่อคนต่อปีในการรักษาพยาบาล (ณ ปี พ.ศ. 2556) โดยในปี 2556 กองทุนประกันสังคมมีวงเงินรักษาพยาบาล 27,500 ล้านบาท ซึ่งอัตรานี้น้อยกว่า “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” และ “กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ”

โดย “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “บัตรทอง” หรือ “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” ให้หลักประกันสุขภาพครอบคลุมประชาชน 47.7 ล้านคนทั่วประเทศ (74.2%) งบประมาณที่ได้รับมาจากระบบภาษี (tax-based insurance) โดยในปี 2556 บัตรทองได้รับอนุมัติงบประมาณ 109,718,581,300 บาท หรือ 2,755.60 ต่อคนต่อปี

ส่วน “กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ” เป็นกองทุนที่รัฐ จัดให้สำหรับสำหรับข้าราชการและครอบครัว ซึ่งครอบคลุมข้าราชการ ลูกจ้างประจำ บิดา มารดา และบุตร เป็นระบบภาษี (tax-based insurance) ครอบคลุมผู้มีสิทธิประมาณ 4.97 ล้านคน งบประมาณได้มาจากระบบภาษี โดยพบว่า ปี 2556 ได้รับอนุมัติงบประมาณ 60,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 12,000 บาทต่อคนต่อปี บริหารโดยกรมบัญชีกลางกระทรวงการคลัง โดยที่ข้าราชการไม่ต้องจ่ายสมทบเพิ่มอีก

106,216

หนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 106,216 บาท อีกหนึ่งตัวเลขที่น่าสนใจจากการสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อปลายเดือนเมษายน 2557 ที่ผ่านมา ทั้งนี้จากการสำรวจพบแรงงานส่วนใหญ่มีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 106,216 บาท มีอัตราผ่อนชำระต่อเดือน 6,639 บาท หนี้ในระบบ 43.9% นอกระบบ 56.1%

สำหรับผลการสำรวจหนี้ครัวเรือนของแรงงาน 6 ปีย้อนหลังหรือตั้งแต่สำรวจมา พบว่า ในปี 2552 อยู่ที่ 87,399.02 บาทต่อครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบ 51.49% และ นอกระบบ 48.51%, ปี 2553 อยู่ที่ 91,063.08 บาทต่อครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบ 51.88% และ นอกระบบ 48.12%, ปี 2554 อยู่ที่ 87,641.08 บาทต่อครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบ 53.3% และ นอกระบบ 46.7%, ปี 2555 อยู่ที่ 91,710.08 บาทต่อครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบ 52.3% และนอกระบบ 47.7%, ปี 2556 อยู่ที่ 98,428.6 บาทต่อครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบ 48.1% และนอกระบบ 51.9%

โดยวัตถุประสงค์ในการกู้เงินส่วนใหญ่ 46.6% นำเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รองลงมาคือผ่อนชำระค่าที่อยู่อาศัย 20.9% และเป็นหนี้ค่ายานพาหนะ 13.2%

511,375

511,375 คน คือจำนวนของผู้สอบแข่งขันบุคคลเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น เมื่อเดือนเมษายน 2557 ที่ผ่านมา โดยการสอบครั้งนี้ได้ดำเนินการสอบพร้อมกันทั่วประเทศรวม 30 จังหวัด มีสถานที่สอบทั้งสิ้น 378 แห่ง การสอบครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้พิการทางสายตา และผู้พิการซ้ำซ้อนได้ร่วมสอบด้วย โดยการจัดสอบได้กำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตในทุกรูปแบบ ตั้งแต่กระบวนการออกข้อสอบ การคัดเลือกข้อสอบ การพิมพ์ข้อสอบ ผู้ที่สอบผ่านจะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นในตำแหน่งต่าง ๆ ในภาคและเขตที่ผู้สอบได้เลือกไว้ สำหรับการสอบครั้งนี้มีผู้สมัครสอบ 511,375 คน มีตำแหน่งว่างบรรจุและแต่งตั้งทั่วประเทศรวม 7,445 อัตรา

จากจำนวนนี้ จะเห็นได้ว่าการได้บรรจุเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ก็ยังคงได้รับความนิยมสำหรับคนไทยอยู่เสมอ

1,910,377

1,910,377 คน คือการประมาณการผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2557 โดยกองวิจัยตลาดแรงงาน รมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งใน 1,910,377 คน นี้มีผู้จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 741,931 คน (38.84%) จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 431,934 คน (22.61%) จบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.ปีที่ 3) จำนวน 213,373 คน (11.17%) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง / อนุปริญญา จำนวน 146,148 คน (7.65%) และจบปริญญาตรี จำนวน 376,991 คน (19.73%)

ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ เดือนกันยายน 2556 พบว่าระดับการศึกษาที่สําเร็จของผู้ว่างงานสูงที่สุด คือผู้ว่างงานที่สําเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาคือ รองลงมาเป็นมัธยมศึกษาตอนปลาย

นอกจากนี้ผลวิจัยเรื่อง "ประเทศไทยขาดอะไรในการเตรียมพร้อมเข้าสู่เออีซี" ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังระบุว่าการพิจารณารับเด็กจบใหม่ในแต่ละสาขา เช่น พนักงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปด้านสังคมศาสตร์ บริหารธุรกิจ บัญชี มนุษยศาสตร์ เป็นต้น พบว่ามีผู้ประกอบการจะไม่จ้างงานเด็กใหม่เลย 10.5% จ้างน้อยลง 50.6% จ้างเท่าเดิม 28.4% และจ้างเพิ่มขึ้น 10.5%, ส่วนพนักงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ไม่จ้างเด็กใหม่เลย 12.8% จ้างน้อยลง 50.9% จ้างเท่าเดิม 29.1% รับเพิ่มขึ้น 7.2%

4,000,000

แรงงานเกือบ 4 ล้านคนป่วยเรื้อรัง ผลสำรวจภาวะสุขภาพของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมข้อมูลล่าสุดในปี 2554 พบกว่า10% ของแรงงานทั้งหมด หรือเกือบ 4 ล้านคน ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง มากที่สุดคือโรคหัวใจและหลอดเลือด รองลงมาคือเบาหวาน และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง นอกจากนี้ยังพบว่าในปี 2555 มีผู้ได้รับอันตรายจากการทำงานถึงขั้นเสียชีวิต 717 ราย และพิการหรือสูญเสียอวัยวะบางส่วน 1,827 ราย 
 

170,000,000

นายจ้างเก็บเงินจากลูกจ้างต่างด้าวส่งเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับไปนอกราชอาณาจักรแล้วกว่า 170 ล้านบาท กรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยเมื่อเดือนเมษายน 2557 ว่าตามที่ กกจ.ได้ขอให้นายจ้างดำเนินการจัดเก็บเงินจากลูกจ้างต่างด้าวเพื่อนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับไปนอกราชอาณาจักรขึ้นเป็นเงินทั้งหมด 1,000 บาท โดยให้นายจ้างเก็บเงินจากแรงงานต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติคนละ 1,000 บาท หรือในช่วงเวลา 4 ปีที่ทำงานอยู่ในไทยให้ผ่อนส่งได้ 4 เดือนแบ่งเป็นเดือนละ 250 บาท ขณะนี้ กกจ.สรุปยอดเบื้องต้นจากการจัดเก็บเงินที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดต่างๆ แจ้งเข้ามามีนายจ้างเก็บจากลูกจ้างต่างด้าวส่งเข้ากองทุนทั้งหมดกว่า 170  ล้านบาทจากยอดเงินที่จะต้องจัดเก็บเข้ากองทุนได้ทั้งหมดกว่า 500 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในไทยอย่างถูกกฎหมายประมาณ 2.1 ล้านคน ทั้งนี้ หากตรวจพบว่านายจ้างไม่นำส่งหรือนำส่งเงินไม่ครบจำนวน 1,000 บาท นายจ้างต้องเสียเงินเพิ่มในอัตรา 2% ต่อเดือนของเงินค่าจ้างที่ไม่ได้นำส่งหรือนำส่งไม่ครบ

ทั้งนี้กรณีที่มีการเปลี่ยนนายจ้างก่อนที่ลูกจ้างจะส่งเงินเข้ากองทุนครบตามอัตราที่กำหนดให้นายจ้างใหม่มีหน้าที่เก็บเงินจากลูกจ้างส่งเข้ากองทุนฯ จนครบตามจำนวนที่กำหนด และกรณีลูกจ้างต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนและทำงานอย่างถูกกฎหมาย แต่หลบหนีนายจ้างไป ถ้าถูกตำรวจจับกุมได้และมีการส่งกลับประเทศต้นทาง หาก กกจ.ตรวจสอบพบว่าแรงงานต่างด้าวดังกล่าวส่งเงินเข้ากองทุนฯ ก็จะนำเงินนี้มาเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งกลับ และกรณีแรงงานต่างด้าวทำงานในไทยครบ 4 ปีแล้วต้องกลับประเทศ กกจ.ก็จะคืนเงินส่วนให้แก่แรงงานโดยส่งเงินไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองของไทยบริเวณแนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและให้ด่านตรวจช่วยดำเนินการคืนเงิน

6,600,000,000

6,600 ล้านบาท คือจำนวนเงินรวมที่สำนักงานประกันสังคมต้องจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมาโดยผ่านบัญชีธนาคาร 9 แห่งที่ร่วมมือกับสำนักงานประกันสังคมได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารซีไอเอ็มบี และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

โดยกรณีผู้ประกันตนที่ขอใช้สิทธินี้ หากมีมีเงินเดือน 9,000 บาท จะได้รับเงินบำนาญชราภาพโดยเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละประมาณ 1,800 บาท เงินเดือน 10,000 บาท ได้รับเดือนละประมาณ 2,000 บาท เงินเดือน 12,000 บาท ได้รับเดือนละประมาณ 2,400 บาท และเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป ได้รับเดือนละประมาณ 3,000 บาท อย่างไรก็ตาม ผู้ประกันตนแต่ละคนอาจจะได้รับเงินบำนาญชราภาพไม่เท่ากัน โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบและค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณการทำงานบวกกับเงินปันผลกำไรที่สำนักงานประกันสังคมนำเงินสมทบไปลงทุน ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจะนำเงินบำนาญชราภาพเข้าบัญชีธนาคารของผู้ประกันตนทุกวันที่ 25 ของแต่ละเดือน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2557

170,716,000,000

170,716 ล้านบาท (ประมาณ 5,555 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นตัวเลขที่ธนาคารโลกประเมินการส่งเงินกลับประเทศที่รวมแรงงานไทยและคนไทยที่พำนักในต่างประเทศ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1.4% ของจีดีพีในปี 2556 แต่ปัจจุบันสถานการณ์แรงงานไทยที่ออกไปทำงานในต่างประเทศมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 มีแรงงานไทยเดินทางออกไปทำงานในต่างประเทศ 130,511 คน ลดลง 2.7% จากปี 2555 ขณะที่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 มีจำนวน 20,821 คน ลดลงถึง 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ แรงงานไทยที่ออกไปทำงานในต่างประเทศในไตรมาสแรกของปี 2557 ลดลงในแทบทุกตลาดหลัก อาทิ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย บรูไน และฮ่องกง ขณะที่มีเพียงตลาดไต้หวัน ญี่ปุ่น อิสราเอลและอังกฤษเท่านั้นที่ยังคงเพิ่มขึ้น โดยการลดลงของตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ต่อแรงงานไทยในประเทศเป้าหมายเริ่มชะลอลง รวมทั้งแรงงานไทยต้องเผชิญการแข่งขันจากแรงงานของประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพใกล้เคียงกัน แต่มีค่าจ้างที่ต่ำกว่าและมีความได้เปรียบทางด้านภาษา ประกอบกับบางประเทศเริ่มมีมาตรการควบคุมการเข้ามาทำงานของแรงงานข้ามชาติ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net