บุญยืน สุขใหม่: การทำงานเพื่อขบวนการแรงงาน จงอย่าหวังเกียรติยศใดๆ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
หมายเหตุ: บทความนี้ดัดแปลงมาจากคำนำหนังสือ "คือตัวตนคนทำงาน: บุญยืน สุขใหม่" ที่จะออกในเดือนพฤษภาคม 2557 นี้
 
นับแต่รัฐไทยได้มีการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน นโยบายเบื้องต้นคือการส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ จนล่าสุดเป็นการส่งเสริมการลงทุนเพื่อส่งออกเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของชนชั้นกรรมกร และวิถีการดำรงชีพของคนในชนบทเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง หลังจากที่มีการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลยุคใดสมัยใดก็แล้วแต่ นโยบายที่ออกมานั้นก็เพื่อที่จะสนับสนุนและเอื้อผลประโยชน์ให้กับนายทุนหรือกลุ่มทุน สะสมมูลค่าส่วนเกินจนทำให้มีความเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนั้นข้ออ้างของรัฐเพื่อการส่งเสริมการลงทุน ก็จะเป็นการปรับปรุงแก้ไขกฏหมายและระเบียบต่างๆ เพื่อให้สิทธิพิศษแก่กลุ่มทุน ทั้งเพื่อการนำเข้าและส่งออก ภายใต้การสนับสนุนจากทั้งนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่ฉ้อฉลบางคนทำให้กรรมกรได้ถูกกดขี่กรรมกรไว้เป็นคนชั้นล่างของสังคม แต่ขณะเดียวกันกฏหมายที่จะคุ้มครองแรงงานกลับไม่มีการพัฒนาปรับปรุงแก้ไขให้ทันกับการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และที่สำคัญผู้บังคับใช้กฏหมายจำนวนมากได้เพิกเฉยไม่จริงจัง ทำให้กรรมกรไทยถูกเอาเปรียบและกดขี่ตลอดมา และปัญหาของกรรมกรในภาคเกษตรก็ไม่ได้รับการเหลียวแล จนต้องผันชีวิตตัวเองเข้ามาเป็นกรรมกรในโรงงานเพียงแค่คิดหวังว่าชีวิตความเป็นอยู่น่าจะดีขึ้น
 
ขณะที่คนหนุ่มสาวหลังจบการศึกษาทุกคนต่างก็มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองใหญ่หรือพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ต้องไปทำงานในต่างพื้นที่ที่ห่างไกลจากถิ่นกำเนิด ซึ่งแน่นอนว่าเขาเหล่านั้นไม่รู้ว่าเขาจะต้องพบกับปัญหาอะไรบ้างในอนาคต เมื่อเดินทางเข้าสู่ประตูโรงงานเขาเหล่านี้มักถูกเอาเปรียบ กดขี่และขูดรีด ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหลายปัญหา เช่นการจ้างงานในระบบเหมาค่าแรง ไร้ซึ่งหลักประกันทางสังคม และความมั่นคงในชีวิต รวมถึงการจ้างงานในราค่าที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษาหรือตามความสามารถที่เขาเหล่านั้นควรจะได้รับเมื่อเทียบกับลักษณะงานที่ทำเมื่อเทียบกับผลประกอบการของบริษัทฯ โดยเฉพาะการจ้างงานในระบบเหมาค่าแรงนั้นถือว่าเป็น “มะเร็งร้าย” ของสังคมผู้ใช้แรงงาน มันเป็นสัญญาทาสยุคใหม่ที่ทำให้ถูกต้องตามกฏหมายโดยความร่วมมือระหว่างกลุ่มทุนกับนักการเมืองที่ฉ้อฉลรวมถึงนักสหภาพแรงงานที่ไร้อุดมการณ์บางกลุ่ม
 
แนวทางที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเป็นทางออกหรือเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานจึงน่าที่จะเริ่มต้นจากตัวของผู้ใช้แรงงานเอง ต้องสร้างอำนาจในการต่อรองให้กับตนเองให้ได้ ดังนั้นการรวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน สภาองค์การลูกจ้างแรงงาน หรือแม้แต่การรวมตัวกันของคนงานในกลุ่มย่านแรงงานต่างจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานนั้นมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่ในแต่ละสถานประกอบการจำเป็นต้องมี เพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งสิทธิตามกฎหมายของลูกจ้าง และที่สำคัญคือเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับชนชั้นกรรมกรอย่างแท้จริง และที่สำคัญคือเป็นองค์กรประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานที่จะขัดเกลาให้กรรมกรได้เข้าใจถึงคำว่า “การเคารพซึ่งมติเสียงส่วนใหญ่แต่ไม่ละเลยความคิดเห็นของเสียงข้างน้อย” แต่การตั้งสหภาพแรงงานก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่หลายคนคิด มีอุปสรรคปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น แกนนำในการก่อตั้งสหภาพแรงงานถูกเลิกจ้าง เมื่อตั้งสหภาพแรงงานแล้วคนที่เข้ามาเป็นสหภาพแรงงานนายจ้างก็ไม่ให้เข้าโรงงานโดยจ่ายค่าจ้างปกติเพื่อให้กิจกรรมของสหภาพแรงงานเดินต่อไปได้ หรือสมาชิกถูกกลั่นแกล้งและเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม และที่ซ้ำร้ายหนักกว่านั้นก็คือการลอยแพกรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงานโดยการปิดงานเฉพาะส่วนสมาชิกสหภาพแรงงานเมื่อมีการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง
 
อนึ่งในเดือนพฤษภาที่จะมาถึงนี้ ได้มีการรวบรวมงานเขียนของผู้เขียนบางส่วนออกเผยแพร่เพื่อเป็นการเปิดมุมมองของชีวิตคนงาน ไม่ใช่เอกสารทางวิชาการแต่มันเป็นการสะท้อนส่วนหนึ่งของประสบการณ์ชีวิตของกรรมกรคนหนึ่ง ที่ได้รู้ได้เห็นและได้ทำเพื่อตัวเองและคนอื่น อาจจะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและคนที่คิดเห็นแตกต่าง เพราะแต่ละสถานการณ์แรงงานนั้นมันมีปัจจัยหลายอย่างที่ยากต่อการแก้ไข การแก้ไขปัญหาของกรรมกรไทยมีปัจจัยมากมายและซับซ้อน เช่น การเมือง นายจ้าง องค์กรลูกจ้าง เจ้าหน้าที่รัฐ หรือแม้แต่ตัวของลูกจ้างเอง แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะต้องยอมจำนนหรือหันหลังให้กับปัญหา ผู้เขียนจึงเห็นว่าจากประสบการณ์การทำงานด้านแรงงานที่ผ่านมาที่ได้ถ่ายทอดผ่านงานเขียนเหล่านี้ จะเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนให้นักสหภาพแรงงานรุ่นต่อไปได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของประโยชน์ส่วนรวมขึ้นไม่มากก็น้อย
 
“การทำงานเพื่อขบวนการแรงงานนั้น ไม่ใช่การทำงานเพื่อคนใดคนหนึ่งแต่มันเป็น “ข้อเรียกร้องจากความทุกข์ยากของคนในสังคม” ดังนั้น จงอย่าหวังเกียรติยศ รางวัลหรือคำสรรเสริญชื่นชมใดๆ”
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท