สหรัฐอเมริกา :ซูเปอร์ฮีโร่หรือยอดวายร้าย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในห้วงวิกฤตยูเครนที่โหมกระพือโดยรัสเซียรวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกกับตะวันออกเฉียงใต้  บารัก โอบามาได้เดินทางไปเยือนประเทศซึ่งเป็นคู่กรณีของทั้งรัสเซียและจีน ซึ่งล่าสุดคือญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ไม่นับการพบกับผู้นำของยุโรปเช่นเยอรมันและยูเครน พร้อมด้วยคำมั่นสัญญาของโอบามาว่าจะช่วยปกป้องประเทศเหล่านั้นจากการรุกรานของประเทศมหาอำนาจใหม่ทั้ง 2 อันสะท้อนถึงความพยายามของประธานาธิบดีสหรัฐฯในการรื้อฟื้นและเสริมสร้างความเป็นจักรวรรดินิยมอเมริกัน ภายหลังจากชะงักงันไปในยุคของจอร์จ ดับเบิล ยู บุช แน่นอนว่าโอบามานั้นพยายามทำตัวให้แตกต่างจากบุชคือการไม่ทำสงครามกันแบบประจันหน้าและการเข้าไปยึดครองแต่เขาก็หันไปใช้วิธีหนึ่งซึ่งมีรูปแบบที่อำมหิตไม่แพ้กันคือหันมาทำสงครามตัวแทนหรือการยืมมือประเทศเล็กน้อยในการปะทะกับศัตรูของตนเพื่อความยิ่งใหญ่ของการเป็นจักรวรรดินิยมและระบบโลกที่ตัวเองเป็นศูนย์กลางอันจะไม่ยอมให้ประเทศใดสามารถท้าทายได้เป็นอันขาด โอบามาตามสายตาของคน "ตาสว่าง" จำนวนมากซึ่งเห็นว่าแม้เขาจะมีผิวดำและต้องการ "เปลี่ยนแปลง"(ซึ่งทำให้ชาวโลกต่างคาดว่าเขาต้องเห็นอกเห็นใจคนสีผิวและคนในประเทศโลกที่ 3 ) แต่ในยามปลอดคน นอกจากจะถอดเสื้อผ้าแล้วโอบามาอาจจะถอดเนื้อหนังมังสาออกมามีรูปร่างและหน้าตาไม่ต่างจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผิวขาวก่อนหน้าเขาในช่วงสงครามโลก สงครามเย็นรวมไปถึงสงครามในศตวรรษที่ 21 แม้แต่น้อย

บทความต่อไปนี้แปลจากเว็บ Monthlyreview.org ชื่อ The American Empire:Pax Americana or Pox Americana? เขียนโดยคนอเมริกันเองที่ชื่อจอห์น เบลลามี ฟอสเตอร์ และ โรเบิร์ต ดับเบิลยู แม็คเชสนีย์ ซึ่งเป็นบทความที่ถูกเขียนในปี 2004 หรือช่วงที่สหรัฐฯ กำลังอยู่ทำสงครามในอัฟกานิสถานและอิรัก แม้บทความจะอายุกว่า 10 ปีก็ตาม แต่ก็ยังทันสมัยได้เสมอ หากในอีกหลายปีข้างหน้าสหรัฐฯ หลุดพ้นออกจากมรดกบาปของบุชเช่นปัญหาเศรษฐกิจและความรู้สึกต่อต้านสงครามของคนอเมริกัน สหรัฐฯ ก็พร้อมจะย่ำไปบนทางเดินเก่าๆ คือการส่งกำลังทหารเข้ามาแทรกแซงหรือยึดครอง เพื่อความเป็น Pax Americanaหรือ Pox Americanaนั้นเอง

หมายเหตุ : คำว่า Pax Americana หมายถึงเสภียรภาพหรือระเบียบของโลกภายใต้อิทธิพลทางการทหารและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งอาจใช้อีกคำหนึ่งคือการเป็น “ซูเปอร์ฮีโร่” หรือการเป็นวีรบุรุษของโลก ส่วน pox หมายถึง "ฝี" เป็นคำล้อเลียน  Pox Americana จึงหมายถึง "ฝีอเมริกัน"ซึ่งน่าจะหมายถึงมหาวายร้าย

วันที่ 10 มิถุนายน 1963 ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนนาดี ได้กล่าวปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยอเมริกันในกรุงวอชิงตัน ดีซี  เขาได้ประกาศว่าสันติภาพซึ่งสหรัฐฯ กำลังใฝ่หานั้น "ไม่ใช่ Pax Americana ที่ถูกยัดเหยียดให้กับชาวโลกโดยกำลังทางทหาร" คำพูดของเขามีเพื่อตอบโต้การวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ จากตำราเรียนยุทธวิธีทางทหารของสหภาพโซเวีตซึ่งเพิ่งถูกตีพิมพ์ไม่นานก่อนหน้านั้น เคนนาดีปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า "แก๊งจักรวรรดินิยม"กำลัง"เตรียมพร้อมในการทำสงครามในรูปแบบที่หลากหลาย" รวมไปถึง "สงครามที่ชิงลงมือก่อนต่อโซเวียต” เขาชี้ให้เห็นว่าหนังสือเรียนของโซเวียตได้ระบุว่า "เป้าหมายทางการเมืองของจักรวรรดินิยมอเมริกันนั้นเคยและยังคงทำให้ยุโรปและประเทศทุนนิยมอื่นๆ ต้องตกเป็นทาสทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองภายหลังจากที่ฝ่ายหลังถูกดัดแปลงให้กลายเป็นเครื่องมือรับใช้อย่างเชื่อง ๆ โดยการรวมประเทศเหล่านั้นเป็นกลุ่มทางการเมืองกับการทหารต่างๆ ซึ่งหันหน้าประชันกับประเทศสังคมนิยมทั้งหลาย(เช่นนาโต –ผู้แปล) เป้าหมายสำคัญของทั้งหมดนี้คือการก้าวสู่การเป็นเจ้าโลก " ในคำพูดของเคนนาดี ดูเหมือนจะบอกว่าข้อกล่าวทั้งหมดนี้ไร้สาระ ดูไม่น่าเชื่อเอาเสียเลย อันเป็นงานของพวก"นักโฆษณาชวนเชื่อ"ชาวลัทธิมาร์กซ์  “สหรัฐ ฯ ดังที่ทั้งโลกรู้กันว่าไม่เคยเริ่มต้นสงครามก่อน"

ถึงแม้จะมีการปฏิเสธโดยบุคคลสำคัญระดับนั้น แนวคิด "Pax Americana"ที่ถูกยัดเยียดโดยแสนยานุภาพของสหรัฐฯ กลายเป็นรูปแบบอันน่าชื่นชอบของผู้ที่พยายามสร้างภาพให้สหรัฐฯ ดูเป็นจักรวรรดิที่เปี่ยมด้วยเมตตา  ในหนังสือซึ่งอ่านกันอย่างแพร่หลายของ โรนัลด์ สตีล ชื่อ Pax Americana ซึ่งถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1967 ช่วงสงครามเวียดนาม เขาได้เขียนถึง“ลัทธิจักรวรรดินิยมที่เปี่ยมด้วยเมตตาของ Pax Americana อันมีสิ่งสำคัญคือมุ่งสู่เป้าหมายอันดีงามไม่ใช่เกิดจากแรงจูงใจใฝ่ต่ำเช่นกำไรและอิทธิพล" ในบทหนึ่งของหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับการช่วยเหลือต่างประเทศซึ่งอยู่ในฐานะ "องค์ประกอบของจักรวรรดิ" มีชื่อว่า "ภาระของคนขาว" (White men's burden)" ซึ่งทำให้เราระลึกถึงบทกวีอันมีชื่อของรัดยาร์ด คิปลิงที่เรียกร้องให้สหรัฐฯ แสดงบทบาทของการเป็นจักรวรรดิในประเทศฟิลิปปินส์อันนำไปสู่สงครามระหว่างสหรัฐฯ กับสเปนในปี 1898  มุมมองแบบจักวรรดิอันแจ่มชัดเช่นนั้นต้องมาสูญสิ้นหลังจากที่สหรัฐฯพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม แต่บัดนี้มันได้ปรากฏโฉมขึ้นมาอีกครั้งในโลกหลังสงครามเย็นนั้นคือสงครามของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานและอิรักและโดย "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย"ที่นำโดยสหรัฐฯ อย่างไม่รู้จักจบสิ้น อีกครั้งหนึ่งที่เราจะได้ยินชนชั้นปกครองของสหรัฐฯ เรียกร้องให้มีการ "ปกป้อง Pax Americana" และแม้แต่การเริ่มต้นของการเรียกร้องแบบเดิมให้เข้ารับ "ภาระของคนขาว"

เคนเนดีได้แสดงภาพให้เห็นถึงการขยายตัวทางการทหารไปทั่วโลกของสหรัฐฯ ในฐานะความพยายามโอบล้อมพวกคอมมิวนิสต์ ทุกวันนี้สงครามเย็นสิ้นสุดลงไปแล้ว สหภาพโซเวียตไม่มีอีกต่อไป แต่ในตอนเริ่มต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด สหรัฐฯถูกมองโดยประชาชนชาวโลกว่าเป็นจักรวรรดินิยมยิ่งกว่าเดิมโดยการยัดเยียดเจตจำนงเพียงฝ่ายเดียวต่อพวกเขาด้วยกำลังทางทหาร นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต  เราได้เห็นการเข้าแทรกแซงทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดโดยสหรัฐฯ ในยุโรปตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เครื่องจักรสงครามของสหรัฐฯได้ออกปฏิบัติการในตะวันออกกลาง บัดนี้สหรัฐฯได้มีฐานทัพในที่ต่าง ๆ ตามเอเชียกลางซึ่งเคยอยู่นอกเงื้อมือของจักรวรรดิอเมริกันมาก่อน ในการรุกรานอิรักเมื่อปี 2003 กรุงวอชิงตันได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสหรัฐฯทำสงครามแบบชิงลงมือก่อนต่ออิรักเพราะภัยคุกคามแฝงจากอาวุธอานุภาพร้ายแรงซึ่งอาจถูกใช้เล่นงานสหรัฐฯ ความจริงที่ว่าไม่มีหลักฐานต่อการมีอยู่ของอาวุธเช่นนี้ของอิรักดูเหมือนจะไม่สำคัญเพราะการประกาศโดยรัฐบาลสหรัฐฯที่ว่าอาวุธนั้นมีอยู่ก็ใช้ได้แล้ว และมันก็ไม่สำคัญเลยในช่วงหลังสงครามที่ว่าอาวุธแบบนั้นยังไม่ถูกค้นพบเพราะนับตั้งแต่การรุกรานได้เกิดขึ้นความจริงรูปแบบใหม่ในสงครามอิรักได้กำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง อันสะท้อนว่าลัทธิจักรวรรดินิยมได้หาเหตุผลเพื่อเข้าข้างตัวเอง

หากเราไม่แยกส่วนประวัติศาสตร์ก่อนหน้านี้ การทหารของสหรัฐฯ ที่ผ่านมาได้นำเสนอให้เห็นถึงความต่อเนื่องและความรวดเร็วของรูปแบบเก่าๆ ซึ่งสามารถย้อนกลับไปอย่างน้อยในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษที่สี่สิบ การแทรกแซงของสหรัฐฯครั้งสำคัญทั้งเปิดเผยและซ้อนเร้นมีดังนี้

จีน (1945), กรีซ (1947–49), เกาหลี (1950–53), อิหร่าน(1953), กัวเตมาลา(1954), อินโดจีน(1954–73), เลบานอน (1958), คองโก (1960–64), คิวบา(1961), อินโดนีเซีย (1965), สาธารณรัฐโดมิกัน (1965–66), ชิลี (1973), แองโกล่า(1976–92), เลบานอน (1982–84),เกรนาดา(1983–84), อัฟกานิสถาน(1979–1989), เอกวาดอร์ (1981–92), นิกรากัว(1981–90), ปานามา (1989–90), อิรัก(1991), โซมาเลีย (1992–94), ไฮติ (1994), บอสเนีย (1995), ยูโกสลาเวีย (1999), อัฟกานิสถาน (2001–ปัจจุบัน) และ อิรัก(2003–2011)

ขนาดมหึมาของการเข้าร่วมทำสงครามของสหรัฐฯ เป็นหลักฐานแสดงความจริงที่ว่าฐานทัพของมันกำลังครอบงำโลก  ชาลเมอร์ส จอห์นสัน ได้เขียนหนังสือชื่อ Sorrows of Empire อันมีตอนหนึ่งว่า "ถึงแม้จะโดดเด่นไปจากชนชาติอื่นในโลกใบนี้ คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวหรือเลือกที่จะไม่รู้เรื่องว่าสหรัฐฯครอบงำโลกผ่านกำลังทางทหารของตน เนื่องมาจากการปกปิดของทางการ พวกเขาจึงมักจะโง่ขลาต่อความจริงที่ว่ารัฐบาลของพวกเขาเข้าไปแทรกแซงทั่วโลก พวกเขาไม่ตระหนักว่าเครือข่ายขนาดใหญ่ของฐานทัพสหรัฐฯที่ตั้งในทุกทวีปยกเว้นแอนตาร์กติกาได้ก่อร่างขึ้นเป็นจักรวรรดิแบบใหม่"

เป้าหมายสำคัญของลัทธิจักรวรรดินิยมของสหรัฐฯ คือการเปิดช่องการลงทุนของบริษัทต่าง ๆของสหรัฐฯ และอนุญาตให้บริษัทข้ามชาติเหล่านั้นได้เข้าไปเข้าถึงแหล่งทรัพยากรสำคัญ ๆ ของประเทศด้อยพัฒนาตราบใดที่การแพร่ขยายอำนาจได้ส่งเสริมการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ มันดูเหมือนจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกของบริษัทข้ามชาติสัญชาติสหรัฐฯและผลประโยชน์ที่กลุ่มเหล่านั้นได้รับ ในเวลาเดียวกันลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกันได้ส่งเสริมผลประโยชน์ของรัฐสำคัญอื่นๆ และลัทธิทุนนิยมตราบใดที่พวกมันสอดคล้องกับความต้องการของสหรัฐฯ    อย่างไรก็ตามเป้าหมายเหล่านั้นมักจะทำให้สหรัฐฯ มีความขัดแย้งกับรัฐจักรวรรดินิยมอื่นๆ ด้วยคำว่าจักรวรรดิตามนิยามนั้นคือ ขอบเขตของการแสวงหาผลประโยชน์ที่มีมหาอำนาจเพียงเจ้าเดียวมีอิทธิพลอยู่ นอกจากนี้ตรรกะของจักรวรรดิคือการขัดขืนต่อต้านความพยายามในการปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมของรัฐชายขอบ (ด้อยพัฒนา)และรัฐที่ไม่ใช่ศูนย์กลางของแผนที่อำนาจโลก

ด้วยเหตุนี้ ลัทธิทหารและลัทธิจักรวรรดินิยมนั้นแยกไม่ออกกับทุนนิยมแบบอเมริกัน ถึงแม้ว่าจะใช้เงินไปจำนวนมากกับงบประมาณของทหารมากกว่าทุกรัฐในโลกรวมกัน (ในปี 2004-ผู้แปล) สหรัฐฯ ก็ยังต้องการผลิตอาวุธขึ้นมาเรื่อย ๆ คิดค้นระบบอาวุธใหม่ๆ และระดมจำนวนทหารเพิ่มขึ้น(ไม่จริงเสมอไปเพราะในไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพนตากอนได้ลดจำนวนทหารประจำการลง –ผู้แปล) เมื่อสหรัฐฯ พึ่งพิงกองทัพขึ้นเรื่อยๆ ในการดำรงความเป็นเจ้าโลกทางการเมืองและเศรษฐกิจและพื้นฟูสิ่งเหล่านั้นในบางกรณีหากจำเป็น   ปัญหาจากการขยายขนาดความเป็นจักรวรรดิมากเกินไปนั้นกลายเป็นสิ่งยืดเยื้อและเอาชนะได้ยาก

ในช่วงปลายของสงครามเวียดนาม หน้ากากของจักรวรรดินิยมได้ถูกฉีกออก ในปี1970 สตีลได้ตีพิมพ์ Pax Americana ฉบับปรับปรุงพร้อมกับเพิ่มบทใหม่เข้าไปภายใต้ชื่อว่า "ไม่มีสงครามแบบเวียดนามอีกแล้วใช่ไหม ?"ใจความสำคัญของบทใหม่ซึ่งถูกเขียนในช่วงที่สหรัฐฯ กำลังพ่ายแพ้ในเวียดนามนั้นขัดแย้งกับบทก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก "ภายหลังเวียดนาม สาธารณรัฐโดมิกันและรัฐบาลทหารของกรีซ" สตีลได้เขียนไว้ "มันไม่ได้เป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับประธานาธิบดีสหรัฐฯที่จะพูดได้อย่างภาคภูมิใจเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศที่ขึ้นอยู่กับ "การปลดปล่อยมนุษย์" หรือ"การอยู่รอดของเสรีภาพ" Pax Americana ถูกเปิดเผยว่าเป็นแค่ลัทธิจักรวรรดินิยมที่สมบูรณ์และเรียบง่าย

อย่างไรก็ตาม ลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกันไม่ได้จางหายไปกับการเสีย "หน้า" พลังสะท้อนกลับที่อยู่เบื้องหลังลัทธิแบบนี้ยังคงดำรงอยู่ วอชิงตันซึ่งยังยึดมั่นอยู่กับความเป็นจักรวรรดิของตนนั้นยังคงรอโอกาสใหม่ ๆในการแผ่ขยายอิทธิพล ลัทธิจักรวรรดินิยมเริ่มรุกคืบในช่วงปลายทศวรรษที่เจ็ดสิบและช่วงทศวรรษที่แปดสิบภายใต้ยุคของจิมมี คาร์เตอร์และโรนัลด์ เรแกน การเสื่อมถอยและการล่มสลายอย่างรวดเร็วของสหภาพโซเวียตในช่วงต้นของทศวรรษที่เก้าสิบได้เปิดช่องให้กับการแทรกแซงทางการทหารของสหรัฐฯเต็มพิกัดในตะวันออกกลางเป็นครั้งแรกพร้อมด้วยสงครามอ่าวปี 1991 ระหว่างสหรัฐฯ และอิรัก

สหรัฐฯ ไม่ได้เพียงเข้ามาแทรกแซงเพื่อต่อต้านการเคลื่อนไหวสำหรับการปฏิวัติของประเทศต่างๆ เพียงอย่างเดียว ประเทศอภิมหาอำนาจเพียงประเทศเดียวนี้ยังยื่นคำขาดให้กับโลกว่า การก้าวเท้าออกจากระบบของโลกเช่นนี้ไม่ว่าในทิศทางใดจะต้องพบกับกำลังทหารอย่างหนักหน่วงแฮร์รี แม็คดอฟฟ์ และพอล สวีซีย์ได้เขียนในบทความระหว่างเดือนกรกฏาคมและสิงหาคม ปี 1991 ที่ชื่อว่า "Pox Americana"ว่า

“สหรัฐฯ ดังภาพที่ปรากฏได้ขีดเส้นทางของตนไว้แต่สร้างผลกระทบอันร้ายแรงให้กับโลกทั้งโลก การเปลี่ยนแปลงคือกฏเกณฑ์ที่แน่นอนเพียงอย่างเดียวของจักรวาล มันไม่อาจหยุดยั้งได้ หากสังคมถูกกันไม่ให้แก้ไขปัญหาตามวิถีของตน แน่นอนว่ามันไม่อาจแก้ไขปัญหานั้นตามวิถีที่ถูกกำหนดโดยคนอื่น และถ้ามันไม่สามารถก้าวไปข้างหน้า มันก็จะต้องถอยหลังกลับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในส่วนต่าง ๆของโลกปัจจุบัน และสหรัฐฯ ในฐานะประเทศทรงอิทธิพลที่สุดในโลกพร้อมด้วยวิถีแห่งการใช้อำนาจแบบไร้ขีดจำกัดตามอำเภอใจดูเหมือนกำลังบอกคนอื่นว่านี่มีโชคชะตาที่ต้องได้รับการยอมรับบนความเจ็บปวดจากการทำลายล้างที่รุนแรง”

ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตของทั้งชาวอิรักและทหารอเมริกัน เพิ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงที่ทำสงครามและการเข้าไปยึดครอง ตามด้วยความหายนะและการทรมานนักโทษของทางการสหรัฐฯในค่ายอาบู กราอิบและที่อื่นๆ นำไปสู่การประท้วงทั่วโลก พร้อมด้วยลัทธิอันธพาลนิยมของการเข้าไปครอบครองอิรักในทุกด้านนั้นเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่าเป็นการยากกว่าเดิมที่สหรัฐฯ จะคงไว้ซึ่งภาพลวงตาของ “ลัทธิจักรวรรดินิยมที่เปี่ยมด้วยเมตตาแห่ง Pax Americana”จักรวรรดิอเมริกันแท้ที่จริงกลายเป็นมหาวายร้าย (Pox Americana)ในสายตาของชาวโลก การเปิดเผยการทำงานภายในของตัวของสหรัฐฯ เองเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างเร่งด่วน หากสหรัฐฯจะถ่อมตัวลงบ้าง อย่างที่แม็คดอฟฟ์และสวิซีย์ได้แนะนำกว่าทศวรรษก่อน ในการเล่นเป็น"แซมซันในวิหารแห่งมวลมนุษย์"  อย่างน้อยที่สุดในปัจจุบันเกิดความตระหนักรู้ของชาวโลกต่อความจริงเช่นนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  งานอันเร่งด่วนคือการใคร่ครวญต่อวิธีซึ่งจะช่วยมวลมนุษย์ในการทำสงครามต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมซึ่งทอดตัวไปยังอนาคตภายหน้า
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท