Skip to main content
sharethis

มองประเด็นการลงประชามติโดยประชาชนในสกอตแลนด์เรื่องการแยกตัวเป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักร มีการรณรงค์อย่างแข็งขันจากทั้งสองฝ่าย แต่โพลล์ล่าสุดชี้ว่าฝ่ายสนับสนุนเอกราชมีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่นักวิเคราะห์บอกว่าเป็นเพราะการรณรงค์ของฝ่ายคัดค้านมีลักษณะด้านลบเกินไป

5 พ.ค. 2557 สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานประเด็นการรณรงค์ประชามติเพื่อตัดสินว่าสกอตแลนด์ควรแยกตัวเป็นประเทศอิสระจากสหราชอาณาจักรหรือไม่ โดยทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านต่างก็ทำโครงการรณรงค์ของตน ซึ่งนักวิจารณ์มองว่าการรณรงค์ของฝ่ายคัดค้านการแยกตัวมีลักษณะมองโลกในแง่ลบอยู่มากจนอาจทำให้ฝ่ายสนับสนุนการแยกตัวชนะการลงประชามติ

การจัดลงประชามติกรณีนี้จะมีขึ้นในวันที่ 18 ก.ย. 2557 จากการตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลสหราชอาณาจักรและรัฐบาลสกอตแลนด์ แม้ผลสำรวจความเห็นจะระบุว่าฝ่ายสนับสนุนการแยกตัวของสกอตแลนด์ซึ่งมีการรณรงค์ชื่อ "โหวต 'ใช่' ให้สกอตแลนด์" (Yes Scotland) ยังคงแพ้คะแนนเสียงของอีกฝ่ายหนึ่ง ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 48 ต่อ 52 แต่การรณรงค์ของฝ่ายคัดค้านภายใต้ชื่อ "ร่วมกันดีกว่า" (Better Together) กำลังส่งผลด้านลบต่อฝ่ายตนเอง เมื่อผลโพลล์แสดงให้เห็นว่าฝ่ายสนับสนุนการแยกตัวได้รับคะแนนสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการสำรวจโพลล์มา

อัลจาซีราระบุว่า อลิสเตอร์ ดาร์ลิง อดีต ส.ส.อังกฤษผู้นำการรณรงค์ "ร่วมกันดีกว่า" ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางแม้แต่จากฝ่ายเดียวกัน นักวิจารณ์การเมืองหลายคนก็วิจารณ์โครงการนี้ซึ่งมีลักษณะเชิงลบ เช่น เกอรี ฮัสซัน นักเขียนเรื่องการเมืองชาวสกอตแลนด์กล่าวว่า ชาวสกอตแลนด์มีความตื่นตัวเรื่องการลงประชามตินี้มากเพราะพวกเขาต้องการให้มีการแข่งขันลงคะแนนเสียงในเรื่องนี้ แต่ฝ่ายผู้รณรงค์โครงการ "ร่วมกันดีกว่า" ดูเหมือนจะไม่ต้องการให้มีการแข่งขันนี้ตั้งแต่แรกแล้ว และดาร์ลิงก็ไม่ต้องการเป็นผู้นำในการรณรงค์นี้

ฮัสซันกล่าวอีกว่าโครงการ "ร่วมกันดีกว่า" มีทรัพยากรและทีมงานมืออาชีพแต่ขาดการรณรงค์ที่เหมาะสมและขาดมวลชนสนับสนุน ทำให้กลายเป็นข้อผิดพลาดสำหรับฝ่ายที่ต้องการให้สกอตแลนด์ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร

ฮัสซันชี้ให้เห็นว่าข้อผิดพลาดของพวกเขาคือการที่จอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอังกฤษปฏิเสธที่จะให้สกอตแลนด์ร่วมใช้สกุลเงินปอนด์หากมีการแยกตัวเป็นเอกราช รวมถึงไม่มีวิสัยทัศน์ในแง่บวกเพื่อแสดงวาทศิลป์ตามชื่อโครงการ "ร่วมกันดีกว่า"

"การรณรงค์ทางการเมืองมีทั้งแนวคิดเชิงลบและแนวคิดเชิงบวก มาจนถึงตอนนี้การรณรงค์ 'ร่วมกันดีกว่า' มีแนวบวกแค่บางครั้งบางคราวและอยู่ในส่วนเล็กๆ เมื่อเทียบกับการใช้พลังภาษาในเชิง 'พยากรณ์โลกแตก' ที่พวกเขาชอบใช้กันในการรณรงค์" ฮัสซันกล่าว

แต่สำหรับนักวิเคราะห์บางคนมองว่าไม่ใช่ข้อความในเชิงลบที่ทำให้คนไม่อยากสนับสนุน แต่เป็นวิธีการแสดงออกของการรณรงค์

เจมส์ มิตเชลล์ ศาตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระกล่าวว่า พวกเขาเคยวิจัยว่าการรณรงค์โดยใช้ข้อความเชิงลบได้ผล แต่สำหรับกลุ่มคัดค้านการแยกตัวของสกอตแลนด์พวกเขาไม่เพียงแค่ใช้ข้อความเชิงลบ แต่ยังใช้ความโกรธและความสุดโต่ง ซึ่งทำให้ดูไม่น่าเชื่อถือ มิตเชลล์คิดว่าน้ำเสียงและความไม่น่าเชื่อถือต่างหากที่เป็นปัญหา

มิตเชลล์ยกตัวอย่างสิ่งที่จอร์จ โรเบิร์ตสัน อดีตเลขาธิการกลาโหมผู้คัดค้านการแยกตัวของสกอตแลนด์กล่าวไว้ที่กรุงวอชิงตันดีซีเดือนที่แล้วว่า การโหวตให้สกอตแลนด์เป็นเอกราชจากอังกฤษจะเป็นการเชื้อเชิญ "อำนาจมืด" ของโลกใบนี้และเป็นภัยต่อความมั่นคงของโลกตะวันตก

"ผมบอกตรงๆ ว่าเรื่องนี้ถ้าพูดเมื่อ 20 หรือ 30 ปีที่แล้วคงสร้างความหวาดกลัวกันมาก แต่ทุกวันนี้คนเรามีโอกาสกลัวกันน้อยลง" มิตเชลล์

ขณะที่บางคนกลับมองว่าลักษณะการรณรงค์ที่ดูแรงของฝ่าย 'โหวตโน' เป็นการเจาะกลุ่มเป้าหมายของพวกเขาได้ถูกจุด โดย อเล็ก แมซซี บล็อกเกอร์ชาวสกอตแลนด์ผู้เขียนเรื่องการเมืองกล่าวว่าฝ่ายคัดค้านการแยกตัวไม่สนใจคำวิจารณ์จากภายนอก พวกเขาต้องการชนะการโหวตเท่านั้น และพวกเขาก็รู้ว่าฐานเสียงที่พวกเขาควรดึงดูดควรสื่อสารด้วยอย่างไร

แต่นักวิชาการอย่างมิตเชลล์ก็พูดแบบเดียวกับฮัสซันว่าปัญหาจริงๆ ของฝ่ายโหวตโนคือพวกเขาไม่อยากให้มีการลงประชามติแต่แรกอยู่แล้ว แต่พวกเขาก็ต้องออกจากแนวคิดแบบเดิมๆ ของตนเองแล้วยอมรับการมีอยู่ของประชามติ

"พวกเขาแทบทุกคนมีฐานคติว่า 'การรวมกับสหราชอาณาจักรต่อไปต้องดีแน่นอน' แต่พวกเขาก็ต้องพร้อมที่จะกล่าวปกป้องและอธิบายว่าทำไมพวกเขาถึงคิดเช่นนั้น และดูเหมือนว่าพวกเขาต้องใช้ความพยายามอย่างมาก" มิตเชลล์กล่าว


เรียบเรียงจาก

Scotland's 'No' campaign is a downer, Aljazeera, 05-05-2014
http://www.aljazeera.com/indepth/features/2014/05/scotland-no-campaign-independence-referendum-20145595937219240.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net