Skip to main content
sharethis

เลขา สพฉ.แนะนำประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหวในการรับมือกับอาฟเตอร์ช็อคที่อาจเกิดขึ้น แนะไม่ควรอยู่ในอาคารและควรเตรียมถุงยังชีพฉุกเฉิน ประสานกู้ชีพในพื้นที่พร้อมรับมือ

6 พ.ค.2557 นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงการเตรียมรับมือกับสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นว่า ขณะนี้ สพฉ.ประสานทีมกู้ชีพในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงให้เตรียมพร้อมรับมือกับอาฟเตอร์ช็อคที่จะเกิดขึ้น

เลขาธิการ สพฉ.กล่าวว่า ประชาชนต้องเตรียมพร้อมรับมือกับอาฟเตอร์ช็อคที่จะเกิดขึ้น ทุกครัวเรือนจะต้องเตรียมถุงยังชีพฉุกเฉินเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม นม และกล่องปฐมพยาบาลเบื้องต้น พร้อมทั้งยาที่จะต้องใช้สำหรับคนที่เป็นโรคประจำตัว และเอกสารที่จำเป็น อาทิ บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน และต้องซักซ้อมสมาชิกในครอบครัวหากกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินด้วย เช่น สถานที่นัดพบ หรือการมอบหมายให้ชัดเจนว่าใครจะรับผิดชอบดูแลเด็กและคนชรา

คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่

สำหรับกรณีที่เกิดอาฟเตอร์ช็อคตามมา เลขาธิการ สพฉ.แนะนำว่า สำหรับผู้ที่ยังอยู่ในบ้านหรืออาคาร ควรตั้งสติ ให้หมอบลงกับพื้น และอยู่ห่างจากหน้าต่าง กำแพง หรือบล็อกคอนกรีต โดยให้หมอบใต้โต๊ะ หรือในที่กำบังที่แข็งแรง หลีกเลี่ยงหน้าต่างหรือผนังห้อง และหากกำลังขับรถยนต์ให้จอดรถชิดขอบทางและอย่าออกจากรถจนกว่าจะแน่ใจว่าปลอดภัย หากเกิดอาฟเตอร์ช็อคให้เปิดประตูอาคารหรือบ้านเรือนเตรียมไว้เพื่อให้มีทางออก โดยเฉพาะอาคารหรือบ้านเรือนที่สร้างด้วยคอนกรีต เพราะเมื่อเกิดแผ่นดินไหวประตูอาจเปิดไม่ออก ทำให้หนีออกไปข้างนอกไม่ได้ ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการใช้ลิฟท์โดยเด็ดขาด และเมื่อเหตุการณ์สงบลงแล้วควรเร่งตรวจสอบสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส และอย่าเปิดใช้จนกว่าจะแน่ใจว่าปลอดภัย

นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บจากเหตุแผ่นดินไหวต้องรีบทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งส่วนใหญ่อาการบาดเจ็บมักจะเกิดจากถูกของแข็งตกกระทบ และบาดเจ็บจากเศษแก้วหรือเศษกระเบื้องที่แตกกระจาย หากพบว่ามีบาดแผลฉีกขาดจากการถูกของมีคมบาดให้รีบทำการห้ามเลือดโดยใช้ผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซปิดบาดแผลไว้ และควรสังเกตการเสียเลือดเพิ่มถ้าเลือดยังออกไม่หยุดให้ใช้ผ้ายืดพันพันทับอีกรอบ ในกรณีที่เกิดบาดแผลในบริเวณแขนหรือขาที่ไม่มีอาการกระดูกหักให้ยกส่วนนั้นขึ้นสูง ส่วนกรณีที่ได้รับของแข็งตกกระทบที่ศีรษะให้ทำการห้ามเลือดโดยการปิดแผลโดยตรง ถ้าเลือดออกมากให้ใช้ผ้ายืดพันรัดและควรสังเกตอาการทางสมองควบคู่ไปด้วย เช่น ซึม พูดคุยสับสน ระดับความรู้สึกตัวลดลง ปวดศีรษะมาก อาเจียนพุ่ง ส่วนแผลจากกระดูกหักกรณีที่ไม่มีบาดแผลเลือดออกให้ประคบด้วยน้ำแข็งบริเวณที่ปวดเพื่อลดอาหารปวดบวมจากนั้นให้ดามกระดูกโดยยึดตรึงส่วนที่หักให้อยู่นิ่งมากที่สุด ส่วนกรณีกระดูกหักและมีแผลเปิดจนเห็นกระดูกโผล่ห้ามดันกระดูกกลับเข้าที่เด็ดขาดให้ทำการห้ามเลือดเท่านั้น และหากพบว่าผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บรุนแรงให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลืองทางการแพทย์ ซึ่งสายด่วน 1669 พร้อมสำหรับการใช้งานแม้จะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว นพ.อนุชา กล่าวด้วยว่า สพฉ.มีการเตรียมพร้อมรถสื่อสารเคลื่อนที่เร็วเพื่อรับมือเหตุฉุกเฉินในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อกันทางโทรศัพท์ได้ด้วย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net