Skip to main content
sharethis

นิค นอสติทซ์ โดนอีก ถูก 3 การ์ด กปปส.พยายามเข้าล็อคตัว "ไปหาหลวงปู่" เจ้าตัว-เพื่อน ร้องเรียก ตร.ช่วย ล่าสุดอยู่ในที่ปลอดภัย

<--break- />

7 พ.ค. 2557 นิค นอสติทซ์ ช่างภาพอิสระชาวเยอรมัน ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น.ที่ผ่านมา ขณะที่เขานั่งสูบบุหรี่อยู่กับ โจนาธาน เฮด เพื่อนผู้สื่อข่าวต่างประเทศ บริเวณหน้าประตูศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อรอทำข่าวศาลวินิจฉัยคดีโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี มีชาย 3 คน ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการ์ด กปปส. เนื่องจากมีสัญลักษณ์ กปปส. เดินตรงมาหาตนเอง และพูดด้วยสำเนียงใต้ว่า "ไปนิค ไปหาหลวงปู่" พร้อมเข้ามานั่งขนาบข้าง พยายามล็อคตัวเขา

"เขาบอก 'เราเชิญไปหาหลวงปู่' ผมก็บอกว่า ผมไม่ไป ผมรู้คุณพยายามทำร้ายผม" นิคเล่าและว่า พอเขาลุกขึ้นยืน การ์ดทั้งสามยังพยายามเข้ามาดันเขา โจนาธาน เฮด จึงตะโกนขอความช่วยเหลือจากตำรวจทหาร 7-8 นายซึ่งอยู่บริเวณนั้น ห่างไปราวสิบกว่าเมตร

นิค บอกว่า ขณะนี้ เขาอยู่ในสถานที่ปลอดภัยแล้ว และยืนยันจะแจ้งความต่อไป ทั้งนี้ ทราบจากคนที่ยังอยู่ในบริเวณนั้นว่าหลังจากเขาออกมาแล้วก็ยังมีคนเข้าไปตามหาเขาในบริเวณศาล

นิค กล่าวว่า เนื่องจากเขาเคยถูกทำร้ายร่างกายก่อนหน้านี้ เขาทราบดีว่าไม่ควรเข้าใกล้หรือเข้าไปในเขตของผู้ชุมนุม  วันนี้เขาก็อยู่ในบริเวณศาล ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ ยังคิดว่าน่าจะไม่เป็นไร แต่ก็เกิดเรื่องขึ้น

ด้าน โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวบีบีซี ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ แสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์ว่า ที่เกิดเหตุนั้นอยู่ในบริเวณศาลสูงสุดของประเทศ ซึ่งคาดหวังว่าผู้สื่อข่าวควรจะได้ทำข่าวโดยปราศจากความกลัว

ก่อนหน้านี้ (25 พ.ย.56) นิคเคยถูกการ์ดผู้ชุมนุมทำร้ายที่แยก พล.1 ระหว่างปฏิบัติการดาวกระจายของ กปปส. หลัง ชุมพล จุลใส แกนนำ กปปส. และ อดีต ส.ส. ปชป. ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง ไล่เขาออกจากจุดถ่ายภาพ 
 
สำหรับ นิค นอสติทซ์ (Nick Nostitz) เป็นช่างภาพชาวเยอรมันที่ทำงานในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2536 ผลงานหนังสือภาพถ่ายที่สำคัญของเขาเช่น "Patpong: Bangkok's Twilight Zone" ตีพิมพ์เมื่อปี 2544 อธิบายถึงอุตสาหกรรมทางเพศในประเทศไทย นอกจากนี้ผลงานภาพถ่ายของเขายังปรากฏในนิตยสาร Stern และ Der Spiegel หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เขามีผลงานหนังสือภาพถ่าย Red vs Yellow Volume 1: Thailand's Crisis of Identity พิมพ์ในปี 2552 และ Red vs Yellow Volume 2: Thailand's Political Awakening พิมพ์ในปี 2554 และเขียนบล็อกในเว็บนวมณฑล (New Mandala) เว็บไซต์อภิปรายเรื่องสังคม การเมือง วัฒนธรรมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net