Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


ภายในกระแส Social Media ภาพการแบ่งคู่ตรงข้ามระหว่าง “คนเมือง” และ “คนชนบท”ถูกเน้นขับออกมาอย่างเห็นได้ชัดการแบ่งคู่ตรงข้ามในลักษณะเช่นนี้มักจะมาพร้อมกับภาพในความคิดของคนผ่านปฏิบัติการทางภาษาว่า เมืองควรมีภาพเป็นเช่นไร ชนบทมีภาพเป็นเช่นไร

แม้ว่าจริงๆ แล้วคำสองคำนี้เป็นคำใหญ่ และก็ดูจะมีปัญหาพอสมควรเหมือนกันหากจะทำการระบุลงไปให้ชัดเจนว่า อะไรคือ “เมือง” และอะไรคือ “ชนบท” หลายครั้งที่เมืองและชนบทถูกแบ่งอย่างหยาบๆด้วย “ความเป็นกรุงเทพฯ” และ “ความไม่เป็นกรุงเทพฯ” แต่การแบ่งเช่นนี้ก็ดูจะมีพลังพอควรในโลกปัจจุบันและผู้เขียนขอใช้เกณฑ์นี้ในการเขียนต่อไป

ด้วยคำต่างๆ และระบบความเชื่อได้สร้างให้คนที่“ไม่ใช่กรุงเทพ” มีลักษณะที่ “เอื้อเฟื้อ”“จริงใจ” “ซื่อๆ” “สมถะ” และ “เป็นผู้รอรับการกระทำ (Passive)” แต่การเกิดขึ้นของกลุ่มของนักการเมืองเช่น ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ หรือกลุ่มมวลชน เช่น กลุ่มคนเสื้อแดง กลุ่มเชียงใหม่จัดการตัวเอง ทั้งปรากฏการณ์ในลักษณะดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในส่วนของหัวเมืองใหญ่ เช่นเชียงใหม่แต่รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้คนที่มี “ความเป็นกรุงเทพฯ”จำนวนมากมีความรู้สึกว่า ภาพความเป็นความเป็นต่างจังหวัดในความคิดของพวกเขา/เธอ ถูกท้าทาย

การท้าทายดังกล่าวหลายครั้งนำไปสู่ภาวะหวนกลับไปหาอุดมคติที่พวกเขาเชื่อเกี่ยวกับความเป็น “คนชนบท” ที่เปี่ยมไปด้วย“ความเอื้ออาทร” อยู่อย่างสมถะ และรอรับการจัดการจากส่วนกลางอย่างเชื่องๆ  ขณะเดียวกันก็ชี้ไปยังนักการเมืองว่า “เพราะนักการเมืองเหล่านั้นไงทำให้คนต่างจังหวัดเปลี่ยนไป” “อยากได้รถใหม่”“อยากได้รถไฟความเร็วสูง” อยากได้อะไรที่ในสายตาพวกเขา/เธอ—คนกรุงเทพฯ-- เห็นว่ามันไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นเอาเสียเลย  พร้อมกันนั้นก็เรียกร้องให้คนที่ “ไม่ใช่กรุงเทพฯ” กลับมาสู่วิถีเดิมเสียเถิด วอนขออยากเห็นความเอื้ออาทรแบบเดิมๆ ผ่านทางสื่อต่างๆ ทั้ง Social Media และ สื่อสาธารณะ

แต่สิ่งที่เขาหรือเธอเหล่านั้นอาจลืมไปว่า ในฐานะคนที่“ไม่ใช่เป็นกรุงเทพฯ” เราก็อยากมีสาธารณูปโภคพื้นฐานและการขนส่งที่ดี เราอยากมีเงินที่จะส่งลูกหลานของเราเรียนสูงๆ เรียนต่างประเทศแบบที่พวกเขา/เธออยากจะส่ง เราอยากจะมีนักการเมืองที่มีนโยบายที่เหลียวแลเมืองของเรา เราอยากให้เสียงของเราไม่ถูกใครพรากไปเพียงเพราะเราถูกมองว่าไม่มีอำนาจ แม้ว่าผู้เขียนอาจไม่สามารถเป็นตัวแทนของคนที่ “ที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ” ได้ แต่สิ่งที่อยากจะขอคือ เราขอความ “เอื้ออาทร” จากคนกรุงแก่เรา ให้เราได้เงยหน้าขึ้นมาแล้วบอกได้ว่า “เราต้องการอะไร” บ้างเถอะ เราก็อยากไปก้าวไปข้างหน้าเช่นกัน และความรู้สึกเช่นนี้นักการเมืองไม่เคยสอน หรือบอกให้เราว่าเราต้องอยาก “เจริญ”


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net