Skip to main content
sharethis

7 พ.ค.2557  ณ ห้องประชุม ไพบูลย์วัฒนศิริธรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมาย 4 ฉบับเพื่อการปฏิรูปที่ดินในประเทศไทย และได้แถลงข่าวเพื่อประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายภาคประชาชน ภาคประชาสังคมในพื้นที่ภาคกลางและปริมณฑล  ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก โดยนายจำนงค์ หนูพันธ์​ ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค เป็นตัวแทนขององค์กรภาคประชาชนตัวแทนเครือข่ายได้อ่านแถลงการณ์ ระบุเนื้อหาดังนี้

1.พวกเราตระหนักดีว่ามนุษย์จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยการมีที่อยู่อาศัย และการมีที่ดินทำกินซึ่งที่ผ่านมาทรัพยากรที่ดินมีมากเพียงพอที่จะให้พวกเรามีชีวิตได้อย่างมั่นคง ตราบจนกระทั่งที่ดินได้ถูกกระทำให้กลายเป็นสินค้า เกิดการผูกขาดเป็น กำไร ขาดทุน และปล่อยทิ้งร้าง อาจเป็นปัญหาการเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่สำคัญในปัจจุบันส่งผลให้เกษตรกรผู้ยากไร้และคนจน ไม่สามารถเข้าสู่ที่ดินได้ ซึ่งเป็นการผลักดันให้ผู้ยากไร้และคนด้อยโอกาสต้องเข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐและเอกชนอย่างผิดกฎหมายทำให้ถูกจับกุมและดำเนินคดี พวกเราจึงร่วมกันปลดเปลื้องทุกข์ยากนี้ร่วมกัน

2.ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินของรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยมีนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินมักขาดความต่อเนื่องและที่สำคัญขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนแลภาคประชาสังคม ที่เป็นเจ้าของปัญหา จึงทำให้การแก้ไขปัญหาที่ดินไม่ประสบความสำเร็จ  เราจะร่วมกันแก้ไขปัญหาจุดบกพร่องนี้เพื่อเป็นการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 4 ฉบับ ให้เป็นกฎหมายที่ภาคประชาชนมีบทบาทสำคัญในการกระจายการถือครองที่ดินและการจัดการทรัพยากร

3.เรามั่นใจว่ากฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้จะสามารถกระจายการถือครองทรัพยากรที่ดินอย่างเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้อย่างเป็นรูปประธรรม กล่าวคือ

พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าเป็นกฎหมายที่ทำให้เกิดการแบ่งปันและกระจายความมั่งคั่งจากผู้ถือครองที่ดินเป็นจำนวนมากไปสู่คนยากจนและผู้ด้อยโอกาส

พ.ร.บ.ธนาคารที่ดินทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุนให้เกษตรกรและคนยากจนได้มีที่ดินทำกินและมีที่อยู่อาศัยโดยให้เกษตรกรหรือคนยากจนกู้ยืมเพื่อซื้อที่ดิน ไถ่ถอนที่ดิน ปรับปรุงพัฒนาที่ดิน รวมถึงสรรหาที่ดินโดยการจัดซื้อ การเวียนคืนที่ดินในสภาพที่เหมาะสมกับเกษตรกรรม

พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและกระจายทรัพยากรที่เคยรวมศูนย์ผูกขาดที่หน่วยงานของรัฐมาสู่ชุมชนท้องถิ่น  ส่งเสริมจิตสำนึกส่วนรวมที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม  เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงขบวนการยุติธรรมและการช่วยเหลือเยียวยาและช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้ จำเลยและผู้เสียหาย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเข้าสู่ขบวนการยุติธรรม เช่น ค่าประกันตัว ค่าทนายความ ค่าทำเนียมศาล ค่าเดินทางและอื่นๆเพื่อให้การพิจารณาช่วยเหลือเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเจตนารมณ์ของเครือข่ายองค์กรประชาชน ภาคประชาสังคม และองค์กรภาคีทั้ง 20 องค์กรในการขับเคลื่อนและผลักดันกฎหมายทั้ง 4 ฉบับโดยการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ว่า “ร้อยคนเริ่ม  หมื่นคนสู้ แสนคนรู้  ล้านคนร่วม” ในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไข พ.ร.บ ปฏิรูปที่ดินทั้ง 4 ฉบับ นี้ ซึ่งได้มีการยกร่างกฎหมายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มเครือข่ายซึ่งเป็นเวทีระดับภาค เพื่อนำความคิดเห็น ข้อเสนอแนะเสนอเข้าสู่เวทีกลางเพื่อพิจารณาปรับปรุงภายใน 60 วัน ก่อนจะให้มีการรณรงค์เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว และวันที่ 24 มิถุนายน จะยื่นหลักการกฎหมายต่อประธานรัฐสภา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมหลังจากนี้ของคณะทำงานขับเคลื่อนประเด็นที่ดิน คือการผลักดันข้อเสนอของทั้ง 4 เวทีที่จัดขึ้นทั่วทุกภาคในประเทศไทยสู่เวทีปฏิรูปต่างๆ  จัดเวทีสัมมนา 200 เครือข่ายเพื่อยื่นข้อเสนอต่อรัฐสภา และ รณรงค์เพื่อรวบรวมรายชื่อให้ได้ 1 ล้านรายชื่อเพื่อยื่นเสนอต่อรัฐสภาให้มีการยกร่าง กฎหมายทั้ง 4 ฉบับต่อไป

ทั้งนี้ รายชื่อองค์กรร่วมรณรงค์ขับเคลื่อนกฎหมาย 4 ฉบับ และร่วมแถลงข่าว ได้แก่ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคลในพระอุปถัมภ์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ มูลนิธิดวงประทีป เครือข่ายสลัม 4 ภาค มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สหพันธ์องค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ ศูนย์จิตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน (อ่าวตัว ก) สำนักงานประสานการพัฒนาสังคมสุขภาวะ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ มูลนิธิชุมชนไท สภาองค์กรชุมชน (เขตคลองเตย) เครือข่ายนักศึกษา โครงการเสริมสร้างภาวะการนำเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net