Skip to main content
sharethis
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ชี้ว่ามีมูลเพียงพอที่จะส่งเรื่องให้ที่ประชุมวุฒิสภาดำเนินการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวไปต่างประเทศ

8 พ.ค.2557 เมื่อเวลา 15.30 น. นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. และนายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่ประธานวุฒิสภาได้ส่งคำร้องขอให้วุฒิสภาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวและมีเหตุควรสงสัยว่า นายกฯ เพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นตามอำนาจหน้าที่โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ไต่สวนข้อเท็จจริงโดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวนนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและมีมติด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 0 เห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหามีมูลเป็นการส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 และเป็นการส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตำแหน่ง 
 
คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและอยู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลซึ่งได้กำหนดนโยบายจำนำข้าวมาตั้งแต่ต้น และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและการมีส่วนร่วมในการบริหารโครงการ ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ถูกกล่าวหาถึงสองครั้งแล้วว่าโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาและความเสียหายอย่างยิ่ง ทั้งจะก่อให้เกิดการทุจริตในทุกขั้นตอนของกระบวนการรับจำนำ 
 
นอกจากนี้ผู้ถูกกล่าวหายังรับทราบปัญหาในการดำเนินโครงการจากการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งรายงานผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา ว่ามีผลขาดทุนสะสมสูงถึงสามแสนกว่าล้านบาท อีกทั้งหนังสือของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งผลการตรวจสอบโครงการสรุปได้ว่าโครงการมีจุดอ่อนหรือความเสี่ยงในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรจรถึงการระบายข้าว ซึ่งเป็นช่องทางนำไปสู่การสวมสิทธิ์การจำนำและการทุจริตในโครงการ เกิดผลกระทบสร้างความเสียหายต่อเงินงบประมาณแผ่นดินและเสี่ยงต่อระบบการคลังของประเทศ ไม่เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน 
 
แม้ในชั้นนี้พยานหลักฐานยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหามีส่วนร่วมในการทุจริตหรือสมยอมให้เกิดการทุจริตหรือไม่ก็ตาม แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภาฯ ว่าจะป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง โดยยึดหลักความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ทั้งไม่พิจารณาระงับยับยั้งโครงการตั้งแต่เริ่มรับทราบความเสียหายอันร้ายแรงที่สุดของประเทศจากการดำเนินโครงการ จึงมีมติ 7 ต่อ 0 ว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11 (1) อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 จึงให้แยกสำนวนการถอดถอนส่งไปยังวุฒิสภา เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ส่วนคดีอาญานั้น ที่ประชุมมีมติให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปจนกว่าจะสิ้นกระแสความ ทั้งนี้โดยไม่ตัดพยานที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างมาในคำร้องขอนำสืบแก้ข้อกล่าวหาหลังสุด โดยให้นำไปพิจารณาในสำนวนคดีอาญาต่อไป 
 
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากวุฒิสภามีมติเห็นชอบตามที่ ป.ป.ช.เสนอให้ถอดถอน จะส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net