Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เนื่องจากคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แสดงความเห็นว่าการเสนอชื่อนายกฯ คนกลาง (ซึ่งผมไม่เห็นด้วยและคิดว่าควรใช้คำว่า “คนนอก” มากกว่า”) เป็นวิถีทางหนึ่งในการแก้ไขวิกฤติทางการเมือง โดยได้หยิบยกเหตุการณ์ในประเทศอิตาลีและการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในประเทศไทยภายหลังเหตุการณ์พฤษภามหาโหดเมื่อ พ.ศ. 2535 มาเป็นตัวอย่างสนับสนุนความคิดเห็นของตนเองนั้น

ผมไม่มีความรู้อย่างเพียงพอสำหรับเหตุการณ์ในอิตาลี ดังนั้น จะกล่าวถึงเฉพาะกรณีภายหลังการแต่งตั้งนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน เมื่อ พ.ศ. 2535 โดยขออธิบายข้อเท็จจริงบางส่วนที่คุณอภิสิทธิ์ ไม่ได้กล่าวถึงแต่เป็นส่วนที่มี “ความสำคัญ” ที่จะทำให้เข้าใจว่าการแต่งตั้งนายกฯ อานันท์ มีเงื่อนไขที่มีความแตกต่างเป็นอย่างมากกับความพยายามในการเสนอนายกฯ ตาม ม. 7 ในห้วงเวลาปัจจุบัน หรือตามข้อเสนอของคุณอภิสิทธิ์ก็ตาม

ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รับรู้กันทั่วไปก็คือ ภายหลังจากที่ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ได้มีการเสนอชื่อนายกฯ คนใหม่ ทางพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งถูกตั้งฉายาว่า “พรรคมาร” ในห้วงเวลานั้นได้เสนอชื่อ พล.อ.อ. สมบุญ ระหงษ์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ คนต่อไป แต่นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยได้มีการโปรดเกล้าฯ ในวันที่ 10 มิถุนายน 2535 จากการกระทำดังกล่าว นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้รับการยกย่องว่าเป็น “วีรบุรุษประชาธิปไตย” อันสืบเนื่องมาจากกระแสสังคมในห้วงเวลาดังกล่าวมีความเกลียดชังพรรคมารและนักการเมืองที่อยู่ในกลุ่มเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจก็คือว่ารัฐธรรมนูญ 2534 ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในห้วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีบทบัญญัติว่านายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่ของอาทิตย์ จึงมิได้เป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แน่นอนว่าปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่าในช่วงเวลานั้น การเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านนายกฯ คนนอก ได้ทำให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง (หรือนายกฯ ต้องเป็น ส.ส.)  ติดตามมาใน พ.ศ. 2535 (รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4) แม้การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวจะเกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกันกับที่มีการเสนอชื่อนายกฯ แต่รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนนี้ได้มีการทูลเกล้าฯ และมีผลใช้บังคับอีกประมาณ 3 เดือนต่อมา (ในวันที่ 12 กันยายน 2535) ซึ่งเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก็ย่อมเป็นผลให้นายกฯ อานันท์ พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งก็เป็นกระบวนการที่สอดรับกับการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่ได้มีการจัดขึ้นในวันที่ 13 กันยายน 2535

ประเด็นสำคัญก็คือว่าการเสนอรายชื่ออานันท์ เพื่อขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ของนายอาทิตย์ ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่ได้เป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ซึ่งแตกต่างไปจากสถานการณ์ปัจจุบันรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีข้อกำหนดว่านายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. เพราะฉะนั้น หากมีการเสนอชื่อนายกฯ คนนอกในปัจจุบัน การกระทำดังกล่าวจึงมีความหมายเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

หากจะกล่าวว่าคุณอภิสิทธิ์ ไม่รับรู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ ก็คงเป็นเรื่องที่ชวนให้ประหลาดใจไม่น้อยในฐานะที่คุณอภิสิทธิ์ ได้มีส่วนร่วมและสามารถกล่าวได้ว่าคุณอภิสิทธิ์ “แจ้งเกิด” ในทางการเมืองหลังพฤษภามหาโหด ดังนั้น ในการรับฟังถึงข้อมูล ข้อเท็จจริง และความเห็นต่างๆ ของคุณอภิสิทธิ์ ก็ควรที่ผู้ฟังต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เฉกเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาทั่วไปซึ่งมีรัก โลภ โกรธ หลง หรือจุดยืนทางการเมือง  

อย่างไรก็ตาม หากการให้เหตุผลแบบเลือก/ละเลยข้อมูลบางด้านของคุณอภิสิทธิ์ เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้แล้วก็ยังนับว่าเป็นเรื่องที่ดีกว่าการที่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้วเลือกที่จะไม่พูด เพื่อที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายทางการเมืองของตนเองเท่านั้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net