Skip to main content
sharethis
สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์เปิดเผยถึงการละเมิดสิทธิแรงงานและการเลือกปฏิบัติและการกระทำที่ไม่เป็นธรรมการต่อลูกจ้างใน บ.จอร์จี้แอนด์ลู จำกัด ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงลูกค้า เพื่อกดดันให้บริษัทฯ เคารพสิทธิคนงาน หลังเริ่มย้ายเครื่องจักร ย้ายแผนกตัดไป อ.แม่สอด
 
 
12 พ.ค. 2557 สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์เปิดเผยถึงการละเมิดสิทธิแรงงานและการเลือกปฏิบัติและการกระทำที่ไม่เป็นธรรมการต่อลูกจ้างในบริษัทจอร์จี้แอนด์ลู จำกัด อ้างถึงจดหมายของสหภาพแรงงานเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557 (อ่านเพิ่มเติม: สหภาพสิ่งทอสัมพันธ์ฯ วอน ‘นายจ้าง-ลูกค้า’ ร่วมสร้าง ‘แรงงานสัมพันธ์-ธุรกิจที่เป็นธรรม’ ด้วยการเจรจาพูดคุยกับสหภาพ) ได้ขอความกรุณาลูกค้าของบริษัทให้เข้ามาช่วยเหลือคนงานและเรียกร้องให้บริษัทรับคนงานที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมกลับเข้าทำงาน ทั้งให้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่แรงงาน และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์
 
นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา เจ้าของโรงงานและเจ้าของยี่ห้อสินค้า Pure Handknit and Neon Buddha ยังไม่ดำเนินการปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของคนงานแต่อย่างใด ซ้ำร้ายกับเพิ่มแรงกดดันลูกจ้างมากขึ้นและย้ายแผนกตัดไปยังโรงงานในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
 
โดยในวันที่ 9 เมษายน 2557 เวลาประมาณ 14.00 น. ฝ่ายจัดการของบริษัทได้เรียกคนงานที่ทำงานแผนกตัดประชุมโดยฝ่ายจัดการแจ้งกับพนักงานแผนกตัดว่า  “ต้องย้ายแผนกตัดไปอยู่แม่สอด เนื่องจากที่ผ่านมาคนงานแผนกตัดมีน้อย หาคนงานใหม่ไม่ได้ ส่งผลให้งานไม่ถึงเป้าวันละ 3,000 ตัว แต่ตัดได้ 1,000  ตัว จึงมีความจำเป็นต้องย้ายไปผลิตที่โรงงาน ใน อ.แม่สอด เพราะมีคนงานเยอะกว่าที่นี่  ถ้าใครต้องการไปจะได้ค่าจ้างวันละ 250/วัน (ซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ) และเบี้ยเลี้ยงวันละ 100 บาท มีที่พักให้พร้อม มีรถให้ใช้ โดยจะให้คนงานไปเพียงแค่สองอาทิตย์เพื่อไปสอนงานให้กับคนงานที่นั้น และเมื่อครบกำหนดเวลาก็ให้กลับมาทำงานที่บริษัทจอร์จี้แอนด์ลู โดย จะจัดให้คนงานทำงานในแผนกบรรจุและแผนกทั่วไปแทน หากใครที่ไม่ไปก็ให้แจ้งว่ามีสาเหตุอะไรถึงไม่ไป  
 
จากเหตุผลที่ฝ่ายจัดการแจ้งให้พนักงานแผนกตัดทราบดังกล่าว สหภาพแรงงานและคนงานยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากสหภาพแรงงานทราบว่ามีคนมาสมัครงานทั้งคนงานเก่า และคนงานใหม่ แต่บริษัทฯ ไม่รับ และเมื่อต้นปีนี้บริษัทฯ เลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานจำนวน 4 คนและสมาชิกสหภาพอย่างไม่เป็นธรรมโดยอ้างว่าปรับปรุงโครงสร้างซึ่งเหตุผลกับการกระทำขัดแย้งกันอย่างชัดเจน นอกจากนี้สหภาพแรงงานยังได้ทราบมาว่าคนงานที่ทำงานในโรงงานแม่สอดได้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมาก
 
ต่อมาในวันที่ 15 เมษายน 2557 บริษัทฯ ได้เริ่มขนย้ายเครื่องจักรออกจากบริษัทเพื่อนำไปติดตั้งที่โรงงาน โดยโรงงานดังกล่าวบริษัทจอร์จี้ฯ ได้เช่าอาคารโรงานของบริษัทฮังไทยนิตติ้งอินดัสเตรียลซึ่งตั้งอยู่ใน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
 
หลังจากนั้นในวันที่ 21 เมษายน  2557 ซึ่งเป็นวันทำงานวันแรกหลังจากวันหยุดสงกรานต์ คนงานแผนกตัดถูกสั่งให้ไปทำงานที่แผนกทั่วไปและแผนกบรรจุ
 
และในวันที่ 22 เมษายน 2557 เจ้าของโรงงานได้แจ้งกับคนงานว่าจะจัดการให้คนงานที่เหลือประมาณ 84 คนที่ยังไม่ยอมเซ็นสัญญาจ้างใหม่ โดยจะทำทุกวิถีทางที่จะทำให้คนงานกลุ่มนี้เซ็นสัญญาใหม่ให้ได้ โดยกดดันคนงานไม่ให้ทำงานล่วงเวลา และไม่ให้นำงานออกไปทำที่บ้านอย่างเช่นเคย  
 
ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2557 ฝ่ายจัดการมีคำสั่งให้คนงานแผนกตัดที่ทำงานในแผนกทั่วไปเข้าไปทำงานในแผนกบรรจุ
 
ต่อมาในวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 คนงานแผนกตัดถูกแจ้งว่าต้องเซ็นใบโอนย้ายงานในวันที่ 6 พฤษภาคม 
 
เนื่องจากบริษัทได้ย้ายแผนกตัดไปไว้ที่โรงงานในแม่สอด ทำให้งานเย็บในบริษัทจอร์จี้ฯ ลดลง ทำให้คนงานเย็บรายชิ้นรายได้ลดลง และคนงานไม่มั่นใจในความมั่งคงในการทำงาน นอกจากนี้คนงานรายวันและรายเดือนถูกกดดันว่าทำงานไม่ได้ตามชั่วโมงที่กำหนด (บริษัทฯ กำหนดว่าคนงานต้องทำงานให้ได้อย่างน้อย 5 ชั่วโมงต่อวัน โดยนำเวลาแต่ละชิ้นงานที่ถูกกำหนดว่าต้องใช้เวลาทำกี่วินาทีหรือนาทีมารวมกัน)  หากคนงานคนใดทำไม่ได้ตามที่กำหนด ฝ่ายจัดการจะเข้ามาถามว่า “ทำไมทำได้ต่ำกว่าเป้า” โดยไม่ดูว่าเหตุที่คนงานทำไม่ได้เนื่องจากไม่มีงานให้คนงานทำ แต่กับคอยกดดันคนงานเสมือนว่าเป็นความผิดของคนงาน 
 
เนื่องจากคนงานยังคงยืนยันในสิทธิของตนที่จะไม่เซ็นสัญญาจ้างตามความต้องการของเจ้าของบริษัท คนงานในส่วนนี้จึงมีรายได้ลดลง เนื่องจากไม่ได้ทำงานล่วงเวลาและรับงานไปทำที่บ้าน นอกจากนี้คนงานกลุ่มนี้ยังคงถูกเลือกปฏิบัติ โดยเจ้าของบริษัทได้จัดงานเลี้ยงปีใหม่ไทยในวันที่ 3 พ.ค.ให้กับคนงานที่ยอมเซ็นสัญญาจ้างใหม่เท่านั้น โดยให้หัวหน้าประชุมคนงานว่า “ในวันเลี้ยง คนงานคนใดที่ไม่เซ็นสัญญาจ้างใหม่ก็ให้มาทำงานตามปกติ” 
 
จากการกระทำดังกล่าวเจ้าของบริษัทและฝ่ายจัดการได้ใช้เรื่องเศรษฐกิจของคนงานและความมั่นคงในการทำงานมาเป็นแรงกดดันให้คนงานยอมเซ็นสัญญาจ้างใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนงานและเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อกรรมการสหภาพแรงงานและสมาชิกสหภาพแรงาน
 
โดยวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 คนงานได้รับคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ในกรณีกรรมการสหภาพแรงานสี่คนถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเมื่อวันที่ 6 และ 7 มกราคม 2557 โดยระบุว่าการเลิกจ้างแกนนำสหภาพแรงงาน 4  คนเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 (1) (2) และมาตรา 123 เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม จึงมีคำสั่งให้รับแกนนำสหภาพแรงงานทั้งสี่กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม และจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่ในเลิกจ้างถึงวันกลับเข้าทำงาน
 
ทั้งนี้สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ได้ทำจดหมายเปิดผนึกเรื่องการเลือกปฏิบัติและการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อกรรมการสหภาพแรงงานและสมาชิกสหภาพแรงงาน กระจายส่งไปให้กับลูกค้าของบริษัทจอร์จี้แอนด์ลู จำกัด อีกครั้ง เพื่อกดดันให้บริษัทฯ เคารพสิทธิคนงาน และขอความกรุณาลูกค้าเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนในวันที่ 12 พ.ค. 2557 ที่ผ่านมา
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net