บทเรียนสันติภาพ “ดร.แซม”ชี้ทั้งคนใน-คนนอก ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วม

เวทีบรรยายสาธารณะมุมมองจากมาเลเซียต่อกระบวนการสันติภาพปาตานี “ดร.แซม” ชี้การเจรจาต้องมีความจริงใจและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายโดยเฉพาะผู้มีส่วนได้เสีย และการเจรจาต้องมีสักขีพยานเป็นหลักประกัน ด้านนอเบิอร์ต โรเปอร์ส เห็นว่าชาวปาตานีต้องรื้อฟื้นการพูดคุยที่หยุดชะงัก ในขณะที่อาจารย์วิทยาการสื่อสาร มอ.ชี้ สื่อต้องสื่อสารเพื่อสันติภาพ

การบรรยายสาธารณะ “กระบวนการสันติภาพ ประชาสังคม และบทบาทของผู้อำนวยความสะดวกในมินดาเนาและปาตานี:มุมมองจากมาเลเซีย” โดยศาสตราจารย์กามารุซซามาน อัสกันดาร์ หรือที่หลายคนรู้จักในนาม “ดอกเตอร์แซม” นักวิชาการและนักปฏิบัติการสันติภาพชาวมาเลเซียคนสำคัญ ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยซายน์มาเลเซียในปีนัง เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัยและการศึกษาเพื่อสันติภาพ หรือ REPUSM เป็นผู้ประสานงานระดับภูมิภาคของเครือข่ายการศึกษาความขัดแย้งแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Conflict Studies Network) หรือ SEACSN ดอกเตอร์แซมทำงานเพื่อสนับสนุนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้งหลายแห่ง

การบรรยายครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2557ณ ห้องประชุมศรีวังสา ชั้น 3 คณะ รัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี โดยมี นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส และผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ รองคณบดีคณะวิทยาการสื่อสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมแลกเปลี่ยน มีผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี และ อ.ไพซอล ดาโอ๊ะ ดำเนินรายการ

“ดร.แซม” ชี้บทเรียนการเจรจาสันติภาพต้องมีความจริงใจและมีหลายฝ่ายร่วมเป็นหลักประกัน

ศ.ดร.กามารุซซามาน อัสกันดาร์ กล่าวถึงกระบวนการสันติภาพว่าเป็นกระบวนการที่ที่กระทำโดยตัวแสดงที่มีหลายตัวแสดงที่เป็นคู่ขัดแย้ง ผู้อำนวยความสะดวก สักขีพยาน ผู้สังเกตการณ์ ผู้เฝ้าติดตาม ผู้ประเมินผล และยังเป็นกระบวนการที่รวมเอาหลายเรื่องที่เป็นกระบวนการจากข้างใน ข้างนอก ทั้งระดับบน ระดับล่าง ดังนั้นกระบวนการสันติภาพจึงมีคำถามสำคัญที่ว่า ตัวแสดงต่างๆ ในกระบวนการเหล่านี้ทำงานอย่างไรในบทบาทของตนเอง

ศ.ดร.กามารุซซามาน กล่าวว่าบทบาทที่สำคัญที่สุดของผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพคือ จะต้องออกแบบองค์ประกอบของแต่ละฝ่ายเพื่อให้มีการส่งเสริมกันและกันในกระบวนการพูดคุย ไม่ใช่การแข่งขันกันหรือให้มีความขัดแย้งขึ้นในกระบวนการ

ในการบรรยายครั้งนี้ ศ.ดร. กามารุซซามาน ได้กล่าวถึงกรณีความขัดแย้งในมินดาเนาว่าเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมานานและมีปัญหาที่ต่างจากกรณีปาตานีหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ความแย้งนั้นมีกลุ่มชนที่มีความแตงต่างทางภาษาถึง 13 กลุ่มชน มีความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างกลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลามและกลุ่มศาสนาคริสต์รวมทั้งมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่เป็นข้อขัดแย้งทางการเมืองในพื้นที่ด้วย

ในปี 1968 ได้เกิดกลุ่มขบวนการที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนที่ก่อตั้งโดยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์คือ Moro National Liberation Front (MNLF) ซึ่งเป็นกลุ่มแนวร่วมที่ไม่แบ่งแยกศาสนาเพื่อเรียกร้องเอกราชจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ ต่อมาในปี 1976 ได้เกิดองค์กร Moro Islamic Liberation Front (MILF) ที่เป็นองค์กรของกลุ่มมุสลิมที่แยกตัวออกมาเพื่อต้องการแบ่งแยกดินแดนมินดาเนา และยังได้เกิดกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธอีก 13 กลุ่มกระจายอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งซึ่งฝ่ายรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้พยายามปราบปรามโดยกำลังทหารมาตลอดจนกระทั่งได้มีริเริ่มการพูดคุยเพื่อสันติภาพในปี 1996

ศ.ดร. กามารุซซามานกล่าวถึงบทบาทของมาเลเซียในการเข้าไปเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาสันติภาพมินดาเนาว่าเกิดจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ของนางมากาปากาล อาโรโย่ ต้องการให้มีฝ่ายที่สามในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมินดาเนาและได้เชิญมาเลเซียเพื่อเป็นผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการเจรจา

ในกระบวนการอำนวยความสะดวกนั้นรัฐบาลมาเลเซียได้กำหนดให้ Research Department ซึ่งเป็นหน่วยงานของสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นองค์กรดำเนินการอย่างลับๆ โดยมีเจ้าหน้าที่นานาชาติจำนวน 69 คนจาก 4 ประเทศคือ มาเลเซีย บรูไน ลิบเบีย ญี่ปุ่น ในนาม International Monitoring Team ลงพื้นที่ประเมินผล ติดตาม การพูดคุยสันติภาพในด้านต่างๆ ทั้งด้านการลดความรุนแรง ติดตามประเมินผลตามข้อตกลงหยุดยิง รวมทั้งการสนับสนุนโครงการพัฒนาต่างๆ ในพื้นที่

ต่อมาได้มีการตั้งกลไกท้องถิ่นคือ คณะกรรมการประสานงานยุติความเป็นปรปักษ์ (CCCH) อันเป็นคณะทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มเห็นต่างและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีสองชุดคือ กลไกลดความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ การแบ่งแยกดินแดนและอีกชุดหนึ่งที่ดูกรณีอาชญากรรมทั่วไป ความขัดแย้งส่วนตัว ในส่วนการแก้ไขความขัดแย้งกรณีการแย่งชิงที่ดินได้มีข้อตกลงเพื่อป้องกันการไล่ที่ของบรรพบุรุษขึ้นหรือที่เรียกว่า Memorandum of Understanding for Ancestral Domain

ศ.ดร. กามารุซซามานกล่าวถึงบทเรียนสำคัญของกระบวนการสันติภาพมินดาเนาว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องเอาทุกฝ่ายเข้าร่วมในกระบวนการพุดคุยเพื่อสันติภาพและต้องมีผู้เข้าร่วมโดยเฉพาะผู้มีส่วนได้เสียและผู้ได้รับผลกระทบเข้าร่วมให้มากที่สุด เพราะผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมอาจจุรู้สึกว่าตนถูกละทิ้ง กระบวนการพูดคุยจะต้องมีฝ่ายที่สามที่จะช่วยให้เป็นหลักประกัน ซึ่งกระบวนการเจรจาสันติภาพมินดาเนามี International contact group จำนวน 4 ประเทศ และมีองค์กรระหว่างประเทศ 4 องค์กรที่เป็นฝ่ายที่สามในการติดตามการเจรจา และทำสำคัญอย่างยิ่งคือจะต้องมีการปรึกษาหารือกับประชาชนส่วนใหญ่แม้ว่ากระบวนการพูดคุยจะกระทำกันอยู่ในห้องลับก็ตาม

กระบวนการสันติภาพมินดาเนาสามารถบรรลุผลสำเร็จได้นั้น ศ.ดร. กามารุซซามาน กล่าวว่าเป็นเพราะรัฐบาลฟิลิปปินส์มีความจริงใจในการแก้ปัญหาและต้องการให้เกิดสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้งซึ่งได้เกิดเขตปกครองพิเศษที่เรียกว่า Bangsa Moro ขึ้นซึ่งเป็นคำใหม่ที่ถูกบัญญัติขึ้นโดยมีความครอบคลุมถึงพื้นที่ เชื้อชาติ วัฒนธรรมและการการบริหารการปกครองซึ่งกระบวนการทั้งหมดมีกำหนดที่จะให้เสร็จสมบูรณ์ในปี 2015

ศ.ดร. กามารุซซามาน กล่าวถึงกระบวนการสันติภาพปาตานีที่เริ่มมีการพูดคุยเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมาว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เป็นหลักประกันความสำเร็จคือ กระบวนการพูดคุยที่เกิดขึ้นมีความจริงใจในการแก้ปัญหาแค่ไหน มีองค์ประกอบอะไรบ้างในกระบวนการพูดคุย มีกระบวนการติดตาม (Peace Monitoring) อย่างไร ตัวแทนการพูดคุยเป็นเป็นตัวแทนของประชาชนจริงหรือ มีเจตจำนงเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดคือองค์ประกอบที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ

นอร์เบิอร์ตเรียกร้อง ประชาชนปาตานีต้องให้การพูดคุยฟื้นคืนชีพ

ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส นักวิจัยอาวุโสสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวในการแลกเปลี่ยนบนเวทีว่าข้อแตกต่างระหว่างกระบวนการสันติภาพมินดาเนากับปาตานีคือ ที่ฟิลิปปินส์มีกระบวนการเจรจามากว่า 2 ทศวรรษแล้วในขณะที่ปาตานีเพิ่งเริ่มเพียง 1 ปี อย่างไรก็ตามเมื่อประเมินความสำเร็จของกระบวนการพูดคุยสันติภาพปาตานีก็จะเห็นได้ใน 3 ประการ

ประการแรกคือ รัฐบาลไทยยอมรับว่าความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งทางการเมืองและต้องแก้ไขด้วยแนวทางทางการเมือง ประการที่สองคือ การที่รัฐไทยยอมรับให้รัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุย แม้ว่าทั้งรัฐไทยและ BRN ไม่มั่นใจในผลประโยชน์ของมาเลเซียในบางระดับ ซึ่งมีข้อพิจารณาว่าอาจจะต้องมีประเทศอื่นๆ มาเป็นสักขีพยาน เป็นหลักประกันกระบวนการพูดคุย

ประการที่สาม นอร์เบอร์ตเห็นว่าการที่ BRN มีข้อเสนอ 5 ข้อนั้น จะทำอย่างไรให้ข้อเสนอนี้ได้รับการพิจารณา ให้ฟื้นคืนและกลับเข้ามามีส่วนในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพซึ่งอยู่ในสภาพที่ชะงักงันในขณะนี้

ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอร์สกล่าวว่าปัญหาการเมืองของไทยที่ทำให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพหยุดชะงักเป็นเวลานานในช่วงนี้ ฝ่ายประชาชนจะต้องวางรากฐานให้กระบวนการพูดคุยฟื้นคืนมาให้ได้ โดยจะต้องทำให้องค์กรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มีความรู้ความเข้าใจในการหาทางออก อาจจะต้องเรียนรู้จากำมินดาเนาที่จะต้องเรียกหาคนอื่นๆ ให้มามีบทบาท ประสานกับองค์กรภายนอกให้ตัวแสดงอื่นๆ แสดงบทบาทจากภายนอกด้วย

อ.กุสุมา ขอให้สื่อใช้ “การสื่อสารสันติภาพ”

ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ รองคณบดีคณะวิทยาการสื่อสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงบทบาทของสื่อในกระบวนการสันติภาพว่าปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ในสถานการณ์ความขัดแย้งสื่อมักใช้ “กรอบความมั่นคง” ในการมองปัญหา ทำให้สื่อนำเสนอเนื้อหาการต่อสู้ ต่อรอง ซึ่งไม่ได้เกิดเป็นผลบวกต่อกระบวนการพูดคุย

ผศ.ดร.กุสุมา เห็นว่าเมื่อเกิดกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพแล้ว สื่อควรจะต้องเปลี่ยนกรอบการมองปัญหาเป็น “กรอบสันติภาพ” ซึ่งจะต้องข้ามพรมแดนการนำเสนอโดยการมองหาฮีโร่ ผู้ล่า ผู้ถูกล่า โดยจะต้องนำเสนอให้สาธารณะชนเห็นความถูกต้อง มองเห็นอะไรที่ซ่อนอยู่ เพราะในกระบวนการพูดคุยยังมีอะไรที่ถูกเก็บงำอีกมาก

ผศ.ดร.กุสุมา กล่าวว่าสื่อจะต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งของคู่เจรจา หรือแสดงบทบาทราวกับเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องไม่มองว่าการพูดคุยสันติภาพเป็นคู่ตรงข้ามที่มีฝ่ายได้เปรียบเสียเปรียบ ทั้งนี้สื่อสามารถหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพได้โดยการรายงานข้อเท็จจริงทั้งเรื่องอดีต ปัจจุบันและการวาดภาพอนาคต โดยการเชื่อมต่อของเวลาจะทำให้เราสามารถเป็นอนาคตร่วมกันได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท