นิธิ เอียวศรีวงศ์: สังคมภายใต้สภาวิชาชีพ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ส่วนหนึ่งในคำบรรยายของ ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ นักกฎหมายผู้มีชื่อเสียงมีว่า เนื่องจากวุฒิสภาในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีที่มาซ้ำซ้อนกับสภาผู้แทนราษฎร จึงควรเปลี่ยนวุฒิสภาให้เป็นสภาของกลุ่มวิชาชีพ ผมเข้าใจว่าคงมีหน้าที่ตรวจสอบสภาล่าง และอาจเป็นไปได้ว่า เมื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มวิชาชีพ ก็คงมีอำนาจในการตรวจสอบกว้างขวางและเข้มข้นมากขึ้นด้วยกระมัง

ความคิดว่า สภาควรเป็นตัวแทนของ "กลุ่ม" คนต่างๆ ว่าที่จริงเป็นความคิดที่เก่าแก่มาก ในสังคมบรรพกาลหลายแห่ง สภาหรือที่ประชุมเพื่อตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ของชุมชนหรือเผ่า ก็ประกอบด้วยตัวแทนของครอบครัว, แซ่, สมาชิกของกลุ่มโทเทมมิค, หรือตัวแทนของกลุ่มตระกูล ฯลฯ เพราะคนเหล่านี้เป็นตัวแทนของ "กำลัง" ประเภทต่างๆ ในสังคมนั้นๆ การตัดสินใจที่ปราศจากความเห็นชอบของ "กำลัง" หลักๆ ของสังคม ย่อมไม่บังเกิดผลในทางปฏิบัติ หรือเกิดได้ไม่เต็มที่เป็นธรรมดา เหตุดังนั้น จึงต้องมีสภาของกลุ่มคน เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติการของชุมชน, เผ่า, หรือรัฐขนาดเล็ก

ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับประชาธิปไตยแต่อย่างใดทั้งสิ้น

จะชอบหรือไม่ก็ตาม ประชาธิปไตยวางอยู่บนพื้นฐานของปัจเจกบุคคล กล่าวคือตัวแทนในสภาเป็นตัวแทนของพลเมืองทุกคนในความหมายถึงแต่ละคนด้วย ระบบนี้ไม่ได้ปราศจากข้อบกพร่องเสียเลย มีครับ แต่ไม่ได้มีข้อบกพร่องอย่างเดียวกับสภาที่เป็นตัวแทนของกลุ่มมี เช่น สภาระบบกลุ่มมักจะเอียงเข้าข้างฝ่ายที่มีอำนาจหรือ "กำลัง" และมักปล่อยให้คนไม่มี "กำลัง" ถูกทิ้งข้างนอกโดยไม่มีตัวแทนของตนเลย ที่ร้ายกาจที่สุดก็คือ คนไม่มี "กำลัง" นั้นมักเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมเสมอ ฉะนั้นระบบกลุ่มจึงมักเป็นสภาของขาใหญ่ นับตั้งแต่สังคมบรรพกาลมาจนทุกวันนี้

และนี่คือเหตุผลที่ระบอบเผด็จการ เช่นฟัสซิสม์ของมุสโสลินีนิยมสภาระบบกลุ่ม เพราะสะดวกในการลูบขาและเกาหลังกันในหมู่ขาใหญ่ ซึ่งอย่างไรเสียก็เป็นคนกลุ่มเล็กๆ เสมอ

แต่ประชาธิปไตยไม่ได้กีดกันมิให้ "กลุ่ม" หมดโอกาสต่อรองเสียทีเดียว เพราะ "สภา" ไม่ใช่พื้นที่เพียงแห่งเดียวสำหรับการต่อรองในสังคมประชาธิปไตย มีพื้นที่อีกหลากหลายประเภทที่กลุ่มสามารถต่อรองได้ เช่นสื่อ การหยุดงาน การชะลองาน การล็อบบี้ (รวมการติดสินบนด้วย) และแน่นอนท้องถนนก็ใช่ด้วย แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย

แม้ว่าประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้ปัจเจกบุคคลสามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เพื่อต่อรองในพื้นที่ต่างๆ นอกสภาได้อย่างเท่าเทียมกัน แต่ในทางปฏิบัติก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนที่มี "กำลัง" ย่อมสามารถรวมกลุ่ม และเข้าถึงพื้นที่ต่อรองได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

ในเมืองไทยปัจจุบัน สภาอุตสาหกรรม, หอการค้า และสมาคมธนาคารเป็นตัวอย่างของการรวมกลุ่มเพื่อการต่อรองทางการเมืองที่มีอำนาจมาก มากเสียกว่าพรรคการเมืองในสภาด้วยซ้ำ ไม่ได้มีเพียงเท่านี้นะครับ ยังมีอีกมาก ทั้งที่เปิดตัวเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม เช่นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ (แต่ปัจจุบันอำนาจลดลงไปมาก เพราะไปเล่นพวกแทนเล่นกลุ่ม) มหาเถรสมาคม สหภาพแรงงานของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง แพทยสมาคม ที่ประชุมอธิการบดี (ซึ่งควรเป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองสูง แต่ทำตัวให้กลายเป็นตัวตลกเสียจนไร้ความหมายไปเอง) ฯลฯ ซึ่งล้วนมีอำนาจต่อรองสูงทั้งสิ้น แม้อาจไม่เท่ากับสามกลุ่มแรก

พื้นที่ต่อรองนอกสภาทั้งหมดเหล่านี้คือพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า "สภา" ที่มาจากฐานของปัจเจกบุคคล ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่เปิดเสรีให้แก่พื้นที่ทางการเมืองเหล่านี้ ในขณะที่ระบอบอื่นย่อมมองเห็นพื้นที่เหล่านี้เป็นอันตรายและต้องควบคุมอย่างเคร่งครัด

ประชาธิปไตยของใครจะเข้มแข็งก็ขึ้นอยู่กับว่า คนในสังคมนั้นรู้จักพัฒนาพื้นที่ทางการเมืองประเภทนี้ ให้มีประสิทธิภาพได้มากน้อยแค่ไหน เช่นในประเทศที่ห้ามมิให้พนักงานรัฐวิสาหกิจไปร่วมมือกับสหภาพแรงงานอื่น จะหวังให้การเคลื่อนไหวของแรงงาน

ในพื้นที่ทางการเมืองเข้มแข็ง พอจะปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ ในขณะเดียวกัน พื้นที่ทางการเมืองของอันธพาลการเมือง จะกลายเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพในระยะยาวก็เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงคิดว่า ใครคิดจะร่างรัฐธรรมนูญ ควรคิดถึงพื้นที่ทางการเมืองส่วนนี้ให้มาก จะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไรให้ไม่ไปขัดขวางการพัฒนาขยายตัวของพื้นที่ทางการเมืองประเภทนี้ และยิ่งหาทางสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและขยายตัวได้ยิ่งดี

แต่ผมก็ยอมรับนะครับว่า รัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อการต่อรองที่มีประสิทธิภาพได้หลากหลาย ยังมีปัจจัยที่เป็นวัฒนธรรม และการแข่งขันจากพื้นที่อันไม่เป็นสาธารณะแต่มีประสิทธิภาพมากกว่า เช่นการสร้างสายสัมพันธ์ส่วนตัว, ติดสินบน, การข่มขู่, การใช้บารมีในทางที่ผิด, ม็อบอันธพาล, ฯลฯ ตราบนั้นผู้คนย่อมไม่มีแรงจูงใจมากนักในการสร้างพื้นที่ต่อรองทางการเมืองที่เป็นสาธารณะขึ้น

ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า พื้นที่ทางการเมืองอันเป็นสาธารณะที่เกิดจาก "กลุ่ม" ผลประโยชน์เช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่าการต่อรองจะต้องใช้ผลประโยชน์ส่วนกลุ่มเป็นที่ตั้งเสมอไป การต่อรองที่จะได้การสนับสนุนจากสังคมในวงกว้างล้วนต้องอ้างผลประโยชน์ส่วนรวมทั้งสิ้น นี่คือส่วนหนึ่งของการถ่วงดุลทางการเมืองที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตย ข้อสำเร็จจากการเรียกร้องไม่ได้เกิดจาก "กำลัง" เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากความเห็นชอบของสังคมวงกว้างด้วยเสมอ จึงจะเอาประโยชน์ใส่ตนแต่ผู้เดียวได้ยาก

ดังนั้น เงื่อนไขสำคัญที่สุดของพื้นที่ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยคือ ความเป็นสาธารณะ เปิดกว้างแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนสามารถเข้าไปเป็นสมาชิกของสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทยได้ แต่ข้อเสนอเชิงนโยบายของสมาคม ต้องเป็นสาธารณะ ที่คนอื่นสามารถเข้าไปสนับสนุน ทักท้วง หรือแม้แต่ประท้วงก็ได้ การแอบให้เงินช่วยเหลืออันธพาลทางการเมืองเพื่อบีบบังคับนโยบายสาธารณะตามใจตัวเอง ไม่ได้เป็นสาธารณะ และไม่ใช่พื้นที่ต่อรองในระบอบประชาธิปไตย เขาทำอย่างนี้กันมาตั้งแต่ยังอยู่ในถ้ำแล้ว

อีกข้อหนึ่งที่พึงสังวรไว้ด้วยก็คือ ที่เรียกว่าผลประโยชน์ไม่ได้หมายถึงโภชผล, อำนาจ หรือเกียรติยศของกลุ่มเพียงอย่างเดียว กลุ่มผลประโยชน์บางชนิดตั้งขึ้นเพื่อสนองตอบอุดมการณ์ หรือคุณค่าบางอย่างของสังคม เช่นมหาเถรสมาคมเป็นต้น พลังของกลุ่มประเภทเหล่านี้อยู่ที่ทำให้สังคมเชื่อว่า ข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องของตนนั้น รักษาประโยชน์ของสังคมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน หากทำให้สังคมหมดความเชื่อถือเช่นนี้ กลุ่มดังกล่าวก็ไม่แตกต่างจากกลุ่มผลประโยชน์ประเภทแก๊ง และหมดพลังไปเอง เช่นหากแพทยสมาคม ไม่ทำให้สังคมเชื่อว่าข้อเรียกร้องของตนจะรักษาความเป็นธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างคนไข้และแพทย์ แต่เป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของแพทย์เพียงฝ่ายเดียว พลังของแพทยสมาคมก็ไม่มี (ในทางการเมือง) ที่ประชุมอธิการบดีก็เหมือนกัน หากข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอของตนไม่ได้มาจากความเห็นทางวิชาการที่เที่ยงตรง แต่มาจากอคติทางการเมืองของตาแก่ 20-30 คน "กำลัง" ของที่ประชุมนี้ก็เท่ากับ "กำลัง" ของ "แก๊ง" เท่านั้น

ยังมีปัญหาของสภาวิชาชีพที่ขัดหรือแย้งกับประชาธิปไตยอีกหลายอย่าง ซึ่งผมขอยกเป็นตัวอย่างให้ดูดังนี้

ปัญหาแรกที่มักเผชิญเหมือนกันเมื่อต้องการสร้างสภาวิชาชีพ นั่นก็คือจะจัดสัดส่วนของวิชาชีพอย่างไร จึงจะถือได้ว่ากลุ่มอาชีพต่างๆ มีตัวแทนที่มี "กำลัง" เหมาะสมในการต่อรอง แรงงานซึ่งเป็นคนจำนวนมากที่สุดในสังคมไทยจะมีที่นั่งในสภานี้ตามสัดส่วนที่เป็นจริงหรือไม่ เกษตรกรที่มีประชากรรองลงมาจะได้สัดส่วนที่นั่งรองลงมาจากแรงงานหรือไม่ หากจัดตามสัดส่วนเช่นนี้ สภาวิชาชีพก็จะกลายเป็นพื้นที่ต่อรองผลประโยชน์อย่างชัดเจน อำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติก็ย่อมลดความสำคัญลง จนกระทั่งสภาวิชาชีพไม่มีสถานะอันใดที่ควรเรียกว่า "วุฒิสภา" ได้เลย

หากยังต้องการให้สภาวิชาชีพเป็น "วุฒิสภา" อยู่ ก็ต้องคำนึงถึงสัดส่วนที่นั่งของอาชีพน้อย หรือแทบไม่ได้คำนึงถึงเลย ในที่สุด สภาแห่งนี้ก็กลายเป็นสภาของขาใหญ่อย่างที่เป็นมาในสังคมบรรพกาล นั่นหมายความว่าประชาชนเลือก ส.ส.มาเสนอร่างกฎหมาย แต่การตัดสินชี้ขาดกลับอยู่ในมือของขาใหญ่ ระบอบปกครองแบบนี้ยังมีสถานะที่จะเรียกว่า "ประชาธิปไตย" ได้อยู่หรือครับ

อันที่จริง สภาวิชาชีพไม่ว่าจะเกิดในสังคมสมัยใดหรือแบบใด ก็มีแนวโน้มเป็นสภาเผด็จอำนาจของชนชั้นนำเสมอ เพราะดังที่กล่าวแล้วว่า พื้นที่ต่อรองทางการเมืองของกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มผลประโยชน์ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบของ "สภา" ตามกฎหมาย จะมีหรือไม่มี "สภา" กลุ่มอาชีพก็สร้างพื้นที่ต่อรองได้เสมอ ปัญหาที่น่าคิดสำหรับนักประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่สร้างสภาขึ้นมาให้แก่กลุ่มอาชีพ แต่อยู่ที่จะสร้างอำนาจที่เท่าเทียมของทุกกลุ่มอาชีพในการสร้างพื้นที่ทางการเมืองเพื่อการต่อรองได้อย่างไรต่างหาก

(เช่นในเมืองไทย มีกฎหมายห้ามมิให้สหภาพรัฐวิสาหกิจซึ่งมีพลังอำนาจต่อรองสูงสุด รวมตัวกับสหภาพเอกชน พื้นที่ต่อรองทางการเมืองของแรงงานโดยรวมย่อมอ่อนแอเป็นธรรมดา หรืออำนาจตุลาการทั้งระบบ ไม่ได้ถูกตรวจสอบถ่วงดุลจากอำนาจภายนอกอื่นเลย อ้างกันว่าตุลาการเป็นคนดีย่อมตรวจสอบถ่วงดุลกันเองได้ พื้นที่ทางการเมืองเพื่อการต่อรองของสังคมกับอำนาจใหญ่เช่นตุลาการจะมีขึ้นได้อย่างไร ฯลฯ แต่นักกฎหมายไทยกลับห่วงที่จะสร้างสภาวิชาชีพขึ้นเป็นวุฒิสภา แทนที่จะผลักดันให้เกิดพื้นที่ต่อรองนอกสภาแก่สังคมในวงกว้าง)

นอกจากนี้ บุคคลสามารถเป็น "ตัวแทน" ของบุคคลอื่นในกลุ่มอาชีพเดียวกันได้จริงหรือ ผมสงสัยว่าบุคคลที่มาจากบริษัทโตโยต้าจะเป็นตัวแทนที่รักษาผลประโยชน์ของผู้ประกอบการยานยนต์ในประเทศไทยได้ทั้งหมดจริงหรือ โดยเฉพาะจะรักษาผลประโยชน์ของฮอนด้าและอีซูซุ ยังไม่นับผลประโยชน์ของผู้ประกอบการรายย่อยอื่นๆ เช่นเดียวกับตัวแทนเป๊ปซี่จะรักษาผลประโยชน์ของโค้ก, ชาวนาที่ลุ่มรักษาประโยชน์ของชาวนาที่ดอน, แรงงานฝีมือรักษาประโยชน์ของแรงงานกึ่งฝีมือและไร้ฝีมือ, คนมีงานรักษาผลประโยชน์ของคนตกงาน, เสรี วงษ์มณฑา คิดแทนชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้

หากเห็นว่าวุฒิสภามีหน้าที่ซ้ำซ้อนกับสภาผู้แทนฯ ก็เลิกวุฒิสภาไปเลย คิดกลไกแต่งตั้งถอดถอนตำแหน่งในองค์กรอิสระกันใหม่ เปลี่ยนสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่ยังคงไม่มีอำนาจอะไรเหมือนเดิม ทำหน้าที่ศึกษานโยบายรัฐทั้งที่ออกมาในรูปร่างกฎหมายหรือตัวกฎหมาย และการปฏิบัติจริง แล้วสื่อสารความเห็นของตนกับสังคม จัดให้องค์กรนี้มีพลังการสื่อสารสูง และนี่คืออำนาจที่แท้จริงของสภาแห่งนี้ นั่นคือติดอาวุธทางปัญญาให้แก่สังคม ซึ่งต้องสร้างพื้นที่ต่อรองเชิงนโยบายเอาเอง

และเพราะสภาแห่งนี้ไม่มีอำนาจ จึงไม่จำเป็นต้องมี "มติ" บ่อยนัก สภาหรือสมาชิกสภาสามารถใช้กลไกการสื่อสารขององค์กรเพื่อเสนอความคิดเห็นของเสียงข้างน้อยได้เท่ากับเสียงข้างมาก อำนาจตัดสินชี้ขาดอยู่ในมือสังคม ไม่ได้อยู่ที่ข้อผูกมัดทางกฎหมาย

ไม่เฉพาะ ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เพียงคนเดียวที่เสนอเรื่องสภาวิชาชีพ มีคนเสนอมามากแล้ว เพื่อทำให้การเลือกตั้งไม่จำเป็นบ้าง เพื่อทำให้การเป็น "ตัวแทน" ของสภาไม่เป็นตัวแทนของบุคคลบ้าง ผมไม่ห่วงทั้ง ศ.บวรศักดิ์และผู้เสนอคนอื่น แต่ห่วงว่ามีคนไทยจำนวนหนึ่งแสดงความเห็นด้วยว่าความเป็น "ตัวแทน" ที่สำคัญที่สุดคือตัวแทนวิชาชีพ เข้าใจได้ไม่ยากนะครับที่คนสมัยใหม่จะรู้สึกว่า อาชีพการงานเป็นทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดของชีวิต แต่ลองคิดให้ดีเถิดครับว่า สิ่งที่กระทบต่อชีวิตมากที่สุดของเราเกิดจากอาชีพการงานจริงหรือ... ถูกพ่อค้าโกงหรือเอาเปรียบ, ลูกสาวท้องก่อนแต่ง, เมียขี้บ่น, รถติด, หลานติดยา, ก๊าซหุงต้มแพงทำให้มื้อเที่ยงแพงไปด้วย, ข้าวราคาตก, แม่ป่วย ฯลฯ ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกี่ยวกับอาชีพการงานเลย การเมืองก็เหมือนกัน ย่อมไม่ใช่เรื่องต่อรองผลประโยชน์โภชผลระหว่างกลุ่มเพียงอย่างเดียว

ผมจึงอยากเตือนว่า นอกจากสภาวิชาชีพจะไม่ตรงกับชีวิตจริงของคนแล้ว สภาวิชาชีพยังบิดเบือนการเมืองของระบอบประชาธิปไตยด้วย

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน :มติชนรายวัน 12 พ.ค.2557

ที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1399898800&grpid=03&catid=02

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท