Skip to main content
sharethis

กระแสรณรงค์ในโซเชียลเน็ตเวิร์กเมื่อเร็วๆ นี้ที่สร้างความตื่นตัวกรณีกลุ่มก่อการร้ายโบโก ฮาราม ลักพาตัวเด็กหญิงในไนจีเรีย เกิดข้อถกเถียงว่าการรณรงค์นี้จะกลายเป็นข้ออ้างให้สหรัฐฯ แผ่ขยายอำนาจ หรือเป็นเรื่องสมควรให้มีการแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์


คาร่า เดเลวีน (Cara Delevingne) นางแบบสาวชาวอังกฤษ ร่วมรณรงค์  #BringBackOurGirls

 

13 พ.ค. 2557 เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวการรณรงค์เพื่อสร้างความตื่นตัวเรื่องกลุ่มกบฏโบโก ฮาราม ลักพาตัวเด็กผู้หญิงหลายคนในประเทศไนจีเรีย ด้วยการใช้แฮชแท็ก #BringBackOurGirls อย่างไรก็ตามการรณรงค์นี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากจูโมคี บาโลกัน บรรณาธิการและผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Compareafrique.com โดยบอกว่าการรณรงค์นี้อาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

บาโลกันวิจารณ์ว่ากระแสการรณรงค์ที่โยงไปถึงการเรียกร้องให้สหรัฐฯ ใช้อำนาจแทรกแซงทางการทหารนั้น จะกลายเป็นการทำร้ายประชาชนไนจีเรียในที่สุด

เหตุการณ์ลักพาตัวดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาโดยกลุ่มก่อการร้ายโบโก ฮาราม บุกโจมตีโรงเรียนชิบอกและลักพาตัวนักเรียนหญิงไปทั้งหมดราว 276 คน บาโลกันบอกว่าเธอรู้สึกดีที่มีคนพยายามรณรงค์สร้างความตื่นตัวในเรื่องนี้แต่การแสดงท่าทีให้ทางการสหรัฐฯ แทรกแซงด้วยกำลังทหารก็มีปัญหา เพราะถือเป็นการสนับสนุนแนวคิดการขยายอาณาเขตอิทธิพลทางการทหารในแอฟริกา

"คุณไม่รู้หรอกว่า กองทัพสหรัฐฯ ชื่นชอบแฮชแท็กของพวกคุณ เพราะมันสร้างความชอบธรรมให้พวกเขารุกล้ำและขยายอิทธิพลในแอฟริกา ซึ่งก่อนหน้านี้แอฟริคอม (หน่วยบัญชาการสหรัฐฯ ในแอฟริกา) ที่ทำหน้าที่ดูแลปฏิบัติการทหารของสหรัฐฯ ทั่วแอฟริกาได้รับความชอบธรรมอย่างมากจากแท็ก #KONY2012 และในตอนนี้ยิ่งได้รับความชอบธรรมมากขึ้นจาก #BringBackOurGirls" บาโลกันกล่าวในบทความ

บาโลกันเปิดเผยอีกว่า ช่วงปีที่แล้วก่อนที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา จะไปเยือนหลายประเทศในแอฟริกา เธอได้เขียนเกี่ยวกับบทบาทการขยายอิทธิพลของกองทัพสหรัฐฯ ต่อทวีปแอฟริกาไว้ว่าในปี 2556 แอฟริคอมมีปฏิบัติการรวมแล้ว 546 ครั้งในทวีป คิดเฉลี่ยได้ประมาณ 1.5 ครั้งต่อวัน แม้จะไม่ทราบวัตถุประสงค์ของปฏิบัติการเหล่านั้นแต่ภารกิจของแอฟริคอมเช่นที่ในระบุไว้ในเว็บไซต์ของพวกเขาคือการ "พัฒนาผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ"

บทความระบุอีกว่าในช่วงเดือน มิ.ย. ถึง ธ.ค. 2556 กองทัพสหรัฐฯ มีปฏิบัติการ 128 ครั้งใน 28 ประเทศของทวีปแอฟริกา ซึ่งมีการร่วมกับปฏิบัติการโจมตีด้วยเครื่องบินไร้คนขับหรือโดรนทางตอนเหนือของไนจีเรียและโซมาเลีย มีศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายในจิบูตีและไนเจอร์ มีปฏิบัติการลับในเอธิโอเปียและเซเชลล์เพื่อสร้างแหล่งส่งเครื่องบินโดรนในปฏิบัติการสอดแนมหรือโจมตี

บาโลกันชี้ว่าปฏิบัติการของสหรัฐฯ ทำลายเสถียรภาพของประเทศบางประเทศ เช่นบทความในเดอะนิวยอร์กไทม์ระบุว่าคนที่โค่นล้มรัฐบาลมาเลียนที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2555 ได้รับการฝึกอบรมจากทางการสหรัฐฯ ในช่วงปี 2547-2553 นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่หน่วยกองพันทหารในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกซึ่งได้รับการฝึกจากสหรัฐฯ ถูกสหประชาชาติประณามว่าได้กระทำการข่มขืนหมู่

บาโลกันแสดงความกังวลเรื่องที่สหรัฐฯ ส่งโดรนและผู้ให้คำปรึกษาทางการทหารไปช่วยเหลือกองทัพไนจีเรียซึ่งเคยกระทำการโหดเหี้ยมต่อประชาชนชาวไนจีเรียมาก่อน

"การให้รัฐบาลและกองทัพสหรัฐฯแทรกแซง จะทำให้เกิดลัทธิทหารนิยม มีการควบคุมดูแลน้อยลง และมีความเป็นประชาธิปไตยน้อยลง" บาโลกันอ้างถึงคำกล่าวของเทจู โคล นักเขียนลูกครึ่งไนจีเรีย-อเมริกัน กล่าวไว้เมื่อช่วงสัปดาห์ก่อน

ในกรณี #KONY2012 โอบามาได้ส่งกองกำลังติดอาวุธเพื่อปฏิบัติการสังหารโจเซฟ โคนี ผู้นำกลุ่มกองโจรแอลอาร์เอในยูกันดาซึ่งกำลังกบดานอยู่ในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง แต่ก็ไม่พบตัวโคนี่ พวกเขาหยุดค้นหาช่วงระยะหนึ่งแต่โอบามาก็ส่งกองกำลังเข้าไปในหลายประเทศของแอฟริกาเพิ่มมากขึ้นในเดือน มี.ค. 2557

บาโลกันยังได้เรียกร้องให้ผู้ที่ต้องการรณรงค์ในเรื่องนี้หันไปสนับสนุนการต่อต้านรัฐบาลไนจีเรียและกดดันให้รัฐบาลไนจีเรียเองทำอะไรสักอย่างกับเด็กหญิงที่ถูกลักพาตัวไปแทนที่จะเรียกร้องให้กองทัพสหรัฐฯ แทรกแซง

 


 

โต้ตอบข้อถกเถียง โดยผู้สนับสนุนการรณรงค์ #BringBackOurGirls

อย่างไรก็ตามบทความของบาโลกันถูกวิพากษ์วิจารณ์ตอบโต้โดย มาริสสา แจ็กสัน ที่ปรึกษาของ Compareafrique.com และเสมียนศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เธอบอกว่าการรณรงค์ #BringBackOurGirls มีพื้นเพมาจากในไนจีเรียเอง และแสดงความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันของชาวรากหญ้าของประชาคมโลก

แจ็กสันกล่าวอีกว่าการรณรงค์นี้ยังถือเป็นการให้คุณค่ากับการเอ่ยถึงและการประณาม การเอ่ยถึงเด็กหญิงที่ถูกจับตัวไปเป็นการเตือนใจคนทั่วโลกว่าพวกเธอเป็นมนุษย์ ขณะเดียวกันก็เป็นการประณามผู้ก่อการร้ายไปด้วย ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละเลยความไร้ประสิทธิภาพและความโหดร้ายที่รัฐบาลไนจีเรียเคยกระทำไว้

"สำหรับผู้หญิงชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่อยู่ในสหรัฐฯ อย่างฉันแล้ว การเคลื่อนไหวนี้ชวนให้รู้สึกฮึกเหิมและท้อแท้ไปในเวลาเดียวกัน เพราะเป็นครั้งแรกที่ฉันได้เห็นทั้งผู้ชายและผู้หญิงพร้อมใจกันรับรู้ว่ามีเด็กหญิงชาวแอฟริกันหายตัวไปและต้องการปฏิบัติการอย่างเด็ดขาด" แจ็กสันกล่าว

"การเคลื่อนไหว #BringBackOurGirls เป็นการเคลื่อนไหวของชาวเชื้อสายแอฟริกันทั่วโลก เป็นความร่วมมือของประชาคมใหญ่ๆ ของโลกที่ต้องการบอกว่า 'มันมากเกินพอแล้ว' " แจ็กสันกล่าว

แจ็กสันกล่าวถึงความสำคัญและสิ่งที่เธอคิดว่าเป็นความสำเร็จของ #BringBackOurGirls ว่าคือเรื่องของสื่อและการสร้างความตระหนักให้กับคนทั้งโลก เรื่องนี้ยังทำให้ประธานาธิบดีไนจีเรียและภรรยาถูกเปิดโปงเรื่องที่พวกเขาเป็นนักการเมืองไร้น้ำยา อีกทั้งสื่อและ ส.ส. สหรัฐฯ ก็ให้ความสนใจกับเรื่องนี้มากขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไนจีเรียถูกมองว่าเป็นดินแดนที่เหลวแหลกเต็มไปด้วยการคดโกงและไม่ควรค่าแก่การนำเสนอในสื่อ

ในแง่ความกังวลของบาโลกันต่อเรื่องการขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ แจ็กสันเห็นด้วยว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญและไม่ควรละเลย แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือกระบวนทัศน์ของบาโลกันที่ให้ละเลยเสียงเรียกร้องจากพ่อแม่ของเด็กหญิงและชาวไนจีเรียคนอื่นๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือจากต่างชาติ เพียงเพราะสหรัฐฯ ปฏิบัติการโดยไม่ได้อยู่บนฐานเชิงมนุษยธรรมเพียงอย่างเดียวแต่ยังอยู่บนฐานของผลประโยชน์ด้วยนั้นนับเป็นความคิดที่ไร้สาระ และอาจจะถือเป็นข้ออ้างสำหรับผู้ได้รับผลประโยชน์จากแนวคิดต่อต้านอาณานิคมโดยมีชีวิตของเด็กหญิงในโรงเรียนชิบอกและชีวิตของชาวไนจีเรียคนอื่นๆ เป็นราคาที่ต้องจ่าย

อย่างไรก็ตามแจ็กสันได้วิจารณ์รัฐบาลสหรัฐฯ ว่าพวกเธอไม่คิดจะลืมหรือให้อภัยที่รัฐบาลสหรัฐฯ ถ้าหากไม่สามารถให้การช่วยเหลือชาวแอฟริกันในเวลาที่ต้องการ กระนั้นเองแจ็กสันก็ยืนยันว่าเธอเคารพในเรื่องอธิปไตยและการตัดสินใจด้วยตนเองของประชาชนชาวแอฟริกัน แต่ประชาชนไนจีเรียไม่มีทางเลือกเพราะรู้ว่ารัฐบาลไนจีเรียปกป้องประชาชนตัวเองไม่ได้ จึงเป็นพันธะในเชิงจริยธรรมของประชาคมโลกที่ต้องก้าวเข้าไปแก้ไข

"พวกเรารู้ว่าสหรัฐฯ มีวาระเรื่องการขยายอิทธิพล และลัทธิขยายอาณาเขตอิทธิพลก็ขัดกับอำนาจอธิปไตยของชาวแอฟริกา แต่สิ่งที่เป็นประเด็นมากกว่าคือประเทศมหาอำนาจในโลกจะได้ยินเสียงร่ำร้องของชาวแอฟริกันหรือไม่ ซึ่งคำตอบสุดท้ายตอนนี้น่าจะเป็น 'พวกเขาได้ยิน' " แจ็กสันกล่าว

 


เรียบเรียงจาก

'Dear world, your hashtags won't #BringBackOurGirls', The Guardian, 09-05-2014
http://www.theguardian.com/world/2014/may/09/nigeria-hashtags-wont-bring-back-our-girls-bringbackourgirls

Nigeria: in defence of hashtags and #BringBackOurGirls, The Guardian, 11-05-2014
http://www.theguardian.com/world/2014/may/11/nigeria-bringbackourgirls-boko-haram


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/2014_Chibok_kidnapping

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net