Skip to main content
sharethis

ศาลยุติธรรมสหภาพยุโรปตัดสินให้กูเกิลต้องแก้ไขข้อมูลหากมีผู้ร้องเรียนไม่พอใจการแสดงผลซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับตนเองและเข้าข่ายข้อมูลล้าสมัยหรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจุบันของบุคคลนั้นๆ ขณะนักกิจกรรมบางส่วนเกรงว่าคำสั่งนี้เมื่อเป็นกฎหมายจะถูกใช้ลิดรอนเสรีภาพของข้อมูลได้

13 พ.ค. 2557 ศาลสูงสุดของสหภาพยุโรปหรืออียูตัดสินให้เว็บค้นหาข้อมูลกูเกิลแก้ไขผลการค้นหาบางส่วนหากมีการร้องเรียนจากประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นการทดสอบการใช้ "สิทธิในการถูกลืม"

ศาลยุติธรรมสหภาพยุโรปประกาศในคำตัดสินว่าประชาชนมีสิทธิเรียกร้องให้ลบข้อมูลได้ถ้าหากเป็นข้อมูลที่ "ไม่ครบ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเคยมีส่วนเกี่ยวข้องเพียงแค่ในอดีต" และถือเป็นข้อมูลล้าสมัย

คดีนี้เริ่มต้นมาจากกรณีของชายชาวสเปนชื่อมาริโอ คอสเตฮา กอนซาเลส ร้องเรียนว่ามีประกาศประมูลบ้านของเขาเมื่อ 16 ปีที่แล้วที่เขาประกาศขายเพื่อใช้หนี้ ซึ่งในตอนนี้เขาได้กลับมาครอบครองบ้านหลังนั้นแล้วแต่ยังมีประกาศดังกล่าวปรากฏอยู่ในผลการค้นหาของกูเกิล ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว เนื่องจากเรื่องการขายบ้านจบไปแล้วและไม่ควรมีส่วนเกี่ยวข้องกับเขาอีก

ทางด้านกูเกิลกล่าวถึงการตัดสินคดีนี้ว่า "น่าผิดหวัง" โดยโฆษกของกูเกิลบอกอีกว่าพวกเขาต้องใช้เวลามากขึ้นในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

กูเกิลบอกว่าเว็บของพวกเขาไม่ได้ควบคุมข้อมูล แต่แค่เผยแพร่ลิงก์เชื่อมโยงข้อมูลในอินเทอร์เน็ตอย่างอิสระ ก่อนหน้านี้กูเกิลเคยถูกสั่งให้ลบข้อมูลโดยอ้างเรื่องการเซ็นเซอร์มาก่อน

วิเวียน เรดดิง คณะกรรมาธิการด้านการยุติธรรมของสหภาพยุโรป กล่าวว่าการตัดสินของศาลในครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของชาวยุโรป

โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอให้มีกฎหมาย "สิทธิในการถูกลืม" สำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งกฎหมายระบุให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขผลการค้นหาบางส่วนเพื่อเป็นไปตามแนวทางของยุโรปในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

รอรี่ เคลลัน-โจนส์ นักข่าวเทคโนโลยีของบีบีซีกล่าวว่าการตัดสินในครั้งนี้ส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับบุคคลหนึ่งๆ ซึ่งหมายความว่าถ้าใครก็ตามที่ไม่ชอบเรื่องราวเก่าๆ ของตัวเองที่ถูกนำเสนอผ่านอินเทอร์เน็ตก็สามารถเรียกร้องให้มีการลบทิ้งได้

คำตัดสินของศาลยุโรปเน้นย้ำด้วยว่าปัจเจกบุคคลมีสิทธิสูงสุดในการควบคุมข้อมูลเกี่ยวกับตัวเอง แม้ว่าจะมีเรื่องของ "การแก้ต่างเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะ" (Public interest defence) ที่อนุญาตให้จำเลยมีการเปิดเผยข้อมูลลับหรือข้อมูลที่ได้รับการคุ้มครอง ถ้าหากจำเลยสามารถนำเสนอได้ว่าสิ่งที่เขาเปิดเผยออกมานั้นมีประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่าการไม่เปิดเผยอย่างไร ซึ่งตรงจุดนี้สามารถนำมาใช้ได้หากเป็นข้อมูลของบุคคลเกี่ยวกับกิจการสาธารณะ

อย่างไรก็ตามกลุ่มนักกิจกรรมอินเด็กซ์ออนเซ็นเซอร์ชิปกล่าวประณามการตัดสินในครั้งนี้ โดยบอกว่าเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เนื่องจากอนุญาตให้ปัจเจกบุคคลร้องเรียนต่อเว็บค้นหาเกี่ยวกับข้อมูลที่พวกเขาไม่ชอบโดยไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบทางกฎหมาย

"เรื่องนี้เทียบได้กับการที่มีคนเดินขบวนเข้าไปในห้องสมุดแล้วบังคับให้กำจัดหนังสือทิ้ง" กลุ่มอินเด็กซ์ออนเซ็นเซอร์ชิปกล่าว

ทั้งนี้ ศาลยุโรปกล่าวในแง่การร้องเรียนว่า ผู้ร้องเรียนต้องแจ้งเรื่องต่อผู้ดำเนินการเว็บไซต์ค้นหานั้นๆ จากนั้นผู้ดำเนินการจะต้องพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่

 


เรียบเรียงจาก
EU court backs 'right to be forgotten' in Google case, BBC, 13-05-2014
http://www.bbc.com/news/world-europe-27388289

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Public_interest_defence
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net