Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


จากสภาพปัญหาทางการเมืองที่มีสาเหตุสำคัญมาจากการเสนอร่าง พรบ.นิรโทษกรรม พ.ศ.......(ฉบับสุดซอย) โดย สส.ฝ่ายรัฐบาลและข้อกล่าวหาต่างๆ ที่มีต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ว่าการบริหารบ้านเมืองนั้นเอื้อต่อประโยชน์พวกพ้องซึ่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลมาตลอด จนกระทั่งเกิดการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. และกลุ่มอื่นๆ เพื่อขับไล่รัฐบาล ในที่สุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 9 ธันวาคม 2556 แต่กลุ่ม กปปส.ยังคงเรียกร้องให้รัฐบาล (รักษาการ) ลาออก เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนจึงให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการขัดขวางการเลือกตั้ง สส. เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และตามมาด้วยการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ห้วงเวลากว่า 6 เดือน ที่ผ่านมากลุ่ม กปปส.นำโดยกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำสำคัญกว่า 50 คน ยังคงชุมนุมขับไล่รัฐบาล (รักษาการ) และต้องการให้มีรัฐบาลชุดใหม่และมีสภาของประชาชนเพื่อทำการปฏิรูปประเทศแล้วจึงนำไปสู่การเลือกตั้ง ในขณะเดียวกันกลุ่ม นปช.นำโดย จตุพร พรหมพันธ์ และแกนนำสำคัญอีกหลายคนก็รวมพลังจัดการชุมนุมเพื่อปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและต้องการให้ประเทศเดินหน้าสู่การเลือกตั้งตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย

สรุปประเด็นปัญหาที่ผ่านมากว่า 6 เดือน พบว่า มีการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจและความชอบธรรมทางการเมืองของ 2 กลุ่มสำคัญ คือ กลุ่ม กปปส. และ กลุ่ม นปช. โดยทั้งสองกลุ่มมีเจตนาในการต่อสู้ตรงกัน คือ เพื่อประชาชนและแสวงหาความยุติธรรม ให้เกิดแก่ประชาชนอย่างแท้จริง สำหรับในทัศนะของผู้เขียนพิจารณาว่าขบวนการต่อสู้ทั้ง 2 กลุ่ม มีประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่ง ส่วนประชาชนที่ไม่เข้าร่วมการชุมนุมของทั้ง 2 กลุ่ม แต่มีแนวความคิดทางทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็คงมีอยู่ไม่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชุมนุมทั้งในกลุ่ม กปปส. และ นปช. ดังนั้นผู้เขียนเห็นว่าประชาชนซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในฐานะผู้มีอำนาจอธิปไตยจึงถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนสำคัญเป็นอย่างน้อย กล่าวคือ ส่วนที่ 1 อยู่ในกลุ่ม กปปส. ส่วนที่ 2 อยู่ในกลุ่ม นปช. และส่วนที่ 3 ไม่อยู่ในสองกลุ่มแรก แต่มีแนวความคิดทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย จะเห็นว่าทั้ง 3 ส่วน ล้วนแต่เป็นประชาชนผู้มีอำนาจอธิปไตยด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น การต่อสู้    ช่วงชิงอำนาจและความชอบธรรมทางการเมืองผ่านขบวนการกลุ่มที่มีปริมาณผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากเและมีการกล่าวอ้างถึงอำนาจของประชาชนซึ่งเริ่มจากอาณาบริเวณของกลุ่มผู้ชุมนุมและพยายามแพร่กระจายการอ้างถึงและการใช้อำนาจของประชาชนจากภายในกลุ่มให้ออกไปยังภายนอกกลุ่มว่านี้เป็นฉันทานุมัติหรืออำนาจของประชาชนที่ได้มอบให้ดำเนินการ ซึ่งวิถีการต่างๆ เหล่านี้มิใช่ทางออกหรือการนำไปสู่ชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างแท้จริง และหากพิจารณาถึงอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชนในส่วนที่ 3 (ในบทความนี้) ซึ่งมิได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกลุ่ม กปปส.และ กลุ่ม นปช.ยังคงเคลือบแคลงสงสัยการกล่าวอ้างถึงและการใช้อำนาจของประชาชนในสังคมการเมืองไทย

สำหรับผู้เขียนเห็นว่าเมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ซึ่งสอดรับกับหลักการประชาธิปไตยสากลแล้วนั้น จึงควรสนับสนุนให้ประชาชนเป็นผู้รวมกำหนดแนวทางของประเทศด้วยการลงประชามติ ใน 2 ประเด็น คือ จะปฎิรูป หรือ เลือกตั้ง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมมีสิทฺธิออกเสียงประชามติ (1) ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้  และหากผลการลงประชามติเป็นอย่างใดทุกฝ่ายต้องยอมรับและให้นำผลดังกล่าวมาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศชาติต่อไป จะเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการใช้อำนาจที่มาจากประชาชนทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงและเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นการปฎิวัติ รัฐประหาร หรือการให้ได้มาซึ่งการปฎิรูปประเทศตามความต้องการของกลุ่ม กปปส. หรือแม้แต่การผลักดันของกลุ่ม นปช.และกลุ่มอื่นๆ ให้เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว ต่างก็มิใช่หนทางที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาทางการเมืองได้ในขณะนี้ ในทางตรงข้ามจะเป็นการเพิ่มพูนปัญหาให้เกิดขึ้นกับอนาคตการเมืองไทยด้วยซ้ำไป แต่การให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีโอกาส  เลือกแนวทางการขับเคลื่อนประเทศนั้นจะเป็นหนทางที่ถูกต้อง อีกทั้งยังเป็นการเคารพในสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง

             
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net