เจษฎา-ยุกติ-ประจักษ์-วีระ ถก “เลือกตั้งคือทางออก นายกฯเถื่อนคือทางตัน”

‘ประจักษ์’ ชี้ใช้การเลือกตั้งเป็นประตูไปสู่การปฏิรูป เสนอหาก กกต.ไม่ทำงานให้องค์กรต่างชาติเข้ามาจัดการเลือกตั้ง ‘พิชญ์’ ระบุงานวิจัยชี้ 2 ก.พ. ความซื่อตรงต่อการเลือกตั้งสูง แต่การจัดการของ กกต.ต่ำ

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2557 ที่ห้องบรรยายรวม 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) จัดเวทีอภิปราย “เลือกตั้งคือทางออก นายกฯเถื่อนคือทางตัน” โดยมีวิทยากรประกอบดัวย เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากเครือข่ายประชาชนคือคนกลาง และอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยุกติ มุกดาวิจิตร จากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย และอาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจักษ์ ก้องกีรติ จากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายแพทย์วีระ สิริประเสริฐ จากสมัชชาสาธารณสุขปกป้องประชาธิปไตย โดยมี พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ดำเนินรายการ

0000

“..ที่ผ่านมาสังคมไทยมีบทเรียนแล้วจากการรัฐประหารปี 49 ว่าอัศวินม้าขาวไม่เคยมีอยู่จริง และผู้นำที่ไม่ถูกตรวจสอบนี่ล้วนฉ้อฉลด้วยกันทั้งสิ้น..”

“..ประชาธิปไตยเริ่มจากที่ไม่ได้เชื่อว่ามีคนดีคนบริสุทธิ์ที่ปราศจากผลประโยชน์ ปราศจากอคติ ทุกคนมี แต่เราต้องสร้างพื้นที่กลางให้ทุกคนมามีอำนาจต่อรองกันอย่างเท่าเทียมผลประโยชน์มันจึงกระจายอย่างไม่เหลื่อมล้ำกันไปนัก..” - ประจักษ์ ก้องกีรติ

เราร่วมการปฏิรูปไปกับการเลือกตั้งได้

ประจักษ์ ก้องกีรติ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ถึงวันนี้สังคมไทยคงเห็นแล้วว่าแนวทางการเคลื่อนไหวของ กปปส. เป็นแนวทางแบบสุดโต่ง ที่ไม่นำมาซึ่การปฏิรูป ไม่นำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมืองและไม่นำมาซึ่งประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วม

การเคลื่อนของ กปปส. ผลร้ายแรงของมันคือการทำให้ระเบียบทางการเมืองและสังคมถูกทำลาย จึงอยากโทษไปที่ชนชั้นนำเก่า เพราะลำพังคุณสุเทพไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ขนาดนี้ และการที่ชนชั้นนำเก่าสายตาสั้น มุ่งรักษาผล ประโยชน์และอำนาจของตนเองโดยละเมิดหลักการทุกอย่าง ซึ่งจะทำลายผลประโยชน์ของตัวเองในระยะยาวด้วย ซึ่งจะพาสังคมไทยลงเหวไปทั้งหมด แต่ไม่ว่าชนชั้นนำจะสายตาสั้นอย่างไร สังคมไทยต้องหาทางลงให้ตน ไม่ลงเหวไปกับคุณสุเทพด้วย ต้องตั้งสติ ถอนตนเองออกมา แล้วเราทำได้และเคยทำมาแล้ว โดยไม่เป็นพลังเงียบต่อไป ต้องส่งเสียงออกมา เพราะเราร่วมการปฏิรูปไปกับการเลือกตั้งได้ โดยไม่ต้องเลือกทำอันไหนก่อนหรือหลัง

ใช้การเลือกตั้งเป็นประตูไปสู่การปฏิรูป

ประจักษ์ กล่าว่า การปฏิรูปปรับความสัมพันธ์อำนาจในสังคมไทยมีความเสมอภาคมากขึ้นนั้น จะทำได้ต่อเมื่อเราเริ่มต้นจากการยอมรับการเลือกตั้งเป็นประตูการปฏิรูปนั้น การปฏิรูปการเมืองในปี 2540 เป็นโมเดลที่ดี ดังนั้นสิ่งที่สังคมไทยต้องตั้งสติให้ดี เราต้องร่วมกันใช้การเลือกตั้งเป็นประตูไปสู่การปฏิรูป แล้วใช้การเลือกตั้งคืนความปกติสุขให้สังคมไทย

ความขัดแย้งรอบนี้ มันไม่เกี่ยวกับการปกป้องนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เป็นเรื่องการ ประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยของปวงชนเป็นเดิมพัน ระบอบประชาธิปไตยกำลังถูกทำลายและอำนาจอธิปไตยของปวงชนกำลังถูกริดรอน โดยชนชั้นนำส่วนน้อยกลุ่มหนึ่ง

สังคมไทยต้องไม่ปล่อยให้สร้างสภาวะอนาธิปไตยที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน กรวยเลยกลายเป็นระเบียบการเมืองใหม่ กระทั่งรัฐไม่สามารถรักษาและคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชนได้อีกต่อไป ทั้งตำรวจ ทหาร ก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบอบกรวย โดยปล่อยให้มีการละเมิดกฏหมายอยู่ทุกวันเป็นกลายทำลายเหตุผลในการดำรงอยู่ขององค์กรตัวเอง เพราะการมีกองทัพก็เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยของคนในชาติ

สร้างสภาวะอนาธิปไตยปูทางไปสู่ระบอบเผด็จการในนามของคุณธรรมการปฏิรูป

ประจักษ์ กล่าวต่อว่า สภาวะอนาธิปไตยนี่น่ากลัว แล้วมีคนสร้างสภาวะอนาธิปไตยเพื่อปูทางไปสู่ระบอบเผด็จการในนามของคุณธรรมการปฏิรูป นี่คือศตรูสองตัวที่เราต้องต่อสู่คือ อนาธิปไตยและเผด็จการโดยคนส่วนน้อย โดยท่ามกลางศตรูสองตัวนี้สิ่งที่เราต้องรักษาไว้ให้มั่นคือประชาธิปไตย ที่ยืนอยู่บนหลักความเสมอภาคของคนไทยทุกคน

วาทกรรมเรื่อง ‘การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง’

เป็นวาทะกรรมลวงความลวง เพราะหากไปดูการปฏิรูปในประเทศต่างๆทั่วโลกนั้นปรับเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น ภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยแบบปกติ ไม่มีประเทศไหนมาแช่แข็งประเทศตัวเอง ประเทศทั้งหลายที่ปฏิรูปตัวเองสำเร็จก็ใช้กระบวนการประชาธิปไตยตามปกติมาแก้ปัญหา เพราะเขาเรียกรู้ว่าระบบเผด็จการโดยคนส่วนน้อยที่มาจากการแต่งตั้งไม่เคยแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นและความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมได้ดีกว่าระบอบประชาธิปไตย มันเกือบเป็นสัจจะธรรมที่ทั่วโลกเขาค้นพบแล้ว ไม่ใช่อุดมคติ แต่สังคมไทยมีชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งพยายามสร้างกะลาครอบสังคมไทยไว้ และสร้างวาทะกรรมบิดเบือนปูทางไปสู่การรวบอำนาจของตัวเอง

ระบอบประชาธิปไตยมีข้อบกพร่องไหม มีหลายประการ เพราะการทุจริตมีอยู่ทุกสังคม แต่ย้อนกลับไปดูว่าใครมีส่วนในการรับผิดชอบในการทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นในสังคมนี้นั้นมันเป็นคนทุกกลุ่ม และพรรคการเมืองทุกพรรค ดังนั้นจะบอกสังคมไทยว่ามีพรรคหนึ่งเป็นบริสุทธิใสสอาดนั้นไม่จริง ที่ผ่านมาทุกพรรคพร้อมที่จะตักตวงผลประโยชน์ เพราะโครงสร้างรัฐมันเอื้อให้ และไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น กองทัพ ตำรวจ ศาล องค์กรอิสระ ก็พัวพันกับการการใช้อำนาจโดยมิชอบทั้งนั้น หากเราแคร์การใช้อำนาจโดยมิชอบจริงก็ต้องตรวจสอบทุกกลุ่ม แทนที่จะบอกว่ามีคนชั่วอยู่กลุ่มเดียวและกำจัดกลุ่มนี้ออกไปแล้วสังคมจะสูงจะใสสะอาดขึ้น

อัศวินม้าขาวไม่เคยมีอยู่จริง

ประจักษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยมีบทเรียนแล้วจากการรัฐประหารปี 49 ว่าอัศวินม้าขาวไม่เคยมีอยู่จริง และผู้นำที่ไม่ถูกตรวจสอบนี่ล้วนฉ้อฉลด้วยกันทั้งสิ้น

ทั่วโลกเขาเลิกศรัทธาแล้วกับระบอบการปกครองโดยคนส่วนน้อยที่เรียกว่า อภิชนาธิปไตย หรือ อำมาตยาธิปไตยที่เชื่อว่ามาคนส่วนน้อยในสังคมที่มีชาติวุฒิ ชาติกำเนิดดีกว่าคนอื่น มีคุณวุฒิ คุณสมบัติที่ดีกว่าคนอื่น ฉะนั้นควรปล่อยให้คนเหล่านี้ปกครอง อันนี้เป็นแนวคิดที่ครอบงำตั้งแต่ยุคกลาง ทำไมทั่วโลกถึงเลิกศรัทธาในระบอบนี้ เพราะพบว่าคนเหล่านั้นก็มีผลประโยชน์ของตนเองที่ต้องปกป้องด้วย  มันไม่มีกลุ่มคนดีคนกลางที่เกิดมาจะทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมโดยไม่อคติหรือผลประโยชน์แอบแฝงเลย

เรามีระบอบประชาธิปไตยที่ให้สิทธิกับคนทุกคนก็เริ่มจากสมติฐานนี้ว่าคนทุกคน คนทุกกลุ่มมีผลประโยชน์ที่แตกต่างกันและทุกคนก็ต้องการใช้อำนาจผ่านการเลือกตั้งในการต่อรองผ่านกระบวนการประชาธิปไตยเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของตัวเอง ฉะนั้นประชาธิปไตยเริ่มจากที่ไม่ได้เชื่อว่ามีคนดีคนบริสุทธิ์ที่ปราศจากผลประโยชน์ ปราศจากอคติ ทุกคนมี แต่เราต้องสร้างพื้นที่กลางให้ทุกคนมามีอำนาจต่อรองกันอย่างเท่าเทียมผลประโยชน์มันจึงกระจายอย่างไม่เหลื่อมล้ำกันไปนัก

เมื่อเรามองเห็นแบบนี้แล้ว สังคมไทยคนเห็นแล้วว่าเราไม่จำเป็นต้องจ่ายราคาสูงขนาดนี้ ถ้าเราต้องารการปฏิรูปจริง ตอนนี้มีคนตายไปกว่า 20 แล้ว บาดเจ็บอีกจำนวนมาก เศรษฐกิจก็พัง ความปลอดภัยในชีวิตประจำวันของคนก็ไม่มีแล้ว ถามว่าเราต้องจ่ายราคาสูงขนาดนี้เพื่อปฏิรูปหรอ แล้วการปฏิรูปนั้นก็ไม่รู้ว่าจะได้มาจากหรือไม่ เมื่ออำนาจตกไปอยู่ในมือของคนส่วนน้อย ทำไมเราไม่ทำอย่างที่สังคมอื่นๆทั่วโลกทำคือใช้กระบวนการประชาธิปไตยแบบปกติ ที่คนทุกคนมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคในการปฏิรูปประเทศ  

การปฏิรูปทำได้ดีเมื่อมีสภาเต็มรูป

การปฏิรูปทำได้ดีเมื่อมีสภาเต็มรูปแล้ว เพราะมันต้องผ่านมาเป็นกฏหมายหรือแก้รัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้เราไม่มีรัฐสภาจะปฎิรูปให้สภารับรองและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการสำหรับการปฏิรูปก็คือการมีเรามีรัฐสภาที่มีอำนาจเต็มมาผลักดันการปฏิรูป

ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งอย่างที่เข้าใจ มีการซื้อสิทธิไหมก็มี แต่เราต้องเข้าใจก่อนว่าการซื้อเสียงไม่ได้กำหนดการเลือกตังแล้ว ไม่ใช่ว่าเงินเป็นปัจจัยเดียวในการกำหนดการตัดสินใจในการเลือกตั้งแล้ว เพราะเป็นเช่นนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็คงชนะการเลือกตั้งตั้งแต่หลังการเลือกตั้งปี 50 หลังการปฏิวัติรัฐประหารทีมีนายทุนเองเงินมาช่วยมากมายแล้ว

หลังปี 40 การเลือกตั้งมีพัฒนาการในเชิงบวก

ประจักษ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งในเมืองไทยไม่ใช่เป็นเพียงพิธีกรรมแล้วตั้งแต่หลังปี 2540 เป็นต้นมา ที่มีการปฏิรูปการเมือง ก่อนหน้านั้นที่มีการรัฐประหารการเลือกตั้งเป็นเพียงแค่พิธีกรรมไม่มีการแข่งขันเชิงนโยบาย แต่หลังปี 40 การเลือกตั้งมีพัฒนาการในเชิงบวกและมีงานวิจัยรองรับ

1 มีการแข่งขันเชิงนโยบายมากขึ้น

2 ประชาชนตื่นตัวเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการเลือกตั้งมากขึ้น ผูกพันกับพรรคการเมืองมากขึ้น รวมถึงผู้เลือกตั้งที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ด้วยเช่นกัน พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีฐานเสียงที่ชัดเจน แล้วปี 54 นั้นคนไทย 75 % ออกมาเลือกตั้ง

3 การจัดการเลือกตั้งมีความโปร่งใสและบริสุทธิยุติธรรมมากขึ้น เพราะมีการโอนย้ายจากกระทรวงมหาดไทยที่อยู่ใต้อำนาจรัฐบาลมาที่ กกต. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ และ กกต ไทยมีอำนาจมากกว่า กกต.ในหลายประเทศ โดยเฉพาะอำนาจให้ใบเหลือใบแดง สามารถตัดสิทธิผู้สมัครก่อนลงสนามเลือกตั้งด้วย

4 การซื้อเสียง อิทธิพลมืดมันมีผลน้อยลงในการกำกับการเลือกตั้ง

ปัญหาเรื่องความบริสุทธิ์ยุติธรรมเกี่ยวกับการเลือตั้งจึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ระบบเลือกตั้งที่เราใช้อยู่เป็นระบบที่ค่อนข้างดีแล้วเมื่อเทียบกับระบบในอดีต

 

0000

“..ทำไมสังคมจึงเชื่อตามๆกันมา เพราะสังคมไทยไม่ได้คิดเป็นวิทยาศาสตร์ สังคมไทยอาศัยความเชื่อความศรัทธาในตัวบุคคล เราไม่รู้จักการคิดวิเคราะห์แยกแยะ..”

“..ตอนนี้เราต้องสอนให้ลูกหลานยอมรับการแพ้เลือกตั้งเป็น เพราะขณะนี้การเมืองเป็น 2 พรรคใหญ่ที่สู้กันแล้ว”

“..คนที่เชียร์เพื่อไทยปล่อยเขาไป คนที่เชียร์ประชาธิปัตย์ปล่อยเขาไป แต่ถ้าคนอีก 60% บอกว่าเราต้องการสันติภาพ เราต้องการประชาธิปไตย เราต้องการสิทธิของเราคืนมา เราต้องการสีธงชาติกลับมาเป็นของฉันบ้าง ไม่ใช่เป็นของฝ่ายเดียว..” - เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

มนุษย์ทุกคนคือพี่น้องกัน

เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เครือข่ายประชาชนคือคนกลาง และอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มนุษย์ทุกคนคือพี่น้องกัน ไม่รู้เราจะขัดแย้งกันทำไมในโลกนี้ แม้ทุกคนอาจเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน แต่สิ่งที่เราได้มาจากความเป็นมนุษย์ที่เหนือจากสัตว์อื่น คือเรามีวัฒนธรรม เรามีประวัติศาสตร์ เรามีการเรียนรู้ เราสามารถเรียนรู้การอยู่ร่วมกันได้ เราเรียนรู้จากยุคสมัยที่เรามีการปกครองที่บางคนเป็นเพราะเจ้าบางคนเป็นไพร่ เราเรียนรู้วรรณะ เราเรียนรู้มาถึงระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนเท่ากัน เราอาจมีชีวิตในสังคมที่เราไม่เท่ากัน แต่เวลาที่เรามีสิทธิเลือกตั้งทุกคนนั้นเท่ากัน และทุกท่านต่างหากที่เป็นคนกลางของสังคม เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพานายกคนกลาง ลากตั้งมาจากไหน พวกเราเองมีสิทธิที่จะปกครองตัวเราเองได้

Pseudo Political Science

Pseudo Science หรือ วิทยาศาสตร์ลวงโลก ตัวอย่างเครื่อง GT200 หลายคนอาจดูเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องนอกประเด็นของตน แต่ในมุมมองของตนมองว่าทำไมวิทยาศาสตร์จึงสามารถมาหลอกขายของได้ ทำไมวิทยาศาสตร์ถึงกลายเป็นสิ่งที่คนเชื่อและศรัทธาว่ามันใช้ได้ แม้ว่ามันจะไม่ใช่เรื่องวิทยาศาสตร์เลย และทำไมสังคมจึงเชื่อตามๆกันมา เพราะสังคมไทยไม่ได้คิดเป็นวิทยาศาสตร์ สังคมไทยอาศัยความเชื่อความศรัทธาในตัวบุคคล เราไม่รู้จักการคิดวิเคราะห์แยกแยะ

สูโด-ไสย์ (pseudo saiya) หรือ ไสยศาสตร์ สังคมไทยนอกจากไม่มีความคิดเป็ฯวิทยาศาสตร์แล้วยังบ้าไสยศาสตร์สุดขีด เรากราบไหว้บูชาของทุกอย่าง เราเชื่อทุกอย่างโดยที่ไม่ยอมให้ตั้งคำถาม โดยใช้คำว่า “ห้ามลบหลู” “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” เช่นเดียวกับการเมือง ก็เป็น Pseudo Political Science พวกเราถูกดึงเข้าไปในเกมส์การเมืองของผู้มีอำนาจที่เขาเล่นกันอยู่

ตนเป็นคนหนึ่งที่ร่วมเป่านกหวีดด้วยค้าน พ.ร.บ นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอยเมื่อ พ.ย.-ธ.ค. ปีที่แล้ว และเชื่อว่าคนไทย 80% ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นี้ แต่เหตุการณ์นั้นถูกปล้นกลางอากาศ และเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากจนวันนี้ยังหาทางออกไม่เจอ เกิดคำศัพท์ใหม่ขึ้นมาว่า “มวลมหาประชาชน” เป็นคำที่ถูกสร้างขึ้นมา สิ่งที่เราเห็นมาทั้งหมดในเหตุการณ์นี้ ดีลที่คุณสุเทพได้ คือดีลเดียวกันกับที่ เสธฯ อ้าย ได้ คือดีลเดียวกับทีสนธิเคยได้ มันเป็นเกมส์เดียวกัน คือการที่หากคุณหาคนออกมาได้เป็นล้านคนต่อเนื่องกันเกิน 3 วัน จะมีคนออกมาช่วย แต่ เสธ.อ้าย พลาด ในขณะที่มวลมหาประชาชนทำสำเร็จเพราะไฮแจ็คอารมณ์ร่วมของคนที่ออกไปต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สุดซอย

ประชามติ VS มวลมหาประชาชน

เจษฎา กล่าวว่า มีคนอ้างว่าคนเป็นล้านคนนั้น แต่ตัวเลขมาอย่างไร ตัวเลขนั้นเป็นตัเลขแท้จริงหรือไม่ ในฐานที่ตนเป็นนักวิทยาศาสตร์คิดว่ามันไม่ใช่ ระหว่างประชามติกับมวลมหาประชาชน ในขณะที่ประชามติคือเลขจริง คุณไปเลือกตั้ง คนนับที่คูหา คุณได้ตัวเลขจริง แต่มวลมหาประชาชนเป็นอารมณ์ของคนที่ดูทั่วๆไป คุณถ่ายรูปจากมุมบนลงมาแล้วบอกว่านี้มาเป็นล้านคน แต่ประชากรกรุงเทพมี 12 ล้านคน จึงต้องมีการนับผิดแน่เพราะไม่มีทางที่คนเป็นล้านๆคนมาอยู่บนถนนพร้อมกันได้

ความต่างระหว่างวิทยาศาสตร์แท้กับวิทยาศาสตร์เทียม(Pseudo Science)

วิทยาศาสตร์แท้จะแก้ไขเมื่อมีข้อพิสูจน์ใหม่มาหักล้าง วิทยาศาสตร์เทียมคือการเชื่อโดยไม่แก้ไข ตอนนี้เราบอกว่าจะขอให้เขาฟังเราบ้างนั้น เขาไม่ฟัง เขายึดติดกับความเชื่อบางอย่าง เขาไม่คิดจะแก้ไข

วิทยาศาสตร์แท้ผ่านการตรวจสอบอย่างเข่มข้น วิทยาศาสตร์เทียมไม่ยอมรับการตรวจสอบ ไม่มีใครอธิบายว่าปฏิรูปคืออะไร 1 2 3 4 เพราะถ้าบอกนั้นสามารถตรวจสอบได้ แต่ที่ตรวจสอบไม่ได้เป็นการปฏิรูปไปลอยๆอยู่ในอากาศ วิทยาศาสตร์แท้จะเปิดรับการค้นพบใหม่ๆทุกอย่าง วิทยาศาสตร์เทียมเลือกฟังเฉพาะเรื่องที่ชอบ เราพูดแย้งเขาไม่ได้ขยับกรวยเขาก็ไม่ได้

วิทยาศาสตร์แท้เชิญชวนให้วิพากษ์วิจารณ์ วิทยาศาสตร์เทียมมองการวิจารณ์ว่าเป็นการกล่าวหา เราพูดอะไรต่างจากเขาก็บอกว่าเราเป็นขี้ข้าทักษิณ รับเงินทักษิณมา วิทยาศาสตร์แท้ได้ผลลัพธ์ที่ตรวจสอบทำซ้ำได้ วิทยาศาสตร์เทียมไม่อาจทำซ้ำให้ได้ผลเหมือนกันได้ การไปเลือกตั้งยิ่งเลือกตั้งยิ่งได้ผลชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ แต่วิทยาศาสตร์เทียม การบอกว่าจะเอาปฏิรูปและบอกว่ามีมวลมหาประชาชนเอานั้น บอกว่าไม่ได้ว่าจำนวนเท่าไหร่

วิทยาศาสตร์แท้เรายอมรับว่ามีข้อจำกัดในการใช้งาน วิทยาศาสตร์เทียมแอบอ้างประโยชน์ไปครอบจักรวาล บอกว่าปฏิรูปดีๆ จนกระทั่งเสนอนายกคนกลาง ท่าน ส.ว.ไพบูลย์ นิติตะวัน บอกว่านายกคนกลางมาแล้วบ้านเมืองจะเรียบร้อย แล้วการันตีเอง ถามว่าใครจะเชื่อ วิทยาศาสตร์แท้วัดค่าตัวเลขอย่างละเอียด วิทยาศาสตร์เทียมประมาณค่าอย่างหยาบๆ

ตอนนี้เราต้องสอนให้ลูกหลานยอมรับการแพ้เลือกตั้งเป็น

เจษฎา ได้กล่าวถึง สิ่งที่ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ได้เคยกล่าวไว้ด้วยว่า “ใครจะไปเลือกตั้งหรือไม่ไป ย่อมเป็นสิทธิของแต่ละคน แต่ไม่มีใครมีสิทธิมายับยั้งการใช้สิทธิอันนั้น เพราะนี่คือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ผมเคยไปร่วมประท้วงรัฐบาลนี้หลายครั้ง แต่คราวนี้ต้องขอประท้วงฝ่ายที่จะยังยังไม่ให้คนอื่นไปใช้สิทธิเลือกตั้งของตน” อาจารย์เป็นอดีตรัฐมนตรีในสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ และอาจารย์ก็ยอมรับว่าเป็น กปปส. ในยุคแรก แต่อาจารย์บอกว่าทำไมการเลือกตั้งถึงถูกเอาไปจากมือท่าน นี่คือจุดร่วมที่เราควรจะมามองว่าทำอย่างไรให้คนที่ไปร่วมกับ กปปส. ชะงักว่าจริงๆแล้วเจตนารมณ์คุณดี เจตนารมณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงปฏิรูปให้มันดีขึ้น แต่คุณถูกนำทางไปในทางที่ผิด และกลไกการเลือกตั้ง ประชาธิปัตย์ลงในครั้งที่แล้วก็ชนะไปแล้ว หรือไม่ก็จะกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง ตอนนี้เราต้องสอนให้ลูกหลานยอมรับการแพ้เลือกตั้งเป็น เพราะขณะนี้การเมืองเป็น 2 พรรคใหญ่ที่สู้กันแล้ว

ทำไมหลายประเทศทั่วโลกจึงเกิดการฆ่ากันได้

เจษฎา กล่าวด้วยว่า อยากเชิญชวนให้ดูสารคดีชื่อ “Five Steps to Tyranny” ของ BBC ดูเรื่องนี้จบจะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทำไมหลายประเทศทั่วโลกจึงเกิดการฆ่ากันได้ ระหว่างเพื่อนบ้าน ระหว่างชนเผ่า อย่างระวันดา ยูโกสโลวาเกีย สิ่งที่เจอวันนี้เขาไปเอาเกมส์แบบลาตินอเมริกามาใช้ ทำให้คนไทยเกลียดกันเอง เกลียดนักการเมือง เกลียดประชาธิปไตย เกลียดระบอบการเลือกตั้งแล้วเชิดชูทหาร โดยมีขั้นตอนที่ใช้คือ

1.     Us and Them แบ่งแยกว่าเป็นพวกเราพวกขา วันนี้คุณอยู่ตรงกลางไม่ได้ เขาจะผลักให้คุณไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง ถ้าคุณบอกว่าเอาเลือกตั้งก็จะถูกผลักว่าเป็นขี้ข้าทักษิณทันที ถ้าคุณบอกว่าปฏิรูปดีเขาก็จะมองว่าคุณเป็นสลิ่มหรือเปล่า เมื่อแบ่งแยกเป็น 2 พวกแล้วก็ยกพวกตนเองให้ดีกว่าให้ได้ อีกพวกต่ำกว่าอย่างไรก็ได้ เป็นแมลงสาปเป็นความอะไรก็ได้

2.     Obey Order จงเชื่อฟังคำสั่ง มนุษย์มีแนวโน้มที่จะเชื่อฟังคำสั่งอยู่แล้ว

3.     จงทำร้ายพวกมัน Do Them Harm ถ้าให้โอกาสทำร้ายฝ่ายตรงข้ามคุณจะกล้าทำร้าย

4.     ลุกขึ้นค้าน หรือ แค่ยืนดู

5.     แล้วนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ไม่เห็นด้วยทั้ง นปช.และ กปปส. เพราะต่างหัวรุนแรงทั้งคู่ จะนำไปสู่การปะทะกัน และเมือปะทะกันทหารก็ออกมา และเมื่อทหารออกมาก็จะฆ่ากันเองอีกครั้ง ตนไม่อยากเห็น หรือเราจะดึงกลับมา เรามีคนที่เป็นพวกสวิงโหวต 60% ของประเทศ คนที่เชียร์เพื่อไทยปล่อยเขาไป คนที่เชียร์ประชาธิปัตย์ปล่อยเขาไป แต่ถ้าคนอีก 60% บอกว่าเราต้องการสันติภาพ เราต้องการประชาธิปไตย เราต้องการสิทธิของเราคืนมา เราต้องการสีธงชาติกลับมาเป็นของฉันบ้าง ไม่ใช่เป็นของฝ่ายเดียว

 

0000

“..เลือกตั้งครั้งนี้มี 40 กว่าพรรคลงเลือก แต่มีพรรคเดียวไม่ลง มันแสดงว่าคนทีมีรสนิยมที่หลากหลายกันต่างพร้อมที่ลงสู่การตัดสินผ่านการเลือกตั้ง” - วีระ สิริประเสริฐ

 

วีระ สิริประเสริฐ สมัชชาสาธารณสุขปกป้องประชาธิปไตย กล่าวว่า การเกิดขึ้นของประชาคมสาธรณสุขที่เกิดจากผู้หลักผู้ใหญ่ในสาธารณสุขและออกมาเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล จึงรู้สึกแย่เพราะการตั้งขึ้นไม่เป็นธรรมชาติและดูเป็นการเหมารวมของคนในแวดวงสาธารณสุขไปด้วย รวมทั้งมีลักษณะจากบนลงล่าง(Top Down) จึงคิดว่าจะต้องออกมาทำอะไรสักอย่างจึงตั้งสมัชชาสาธารณสุขปกป้องประชาธิปไตยขึ้นมา

คำว่านายกเถื่อน มีความหมาย 2 อย่าง คือ หนึ่ง ที่มาไม่ได้มาตามกฏกติกาที่เราใช้อยู่คือรัฐธรรมนูญ สอง หมายถึงป่าเถื่อนด้วย เพราะ เมื่อมีนายกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แล้วประชาชนออกมาค้านก็จะถูกปราบทุกที ครั้งนี้ก็เช่นกันหากยอมให้เขาเข้ามาได้ ประชาชนที่ไม่ใช่เฉพาะเสื้อแดง แต่เป็นประชาชนที่หวงสิทธิและอำนาจของตนออกมาคัดค้านนายกเถือนก็จะถูกปราบอีก  

 

0000

"..วิธีการที่คลายสันติวิธี แล้วนำมาซึ่งผลที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เรายังจะเรียกว่าเป็นสันติวิธีหรือเปล่า จึงไม่เข้าใจว่าทำไมนักสันติวิธีจึงมาปกป้องคนที่ใช้เครื่องมือที่ดูเหมือนสันติวิธี แต่ทำไปเพื่อเผด็จการ เพื่อการยึดอำนาจ เพื่อการบิดเบือนหลักการประชาธิปไตย.."

"..การเลือกตั้งคือทางออก และการเลือกตั้งคือสันติวิธี การปฏิรูปนอกเหลือการเลือกตั้งไม่ใช่สันติวิธี ประชาธิปไตยไทยออกนอกเส้นทางมากี่ครั้งแล้ว แต่ละครั้งกว่าจะกลับมาได้เราเสียเลือดเสียเนื้อมาแล้วเท่าไหร่ นักวิชาการเสนอแนวทางที่จะแก้ไข หาทางออกให้กับประเทศชาติอะไรก็แล้วแต่ นักวิชาการรับผิดชอบต่อข้อเสนอของตัวเอง อย่างมากก็อับอายขายหน้าแล้วเอาปีบคลุมหัว แล้วก็ปีนกลับหอคอยงาช้าง แล้วสักพักก็กลับมาเสนอทางออกใหม่ แต่ สำหรับประชาชนรับผิดชอบต่อทางเลือกตัวเองด้วยเลือดเนื้อและความชอกช้ำในจิตวิญญาณของเขา.." - ยุกติ มุกดาวิจิตร

 

เลือกตั้ง = สันติวิธี

ยุกติ มุกดาวิจิตร สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากข้อเสนอของนักวิชาการสันติศึกษาออกเสนอนายกคนกลางแทนนายก ม.7 แปลว่าเราต้องมีนายกคนกลางให้ได้อย่างนั้นหรือ โดยการคิดในแนวทางที่จะให้มีนายกคนกลางให้ได้นั้น แปลว่า เราคิดว่าการเลือกตั้งมันไม่ใช่ทางออกอย่างนั้นหรือ ทำไมต้องคิดเอาใจออกห่างจากการเลือกตั้งโดยการหาคนกลางมาให้ได้

จึงไม่เข้าใจว่าทำไมนักวิชาการสันติวิธีเหล่านั้นจึงต้องคิดช่วยเหลือกลุ่มที่เป็นกลุ่มการเมืองที่ไม่ได้ดำเนินวิธีทางที่เป็นสันติวิธี ทำไมเราไม่ใช้การเลือกตั้งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและเป็นสันติวิธี ทำไมต้อไปหาทางอื่นก่อน

เวลาที่เราบอกว่าเราจะใช้วิธีการสันติวิธี เช่น จะยึดสถานที่ราชการ ซึ่งเราอาจบอกว่าเป็นสันติวิธี แต่นั้นทำไปเพื่ออะไร เพื่อสถาปนาตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แล้วเดินออกนอกวิถีทางประชาธิปไตย แล้วปกป้องชนชั้นนำในสังคม อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นสันติวิธีหรือเปล่า

วิธีการที่คลายสันติวิธี แล้วนำมาซึ่งผลที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เรายังจะเรียกว่าเป็นสันติวิธีหรือเปล่า จึงไม่เข้าใจว่าทำไมนักสันติวิธีจึงมาปกป้องคนที่ใช้เครื่องมือที่ดูเหมือนสันติวิธี แต่ทำไปเพื่อเผด็จการ เพื่อการยึดอำนาจ เพื่อการบิดเบือนหลักการประชาธิปไตย อย่างนี้จะเรียกว่าสันติวิธีเปล่า ทั้งที่มีวิธีการอื่นที่เป็นสันติวิธีอยู่ก็คือการเลือกตั้ง

องค์กรอื่นๆ กลไกอื่นๆมันพังแล้วหรอ ศาลก็ใช้อยู่ ซึ่งทุกฝ่ายก็ใช้ ทหารก็ยังอยู่ในที่ตั้ง กลไกของรัฐยังทำงานในระดับหนึ่งไม่ใช่หรอ เราจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการพิเศษในการขับเคลื่อนสังคมขนาดนี้หรอ

ประเด็นที่จะโต้แย้งกับนักสันติวิธีศึกษาที่เสนอให้สรรหารองนายกคนกลาง คือให้ฝ่ายที่ขัดแย้งมาเสนอฝ่ายละ 3 คน ที่ หนึ่ง ไม่แสดงออกนอกหน้าว่าอยู่ข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะมีด้วยหรอ สอง เป็นคนที่ซื่อสัตย์สุจริต ทั้งที่พวกที่เข้ามาเป็นนักการเมืองมันถูกกลั่นกรองกันมาทั้งแสดงทรัพย์สิน มันมีการตรวจสอบเต็มไปหมด เท่านี้ยังไม่พอหรือ ส่วนข้อ สาม คือ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่ามีความสามารถในการบริหารในช่วงภาวะวิกฤติ คำถามคือมันมีด้วยหรือ

คู่ขัดแย้งทางการเมืองนั้นไม่ใช่แค่พรรคการเมือง 2 พรรค

ยุกติ กล่าวว่า คู่ขัดแย้งทางการเมืองนั้นไม่ใช่แค่พรรคการเมือง 2 พรรค และไม่ใช่แค่ 2 ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะอาจารย์เองก็เป็นคู่ขัดแย้งด้วย ทุกคนเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง มันมีกลุ่มคนอยู่ 2 กลุ่มคือชนชั้นกลางเก่ากับชนชั้นกลางใหม่ที่ต่างฝ่ายมีชนชั้นนำหนุนอยู่ นี่คือความขัดแย้งขนาดใหญ่ จะให้คน 2 กลุ่มนี้มาเสนอชื่อนั้นจะทำอย่างไร จะทำแบบนั้นได้ก็ต้องลงสมัครเลือกตั้ง จะสรรหาวิธีพิเศษทำไม ดังนั้นคู่ขัดแย้งในปัจจุบันเป็นคู่ขัดแย้งที่ใหญ่กว่าพรรคการเมือง 2 พรรค และความขัดแย้งที่ใหญ่กว่าคือความขัดแย้งระหว่างประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งกับเผด็จการผ่านการสรรหาจัดตั้ง

การเลือกตั้งคือทางออก และการเลือกตั้งคือสันติวิธี การปฏิรูปนอกเหลือการเลือกตั้งไม่ใช่สันติวิธี ประชาธิปไตยไทยออกนอกเส้นทางมากี่ครั้งแล้ว แต่ละครั้งกว่าจะกลับมาได้เราเสียเลือดเสียเนื้อมาแล้วเท่าไหร่ นักวิชาการเสนอแนวทางที่จะแก้ไข หาทางออกให้กับประเทศชาติอะไรก็แล้วแต่ นักวิชาการรับผิดชอบต่อข้อเสนอของตัวเอง อย่างมากก็อับอายขายหน้าแล้วเอาปีบคลุมหัว แล้วก็ปีนกลับหอคอยงาช้าง แล้วสักพักก็กลับมาเสนอทางออกใหม่ แต่ สำหรับประชาชนรับผิดชอบต่อทางเลือกตัวเองด้วยเลือดเนื้อและความชอกช้ำในจิตวิญญาณของเขา

ขนาดอิรักและอัฟกานิสถานยังเลือกตั้งได้

ประจักษ์ ก้องกีรติ กล่าวด้วยว่า เมื่อเดือนที่แล้วมีการเลือกตั้งใน 2 ประเทศที่มีความขัดแย้งสูงมากว่าบ้านเราคือที่ อิรักกับอัฟกานิสถาน การเลือกตั้งนำเสถียรภาพทางการเมืองมาให้สังคมได้ สังคมใช้การเลือกตั้งเป็นประตูไปสู่การปฏิรูปแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีได้ แล้วทำไมประเทศไทยจะทำไม่ได้

ที่ผ่านมา กกต.และโดยเฉพาะอดีตนายกอภิสิทธิ์มักอ้างว่าจัดการเลือกตั้งไม่ได้จนไม่สามารถสร้างหลักประกันว่าการเลือกจะบริสุทธิยุติธรรม แล้วทุกฝ่ายจะยอมรับการเลือกตั้ง ก็พรรคคุณไม่ยอมลงเลือกตั้ง และคุณอภิสิทธิ์ยังบอกว่าต้องรับประกันให้ได้ว่าทุกคนจะไปเลือกตั้งได้อย่างปลอดภัย ก็ต้องถามว่าใครที่ทำให้ไม่เกิดความลอดภัย

แต่ท่านเหล่านั้นลืมไปคำหนึ่งคือ “ความปลอดภัยในการเลือกตั้ง” เราต้องมีการรักษาความปลอดภัยในการเลือกตั้ง ให้กับประชาชน และคนที่จะทำหน้าที่นั้นคือเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนเขว้งขว้างเดียวดาย เดินหน้าสู่คูหา ถึงเวลาที่เจ้าหน้าที่รัฐจะคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชน และคิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำได้ รับมือได้กับการสกัดขัดขวางการเลือกตั้ง

เสนอองค์กรต่างชาติเข้ามาจัดการเลือกตั้ง

ประจักษ์ ก้องกีรติ เสนอด้วยว่าถ้า กกต. ไทยไม่มีน้ำยา หรือไม่มีเจตจำนงที่จะจัดการเลือกตั้งให้เกิดขึ้น ผมคิดว่าเราก็อาจถึงเวลาเชื้อเชิญให้ องค์กรต่างชาติเข้ามาช่วยจัดการเลือกตั้งในสังคมไทย เช่น ในกัมพูชา ปี 2536 ยูเอ็นก็เข้ามาช่วยจัดการเลือกตั้ง หลายประเทศในแอฟริกา ตะวันออกกลาง ก็เคยเชื้อเชิญให้องค์กรคต่างชาติเข้ามาจัดการเลอืกตั้ง

งานวิจัยชี้ 2 ก.พ. ความซื่อตรงต่อการเลือกตั้งสูง แต่การจัดการของ กกต.ต่ำ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า มีงานวิจัยจากโครงการความซื่อตรงต่อการเลือกตั้ง (Electoral Integrity) ที่ทำวิจัยทุกที่ในโลกช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลการผลการเลือกตั้งในไทยเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมานั้นอยู่ในเกณฑ์มีมาตรฐานสูงเมื่อเทียบกับมาตรฐานในระดับนานาชาติ แต่ที่ต่ำกว่ามาตรฐานคือการบริหารจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง รองลงมาคือการผลักดันไปสู่ความวุ่นวายโดยกลุ่มคนที่ไม่ต้องการการเลือกตั้ง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท