ไอลอว์จัดคุยกับ ‘คนห้องกรง’ ประกาศรางวัลออกแบบชุดนักโทษใหม่

 
17 พ.ค.2557 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ร่วมกับ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ. จัดงาน “คุยกับคนห้องกรง & ประกาศออกแบบชุดนักโทษใหม่”  ภายใต้หัวข้อเสวนา “เรื่องเล่าชาวคุก : ประสบการณ์ตรงจากอดีตนักโทษ” โดยในหัวข้อแรกมีผู้ร่วมเสวนาที่มีประสบการณ์ตรง  ได้แก่ ‘นัท’ อดีตผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ‘ตี๋’ อดีตผู้ต้องขังทัณฑสถานบำบัดกลาง  และ ‘จูน’ อดีตผู้ต้องขังหญิงเรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ 
 
นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยในเรื่อง“ชุดนักโทษ กับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” โดยผู้ร่วมเสวนาโดย กรรมการตัดสินรางวัลการประกวดออกแบบชุดนักโทษใหม่ ซึ่งประกอบไปด้วย พันธุ์ชนะ สุนทรพิพิธ  อาจารย์จากคณะศิปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และธันย์ฐวุฒิ  ทวีวโรดมกุล อดีตผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ  
การประกาศผลการออกแบบชุดนักโทษใหม่มีผู้ชนะการประกวดถึง 2 รางวัลได้แก่ 
1.ผลงานการออกแบบโดย อัครา เมธาสุข  ซึ่งมีแนวคิดว่า ชุดนักโทษใหม่คือ “การไม่มีชุดนักโทษ” นักโทษสามารถสวมใส่อะไรก็ได้ตามที่ต้องการ และมีอุปกรณ์ติดตามตัวสวมที่ข้อมือ (ตามภาพ) ซึ่งข้อมูลจากเพจเฟสบุ๊ค ‘คนห้องกรง’ ระบุว่าผู้ออกแบบนำเสนอฟังก์ชันที่จำเป็นของอุปกรณ์นี้ว่า ประกอบด้วย 1.เป็นสัญลักษณ์การเป็นนักโทษ 2.ถอดออกด้วยตัวเองได้ยาก 3.ช่วยให้ติดตามตัวได้ตลอดเวลา 4.มีข้อมูลส่วนบุคคล 
 
 
2.ผลงานการออกแบบโดย นางสาว กล่าวขวัญ อดทน เจ้าของผลงานอธิบายถึงแนวคิดและแรงบันดาลใจของผลงานนี้ผ่าน concept ที่ว่า After dark night comes a bright morning พวกเขาเหล่าไม่ใช่บุคคลสีขาวบริสุทธิ์ แต่ก็ไม่ใช่สีดำที่เต็มไปด้วยความชั่วร้าย เขาเป็นบุคคลสีเทา มีทั้งข้อดีและข้อเสีย มีการพลาดพลั้งแต่ถึงอย่างไร ทุกคนก็ยังมีความดีงามความถูกต้องอยู่ในตัว 
 

 
สำหรับการเล่าประสบการณ์ตรงจากหลังกำแพงสูงผ่านการเสวนา “เรื่องเล่าชาวคุก : ประสบการณ์ตรงจากอดีตนักโทษ” นั้นเป็นการพูดคุยถึงการดำเนินชีวิตในห้องขัง เริ่มจากชีวิตความเป็นอยู่  ตี๋ อดีตผู้ต้องขังทัณฑสถานบำบัดกลาง กล่าวว่า “คุกมันก็คุกนั่นแหละครับ” พร้อมอธิบายว่าสภาพความเป็นอยู่ในคุกไม่ได้มีความสะดวกสบายและสวัสดิการก็ต่ำกว่ามาตรฐาน  ทำให้เกิดการตั้งคำถามตามมาอีกมากมายต่อความเป็นคนที่ควรจะเท่าเทียมกันของผู้ต้องขังกับคนทั่วไปที่ดำรงชีวิตอยู่ข้างนอกห้องกรง  
 
อดีตผู้ต้องขังทั้งสามคนเล่าถึงเรื่องอาหารการกินในเรือนจำว่าที่ล่ำลือกันว่าแย่นั้นก็แย่ตามเสียงล่ำลือจริงๆ  ส่วนนักโทษที่มีเงินก็สามารถเลือกทางที่ดีกว่าได้คือใช้เงินซื้ออาหารที่มีขายอยู่ภายในซึ่งคุณภาพดีขึ้นมาอีกหน่อย  
 
การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้ต้องขังในเรือนจำ ส่วนใหญ่จะเป็นการดูละครหรือภาพยนตร์  การรับรู้ข่าวสารมีเฉพาะหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวต้องใช้ดูกันทั้งแดน บางครั้งสภาพกระดาษก็เปื่อยจนยุ่ย และเป็นหนังสือพิมพ์ของวันที่ผ่านๆ มา 
 
โอกาสในการศึกษาสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ ปัจจุบันแม้ผู้ต้องขังมีโอกาสที่จะศึกษาเล่าเรียน แต่ชีวิตในห้องขังก็ไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการศึกษาเท่าที่ควร และจำเป็นต้องใช้เงินค่อนข้างสูง  
 
นัทกล่าวว่า “หลักสูตรต่างๆ ก็ไม่ได้เข้มข้นมาก ใช้เรียนพอเป็นพิธี”  ขณะที่จูนกล่าวเสริมถึงปัญหาในทางปฏิบัติว่า “จบมาจากทัณฑสถาน แล้วใครจะรับทำงาน” 
 
อดีตผู้ต้องขังทั้งสามคนกล่าวอีกว่า คนทั่วไปมีความเข้าใจว่าเมื่อเข้าไปในเรือนจำ  เสื้อผ้านักโทษเป็นสวัสดิการที่พวกเขาควรได้รับ แต่ปัญหาคือผู้ต้องขังต้องใส่ชุดที่เรือนจำจัดหาให้ซึ่งซักแค่สัปดาห์ละครั้งโดยผู้ต้องขังต้องซักกันเองและไม่สะอาดนัก ทั้งยังต้องหมุนเวียนกันใส่จนอาจทำให้เกิดโรคติดต่อทางผิวหนัง เฉพาะผู้ต้องขังที่มีญาติมาเยี่ยมเท่านั้นที่มีโอกาสให้ญาติซื้อชุดมาเก็บไว้เป็นของส่วนตัว  
 
ด้านสาธารณสุขหรือการรักษาพยาบาล จากคำบอกเล่าของทั้งสามคนล้วนมีประสบการณ์ที่ย่ำแย่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในห้องขังทั้งสิ้น  จูนเล่าว่า เคยมีเพื่อนปวดท้องใช้เวลาเรียกผู้คุมนานนับชั่วโมง กว่าผู้คุมจะเข้ามาดูและให้เพียงยาแก้ปวดหนึ่งเม็ดเพื่อรักษาอาการปวดท้อง
 
นัทกล่าวเสริมอีกว่าตนเคยเจอประสบการณ์ที่เพื่อนนักโทษด้วยกันฆ่าตัวตาย เหตุเกิดประมาณตีสอง มีเพื่อนนักโทษโหวกเหวกโวยวายว่ามีคนฆ่าตัวตาย โดยนักโทษคนหนึ่งใช้ใบมีดโกนของที่โกนหนวดโดยแกะเอาเฉพาะใบมีดออกมาเพื่อกรีดข้อมือตนเอง น่าจะเริ่มลงมือตั้งแต่ตอนเที่ยงคืน โดยนักโทษคนดังกล่าวมีถุงไว้รองรับเลือดที่ไหลจากข้อมือเพราะกลัวโดนเพื่อนนักโทษคนอื่น เพื่อนนักโทษพยายามช่วยกันเรียกผู้คุมอยู่นาน เมื่อผู้คุมเข้ามาดูก็ได้นำเอาถุงเลือดออกไปและบอกให้นักโทษคนอื่นๆ ช่วยกันปฐมพยาบาลทั้งที่นักโทษคนดังกล่าวตัวสั่นและเนื้อตัวเต็มไปด้วยเลือด สุดท้ายก็เสียชีวิต นี่นับเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจมาก 
นัทยังสะท้อนความยากลำบากในชีวิตนักโทษอันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำของสังคมอีกว่า “คนที่อยู่ในคุกส่วนใหญ่เป็นคนจน ไม่มีวุฒิฯ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และมีโอกาสสูงที่จะกลับมาติดคุกอีก”  
 
“เหมือนได้ออกมาอีกโลกหนึ่ง พอออกมาอะไรก็เปลี่ยน เราก็ต้องเริ่มต้นใหม่ สิ่งที่ได้จากในคุกก็คงเป็นเรื่องของความอดทน กินง่าย อยู่ง่าย”  จูนกล่าวเสริมอีกว่าไม่ใช่แค่การปรับตัวเท่านั้นและยังต้องทนกับแรงกดดันจากสังคม “ออกมาคนก็จะมอง สายตาที่มองก็จะผิดไป” 
 
วงเสวนาเรื่อง“ชุดนักโทษ กับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ กล่าวว่า ควรมีการแก้ไขตั้งแต่กระบวนการยุติธรรม ควรมีการคัดกรองที่ดี นักโทษส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังที่รอการพิจารณาในศาลชั้นต้น ซึ่งไม่สามารถประกันตัวได้ เพียงแค่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าผิดแต่กลับถูกสังคมตราหน้าตีตราว่าผิดเสียแล้ว ผู้พิพากษาควรมองผู้ต้องขังเป็นผู้บริสุทธิ์ดังที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ส่วนการใส่ชุดนักโทษและถูกล่ามโซ่ตรวนขึ้นศาลเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้ผู้ต้องขังมีความผิดทั้งที่ยังไม่ตัดสินคดีและลดทอนความเป็นมนุษย์ของเขาเหล่านั้น 
 
“ยูนิฟอร์มมันมีขึ้นเพื่อจัดประเภทอะไรซักอย่างอยู่แล้ว ในกรณีนี้ก็คงเช่นเดียวกัน ชุดนักโทษก็สร้างภาพลักษณ์ของนักโทษที่สังคมตัดสินไปแล้ว”  ธันย์ฐวุฒิ  ทวีวโรดมกุล อดีตผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กล่าวทิ้งท้ายการเสวนา
 
ไอลอว์ซึ่งเป็นองค์กรผู้จัดงานระบุว่า งานนี้ถือเป็นมิติใหม่ในการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อ “คนห้องกรง” การดำเนินชีวิตหลังกำแพงสูงที่ไม่ได้สะดวกสบายและยังมีผลกระทบจากหลายๆ อย่างจากสังคม  ทั้งสวัสดิการที่ต่ำกว่ามาตรฐาน การถูกตีตราตัดสินของคนในสังคมจากทัศนคติที่ถูกผลิตซ้ำว่าผ่านคำบอกเล่าหรือภาพยนตร์ที่เป็นไปในทางลบ หากเราเปิดรับข้อมูลใหม่ๆ และเปิดใจให้กว้างเพื่อหลุดออกมาจากอติหรือทัศนคติเดิมๆ “มองคนคุกในฐานะคนธรรมดา” 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท