Skip to main content
sharethis

<--break- />

 

ในวาระครบรอบ 4 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำมาซึ่งผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้ต้องขังจำนวนมาก

จนถึงวันนี้ยังมี ‘นักโทษการเมือง' หลงเหลืออยู่ที่เรือนจำหลักสี่ 23 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับโทษหนัก ไม่ได้ประกันตัวมาตั้งแต่ชั้นจับกุม ส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้ประกันตัว บางส่วนครบกำหนดโทษ พ้นโทษแล้ว และอีกบางส่วนก็เพิ่งถูกศาลตัดสินและเข้ามาใหม่ ประชาไทพูดคุยกับบางส่วนเพื่อสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของพวกเขา

สนอง   เกตุสุวรรณ์ เป็นผู้ต้องขังในข้อหาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อความวุ่นวาย ร่วมกันบุกรุกและวางเพลิงเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี มีคู่คดีที่โดนตัดสินจำคุก 30 กว่าปีเท่ากันรวมแล้ว 4 คน ขณะนี้คดีของเขาอยู่ในระหว่างฎีกา ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตแต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษให้เหลือ 33 ปี 12 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น   

สนองกล่าวว่าการพิจารณาคดีของศาลนั้นขาดทั้งพยานและหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอสำหรับการตัดสินโทษ  คดีของตัวเขามีหลักฐานเป็นเพียงแค่รูปถ่ายว่าเขาอยู่ในที่เกิดเหตุ ศาลได้ตัดสินโทษโดยกล่าวว่า “เชื่อได้ว่า” เขากระทำความผิดจริง ถึงแม้พยานฝ่ายโจทก์เองเป็นผู้ยืนยันว่าในขณะที่เกิดเหตุการณ์เขาได้พยายามเข้าไปช่วยเข้าดับไฟ ไม่ใช่ทำการเผา แต่ศาลกลับไม่รับพิจารณา

ถึงตอนนี้ก็เป็นเวลากว่าสี่ปีแล้วที่เขาถูกจองจำอยู่ในเรือนจำหลักสี่ เมื่อถามถึงความรู้สึก สนองกล่าวว่า รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความยุติธรรม ตลอดระยะเวลาที่อยู่ที่นี่เขามักถามตัวเองว่าเขาออกมาชุมนุมทำไม แต่คำตอบที่เขาตอบตัวเองตลอดมาก็คือ เพราะบ้านเมืองไม่มีความยุติธรรม จึงต้องออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้เกิดขึ้น และไม่เคยเสียใจกับการออกมาชุมนุม

สนองกล่าวว่ายังคงมีความหวังว่าสักวันประเทศไทยจะมีกระบวนการยุติธรรมที่ดีพอและจะมีประชาธิปไตยที่แท้จริง

“ประชาธิปไตยจะทำให้ทุกคนเท่ากัน” สนองเชื่อเช่นนั้นและคิดว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะถูกผลักดันขึ้นมาอีกครั้ง เพราะในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยล้วนแล้วแต่เคยผ่านการต่อสู้มาทั้งนั้น เป็นธรรมดาที่ฝ่ายพ่ายแพ้จะต้องกลายเป็นนักโทษ แต่เมื่อประเทศกลายเป็นประเทศประชาธิปไตย นักโทษทางการเมืองย่อมได้รับการนิรโทษกรรม สนองได้ยกตัวอย่างประเทศพม่าให้ฟังและกล่าวสั้นๆ เพียงว่า “แม้ตายก่อนจะได้เห็นประชาธิปไตยก็ไม่เป็นไร”

สนองคาดหวังอยากให้มีคนที่มีความเป็นกลางศึกษาถึงข้อเรียกร้องทางการเมืองของทุกฝ่าย และพิจารณาว่าข้อเรียกร้องรวมถึงข้อเสนอต่างๆ นั้นคืออะไร เป็นไปเพื่ออะไร และที่สำคัญสนองยังมีความหวังในคนรุ่นใหม่ อยากให้นักศึกษาออกมาแสดงพลัง เพราะเขาเชื่อว่านักศึกษาคือพลังที่สำคัญที่จะช่วยผลักดัน ให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริง และอยากให้ปัญหาหรือความวุ่นวายทางการเมืองนั้นจบลงในรุ่นของเขา ไม่อยากให้เกิดขึ้นในรุ่นลูก รุ่นหลานอีกต่อไป

ประสงค์ มณีอินทร์ อายุ 60 ปี มีอาชีพเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง  คดีของเขาอยู่ในระหว่างฎีกา ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 11 ปี 8 เดือน ในความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คดีลักทรัพย์และพกพาอาวุธไปในเมือง แต่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องข้อหาลักทรัพย์จึงเหลือโทษจำคุก 9 ปี 4เดือน

ประสงค์เล่าว่า เขามีอาชีพเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและมักไปร่วมชุมนุมในตอนเย็นหลังเสร็จงาน ซึ่งเหตุผลที่เขาออกไปร่วมชุมนุมกับ นปช.นั้นเพราะเขาเห็นว่าที่มาของรัฐบาลนั้นไม่ถูกต้องเพราะว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดีจึงทำให้ออกมาร่วมชุมนุม

เมื่อถามว่าตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ถูกคุมขังอยู่ที่นี่รู้สึกอย่างไร ประสงค์ตอบว่า รู้สึกห่อเหี่ยว เหนื่อยใจและคิดอยู่เสมอว่าเมื่อไรจะได้พ้นโทษออกไป เพราะเขาเป็นหัวหน้าครอบครัวเมื่อต้องมาติดอยู่ในนี้ก็เป็นห่วง ภรรยาว่าจะเป็นอย่างไร บ้านที่มีก็ถูกยึดไปเนื่องจากไม่ได้ผ่อนส่ง ที่สำคัญ เขารู้สึกเจ็บปวดมากกับสิ่งที่ได้รับจากกระบวนการยุติธรรม เพราะแม้ผู้ที่ฆ่าคนตายยังได้รับความเป็นธรรมมากว่า ตัวเขาเพียงแค่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมและความถูกต้องทำไมกลับได้รับผลตอบแทนเช่นนี้ เพียงขอประกันตัวออกมาต่อสู้คดีก็ยังทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เขายังคงมีความหวังอย่างมากที่จะได้พ้นโทษออกไปก่อนครบกำหนด แม้จะทำใจไว้บ้างตั้งแต่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมตกไป 

เมื่อถามว่าหากพ้นโทษออกมาแล้วจะกลับเข้าไปร่วมกับกลุ่ม นปช.อีกหรือไม่ ประสงค์กล่าวว่า อาจจะไปแต่คงดูเหตุการณ์และความปลอดภัยของตนเองก่อน และศึกษาข้อมูลให้ดีพอ เพราะการถูกคุมขังนั้นทรมานมาก

สุดท้ายแล้วประสงค์บอกว่าอยากเห็นสังคมไทยนั้นเท่าเทียมกัน เพราะปัจจุบันนี้สังคมไทยนั้นเป็นสังคมที่เป็น สองมาตรฐาน อยากให้คนจนมีพื้นที่อยู่ในสังคมบ้าง อยากให้กระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นไปตามครรลองคลองธรรม ให้ถูกต้องตามหลักของกฎหมาย และหากไม่มากเกินไปก็อยากให้สื่อช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้กับพวกเขาบ้าง

จีรวัฒน์ จันทร์เพ็ง หรืออีกชื่อที่เขาตั้งเองคือ ‘ไมดี้ แอนตี้ศักดินา’ อายุ 47 ปีถูกดำเนินคดีวางระเบิด ศาลชั้นต้นลงโทษคุก  9 ปี ปัจจุบัน ถูกคุมขังมาแล้วประมาณ 2 ปีครึ่ง

เมื่อถามถึงความรู้สึกในตอนนี้ ไมดี้บอกว่า ความเป็นอยู่ที่เรือนจำหลักสี่ดีกว่าเรือนจำทั่วไปที่รวมผู้ต้องขังทุกคดีไว้ด้วยกัน และได้รับกำลังใจจากมวลชนที่มาเยี่ยม แต่ก็มีช่วงเวลาที่ท้อใจมากคือตอนที่เข้ามาอยู่ใหม่ๆ ต้องมีการปรับตัวค่อนข้างเยอะ ช่วงที่มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ พ.ร.บ นิรโทษกรรมก็มีความหวังว่าจะพ้นโทษ  แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เลือนลางมากสำหรับตอนนี้

ไมดี้ยังกล่าวถึงสถานการณ์บ้านเมืองว่า อยากให้มีระบบประชาธิปไตยที่เป็นมาตรฐานเดียวกันหมด คนทุกคนในประเทศมีความเท่าเทียมทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล หรือที่อื่นๆ ประชาชนควรต้องได้รับการบริการที่เท่าเทียมกัน ถ้ามีโอกาสก็จะยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป แต่วิธีการต่อสู้คงแตกต่างออกไปจากเดิม อยากให้เป็นไปในทิศทางที่ต่อสู้ทางความคิดมากกว่า จัดกิจกรรม จัดเสวนา เผยแพร่ความรู้ว่าเราจะข้ามจากยุคเปลี่ยนผ่านได้อย่างไร ทำอย่างไรเราจะผ่านไปได้โดยทุกคนอยู่ในระบบรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน

“เมื่อทำอะไรก็อย่าวู่วาม ให้ใช้ความรอบคอบ ในความเป็นจริง แกนนำไม่มีโอกาสได้ติดคุก คนที่ติดคุกจริงๆ คือชาวบ้าน” ไมดี้ฝากถึงเพื่อนร่วมอุดมการณ์

ปัทมา มูลมิล หรือเป็ก หญิงสาววัย 20 กว่าปีเป็นจำเลยในคดีความผิดเกี่ยวกับการละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ,ก่อความวุ่นวาย ,ร่วมกันบุกรุกวางเพลิงเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี, ทำให้เสียทรัพย์  ศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต และลดโทษให้เหลือจำคุก 33 ปี 12 เดือน ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นฎีกา เธอถูกย้ายเข้ามาถูกจองจำที่เรือนจำหลักสี่ ตั้งแต่ 17 มกราคม 2555

“รู้สึกโอเค เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่ใจ พยายามไม่คิดอะไรมาก เพราะหากคิดว่าเมื่อไรจะได้กลับ ทุกข์ก็จะอยู่ที่ตัวเอง เราเชื่อว่าทุกสิ่งเกิดจากการเมืองก็ต้องจบด้วยการเมือง ที่ผ่านมาเคยถึงจุดที่เครียดมากๆ ตอนแม่ป่วย ตอนนั้นเครียดมาก ถึงกับต้องพบจิตแพทย์ นอนไม่หลับต้องกินยานอนหลับ”เป็กกล่าวด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ แต่ใบหน้ายิ้มแย้ม  

เป็กกล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า กฎหมายไม่มีความศักดิ์และแสดงออกแบบสองมาตรฐาน คนที่ต่อสู่ทั้ง 2 ฝั่ง ทุกคนไม่มีใครคิดว่าฝ่ายตนจะแพ้ ถ้าสู้แล้วแพ้จะสู้ไปทำไม เธอกังวลว่าความขัดแย้งดังกล่าวจะนำไปสู่สงครามกลางเมือง เมื่อเมืองไทยประสบกับเหตุการณ์ไม่สงบก็จะนำไปสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่ตามมาเพราะทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด

เมื่อถามว่าหากมีโอกาสได้ออกมาจะยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ เป็กกล่าวด้วยสายตามุ่งมั่นว่า “ถ้าได้ออกไปคงสู้ต่อ ตราบใดที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย คนไทยไม่เท่ากัน แต่คงจะมีความรอบคอบมากขึ้น  อาจจะไม่ต่อสู้แบบเดิมแต่จะเป็นการต่อสู้ทางความคิด”

ธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ ชายหนุ่มวัยยี่สิบกว่า จำเลยคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลอีกคนหนึ่ง เขากล่าวถึงความรู้สึกหลังเหตุการณ์ผ่านไปครบ 4 ปีว่า ชีวิตความเป็นอยู่ที่หลักสี่ก็ดีกว่าที่เรือนจำอุบลฯ เพราะว่าที่นี่มีแต่นักโทษการเมืองด้วยกัน ความสนิท ความเป็นกันเองก็มีมากกว่า แต่ทุกอย่างก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของเรือนจำเหมือนเดิม นักโทษการเมืองก็ไม่ได้แตกต่างจากนักโทษทั่วไปถูกปฏิบัติเหมือนกันหมด แต่สำหรับเขาคิดว่านักโทษการเมืองนั้นมีศักดิ์ศรีกว่านักโทษอาชญากรรมทั่วไป

“เราคือนักโทษทางความคิด เราต่อสู้ด้วยความคิดทางการเมือง การกระทำของพวกผมมีการเมืองเป็นตัวนำ ถ้าครั้งนั้นไม่มีการฆ่าพี่น้องผมในกรุงเทพฯ ผมก็คงไม่ออกมา”  

“หลังจากที่ผมติดอยู่เรือนจำความเป็นอยู่ของครอบครัวผมลำบากยิ่งกว่าเดิม แต่ก่อนผมจะคอยช่วยแม่ทำมาหากิน แต่ตอนนี้แม่ต้องทำงานคนเดียว มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ทั้งค่าเทอมของน้อง น้องผมกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย แต่ต้องก็หยุดไว้เพราะไม่มีเงินในการส่งน้องเรียน ผมมีพี่น้อง 3 คน”

ธีรวัฒน์เล่าว่า แม่จะมาเยี่ยมเดือนละ 1 ครั้ง แต่ละครั้งที่มาก็ได้แต่บอกว่า "อดทนไว้นะลูก ซักวันทุกอย่างจะดีขึ้นเอง” บางครั้งก็มีพี่น้องคนเสื้อแดงมาบ้าง แต่ช่วงหลัง ๆ มาไม่ค่อยมีใครมา ส่วนมากจะฝากของและกำลังใจต่าง ๆ ผ่านแม่มาให้ อาจเพราะว่าทุกคนรู้สึกกลัวเนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองไม่นิ่ง

“ผมก็ได้แต่หวังว่าซักวันการบ้านการเมืองจะนิ่งแล้วเดินตามวิถีประชาธิปไตยโดยเร็ว เพราะว่าพวกผมและพี่ ๆ นักโทษการเมืองด้วยกันต่างก็มีภาระที่รับผิดชอบ ครอบครัว ลูก เมีย ถึงแม้ผมโสดผมก็มีภาระครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบด้วยเหมือนกัน”

เขาเล่าว่า เขาติดคุกตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2553 อยู่ที่เรือนจำอุบลฯ  2 ปี ก่อนย้ายมาอยู่ที่หลักสี่ถึงตอนนี้ก็ 2 ปีกว่าแล้ว ตอนนี้คดีอยู่ในชั้นฎีกา คาดว่าต้องรออีกอย่างน้อย 2 – 3 ปีกว่าที่จะมีคำตัดสิน

“ตอนที่ผมถูกจับเมื่อปี 53 เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้ถูกจับและเข้าคุก ตอนนั้นผมไม่รู้อะไรเลย ทั้งกระบวนการดำเนินคดี การต่อสู้คดีที่ต้องมีทนายมาต่อสู้ชั้นศาล ผมถูกจับโดยถูกตำรวจกล่าวหาว่าผมเป็นคนเผาศาลากลาง แต่ผมก็ปฎิเสธว่าผมไม่ได้ทำ จากนั้นผมก็โดนตำรวจซักให้รับสารภาพโดยการทำร้ายร่างกาย จนต้องทำให้ผมสารภาพ คนทุกคนไม่มีใครที่จะทนกับความเจ็บปวดจากการทรมานได้หรอก จากนั้นพอมาขึ้นศาลผมก็ปฏิเสธว่าผมไม่ได้ทำ แต่ศาลบอกว่าผมกลับคำจึงให้ผมติดคุกจนถึงทุกวันนี้”

อเนก  สิงขุนทด หรือ ต้อม อายุ 30 ปี สูญเสียดวงตาทั้งสองข้างจากเหตุเข็นรถเงาะวางระเบิดข้างพรรคภูมิใจไทยหลังสลายการชุมนมไม่นาน (ปี 2553) ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ เห็นควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ให้จำคุกรวมทั้งสิ้น 35 ปี และปรับ 50 บาท ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้เป็นลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์ตัดสินโทษ 5 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างฎีกา

เมื่อถามถึงความรู้สึกที่ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำหลักสี่ ต้อมบอกว่าอยู่ที่นี่ไม่รู้สึกกดดัน รู้สึกสบายๆ หากปฏิบัติตามกฎระเบียบของเรือนจำ ในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวผลักดัน พ.ร.บ นิรโทษกรรม ต้อมมีความหวังมากว่านักโทษการเมืองจะได้รับการปลดปล่อยและไม่คิดว่าจะมีขบวนการต่อต้าน พ.ร.บ ฉบับนี้ ขัดขวางไม่ให้นักโทษการเมืองได้รับอิสรภาพ เพราะตอนที่เขาออกมาเรียกร้องเมื่อปี 2553 เขาก็ออกมาเพื่อต่อต้านความอยุติธรรม  เดิมทำงานเป็น รปภ. ติดตามข่าวสารการเมืองทางโทรทัศน์ตลอด และทนไม่ได้ที่เห็นทหารถือกระบองไล่ตีประชาชน ใช้เท้าเหยียบย่ำประชาชน เลยไปสมัครเป็นการ์ดอาสาของสถานีวิทยุชุมชนแห่งหนึ่งด้วยความหวังว่าจะไปเป็น “เกราะให้ประชาชน” และเข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์โดยไม่ตั้งใจ เขายืนยันหนักแน่นว่าเขาไม่ได้มุ่งหวังทำลายชีวิตผู้ใด

เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบันต้อมเสนอให้ปรับปรุงศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ฟังเสียงของประชาชน และเห็นว่าควรปฏิรูปที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรวมถึงองค์กรอิสระอื่นๆ ให้มีที่มาจากการเลือกตั้งด้วย ส่วนคณะกรรมการสิทธิฯ นั้น เขาไม่ได้กล่าวถึงมากนักนอกเสียจากว่ามองไม่เห็นบทบาทในการช่วยเหลือประชาชน 

“ตราบใดที่บ้านเมืองยังไม่เข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน จะไม่หยุดเคลื่อนไหวเด็ดขาด” ต้อมกล่าวทิ้งท้าย

เดชพล  พุทธจง หรือ แอ๊ด อายุ 61 ปี ถูกดำเนินคดีมีวัตถุระเบิด ศาลชั้นต้นตัดสินคดีเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2556 รับโทษ 10 ปี ลดโทษหนึ่งในสาม เหลือ 6 ปี 8 เดือน 

เมื่อถามถึงความรู้สึกที่มีต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน เดชพลกล่าวว่า รู้สึกว่าการเมืองล้มเหลว ยิ่งองค์กรอิสระที่มีอยู่จำนวนมาก ก็เป็นองค์กรของกลุ่มอำมาตย์หรือกลุ่มจารีตนิยมที่ไม่ได้มาจากประชาชน  องค์กรดังกล่าวควรมาจากการเลือกตั้ง มิใช่การแต่งตั้งขึ้น  และควรเปลี่ยนขั้นตอนในการคัดสรรบุคลากรที่เข้าไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ  เมื่อถามต่อว่าถ้าหากพ้นโทษจะยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่หรือไม่  ลุงแอ๊ดกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “มันอยู่ในสายเลือด” เขาหวังให้ช่องว่างระหว่างชนชั้นเขยิบเข้าใกล้กันมากขึ้น  เพราะยิ่งห่างมาก ปัญหาก็มีเยอะ

“ตราบใดที่บ้านเมืองยังเป็นแบบนี้  การต่อสู้ไม่มีวันจบ ชนชั้นปกครองได้ประโยชน์  ชนชั้นล่างเสียประโยชน์ ตราบใดที่บ้านเมืองไม่มีความเป็นธรรม ความยุติธรรมก็ไม่เกิด” เดชพลกล่าว

พรชัย (ไม่เปิดเผยนามสกุล) มีอาชีพเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออก เขาเป็นจำเลยในคดีตระเตรียมการวางเพลิงธนาคารกรุงเทพ สาขาสีลม และอาคารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ สาขาสีลม ถูกจับกุมตั้งแต่ปี 2552 ประกันตัวสู้คดีจนล่าสุดศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 4 ปี 1 เดือน 15 วัน จากนั้นเขาจึงถูกคุมขังที่เรือนจำหลักสี่ จนถึงปัจจุบันก็ราว 8 เดือนแล้ว

พรชัยเล่าให้ฟังว่าเขาในวันที่ถูกจับกุมนั้น คุณพรชัยได้ไปเที่ยววันสงกรานต์ที่สีลม  และในระหว่างนั้นได้มีคนเข้ามาจับกุมโดยการใช้ผ้าคลุมศีรษะและใช้อาวุธปืนจี้ก่อนนำตัวไปสอบสวน ในระหว่างที่ถูกดำเนินคดีและได้รับการประกันตัวเขาได้พยายามไปขอความช่วยเหลือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แต่ยังไม่มีความคืบหน้า อย่างไรก็ตามศาลฎีกากลับคัดค้านการประกันตัว 

เขายังกล่าวอีกว่าจาการพยายามสู้คดีเพื่อให้ตนเองพ้นโทษนั้นทำให้เขาและภรรยาต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลาย แต่เขาก็ยังคงพยายามที่จะสู้คดีเพื่อที่จะได้เป็นอิสระ เนื่องจากตัวเขานั้นเป็นเสาหลักของครอบครัว จึงต้องการออกไปเพื่อที่จะได้ออกไปดูแลภรรยาและลูกเหมือนเดิม               

พรชัยเคยเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่เคยร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วง 14 ตุลาคม 2516 และเขายังคงฝากถึงเพื่อนร่วมอุดมการณ์ในวันนี้ว่า “ขอให้ทุกคนสู้ต่อไป สู้ด้วยใจ เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย”

โกวิทย์ แย้มประสิทธิ์ หรือ เปี๊ยก เป็นจำเลยในคดี พ.ร.บ อาวุธปืน ,พ.ร.บ วิทยุคมนาคม ,พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ลักทรัพย์ ,พาอาวุธปืนไปในเมือง ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 9 ปี 4เดือน  ลุงเปี๊ยกถูกจองจำที่เรือนจำหลักสี่มาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว เหลืออีก 5 ปี 4 เดือน  ตอนที่กระแสนิรโทษกรรมยังมาแรงลุงเปี๊ยกบอกว่า หวังไว้ถึง 99% คิดว่าได้ออกไปแน่ แต่แม้ทุกวันนี้จะต้องประสบความผิดหวังแต่เขาก็ยังยิ้มแย้ม เพราะอยู่คุกจนรู้สึก “เหมือนอยู่บ้าน” เพียงแค่ในนี้ออกไปเที่ยวที่ไหนไม่ได้ 

เมื่อถามถึงสถานการณ์ทางการเมืองเขามองว่าเมื่อปี 2553 เหตุการณ์รุนแรงกว่านี้ ตอนนั้นหลายคนสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อให้ได้มีซึ่งประชาธิปไตยที่เป็นของมวลชนจริงๆ  และดูเหมือนภารกิจนี้ยังไม่มีทีท่าจบสิ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net