สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 14-20 พ.ค. 2557

 
ไฟไหม้โรงงานนิคมอุตสาหกรรมบางชัน
 
 (14 พ.ค. 57) เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานของบริษัท สหยูเนี่ยน บริเวณนิคมอุตสาหกรรมบางชัน ซึ่งต้นเพลิงอยู่ที่บริเวณชั้น 3 ของอาคาร เป็นสถานีที่เก็บวัสดุประเภททินเนอร์ และขณะนี้กำลังลุกลามอย่างหนัก เจ้าหน้าที่ได้ประสานรถดับเพลิงของสถานีดับเพลิงบางชันเข้าไปยังที่เกิดเหตุแล้ว เบื้องต้น ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ในขณะนี้
 
16.10 น. มีรายงานว่าอาคารชั้น 2-3 พังลงมาแล้ว เจ้าหน้าที่กำชับให้ออกห่างจากตัวอาคาร
 
16.15 น. นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยกับสปริงนิวส์ ระบุเหตุเพลิงไหม้ในนิคมฯ บางชัน เป็นห้องพ่นสี ซึ่งเป็นสารไวไฟ ล่าสุดสามารถคุมเพลิงได้ในวงจำกัด แต่ยังดับไม่ได้ ห่วงในส่วนของผู้ปฎิบัติงาน เบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานผู้บาดเจ็บ
 
(สปริงนิวส์, 14-5-2557)
 
นับถอยหลัง 1 ม.ค.58 ห้ามใช้แรงงานต่างด้าว
 
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภายในปีนี้มาตรการผ่อนผันการใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือ สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจะสิ้นสุด และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 จะไม่มีการหันกลับมาอนุโลมให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือได้อีก ดังนั้นหากบริษัทใดไม่สามารถทำได้ตามแผนที่เสนอไว้ จะถูกบีโอไอตัดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีที่เกี่ยวข้องทันที ยอมรับว่าขณะนี้มีบางบริษัทฯไม่สามารถทำได้ตามแผน
               
โดยที่ผ่านมานโยบายส่งเสริมฯไม่ให้ใช้แรงงานต่างด้าวอยู่แล้วเพราะต้องการให้คนไทยมีงานทำ แต่เพราะความผิดพลาดทำให้เอกชนหลายแห่งหันไปใช้แรงงานเหล่านี้ ประกอบกับแรงงานไทยขาดแคลนจึงมีการขออนุโลมแต่จากนี้ไปเราไม่อนุโลมอีกแน่นอนเพราะยุทธศาสตร์ใหม่บีโอไอจะมุ่งเน้นส่งเสริมฯกิจการที่เป็นลักษณะการสร้างมูลค่าเพิ่มมีนวัตกรรม ไม่มุ่งเน้นใช้แรงงานอีกต่อไป
 
นายอุดมกล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ของบีโอไอที่ได้จัดทำร่างไว้และเดิมมีเป้าหมายที่จะบังคับใช้ในวันที่1 มกราคม 2558  รวมถึงนโยบายส่งเสริมนักลงทุนไทยไปลงทุนยังต่างประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ คงต้องรอให้รัฐบาลใหม่มาพิจารณาเนื่องจากเห็นว่าการพิจารณานโยบายดังกล่าวจะต้องผูกพันกับรัฐบาลใหม่จึงไม่สามารถเสนอเข้าสู่คณะกรรมการบริหารบีโอไอ(บอร์ดบีโอไอ)ปัจจุบันพิจารณาได้เช่นเดียวกับนโยบายส่งเสริมนักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่
               
"หากมีการเลือกตั้งน่าจะมีรัฐบาลและบอร์ดได้ ดังนั้นช่วงกันยายนน่าจะเสนอและบังคับใช้ได้ทัน1มกราคม2558 แต่หากเลยจากนี้ไปต้องขึ้นกับบอร์ดว่าจะเลื่อนบังคับหรือไม่แต่เราหวังว่าการเมืองจะจบเร็ว”นายอุดมกล่าว
               
ในส่วนนโยบายส่งเสริมนักลงทุนออกไปลงทุนไปต่างประเทศ บีโอไอได้เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 เพื่อเพิ่มบทบาทจากเดิมทำได้เพียงส่งเสริมฯลงทุนในประเทศ ซึ่งมาตรการด้านภาษีหากไม่ต้องการรอแก้กฎหมายและดำเนินการได้เร็วขึ้นกระทรวงการคลังก็สามารถออกมาตรการของกระทรวงฯได้เลย
 
(มติชนออนไลน์, 14-5-2557)
 
ผู้ว่าฯ กนอ.สั่งยกระดับมาตรฐานอัคคีภัยโรงงานใหม่
 
นายวีรพงศ์  ไชยเพิ่ม  ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ตรวจเหตุเพลิงไหม้โรงงานกระติกน้ำร้อนน้ำเย็นสแตนเลสยูเนี่ยนโชจิรุชิ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของสหยูเนี่ยน ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางชัน เมื่อวานที่ผ่านมา โดยระบุว่า  ต้นเพลิงเกิดจากห้องพ่นและอบสีมีสารไวไฟ หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้เจ้าหน้าที่โรงงาน และ กนอ.ประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย  กทม. ปตท. และหน่วยงานทหาร สามารถระงับเหตุได้ภายในเวลา 18.00 น.ใช้เวลารวม 3 ชั่วโมง  หลังจากนั้นได้มีการเฝ้าระวังตลอดคืนที่ผ่านมา  
 
นายวีรพงศ์  กล่าวว่า เจ้าหน้าที่รายงานว่าสามารถควบคุมเพลิงเรียบร้อยแล้วไม่ปรากฏไฟและควันไฟ อย่างไรก็ตาม กนอ.มีความห่วงใยเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุเพลิงไหม้  จึงได้สั่งการให้นำรถตรวจวัดคุณภาพอากาศ  ปกติใช้งานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเข้ามาที่นิคมฯ บางชัน  จากนั้นไปตรวจวัดคุณภาพอากาศที่เคหะชุมชนบางชัน  ซึ่งเป็นจุดที่กระแสลมพัดเอาควันไฟไป  เพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ ส่วนน้ำที่ใช้ดับเพลิงนั้น นิคมฯ บางชันได้ดูแลจัดเก็บภายในนิคมและพื้นที่โรงงาน ไม่ปล่อยให้ลงสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก  หลังจากนี้จะจ้างเอกชนเพื่อนำไปกำจัดให้ถูกต้อง
 
ส่วนสภาพโรงงานยูเนี่ยนโชจิรุชิ นั้น  ทาง กนอ.  กทม. เจ้าหน้าที่เขตมีนบุรี  ร่วมกันตรวจสภาพโรงงานพบว่าเพลิงไหม้ทำให้เกิดการชำรุดเสียหายบางส่วน  ซึ่ง กนอ. ย้ำว่าส่วนใดจำเป็นต้องรื้อถอนก็ต้องดำเนินการทันที  ส่วนใดซ่อมแซมได้ก็ให้ซ่อมแซม  พร้อมกับดำเนินการติดตั้งและยกระดับมาตรฐานอัคคีภัยของโรงงานใหม่ให้สูงกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด  ส่วนตัวอาคารโรงงานกีดขวางการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงนั้น   ต้องได้รับการแก้ไข  เพราะโรงงานแห่งนี้สร้างมานาน  48  ปีดำเนินการตามกฎหมายเดิม  จึงต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับข้อบังคับของกฎหมายใหม่
 
สำหรับผู้ปฏิบัติงานมีทั้งสิ้น  831  คน  ทางสหยูเนี่ยนได้ให้พนักงานเหล่านี้กระจายไปทำงานบริษัทในเครือเพื่อปิดปรับปรุงโรงงาน  นอกจากนี้ กนอ.เห็นว่าแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินของนิคมฯ บางชัน ต้องได้รับการประเมินและปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น  จากเมื่อวานสามารถระงับเหตุได้ภายใน  3  ชั่วโมง  ถือว่าสอบผ่าน  แต่ต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอีก ทั้งนี้ นิคมฯ บางชันจะเชิญผู้ประกอบการกว่า  80  โรงงาน  เพื่อทบทวนแผนเผชิญเหตุวัน
 
(สำนักข่าวไทย, 15-5-2557)
 
พนักงานพาร์ทไทม์ร้านฟาสต์ฟู้ดขอขึ้นค่าจ้าง มากกว่า 300 บาท/วัน
 
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 15 พฤษภาคม ที่ด้านหน้าร้านแมคโดนัลด์ สาขา ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางกะปิ กรุงเทพฯ มีกลุ่มพนักงานร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดประมาณ 20 คน รวมตัวกันเรียกร้องให้บริษัทร้านฟาสต์ฟู้ดต่างๆ ทั่วโลกปรับขึ้นค่าจ้าง
           
ตัวแทนสหภาพแรงงานร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในไทยรายหนึ่ง กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่พนักงานร้านฟาสต์ฟู้ดทั่วโลกนัดหมายกันเคลื่อนไหวเรียกร้อง อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาสหภาพแรงงานร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดได้หารือและมีข้อสรุปเรียกร้องขอให้ขึ้นค่าจ้างแก่พนักงานพาร์ทไทม์จากชั่วโมงละ 7.25 ดอลล่าร์สหรัฐเป็นชั่วโมงละ 15 ดอลล่าร์สหรัฐหากคิดเป็นเงินไทยก็จากชั่วโมงละ 232 บาท เป็นชั่วโมงละ 480 บาท  ซึ่งปัจจุบันพนักงานพาร์ทไทม์ในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในไทยจะได้ค่าจ้างชั่วโมงละ 40 บาท เฉลี่ยเดือนละประมาณ 9,600 บาท และมองว่ารัฐบาลควรปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 450 บาท เพราะจะทำให้พนักงานพาร์ทไทม์ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างไปด้วย แต่มองว่าเรื่องนี้เป็นไปได้ยาก เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้มีลูกค้าเข้าร้านอาหารฟาสฟู้ดน้อยลง ส่งผลให้บริษัทลดจำนวนการทำงานลงจากวันละ 6 – 8 ชั่วโมงเหลือวันละ 5 – 6 ชั่วโมง ส่งผลให้รายได้ลดลง
           
ด้าน นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ไทยยังไม่มีกฎหมายกำหนดค่าจ้างพาร์ทไทม์โดยเฉพาะ ทำให้เรื่องนี้อยู่ในดุลยพินิจของนายจ้าง ทั้งนี้ โดยส่วนมากนายจ้างจะให้ทำงานพาร์ทไทม์อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง ก็จะได้รับค่าจ้างในอัตราขั้นต่ำที่วันละ 300 บาท ยกเว้นนักเรียน/นักศึกษา ที่ทำงานพาร์ทไทม์ที่ทำงานได้ไม่เกินวันละ 4 ชั่วโมง
           
นายสุวิทย์ บอกต่อไปว่า หากจะให้พนักงานพาร์ทไทม์ได้ปรับขึ้นค่าจ้างรายชั่วโมงไปด้วย ก็จะต้องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้มากกว่าวันละ 300 บาท แต่ขณะนี้คงเป็นไปได้ยากเพราะเพิ่งปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทได้ไม่นานนัก ทำให้นายจ้างมีต้นทุนค่าจ้างสูงขึ้นและช่วงนี้ภาวะเศรษฐกิจก็ชะลอตัว   โดยกลไกลตลาดแรงงานนั้นบริษัทร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดก็มีการปรับขึ้นค่าจ้างพาร์ทไทม์เป็นระยะอยู่แล้วเพื่อจูงใจให้คนมาทำงานด้วยซึ่งพนักงานพาร์ทไทม์บางส่วนก็จะย้ายที่ทำงานเพื่อให้มีรายได้ที่สูงขึ้น 
 
(มติชน, 15-5-2557)
 
รองปลัด สธ.โต้บรรจุขรก.ล่าช้า ไม่ใช่ความผิดข้าราชการ
 
วันที่ 15 พฤษภาคม  นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีมีการแพร่สะพัดในโลกออนไลน์ประเด็นนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์  ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการประจำอาจไม่สำเร็จ   เนื่องจากความล่าช้าของข้าราชการประจำ ทั้งๆที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเพิ่มอัตราตำแหน่งข้าราชการ สธ. ตั้งแต่ปี 2556-2558 ปีละ 7,547 คน  แต่กลับดำเนินการได้เพียงปี 2556 และเกิดการยุบสภาจึงหยุดชะงัก ว่า  ตนไม่ทราบข้อเท็จจริงของกระแสดังกล่าวเป็นเช่นใด  แต่ก็มีลูกจ้างชั่วคราวหลายคนสอบถามเข้ามา
 
นพ.วชิระ กล่าวว่า  ขณะนี้ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงกับลูกจ้างชั่วคราวไปบ้างแล้ว โดยเดิมทีเมื่อ ครม.มีมติดังกล่าวในปี 2555 ก็ได้ดำเนินการไปแล้วในปี 2556 เหลือปี 2557-2558 ซึ่งยุบสภาพอดี เรื่องจึงหยุด แต่ทางผู้บริหารสธ.ไม่ได้นิ่งเฉย เพราะทราบดีว่าจะส่งผลกระทบแน่นอน จึงได้จัดหาอัตรากำลังที่ว่างลง 1,360 อัตรา และได้บรรจุเป็นข้าราชการเรียบร้อยไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557   
 
ส่วนอัตรากำลังที่ค้างอีก 2 ปีตามมติครม.นั้น แม้จะเป็นงบประมาณผูกพัน แต่สธ.จะต้องมีผลการดำเนินการหลังจากได้อัตรากำลังไปว่า ได้มีการกระจายอัตรากำลังเหมาะสมกับภาระงานหรือไม่  ซึ่งที่ผ่านมา สธ.ได้จัดทำเกณฑ์ดังกล่าว ที่เรียกว่า กรอบความต้องการกำลังคน (FTE) เสร็จแล้ว โดยได้เสนอสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) เพื่อรอเสนอต่อคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
 
“ปัญหาคือ ขณะนี้ไม่มีรัฐบาลจึงอาจพิจารณาไม่ได้ เรื่องนี้ลูกจ้างชั่วคราวเข้าใจดีว่าต้องรอรัฐบาลใหม่ จะเห็นได้ว่าการทำงานทั้งหมด ทางฝ่ายข้าราชการเดินเรื่องมาตลอด แต่มาติดปัญหาตรงรัฐบาลที่ยังเป็นรักษาการ” รองปลัดสธ.กล่าว และว่า จริงๆ ทางฝ่ายข้าราชการไม่ได้นิ่งเฉยมีการทำงานตลอด อย่างการพัฒนากรอบความต้องการกำลังคน(FTE) ซึ่งเป็นเกณฑ์จัดสรรอัตรากำลังในบุคลากรสาธารณสุขอย่างเหมาะสม เพื่อให้เหมาะกับภาระงาน การทำงานต่างๆก็จะคุ้มค่ากับความจริงนั้น ล่าสุดในส่วนของสธ.เองกำลังจัดทำกรอบความต้องการกำลังคนเวอร์ชั่น 2 เรียกว่า FTE 2 ซึ่งจะมีรายละเอียดในการกระจายกำลังคนมากขึ้น เช่น พื้นที่นี้ต้องมีพยาบาลกี่คนจึงจะพอเพียงกับการรองรับผู้ป่วยนอก และไม่ให้มีการจ้างเกินความเป็นจริง ซึ่งคาดว่าจะทำเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยจะนำมาใช้เป็นเกณฑ์ของสธ.เอง  
 
นอกจากนี้ สธ.ยังมีมาตรการบริหารจัดการอัตรากำลังคนระยะยาว อาทิ การทบทวนบทบาทภารกิจและปรับปรุงระบบบริการสุขภาพ โดยทบทวนโครงสร้างและการจัดระบบบริการสุขภาพ ปรับปรุงกระบวนการและ การปฏิบัติงาน   การพัฒนาระบบบริการกำลังคนด้านสุขภาพ ให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนโครงสร้างการจัดระบบบริการสุขภาพ ปรับปรุงระบบบริหารงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านกำลังคนสุขภาพให้สอดคล้องกับการทบทวนบทบาทภารกิจ เป็นต้น
 
(มติชน, 15-5-2557)
 
ปิด บ.ยูเนี่ยนฯ ชั่วคราวหลังไฟไหม้ แต่จ่ายค่าจ้างพนักงานตามปกติ
 
(15 พ.ค.) นายพานิช จิตต์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงเหตุเพลิงไหม้อาคารของบริษัท ยูเนี่ยนโซจิรุซิ จำกัด ซึ่งผลิตถ้วยชามเซรามิก ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมบางชัน เขตมีนบุรี กรุงเทพฯว่า ในวันนี้นายจ้างได้แจ้งให้พนักงานทั้งหมด 988 คน มารายงานตัว เพื่อแจ้งเบอร์โทรศัพท์และสถานที่ที่สามารถติดต่อได้สะดวก หากสามารถเปิดงานได้จะได้เรียกพนักงานกลับมาทำงาน โดยระหว่างที่ปิดทำการนายจ้างยังคงจ่ายค่าจ้างให้ตามปกติ ทั้งนี้ เหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวไม่มีผู้เสียชีวิต มีเพียงได้รับบาดเจ็บศีรษะแตกเพียง 1 รายเท่านั้น โดยช่วงบ่ายวันนี้ (15 พ.ค.) ทีมผู้บริหารของบริษัทแจ้งว่าจะมีการประชุมหารือกัน เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบต่อไป
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 15-5-2557)
 
กระทรวงสาธารณสุข จัดแผนบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการใหม่ 15,094 อัตรา เข้า ครม.ชุดใหม่
 
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้บรรจุรอบที่ 1 ในปี 2556 ไปแล้วจำนวน 7,547 อัตรา ส่วนการบรรจุในรอบที่ 2 และ 3 ระหว่างปี 2557-2558 รวม 15,094 อัตรา กำลังดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ซึ่งให้บรรจุปีละ 7,547 อัตรา โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งเรื่องแผนการบรรจุให้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อเสนอคณะกรรมการปฏิรูปกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เพื่อพิจารณา ตั้งแต่เดือนเมษายน 2557 และเตรียมเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ชุดใหม่ หลังจากผ่าน ครม.แล้ว จึงจะเข้าสู่กระบวนการบรรจุตามแผน ซึ่งได้ชี้แจงทำความเข้าใจแก่แกนนำลูกจ้างชั่วคราวที่รอการบรรจุแล้ว และขอให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องคลายความ
กังวลได้
 
สำหรับมาตรการระยะยาว กระทรวงสาธารณสุข จะเน้นการพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ แยกเป็นรายเขตบริการสุขภาพ 12 เขต ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งจำนวนและพื้นที่ เกณฑ์การพิจารณาจะใช้ภาระงานในปีปัจจุบัน ควบคู่กับแผนการพัฒนาระบบริการสุขภาพภายใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้เห็นภาพชัดเจนในการจัดบริการประชาชน ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์กรอบอัตรากำลังเอฟ ที อี ชุดที่ 2 ซึ่งจะมีความเที่ยงตรงมากขึ้น คาดจะเสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคม 2557 เครื่องมือชุดนี้จะนำไปใช้ในการบริหารจัดการกำลังคนทั้งลูกจ้าง และข้าราชการ รวมทั้งการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะสะท้อนถึงการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างคุ้มค่า และบุคลากรมีความก้าวหน้าในตำแหน่งและวิชาชีพ
 
(ไอเอ็นเอ็น, 16-5-2557)
 
พนักงานสาธารณสุข โรงพยาบาลลำปางกว่า 120 คน ได้รวมตัวกันยื่นเรื่องขอความเป็นธรรม
 
พยาบาลตำแหน่งพนักงานสาธารณสุข โรงพยาบาลลำปางกว่า 120 คน ได้รวมตัวกันยื่นเรื่องขอความเป็นธรรม หลังโรงพยาบาลได้เรียกเซ็นสัญญาแต่ไม่ให้กรอกอัตราเงินเดือน โดยโรงพยาบาลจะกรอกเอง สร้างความไม่โปรงใส่พร้อมระบุทำงานผ่าน 3 ปีเงินเดือนไม่ถึงหมื่นห้า ขณะที่โรงพยาบาลปรับฐานเงินเดือนพยาบาลใหม่แต่ไม่สนใจพยาบาลรุ่นพี่
 
(หนังสือพิมพ์เมืองม้า, 16-5-2557)
 
ก.แรงงาน ส่งมอบสัญญาจ้างแรงงานประมง 3 สัญชาติ
 
มล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมหารือเรื่องการจัดการแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงและต่อเนื่อง ซึ่งมีผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการจัดหางาน ผู้ประกอบการประมง และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 30 คน พร้อมส่งมอบสัญญาจ้างในงานประมงทะเลสำหรับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ซึ่งใน 1 ฉบับ จะมีทั้งภาษาของแรงงานต่างด้าวสัญชาตินั้นๆ พร้อมทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษทุกฉบับ ให้สมาคมประมงแห่งประเทศไทย ระบุปัญหาการค้ามนุษย์เป็นสิ่งที่คนไทยต้องร่วมกันแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบในวงกว้างกับสินค้าของไทย โดยมองว่าศูนย์ประสานแรงงานประมงจะเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความรู้ ดูแล แรงงานต่างด้าวให้ได้รับการปฏิบัติที่ดี พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการประมงว่าห้ามนำแรงงานอายุต่ำกว่า 16 ปี ลงเรือประมง
 
กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการเรื่องสัญญาจ้างงานแรงงานประมงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องส่งเสริมให้นายจ้างปฏิบัติตามและดูแลแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้อง เนื่องจ้างสิ้นเดือนนี้ (31พ.ค.57) จะครบกำหนดที่เปิดให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง
 
ทั้งนี้ นายทรงศักดิ์ สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอให้ที่ประชุมร่วมหาแนวทางที่จะทำการการสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคในต่างประเทศว่า สินค้าของไทยไม่มีการค้ามนุษย์และเป็นมาตรฐานสากล เพื่อให้ผลการประกาศสถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทยที่สหรัฐ จะประกาศผลออกมาในเดือนกันยายนนี้ โดยในปีนี้สินค้าประเภทอ้อยคาดว่าจะหลุดจากการขึ้นบัญชีดำจากสหรัฐอเมริกาได้ รวมทั้งสินค้าอื่นๆ เช่น เครื่องนุ่งห่ม และกุ้ง ที่มีทิศทางที่ดีขึ้น
 
ด้าน พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาให้ความสนใจในกิจการประมงเป็นพิเศษที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ เพราะมีการนำเสนอข่าวในต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งตั้งแต่ปี 2555 ประเทศไทยได้มีการชี้แจงเรื่องแนวทางการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมงที่ไทยจะต้องดำเนินการต่อไป เพื่อตัดช่องทางของนายหน้าเถื่อน ดังนั้น จึงต้องร่วมกันหามาตรการควบคุมนายหน้าให้ปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งการดูแลแรงงานประมง ไม่ให้ไปใช้บริการนายหน้าเถื่อน เมื่อรัฐบาลเปิดโอกาสให้แรงงานผิดกฎหมายมาดำเนินการให้ถูกต้อง จึงต้องขอความร่วมมือผู้ประกอบการควรเร่งดำเนินการไม่ใช่ปล่อยผ่านไป เพียงคิดว่ารัฐบาลจะผ่อนผันต่อเนื่อง และดูแลเรื่องการขึ้นทะเบียนอย่างจริงจัง หากหลีกเลี่ยงการใช้บริการนายหน้าไม่ได้ รวมทั้งดูแลแรงงานที่จะลงไปทำงานในเรือประมงว่ามีพฤติกรรมกดขี่ข่มเหง เพื่อนแรงงานคนอื่นจนเข้าข่ายการใช้แรงงานบังคับหรือไม่
 
ขณะเดียวกัน ควรร่วมกันหามาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการประมง นำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง หากสามารถรณรงค์ให้ผู้ประกอบการออกมาแสดงเจตจำนงจำนวนมาก ผู้ประกอบการที่ไม่ดีก็จะไม่สามรถดำเนินกิจการได้ ภาครัฐจะสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ซึ่งในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ จะลงพื้นที่ จ.ระนอง ในการตรวจเรือประมง
 
ขณะที่นายภูเบศ จันทนิมิ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเปิดขึ้นทะเบียนไม่ค่อยมีนายจ้างพาแรงงานมาขึ้นทะเบียนเท่าที่ควร รวมทั้งอยากให้หน่วยงานในจังหวัดเป็นรับผิดชอบโดยตรง เพราะใกล้ชิดกับแรงงาน จึงจะมีแนวทางการดูแลที่เหมาะสมกับพื้นที่ พร้อมยอมรับผู้ประกอบการประมงมีทั้งดีและไม่ดี และการกระจายข่าวสารยังไม่ทั่วถึงมากหนัก เพราะนโยบายภาครัฐยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร อีกทั้งอยากให้ศูนย์ประสานแรงงานประมงมีครบทั้ง 22 จังหวัดที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวและมีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จากปัจจุบันมีเพียง 7 จังหวัดเท่านั้น และสมาคมประมงแห่งประเทศไทยพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐเต็มที่
 
(สำนักข่าวไทย, 16-5-2557)
 
ประกันสังคมเพิ่มสิทธิผ่าตัด 5 อวัยวะ
 
(17 พ.ค.) นางอำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา คณะกรรมการประกันสังคมเห็นชอบขยายความคุ้มครองการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่ผู้ประกันตน 5 รายการ ประกอบด้วย การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ, การผ่าตัดปลูกถ่ายปอด, การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ, การผ่าตัดปลูกถ่ายตับอ่อน และการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่าหนึ่งอวัยวะพร้อมกัน ได้แก่ หัวใจและปอด หัวใจและไต ตับและไต ตับอ่อนและไต
       
เลขาธิการ สปส. กล่าวอีกว่า ส่วนหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราบริการทางการแพทย์นั้น สำนักงานประกันสังคมจ่ายค่ารักษาทั้งผู้บริจาคอวัยวะ และผู้รับบริจาคโดยครอบคลุมค่าใช้จ่ายดังนี้ ค่าเตรียมก่อนการผ่าตัด ผู้บริจาคสมองตาย ผู้บริจาคที่มีชีวิต และผู้รับบริจาค ค่าใช้จ่ายเมื่อเข้ารับการผ่าตัดของผู้รับบริจาค กรณีมีภาวะแทรกซ้อน และกรณีไม่มีภาวะแทรกซ้อนโดยจ่ายตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขแต่ละอวัยวะและตามแนวทางการรักษาที่กำหนดและค่าใช้จ่ายหลังการผ่าตัดซึ่งได้แก่การตรวจรักษา การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจระดับยากดภูมิคุ้มกัน และยากดภูมิคุ้มกัน
       
นางอำมร กล่าวด้วยว่า ปีนี้สำนักงานประกันสังคมคาดการณ์งบประมาณที่จะต้องใช้ในการขยายความคุ้มครองข้างต้นประมาณ 23 ล้านบาท ซึ่งมีรายละเอียดแต่ละรายการได้แก่ ค่าใช้จ่ายการผ่าตัดและค่ายากดภูมิกันปีแรก โดยค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดที่ให้สิทธิ ได้แก่ การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ ปอด 1,055,000 บาทต่อราย การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ 1,166,400 บาทต่อราย การปลูกถ่ายตับอ่อน 1,166,400 บาทต่อราย ส่วนการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่าหนึ่งอวัยวะได้แก่ การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ และปลูกถ่ายไต 1,055,000 บาทต่อราย และกรณีอื่นๆ 1,166,400 บาทต่อราย รวมทั้งค่าใช้จ่ายยากดภูมิคุ้มกันปีที่ 3 เป็นต้นไป จนถึงตลอดชีวิต 222,000-240,000 บาทต่อราย             
       
ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนที่มีคุณสมบัติ ข้อบ่งชี้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดสามารถเข้ารับการผ่าตัด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะต้องขออนุมัติสิทธิก่อน และเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลในความตกลง ซึ่งในเบื้องต้นสำนักงานประกันสังคมจะขอความร่วมมือให้สถานพยาบาลที่สามารถทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะได้ 5 แห่งขณะนี้ คือ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เข้าร่วมเป็นสถานพยาบาลในความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมต่อไป หากลูกจ้าง ผู้ประกันตนติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 12 แห่ง/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือ โทร. 1506 ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง
       
“ก่อนหน้านี้ สำนักงานประกันสังคมได้ให้สิทธิผู้ประกันตนผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ปลูกถ่ายไขกระดูก และปลูกถ่ายไต ไปแล้วกว่า 1,000 ราย และในครั้งนี้ได้มีการขยายความคุ้มครองแก่ผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจล้มเหลวชนิดรุนแรง โรคปอดที่มีอันตรายถึงชีวิต โรคตับเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นต้น ซึ่งโรคดังกล่าวไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ จึงต้องได้รับการรักษาโดยการปลูกถ่ายเปลี่ยนอวัยวะ จะทำให้ผู้ประกันตนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” เลขาธิการ สปส. กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 17-5-2557)
 
ผู้ประกอบการบุรีรัมย์แห่เบี้ยวจ่ายค่าแรง 300 บาท เหตุแบกภาระไม่ไหว
 
(18 พ.ค.) นายพันธ์ศักดิ์ ศรีนุชศาสตร์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ ระบุว่า หลังจากที่มีการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2556 เป็นต้นมา ได้รับร้องเรียนจากแรงงานลูกจ้างหลายรายว่าผู้ประกอบการบางแห่ง ไม่ได้จ่ายค่าจ้างวันละ 300 บาท ตามที่กฎหมายกำหนด
       
จากออกตรวจของเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.บุรีรัมย์ พบมีผู้ประกอบการบางแห่งหลีกเลี่ยงจริง โดยส่วนใหญ่อ้างว่าสาเหตุที่ไม่จ่ายค่าจ้างวันละ 300 บาทนั้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นจึงแบกรับภาระไม่ไหว
       
จากกรณีดังกล่าวทางสวัสดิการฯ ได้เรียกผู้ประกอบการรายดังกล่าวเข้ามาพบ พร้อมเจรจาให้ดำเนินการจ่ายค่าจ้างให้กับแรงงานหรือลูกจ้างที่ยังค้างย้อนหลังให้ครบตามที่กฎหมายกำหนดทุกราย ซึ่งผู้ประกอบการก็ได้ปฏิบัติตาม แต่หากผู้ประกอบการรายใดยังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษตามกฎหมายปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
       
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าได้มีสถานการประกอบการที่มาแจ้งขึ้นทะเบียนกับทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปอยู่กว่า 3,000 แห่ง ส่วนสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปมีอยู่ 455 แห่ง และ 50 คนขึ้นไปมีอยู่ประมาณ 70 แห่ง รวมจำนวนลูกจ้างทั้งหมดกว่า 28,000 คน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสถานประกอบการใดที่ปิดกิจการ หรือเลิกจ้างแรงงานแต่อย่างใด
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 18-5-2557)
 
สปส.จ่ายเงินบำนาญชราภาพ ม.33 - 39 ต่ำสุด 720 บาทต่อเดือน
 
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สปส. ได้เริ่มจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพในส่วนของเงินบำนาญชราภาพปีนี้เป็นปีแรก โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เกษียณอายุจากการทำงานและสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน รวมทั้งส่งเงินสมทบครบ 180 งวด หรือเป็นเวลา 15 ปี โดยจากการคำนวณพบว่า ผู้ประกันตนที่มีฐานเงินเดือนซึ่งคิดจากเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายอยู่ที่ 4,800 บาท ได้รับเงินบำนาญชราภาพ 960 บาทต่อเดือน ฐานเงินเดือน 5,000 บาท ได้รับเงินบำนาญฯ 1,000 บาทต่อเดือน ฐานเงินเดือน 8,000 บาท ได้รับเงินบำนาญชราภาพ 1,600 บาทต่อเดือน ฐานเงินเดือน 10,000 บาท ได้รับเงินบำนาญชราภาพ 2,000 บาทต่อเดือน ฐานเงินเดือน 12,000 บาท ได้รับเงินบำนาญชราภาพ 2,400 บาทต่อเดือน และฐานเงินเดือน 15,000 บาท ได้รับเงินบำนาญชราภาพ 3,000 บาท
       
รองเลขาธิการ สปส. กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน สปส. ได้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจภาวะความเป็นอยู่ของประชาชนในปีนี้ ซึ่งพบว่าอัตราเงินบำนาญชราภาพขั้นต่ำที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 720 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ สปส. ได้ตรวจสอบผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 พบว่า ผู้ประกันตนมาตรา 33 นั้นได้รับเงินบำนาญชราภาพต่ำสุดอยู่ที่ 960 บาทต่อเดือน สูงกว่าอัตราเงินบำนาญชราภาพขั้นต่ำ จึงไม่ต้องจ่ายเงินบำนาญชราภาพเพิ่มเติม แต่ในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 39 มีผู้ที่มีฐานเงินเดือนอยู่ระหว่าง 1,650 - 3,000 บาท ซึ่งได้รับเงินบำนาญชราภาพอยู่ที่กว่า 300-600 บาทต่อเดือน ต่ำกว่าอัตราเงินบำนาญชราภาพขั้นต่ำ ทำให้ สปส. ต้องจ่ายเงินชำบำนาญชราภาพเพิ่มเติมให้ครบ 720 บาทต่อเดือน รวมทั้งหมด 54 คน รวมเงินบำนาญชราภาพที่ สปส. ต้องจ่ายเพิ่มกว่า 6,630 บาทต่อเดือน เพื่อให้ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุจากการทำงานมีรายได้ที่สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
 
“แต่ละปี สปส. จะร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจภาวะความเป็นอยู่ของประชาชนเพื่อดูว่าอัตราเงินบำนาญชราภาพขั้นต่ำที่เหมาะสมควรอยู่ที่เท่าใด และแต่ละเดือนจะเพิ่มเงินบำนาญชราภาพให้แก่ผู้ประกันตนซึ่งได้รับเงินบำนาญชราภาพต่ำกว่าเงินบำนาญชราภาพขั้นต่ำเพื่อให้ได้ครบตามอัตราขั้นต่ำ” นพ.สุรเดช กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 19-5-2557)
 
ปลัด ก.แรงงาน พร้อมแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ เรียกร้องทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ปัญหา เพื่อเร่งถอดการขึ้นบัญชีดำสินค้า 5 ประเภท
 
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการสัมมนาแนวทางการแก้ไขการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ในกิจการกลุ่มเป้าหมาย 5 รายการ ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพมหานคร ว่าสินค้า 5 ประเภท ประกอบด้วย กุ้ง อ้อย เครื่องนุ่งห่ม สื่อลามก และปลา ที่ไทยถูกกล่าวหาว่ามีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับนั้น โดยการจัดสัมมนาฯ นี้จะเป็นการร่วมกันหาทางออกและถอดรายการสินค้าของไทยที่ถูกขึ้นบัญชีไว้ พร้อมยืนยันกระทรวงแรงงานมีความมุ่งมั่นแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ที่นำไปสู่การค้ามนุษย์อย่างจริงจัง
 
นอกจากนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะทำงานไปชี้แจงเรื่องนี้กับสหรัฐอเมริกาด้วย โดยปลายเดือนนี้ผู้บริหารบริษัทคอตโก้ในสหรัฐอเมริกา คู่ค้ารายใหญ่ของไทย จะเดินทางมาติดตามการดำเนินงานของไทยว่ามีการแก้ปัญหาเหล่านี้หรือไม่ ซึ่งปัญหาการค้ามนุษย์ถือเป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานของไทยต้องร่วมกันแก้ไข ไม่ใช่แค่กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานความมั่นคง
 
ปลัดกระทรวงแรงงานยอมรับว่าที่ผ่านมาขาดการประสานงานจากหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ปัญหา จึงทำให้ไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในระดับ 2 ของประเทศที่ต้องเฝ้าระวัง และจับตามองเป็นพิเศษในเรื่องการค้ามนุษย์ 4 ปีติดต่อกัน อีกทั้งผู้ประกอบการยังไม่ตื่นตัวเท่าที่ควร ซึ่งการจัดงานในลักษณะนี้ถือเป็นการกระตุ้นเตือนให้สาธารณชนรับรู้ความรุนแรงของปัญหา และสะท้อนให้ต่างประเทศเห็นว่าไทยพร้อมและจริงจังในการแก้ปัญหา โดยคาดว่าสินค้าจากอ้อยจะสามารถชี้แจงและปลดล็อคได้ตัวแรก เพราะผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบ หากพบเด็กในพื้นที่ไร่อ้อยก็จะนำมาเข้าสู่สถานศึกษา ขณะเดียวกันขณะนี้อยู่ระหว่างการฝึกพนักงานตรวจแรงงาน 4 รุ่น เพื่อตรวจเรือประมง และเน้นให้มีการทำสัญญาจ้างงานให้มากที่สุด
 
(สำนักข่าวไทย, 20-5-2557)
 
เครือข่ายผู้ประกันตน ยื่นเรื่องให้ สปส. ยกเครื่อง 5 สิทธิประกันสังคม ชี้ 10 ปีสิทธิประโยชน์ด้อยกว่าบัตรทอง
 
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนในประกันสังคม และกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ร่วมกันแถลงข่าว "ร่วมสร้างระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว" เพื่อเสนอเป็นแนวทางลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบประกันสุขภาพที่เป็นธรรม
 
นายสมพร ขวัญเนตร ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กล่าวว่า ข้อเสนอเร่งด่วนจากกลุ่มผู้ใช้แรงงาน คือ การเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลใน 5 ประเด็นที่พบมาก และควรทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิมากขึ้น ได้แก่ 1.กรณีการคลอดให้เป็นการรักษาพยาบาล ไม่ต้องสำรองจ่าย และเงินเหมาจ่ายค่าคลอดบุตรให้คงไว้ ถือเป็นสิทธิที่ร่วมสมทบ และยกเลิกข้อจำกัดคลอดได้ 2 ครั้ง
 
2.ยกเลิกการจำกัดสิทธิไม่รักษากรณีการทำร้ายตัวเองหรือการฆ่าตัวตาย ต้องรักษาทุกกรณี จะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม เพราะผู้ประกันตนได้สมทบเงินก็ต้องมีสิทธิได้รับเหมือนสิทธิอื่นทั่วไป 3.การรักษาเกี่ยวกับการทำฟัน ต้องไม่จำกัด ไม่ว่าจะวงเงิน และสิทธิอื่นๆ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดูแลรักษา
 
4.กรณีการบำบัดจากสารเสพติดต่างๆ ถือเป็นผู้ป่วย ย่อมมีสทธิในการรักษาจากประกันสังคม และ 5.พัฒนาสิทธิประโยชน์การดูแลรักษาผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย (โรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด) ให้ได้รับการบำบัดทดแทน ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดอย่างโปรตีนแฟคเตอร์ที่เท่าเทียมกับสิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติ
 
ด้าน นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ตัวแทนชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้จะมีการเสนอข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อให้กับกรรมการแพทย์ในคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) และจะมีการติดตามความคืบหน้ากับกรรมการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่กำหนดสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน
 
"อยากให้ทำงานแบบรู้ร้อน รู้หนาว และปกป้องสิทธิผู้ประกันตนด้วยความจริงใจ หลายเรื่องไม่ได้รับการคุ้มครอง หรือใส่ใจ ทั้งที่ผู้ประกันตนสมทบจ่ายในฐานะคนทำงาน แต่ไม่ได้รับการเหลียวมองหรือพัฒนาสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐาน" นายอภิวัฒน์ กล่าว
 
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า 10 ปีนี้สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนกลายเป็นด้อยกว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง โดยเฉพาะใน 5 ประเด็นดังกล่าว
 
นอกจากนี้ น.ส.สุรีรัตน์ ระบุว่า เมื่อผู้ประกันตนได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลจะต้องได้รับเงินชดเชยเหมือนผู้ป่วยบัตรทอง ซึ่งในช่วงเฉพาะหน้ากรรมการแพทย์สามารถกำหนดเป็นหนึ่งในชุดสิทธิประโยชน์แล้วเสนอต่อ บอร์ด สปส.ตั้งเป็นกองทุนชดเชยความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ โดยกันเงินส่วนของการรักษาพยาบาลส่วนหนึ่งมาตั้งเป็นกองทุนนี้ แล้วจ่ายชดเชยในเกณฑ์เดียวกับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง คือ กรณีเสียชีวิตไม่เกิน 4 แสนบาท และกรณีพิการไม่เกิน 2.4 แสนบาท
 
ส่วนระยะยาวจะเสนอให้มีการออกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ พ.ศ....ที่จะครอบคลุมการชดเชยประชาชนในทุกสิทธิต่อไป รวมถึงประกันสังคมต้องมีการกำหนดงบประมาณในการส่งเสริมป้องกันโรคที่เหมาะสมกับอาชีพสำหรับผู้ประกันตนด้วย
 
ขณะที่ นายนาวิน ประจักษ์โก ตัวแแทนเครือข่ายผู้ป่วยฮีโมฟีเลียประเทศไทย กล่าวว่า อยากขอให้ประกันสังคมพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ให้ผู้ป่วยโรคนี้ให้เสมอภาคกับบัตรทองและสิทธิสวัสดิการข้าราชการ แต่ปัจจุบันคนวัยทำงานที่ป่วยเป็นโรคนี้และเข้าประกันสังคม จ่ายสมทบเงิน แต่ไม่ได้รับการดูแลรักษาในโรคที่ป่วยซึ่งค่ารักษามีราคาแพง ถ้าไม่รักษาก็ทำงานไม่ได้ ขณะนี้มีประมาณ 100 คนที่ทำงานและอยู่ในประกันสังคม
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 20-5-2557)
 
การเมืองที่ยืดเยื้อกว่า 6 เดือน ถล่มยอดขายร้านอาหาร-ภัตตาคารสูญรายได้กว่า 3หมื่นล้าน จนต้องลดพนักงาน 30%
 
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เผยว่า หลังการเมืองที่ยืดเยื้อกว่า 6 เดือน ทำให้ธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคารสูญเสียรายได้ในภาพรวมไปแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท จนต้องหาทางแก้ไขลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ด้วยการลดการจ้างพนักงานในระดับสูงที่มีคุณภาพ และเงินเดือนสูงออก แต่คงเหลือพนักงานในกลุ่มลูกจ้างระดับแรงงานไว้ การกู้ยืมเงินนอกระบบแทน เพราะ ธนาคารค่อนข้างเข้มงวดในการปล่อยกู้ในช่วงนี้
 
“ภาคธุรกิจร้านอาหารไม่ได้เป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เหมือนอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ภาคการส่งออก แต่ร้านอาหารจะได้รับผลทางอ้อม เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไป รายได้ลด ขณะที่ต้นทุนยังเท่าเดิม ทั้งนี้ ร้านอาหารเล็กๆ จะมีต้นทุนหมุนเวียนได้เต็มที่ 4 เดือน ซึ่งก็เริ่มเห็นผลบ้างแล้ว ซึ่งพนักงานในธุรกิจร้านอาหารมีประมาณ 4 แสนคน โดยแบ่งเป็นขนาดกลาง ประมาณ 6-7 หมื่นคน ส่วนที่เหลือประมาณ 3.5 แสนคนเป็นกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งการลดการจ้างพนักงานนั้น จะเป็นกลุ่มขนาดกลาง โดยอาจลดการจ้างถึง 30%”
 
น.ส.ปัทมา การีกลิ่น ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดโรงเรียนสอนทำอาหารและร้านอาหารบลูเอเลเฟ่น กล่าวว่า ร้านอาหารได้รับผลกระทบจากการยืดเยื้อทางการเมืองและทำให้รายได้ลดลงไป ประมาณ 20% เพราะลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติสัดส่วนกว่า 70% ลดการเดินทางมาไทย ขณะเดียวกันโรงเรียนสอนทำอาหาร ทั้งสาขาที่กรุงเทพฯและภูเก็ต ก็มีนักท่องเที่ยวสนใจสมัครเรียนลดลง ประมาณ 40% เนื่องจากไม่มั่นใจในสถานการณ์ของเมืองไทย ทำให้ร้านต้องปรับตัวเน้นการลดต้นทุน เช่น ลดการกักตุนสินค้าให้น้อยลงไม่เก็บไว้หลายวันเหมือนที่ผ่านมา
 
(Mthai News, 20-5-2557)
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท