Skip to main content
sharethis
สื่อต่างประเทศกล่าวถึงกฎอัยการศึกในไทยหลายมุมมอง บ้างก็เรียกว่าเป็น "การรัฐประหารครึ่งใบ" ถึงแม้บรรยากาศยังคงสงบสุขและผู้คนใช้ชีวิตตามปกติ แต่บางประเทศก็เริ่มเตือนชาวต่างชาติให้ระวังสถานการณ์ ด้วยการปิดกั้นสื่อและการที่ไม่แสดงตัวเข้าข้างฝ่ายใดชัดเจนของทหาร ทำให้มองความคลุมเครือนี้ได้หลายแง่
 

20 พ.ค. 2557 หลังมีข่าวการประกาศใช้กฎอัยการศึกในประเทศไทย สื่อต่างประเทศก็นำเสนอข่าวในเรื่องนี้รวมถึงมีการแสดงความคิดเห็นต่างๆ
 
สำนักข่าวบีบีซีรายงานทั้งเรื่องการประกาศใช้กฎอัยการศึกและเรื่องที่รักษาการนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้กองทัพดำเนินการอย่างสันติภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ รวมถึงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเดือน ส.ค. 
 
โจนาธาน เฮด นักข่าวบีบีซีกล่าวในส่วนของการวิเคราะห์แม้ว่าทหารจะยืนยันว่าการใช้กฎอัยการศึกไม่ถือเป็นการรัฐประหารและดูเหมือนจะพยายามดำเนินการอย่างไม่แสดงตัวชัดเจนมากเท่าที่จะทำได้ และดูเหมือนรัฐบาลกับเสื้อแดงจะยอมรับฟังในเรื่องที่ว่าไม่ได้ยึดอำนาจ แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในเมืองไทยที่ดำเนินมากว่า 8 ปี และถ้าหากยังคงยืนยันใช้อำนาจฝ่ายความมั่นคงต่อไปก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาและการบริหารงานประเทศก็จะง่อยเปลี้ย
 
เฮด ยังได้เรียกการประกาศกฎอัยการศึกในครั้งนี้ว่าเปรียบเสมือน "การรัฐประหารครึ่งใบ" (half-coup) และกล่าวว่าถ้าหากกองทัพพยายามใช้แนวทางของตัวเองแก้ไขปัญหาก็จะกลายเป็นรัฐประหารเต็มใบได้ และทำให้กลุ่มเสื้อแดงลุกฮือขึ้นต่อต้าน
 
ทางด้านสำนักข่าวเดอะการ์เดียนได้รายงานในเรื่องนี้ด้วยรูปแบบสถานการณ์สด รวมถึงมีการสรุปความคืบหน้าซึ่งระบุว่ากองทัพได้สั่งให้สถานีโทรทัศน์ 14 ช่องหยุดทำการและเตือนไม่ให้ใช้โซเชียลมีเดียในเชิงยุยงให้เกิดความไม่สงบ อย่างไรก็ตามทางกองทัพไม่ได้แจ้งเรื่องแผนประกาศกฎอัยการศึกต่อรัฐบาลรักษาการก่อน
 
นอกจากนี้เดอะการ์เดียนยังรายงานถึงท่าทีของผู้ประท้วงทั้งสองฝั่งที่ยังคงยืนยันชุมนุมต่อไปและท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการให้ทุกฝ่ายร่วมหารือหาทางออกให้กับประเทศ
 
เดอะการ์เดียนกล่าวถึงบรรยากาศในกรุงเทพฯ ด้วยว่าค่อนข้างสงบแม้ว่าจะมีทหารวางกำลังอยู่จำนวนมากและมีชาวเมืองบางคนถ่ายภาพเซลฟี่กับทหาร ขณะที่ฝ่ายต่างประเทศของอังกฤษเตือนเรื่องการท่องเที่ยวในประเทศไทย และมีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนแสดงความกังวลต่อการใช้อำนาจของทหารรวมถึงการปิดสื่อต่างๆ
 
ทางด้านนิตยสารไทม์ ชาร์ลี แคมป์เบลล์ ผู้สื่อข่าวไทม์เขียนรายงานเรื่อง "ประเทศไทย : ถ้าหากมันดูเหมือนการรัฐประหาร และมีกลิ่นเหมือนการรัฐประหาร มันก็คือการรัฐประหาร" โดยในเนื้อหากล่าวถึงความคิดเห็นของนักวิเคราะห์บางส่วนที่มองว่าการประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้เป็นเสมือนการรัฐประหาร เพราะเป็นการยึดอำนาจไปจากประชาชนและมีการควบคุมสถานการณ์การเมืองและสิทธิมนุษยชน อีกทั้งกฎอัยการศึกควรมีการประกาศใช้แค่เพียงบางส่วนแต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีการประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักร
 
ส่วนนิตยสารดิอิโคโนมิสต์ นำเสนอบทวิเคราะห์ซึ่งระบุความคิดเห็นของพอล แชมเบอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพไทยจากสถาบันกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มช. ซึ่งบอกว่ากองทัพพยายาม "ยึดอำนาจโดยการใช้วิธีทางกฎหมาย" โดยเลี่ยงจากการถูกมองว่าเป็นการรัฐประหารเพื่อไม่ให้ถูกตัดขาดด้านการค้าและป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ถูกดำเนินคดีในอนาคต
 
บทวิเคราะห์ในดิอิโคโนมิสต์ ระบุอีกว่าการประกาศกฎอัยการศึกในครั้งนี้มีผลทำให้การถกเถียงกันระหว่างพลเรือนทั้งสองฝ่ายเงียบลง แต่ด้วยท่าทีของกองทัพไม่ได้แสดงออกว่าเข้าข้างฝ่ายใดทำให้ทั้งสองฝ่ายพยายามอ้างว่ากองทัพเข้าข้างฝ่ายตนเอง
 
อย่างไรก็ตามดิอิโคโนมิสต์ แสดงท่าทียังไม่ฟันธงว่าการแทรกแซงทางการเมืองครั้งนี้มีเป้าหมายใด อีกแง่หนึ่งอาจจะเป็นการสร้างกรอบทางการเมืองให้กลุ่มชนชั้นนำยังคงปกครองประเทศต่อไป แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อาจจะเป็นการวางแนวทางให้ประชาชนมีอำนาจในการเลือกผู้แทนของตนได้ 
 
ดิอิโคโนมิสต์ยังได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ว่ากฎอัยการศึกอาจจะเป็นการหาทางลงให้สุเทพ เทือกสุบรรณ แบบไม่ต้องเสียหน้าหลังจากที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นเวลา 6 เดือน แต่ก็ยังไม่สำเร็จ และมีแผนพยายามแต่งตั้งรัฐบาลของตนเองซึ่งผิดหลักรัฐธรรมนูญ หรือไม่ก็อาจจะเป็นความพยายามสุดท้ายของผู้ที่สนับสนุนสุเทพอยู่ โดยสุเทพเล่นบทเป็นตัวแทนด้านที่ดิบเถื่อนของกลุ่มชนชั้นนำทั้งหลาย
 
สื่ออินเทอร์เน็ต Rappler ในฟิลิปปินส์นำเสนอข่าวกระทรวงต่างประเทศฟิลิปปินส์เตือนให้ชาวฟิลิปปินส์ในประเทศไทยเตรียมอพยพออกจากประเทศหลังจากมีการประกาศกฎอัยการศึก โดยบอกว่าเป็นวิกฤติระดับ 2 เมื่อมองจากการเมืองในไทยขณะนี้ ซึ่งการเตือนภัยวิกฤติระดับ 2 จะมีการเตือนเมื่อมีความเสี่ยงต่อชีวิต ความมั่นคง และทรัพย์สินของชาวฟิลิปปินส์ไม่ว่าจะมาจากความวุ่นวายภายในหรือภายนอกประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่
 
โดยก่อนหน้านี้กระทรวงต่างประเทศของฟิลิปปินส์ก็เคยประกาศเตือนภัยเช่นนี้มาก่อน ก่อนที่จะลดลงไปที่ระดับ 1 ซึ่งเป็นระดับระวังภัยตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา
 
ในอีกด้านหนึ่ง สำนักข่าวเทเลกราฟก็รายงานบรรยากาศหลังประกาศกฎอัยการศึกโดยอ้างจากริชาร์ด บาร์โรว์ บล็อกเกอร์ท่องเที่ยวที่อยู่ในกรุงเทพฯ ว่า "ในตอนแรกมีทหารออกมาอยู่ตามสี่แยกหลายแห่งในเมืองแต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ก็มีบางส่วนออกจากพื้นที่ไป"
 
บาร์โรว์กล่าวอีกว่านอกจากการปักหลักตามจุดต่างๆ ของทหารแล้ว ทุกอย่างก็ดูดำเนินไปตามปกติโดยที่ผู้ชุมนุมต่างก็อยู่ในแหล่งชุมนุมของตน ทางด้านฝ่ายการท่องเที่ยวของประเทศไทยบอกว่ากฎอัยการศึกไม่ส่งผลต่อเรื่องการเดินทางหรือการส่งเสริมท่องเที่ยว ทั้งสนามบินและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ยังคงเปิดตามปกติ อีกทั้งยังไม่มีการประกาศเคอร์ฟิวในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่นๆ
 
แต่ถึงแม้ทางการท่องเที่ยวไทยจะกล่าวสร้างความมั่นใจ แต่สำนักงานการต่างประเทศของอังกฤษก็เตือนให้ชาวอังกฤษในไทยคอยติดตามสถานการณ์ในไทยอยู่ตลอดเวลาผ่านสื่อหรือโซเชียลมีเดีย รวมถึงวางแผนการเดินทางแบบเผื่อเวลาไว้
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Thailand martial law: Acting PM issues plea for peace, BBC, 20-05-2014
 
Thailand army declares martial law, denies coup - live, The Guardian, 20-05-2014
 
Thailand: If It Looks Like a Coup, and Smells Like a Coup, It Is a Coup, TIME, 20-05-2014
 
Introducing the non-coup, Banyan, The Economist, 20-05-2014
 
Thailand's tourist attractions open despite martial law decree, Telegraph, 20-05-2014

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net