จุดเทียนประท้วงกฏอัยการศึก ชี้เป็นรัฐประหารครึ่งใบ

ประชาชนแต่งดำจุดเทียนประท้วงประกาศกฏอัยการศึก ชี้เป็นการซ้ำเติมปัญหาความขัดแย้ง ยก 10 ปีชายแดนใต้เป็นกรณีศึกษา ระบุความขัดแย้งทางการเมืองต้องใช้การเลือกตั้งตัดสิน

21 พ.ค. 2557 หลังจากเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 20 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ประกาศใช้กฏอัยการศึกทั่วประเทศ พร้อมนำกองกำลังทหารและอาวุธเข้าควบคุมในจุดสำคัญทั่วกรุงเทพและสถานีโทรทัศน์ พร้อมปิดสถานีโทรทัศน์หลายช่อง ในช่วงเย็นวันเดียวกันที่บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพ ได้มีกลุ่มประชาชนซึ่งส่วนมากแต่งชุดดำรวมตัวถือป้าย จุดเทียน ประท้วงและเรียกร้องให้เร่งยกเลิกการประกาศใช้กฏอัยการศึก โดยระบุว่านอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหา ยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาความขัดแย้ง ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน

ก่อนที่จะสลายการชุมนุมไปอย่างสงบในเวลา 19.00 น.

วรรณเกียรติ นำรถแท็กซี่ตนเองมาพ่นสเปรย์ข้อความ "หยุดฉวยโอกาสปล้นประชาชน" และด้านข้างเป็นข้อความว่า "นวมทองมีเป็นล้าน"

วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ คนขับรถแท็กซี่และนักกิจกรรมทางสังคม ได้นำรถแท็กซี่ตนเองมาพ่นสเปรย์ประท้วงการประกาศกฏอัยการศึก กล่าวว่า หลังจากประกาศใช้กฏอัยการศึกก็เกิดความระแวงสงสัยของประชาชนในหลายๆส่วนว่านี่เป็นการนับหนึ่งของการรัฐประหารหรือไม่ การที่ตนเองเลือกใช้แท็กซี่เพราะเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการต่อต้านรัฐประหาร เนื่องจากเมื่อปี 49 ที่มีการรัฐประหารและมีคนขับแท็กซี่คนหนึ่งคือลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ได้ขับรถชนรถถังประท้วง แต่ถูกกองทัพสบประมาท จึงผูกคอตายและเสียชีวิตในเวลาต่อมา บวกกับตนเองก็ขับรถแท็กซี่เช่นเดียวกับลุงจึงใช้สัญลักษณ์นี้ในการประท้วง

กฏอัยการศึกเป็นกฏหมายเก่าตั้งแต่สมัยก่อนที่เราจะมีประชาธิปไตย การกลับมาใช้ใหม่ประชาคมโลกก็ต้องจับตาว่าเราย้อนกลับไปอีกเป็น 100 ปี ลักษณะตัวก็หมายก็มีความเป็นเผด็จการของตัวกฏหมายเอง

สำหรับเหตุผลที่ทาง ผบ.ทบ.อ้างเพื่อใช้ประกาศกฏอัยการศึกเพื่อป้องกันการปะทะกันของคน 2 กลุ่มอาจจะนำไปสู่ความสูญเสียนั้น วรรณเกียรติ มองว่าภายใต้กฏหมายปกติที่เรามีอยู่นั้นสามารถจัดการได้ และกองทัพต้องมีบทบาทหนุนเสริมในการแก้ไขจัดการในการใช้กฏหมายปกติ

“ประชาชนทุกคนมี 1 สิทธิ 1 เสียง ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน วันนี้ผมเชื่อว่าถ้าเราผลักดันหรือ ผบ.ทบ.อยากช่วยแก้ไขให้สถานการณ์สงบสุขเรียบร้อยนั้น ก็ต้องแสดงบทบาทที่ชัดเจนว่าสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งโดยไม่ใช้แนวทางรัฐประหารอย่างที่สังคมกำลังตั้งข้อสงสัยกับท่านอยู่” วรรณเกียรต์ กล่าว

กิตติชัย งามชัยพิสิฐ กลุ่มพอกันที กล่าวว่า การประกาศกฏอัยการศึกแบบนี้มันสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมไทยที่ไม่สามารถจัดกันด้วยความสงบไม่ได้แล้ว แต่ต้องใช้ปืนใช้กำลังมาจัดการความขัดแย้งกัน ทั้งนี้ความขัดแย้งถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสังคม แต่วิธีการจัดการความขัดแย้งก็ต้องเลือกโดยไม่ใช้เรื่องความรุนแรง แม้จะอ้างว่าการออกมาเป็นการระงับเหตุความรุนแรง แต่ก็ทำลายโอกาสของสังคมไทยที่จะแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้

กิตติชัย กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่มพอกันทีหลักๆ คือการไม่เอาความรุนแรงและอยู่ในกติกาของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งข้อเรียกร้องหลังยิ่งน่าเป็นห่วงว่า การออกมาของทหารภายใต้กฏอัยการศึกนี้จะนำไปสู่อะไร ดังนั้นเราจึงต้องออกมาแสดงจุดยืนก่อนว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ทหารใช้อำนาจใช้อาวุธในการจัดการควมขัดแย้ง แม้กองทัพจะอ้างเรื่องออกมาป้องกันเหตุความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องเดียวกับกลุ่มตนที่ไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง แต่วิธีการนั้นต่างกัน เพราะทางกลุ่มเห็นว่าควรให้ประชาชนด้วยกันสร้างวิธีการในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

บารมี ชัยรัตน์ นักกิจกรรมทางสังคม กล่าวว่า การประกาศใช้กฏอัยการศึกไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา เนื่องจากเรามีบทเรียนที่สำคัญที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ประกาศกฏอัยการศึกมาเป็น 10 ปีแล้วก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ความรุนแรงก็ยังเกิดขึ้นตลอด เรื่องนี้เป็นเรื่องทางการเมืองก็ต้องแก้ไขปัญหาด้วยการเมืองในระบอบประชาธิปไตย พื้นฐานก็คือเมื่ออำนาจอยู่ที่ประชาชน ก็ต้องกลับมาที่การเลือกตั้ง ตนเองก็เห็นด้วยกับการปฏิรูป แต่การปฏิรูปนั้นต้อเป็นขั้นเป็นตอน และไม่ใช่ใช้เวลาเพียง 1 ปีเสร็จ หลายเรื่องก็ต้องใช้เวลา 5 ปี 10 ปี จึงมองว่าการอ้างว่าใช้เวลาปฏิรูปเพียง 1 ปี จึงเป็นเรื่องโกหก เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการเลือกตั้งไปตามระบบบ แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องให้คำมั่นสัญญาว่าจะต้องดำเนินการปฏิรูปไปพร้อมๆกันด้วยเพื่อให้มันเป็นจริงได้

บารมี มองว่าการประกาศกฏอัยการศึกแล้วคนจะไม่ทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่กลับเป็นการสร้างความแตกแยกขึ้นไปเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นอกาจเรียกว่ารัฐประหารครึ่งใบ พวกเชียร์ก็เชียร์อยู่ พวกค้านก็ค้านเหมือนเดิม เพียงแต่คนกลุ่มหนึ่งอาจคิดว่าตนเองมีทหารสนับสนุนอาจทำให้ยิ่งเหลิงปันใหญ่และยิ่งก่อเหตุความรุนแรงมากขึ้น

บารมี กล่าวด้วยว่า ทหารมีหน้าที่ในการป้องกันประเทศ ไม่ใช่การดูแลความขัดแย้งภายใน การเข้ามายุ่งความขัดแย้งทางการการเมืองจึงไม่ใช่หน้าที่ของทหาร แม้ประชาชนออกมาประท้วงมาคัดค้าน ไล่รัฐบาล นั้นเป็นเรื่องทางารเมืองเป็นเสรีภาพของเขาตราบเท่าที่ไม่ใช้อาวุธเข้ามาใช้ความรุนแรง แต่ถึงแม้มีความรุนแรงก็เป็นภารกิจหน้าที่ของตำรวจไม่ใช่หน้าที่ของทหารในการจัดการ

 

 

 

ภาพบรรยากาศกิจกรรมดังกล่าว :

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท